×

The Acting Effect ลงลึกถึงศาสตร์การแสดง เพื่อเรียนรู้ตัวเอง ค้นหาพื้นที่ปลอดภัย และแบกมันไปด้วยทุกที่

25.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • The Acting Effect คือคลาสสอนการแสดงพิเศษในโปรเจกต์ Camp G The X Gen 3 แอ็กติ้งโค้ชและครูสอนการแสดงจาก 3 สถาบันอย่าง ร่ม ร่มฉัตร,  บิว อรพรรณ และ กุ๊กไก่ รังสิมา พาทุกคนเปิดโลกศาสตร์การแสดง เพื่อทำความเข้าใจในตัวเองให้มากยิ่งขึ้น 
  • ทั้ง 3 คนเชื่อว่าศาสตร์การแสดงคือศาสตร์ของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเองให้ได้ นำไปสู่การเข้าใจคนอื่น และการสื่อสารหรือแสดงออกที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป 
  • พื้นฐานสำคัญของคลาสการแสดงคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่คอยปกป้องตัวตนของเราไม่ให้ใครเข้ามารุกล้ำได้ และแบกพื้นที่นั้นติดตัวไปด้วยทุกที่ 
  • คลาสการแสดงไม่ได้บอกวิธีการแก้ปัญหาทุกอย่างแบบตายตัว แต่จะทำหน้าที่เพิ่มเครื่องมือที่หลากหลาย ให้แต่ละคนเลือกใช้ตามลักษณะนิสัยและพื้นฐานที่แต่ละคนพบเจอ

อย่ามาแสดง! 

 

ภาพของนักแสดงที่โดดเด่น โลดแล่นตามบทบาทที่ได้รับ ที่ถูกฉายอยู่บนจอภาพยนตร์, โทรทัศน์, หน้าจอสมาร์ทโฟน ไปจนถึงความคลุมเครือของนิยามคำว่า ‘แสดง’ ที่ทำให้หลายครั้งประโยคข้างต้นถูกหยิบไปใช้ในเชิงต่อว่า กระแนะกระแหนเมื่อเห็นใครคนใดคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมที่น่าสงสัยหรือไม่พึงใจขึ้นมา 

 

ทั้งที่ในความเป็นจริง ‘การแสดง’ ก็ไม่ต่างจากศาสตร์อื่นๆ ที่แทรกซึมอยู่กับทุกๆ อิริยาบถในชีวิตประจำวัน หลายครั้งก็แนบชิดมากเสียจนเราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าทั้งวัจนะและอวัจนภาษาที่สื่อสารออกมาล้วนผ่านกระการที่เรียกว่า ‘การแสดง’ ด้วยกันทั้งนั้น 

 

THE STANDARD POP มีโอกาสพูดคุยกับ ร่ม-ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ (ผู้ก่อตั้ง Spark Drama), บิว-อรพรรณ อาจสมรรถ (ผู้ก่อตั้ง Bew’s Act-Things), กุ๊กไก่-รังสิมา อิทธิพรวณิชย์ (ผู้ก่อตั้ง ActionPlay) 3 แอ็กติ้งโค้ช และครูสอนการแสดงจาก 3 สถาบันชื่อดัง ที่กำลังจะร่วมกันส่งผ่านความสำคัญของ ‘ศาสตร์’ การแสดงใน The Acting Effect ในโปรเจกต์ Camp G The X Gen

 

ในฐานะศาสตร์ที่ดูเหมือนไกลแต่ใกล้ตัวที่สุด ศาสตร์ที่จะพาทุกคนลงลึกไปทำความเข้าใจตัวเอง ยอมรับทั้งด้านดีและร้าย มองเห็นมุมที่แตกต่างของคนอื่น ศาสตร์ที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวตน และแบกพื้นที่นั้นไปด้วยทุกที่ 

 

ไม่แน่ว่าครั้งต่อไปเราอาจเปลี่ยนการใช้คำว่า ‘อย่ามาแสดง’ ในบริบทต่อว่า เป็นการชื่นชมใครสักคนหนึ่งที่สามารถ ‘แสดง’ ออกซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบริบทและสถานการณ์ก็ได้ 

 

วิดีโอโปรเจกต์ Camp G The X Gen

 

 

จากซ้ายไปขวา ร่ม ร่มฉัตร, บิว อรพรรณ และกุ๊กไก่ รังสิมา

 

คลาส The Acting Effect คืออะไร ถ้าไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ จะเข้ามาเรียนคลาสนี้ได้หรือเปล่า

บิว: คอร์ส The Acting Effect เหมาะสำหรับคนที่สนใจเรื่องการแสดง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงอยู่แล้ว หรือคนทั่วไปที่อยากค้นหาว่าจริงๆ แล้วศาสตร์การแสดงคืออะไร ซึ่งเรา 3 คนจะสอนเน้นเรื่องการเข้าใจตัวเองก่อน เพื่อนำไปสู่การเข้าใจคนอื่น และสื่อสารความเข้าใจนั้นออกไป เพราะจริงๆ แล้วศาสตร์การแสดงก็คือศาสตร์ของความเป็นมนุษย์ ทั้ง 3 คนก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือสร้างการสื่อสารกับตัวเองและคนอื่นอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดด้วยศาสตร์การแสดง 

 

ในช่วงท้ายคอร์สของเรา 3 คน จะมีให้ทำ Scene Work นักเรียนทุกคนจะได้ทดลองทำการแสดงในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีครูคอยเป็นไกด์ในการแสดง และจะได้คำคอมเมนต์และฟีดแบ็ก 3 มุมมองจากพวกเราทั้ง 3 คน 

 

 

ศาสตร์ของการแสดงจริงๆ แล้วคือคุณต้องจริงกับตัวเองที่สุด คุณถึงจะทำการแสดงได้

 

เราจะเข้าใจตัวเองจากศาสตร์การแสดงได้อย่างไร ในยุคที่หลายๆ คนมักจะแซวกันว่า ‘อย่ามาแอ็กติ้ง’ หรือ ‘อย่ามาแสดง’ กันจนเป็นเรื่องปกติ 

บิว: เรารู้สึกว่าคนเข้าใจคอนเซปต์ของการแสดงผิดว่าการแสดงคือการเสแสร้ง แต่ในศาสตร์ของการแสดงจริงๆ แล้วคือคุณต้องจริงกับตัวเองที่สุด คุณถึงจะทำการแสดงได้ เพียงแค่เราจริงที่สุดในสถานการณ์จำลองเท่านั้น เพราะฉะนั้นการแสดงของเรามันเลยเพียวมาก จริงใจมาก ไม่ใช่การ Fake หรือแกล้งทำ  

 

กุ๊กไก่: แบบฝึกหัดแรกๆ ที่เราต้องทำเลยคือการเรียนรู้จากตัวเองว่าเราตอบสนองกับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบกับเราอย่างไร มันคือการเข้าไปค้นหาความรู้สึกต่างๆ ในตัวเรา เป็นกระบวนการแรกที่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น 

 

บิว: มันเหมือนกระบวนการทำ Self Analyze นะ เคยเป็นไหมที่อยู่ๆ รู้สึกโกรธขึ้นมา แต่หาตัวเองไม่เจอว่าเราโกรธเรื่องอะไรวะ แต่พอเรียนการแสดง เราจะพาย้อนกลับไปจนเจอว่า อ๋อ โกรธเพราะเมื่อกี้ที่คนขับรถตัดหน้าหรืออะไรก็แล้วแต่ เห็นภาพความโกรธต่อเนื่องมา โดยที่ปกติอาจจะแค่โกรธ แต่ต้องมาคำนึงว่าโกรธเพราะอะไร ความรู้นี้เกิดขึ้น ณ วินาทีไหนของการใช้ชีวิต 

 

กุ๊กไก่: ไม่อย่างนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจกระบวนการนี้ เวลาอ่านบทแล้วบอกว่าโกรธ มันจะโกรธแค่แบบเดียว เพราะทุกคนก็จะนึกถึงภาพโกรธแบบ Clichés ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปว่าแบบนี้คือโกรธ แต่พอเรียนการแสดงจริงๆ มันคือการดูในมุมมองของการเป็นมนุษย์ว่าแต่ละคนมีวิธีการรีแอ็กกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร บางคนอาจจะโกรธ บางคนอาจจะทำนิ่งๆ แล้วเบือนหน้าหนี หรือบางคนก็อาจจะออกไปด่าเลย

 

ร่ม: เวลาใช้คำว่า ‘อย่ามาแสดง’ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราไปดูจากสื่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการแสดงออกด้านลบ แล้วถูกแปะป้ายกลายเป็นว่า เฮ้ย อย่ามาแสดงสิ่งที่ไม่ดีใส่ ซึ่งถ้าไปดูในตัวสื่อหลายๆ เรื่องที่เป็นการแสดงที่ดีก็มีนะ แต่ไม่ถูกนำมาใช้ ไม่มีคนบอกว่า เฮ้ย สิ่งที่เธอแสดงออกมาดีเนอะ 

 

ทุกอย่างมันมีทั้งด้านดีและไม่ดี ในชีวิตมนุษย์ไม่มีใครสามารถเลือกขาวหรือดำได้เสียทีเดียว การแสดงก็เหมือนกัน เพียงแค่การแสดงถูกติดฉลากในทางลบมากกว่าทางบวก เพราะถูกคนที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ เอาไปเรียกมากกว่า 

 

 

จริงๆ แล้วคำว่า ‘แสดง’ ควรถูกใช้เป็นคำชม เมื่อมีใครสักคนหนึ่งแสดงออกบางอย่างด้วยความเข้าใจและเหมาะสม มากกว่าใช้เป็นคำด่าด้วยหรือเปล่า

ร่ม: อันนี้ยาก 

 

บิว: ในความเป็นบุคคลทั่วไปจะสงสัยว่าเรียนแอ็กติ้งไปทำไมในเมื่อไม่ต้องไปแคสติ้งหรือเข้าสู่วงการที่ต้องแสดงบทบาทอะไร แต่เรากำลังจะบอกว่า เดี๋ยวก่อน การแคสติ้งจริงๆ ก็คือการมีคนมาดู และเลือกว่าเรามีดีหรือเหมาะสมกับสิ่งที่เขาจะทำหรือเปล่า 

 

ถ้ามองในมุมกลับไป การแคสติ้งเกิดขึ้นในการสมัครงาน เพราะเราต้องพรีเซนต์ตัวเองว่าเรารู้สึกอะไร มีข้อดีอะไร ความต้องการของเราตรงกับความต้องการของคุณไหม ชีวิตเราถูกคัดเลือกจากคนที่มองเข้ามาอีกเยอะแยะมากมายในสถานการณ์ต่างๆ เต็มไปหมดเลย 

 

ร่ม: ที่บอกว่ายาก เพราะเราคิดว่าไม่เสมอไปถ้าจะบอกว่าการแสดงควรจะออกมาเป็นแง่บวกอย่างเดียว เพราะ Objective หรือวัตถุประสงค์ของมนุษย์เรานี่ล่ะที่เป็นความอันตรายบางอย่างนะ ที่พอรู้วัตถุประสงค์ของตัวเองชัดเจน เช่น จะทำเพื่อให้เขายอมเราให้ได้ กลายเป็นอาการร้องไห้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่อยากได้ขึ้นมา เวลาพูดถึงการแสดงเรามองเป็นกลางมากเลยนะ มนุษย์เราไม่ได้สวยงาม มีบวก มีลบ มีดาร์กไซด์ที่สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าคุณนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในทางที่ถูกหรือผิด

 

แต่พูดให้ลึกกว่านั้น เราว่ามันผิดประเด็นไปเหมือนกันที่ต้องหาคำตอบว่าการเรียนแอ็กติ้งแล้วต้องเป็นบวกลบ หรือดีไม่ดี เพราะจุดประสงค์จริงๆ ของการแสดงมันคืออย่างที่บอกแต่แรกว่า ให้เริ่มจากทำความเข้าใจตัวเอง ซึ่งในตัวเรามันซับซ้อนกว่านั้นมาก และถ้าเข้าใจหรือค้นพบด้านที่ลบของตัวเอง ก็เรียนรู้ว่าจะอยู่กับสิ่งที่เป็นด้านลบในตัวเองอย่างไร นี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจก่อน เพราะว่าเราไม่ได้โลกสวย 

 

ฟังดูแล้วการเข้าใจตัวเองผ่านศาสตร์การแสดงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลามากพอสมควร แต่ในคอร์สนี้ที่อาจจะมีเวลาไม่มากขนาดนั้น แต่สิ่งที่คนเรียกจะได้กลับไปแน่ๆ คืออะไร 

ร่ม: ทั้งหมดเหมือนเรากำลังพูดถึงสิ่งที่อยู่บนจุดสูงสุด ทำให้ฟังดูเหมือนกระบวนการพวกนี้เกิดขึ้นได้ยาก แต่จริงๆ แล้ว Objective มีตั้งแต่ตื่นมาแปรงฟัน แต่งตัวไปทำงาน

 

บิว: หรือหิวข้าวเดินไปตู้เย็น อ้าว ในตู้เย็นไม่มีข้าว จะทำอย่างไรต่อไป เดินออกไปซื้อ โทรสั่ง LINE MAN นี่คือกระบวนการที่มนุษย์คนหนึ่งทำเพื่อให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ 

 

 

ในฐานะแอ็กติ้งโค้ช เคยใช้ทักษะทางการแสดงร้องไห้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่างบ้างไหม 

กุ๊กไก่: อาจจะเป็นบางครั้ง ยังไงในความหมายของความเป็นมนุษย์ เราไม่สามารถรู้ตัวได้ตลอดหรอกว่ากำลังใช้สิ่งนี้อยู่ 

 

ร่ม: หรือเราอาจจะไม่ได้ในโมเมนต์นั้น เรากำลังใช้การแสดงเพื่อผลประโยชน์บางอย่างอยู่ แต่พอทำไปแล้วค่อยมานั่งคิดได้ว่า อ๋อ ที่เราเลือกแบบนี้เพราะอะไร มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่ได้ผ่านกระบวนการคิด แต่ผ่านจิตใต้สำนึกที่ทำไปแล้ว ด้วยอาชีพทำให้เราจะมีความระมัดระวังตัวสูง และต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง

 

กุ๊กไก่: พอทำงานไปเรื่อยๆ ระหว่างทำงานเราก็ต้องดูเด็ก ดูนักแสดงว่า เฮ้ย มันเป็นยังไง รู้สึกยังไง ต้องการอะไรบ้าง แล้วก็มีติดตัวออกไปบ้างในบางที 

 

ร่ม: กลับมาที่ 3 เรื่องที่คุยกันตั้งแต่แรก คือเราต้องเข้าใจตัวเองก่อน สิ่งที่ต้องเรียนแน่ๆ คือรู้ว่าถ้าทำอะไรแต่ละอย่างในชีวิต คุณทำสิ่งนั้นไปเพราะอะไร ต้องเรียนรู้ Objective ก่อน เพราะมันเป็นประเด็นหลักของการเรียนรู้ศาสตร์การแสดงแน่ๆ 

 

 

คอร์สการแสดงเหมือนเป็นการเริ่มสเตปที่หนึ่งที่ทำให้เขายอมรับตัวเองให้ได้ก่อน แล้วนำไปสู่สเตปต่อมาว่า เขาอยากดีขึ้นกว่านี้ไหม

 

 

มีเคสของนักเรียนคนไหนบ้างไหมที่ยกเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนได้ว่าเรียนการแสดงแล้วนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ 

บิว: มีเคสหนึ่งประทับใจมาก นักเรียน ม.6 เก็บเงินมาเรียนเอง เป็นคนที่ขี้กลัวมากๆ เหมือนคาแรกเตอร์ในหนังหรือการ์ตูนที่ทำผมปิดหน้า พยายามทำตัวเองให้เล็กที่สุด ถึงขนาดเดินชนกำแพงยังยกมือขอโทษกำแพงเลย เขารู้ตัวว่าไม่ได้มีความมั่นใจมากพอที่จะไปเจอคน ไปมีเพื่อน หรือแสดงความคิดเห็นอะไรออกมา ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนเก่ง มีไอเดียที่ดี เพราะมีความกลัวเป็นกำแพงอยู่ เขาก็เลือกมาเรียนการแสดง เพราะรู้ว่าถ้าเข้ามหาวิทยาลัยแล้วยังเป็นแบบนี้ เขาเข้ากับเพื่อนไม่ได้แน่ๆ 

 

พอเรียนจบเราก็แอบตามอินสตาแกรมเขา กลายเป็นสาวสวยคนหนึ่งที่มั่นใจ หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปตัวเอง แล้วก็เป็นหัวหน้าชมรม หรือเคยเจออัยการมาเรียนเพราะว่าเคยว่าความไปก้มหน้าไป ไม่กล้าอายคอนแท็กกับใคร สุดท้ายก็เฉิดฉาย 

 

ร่ม: คอร์สการแสดงเหมือนเป็นการเริ่มสเตปที่หนึ่งที่ทำให้เขายอมรับตัวเองให้ได้ก่อน แล้วนำไปสู่สเตปต่อมาว่า เขาอยากดีขึ้นกว่านี้ไหม ถ้าอยากดีขึ้นแล้วเป็นแบบนี้ เวลาอยู่กับคนอื่นฉันต้องสวมหมวกหรือสวมคาแรกเตอร์บางอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างเพื่อนใหม่ หรือดีลกับอะไรก็แล้วแต่ 

 

กุ๊กไก่: พอยอมรับตัวเองได้ เราจะมีเทคนิคบางอย่างที่นักแสดงมืออาชีพใช้ เพื่อให้เขาปลดล็อกอะไรบางอย่าง ทั้งทางร่ายกายหรือจิตใจ ซึ่งมันเป็นการทำงานร่วมกันนะ เราบังคับเขาไม่ได้ ต้องคุยกันว่าเขาอยากไปต่อไหม ถ้าเขาแฮปปี้เราก็จะปล่อย เพราะไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องดูมีความมั่นใจเสมอไป ถ้ายอมรับกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่แล้วแฮปปี้ ให้เป็นแบบนั้นไปก็ได้  

 

บิว: ในคลาสการแสดงเราจะไม่บังคับให้เขาต้องทำอย่างนี้ แต่อาจจะเหมือนค่อยๆ หลอกล่อให้เขาเจอตัวเอง เราเป็นแค่ไกด์ที่นำเสนอเครื่องมือบางอย่างให้เขา 

 

กุ๊กไก่: มีตัวอย่างเคสหนึ่งที่ง่ายมาก เป็นน้องนักศึกษาที่ไม่มั่นใจในตัวเองมากๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่สวยตลอดเวลา โจทย์ที่เราให้ก็คือ เขาต้องแต่งตัว แต่งหน้าที่คิดว่าตัวเองสวยที่สุดมาเรียนทุกครั้ง เป็นวิธีแบบ Outside-In เปลี่ยนจากข้างนอกก่อน แล้วนางก็แต่งตัว แต่งหน้าสวยมาเรียน ทุกวันนี้ก็สวยและมั่นใจมากว่า หนูสวยค่ะ (หัวเราะ) 

 

 

 

จริงๆ แล้วเขาอาจไม่ต้องมาเข้าเรียนด้วยซ้ำ ถ้ามีความมั่นใจมากพอ 

ร่ม: คนบางคนต้องการแค่แรงซัพพอร์ต ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ที่บ้าน แต่หลายครั้งปัญหาก็เกิดจากการที่ที่บ้านไม่ยอมคุยกัน ไม่ซัพพอร์ตกัน เขาเลยต้องมาตามหาสิ่งนี้ในคลาสแอ็กติ้ง บางทีเราก็เป็นเหมือนแม่ที่คอยซัพพอร์ตให้เขานะ (หัวเราะ) 

 

บิว: หรือบางทีที่บ้านก็ซัพพอร์ตนะ แต่เป็นเขาเองไม่เปิดใจที่จะฟัง เขาอยากฟังเสียงของคนอื่น พออยู่ในคลาสการแสดง เราจะเปิดให้มีการพูดคุย แชร์ความคิด แชร์ความรู้สึกกันเยอะมาก เขาจะรับรู้ความคิด ความรู้สึกทั้งจากครูผู้สอนและเพื่อนๆ ในคลาส เป็นการสะท้อนภาพซึ่งกันและกัน เป็นกลุ่มที่มีความเปิดใจคุยกัน แต่ก็มีความปิด มีความสบายใจบางอย่าง ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ

 

ร่ม: การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ขึ้นมาให้ได้คือโจทย์หลักของคลาสการแสดง คุณจะเป็นอะไรก็ได้ เพี้ยนที่สุด โรคจิตที่สุด ตัดสินคนอื่นที่สุด ลงไปให้ลึกถึงแง่ลบที่สุดของตัวเอง เพื่อให้เห็นว่านี่คือตัวตนของคุณนะ แล้วคนอื่นช่วยสะท้อนให้เห็นภาพว่า เมื่อคุณเป็นแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่การตัดสินว่าผิดหรือถูกนะ เราแค่สะท้อนภาพซึ่งกันและกันออกมา 

 

กุ๊กไก่: เวลาเราให้แสดงสถานการณ์จำลองบางอย่าง เขาจะได้เห็นว่าในแต่ละสถานการณ์ เช่น โทรศัพท์หาแม่ ทำไมเขาใช้รีแอ็กชันอย่างหนึ่ง แล้วทำไมเพื่อนอีกคนใช้รีแอ็กชันอีกอย่างหนึ่ง ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ทำให้เขาเข้าใจคนรอบข้างด้วย จากที่ก่อนหน้านี้เคยแต่ตัดสินคนอื่นว่าทำไมถึงทำแบบนี้วะ ได้เห็นที่มาว่าทำไมปลายทางของเราและเขาถึงเป็นแบบนี้ ใต้ภูเขาน้ำแข็งยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกเยอะมาก 

 

บิว: เราเคยเจอคนคนหนึ่งที่สงสัยว่าทำไมคนถึงไม่ชอบเขา พอได้ใช้เวลาเรียนรู้อยู่ด้วยกันทำให้รู้ว่า อ๋อ เพราะเวลาเขาตกใจ กลัว หรือทำตัวไม่ถูก เขาจะรีแอ็กชันออกมาด้วยการหัวเราะ แต่เขาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแบบนั้น เวลาเพื่อนคุยซีเรียสก็จะหัวเราะออกมา ซึ่งทำให้คนอื่นมองเข้าไปแล้วตีความว่าเขาไม่เคารพคนอื่น 

 

ถ้าไม่ได้อยู่ในคลาสการแสดง เราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองขึ้นมาจากที่ไหนได้บ้าง 

ร่ม: ในความเป็นจริงแล้วมันควรจะเริ่มต้นจากที่บ้านเลยนะ เป็นเรื่องที่มีคนพูดเกี่ยวกับลูกเราเยอะที่สุดว่า เพราะแม่เป็นแอ็กติ้งโค้ช ลูกเลยดัดจริต กล้าแสดงออกทุกอย่าง เหมือนถูกด่าเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่เราไม่โกรธนะ 

 

เพราะรู้สึกว่าถ้าเราสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านขึ้นมาได้ว่า อยากเป็นอะไร เป็นไปเลย อายุ 3 ขวบ อยากกระโดดโลดเต้นแบบ BLACKPINK ซึ่งคนก็จะตัดสินว่าดัดจริตเกินวัยไปหรือเปล่า แต่สำหรับเรากับแฟนรู้สึกว่า มันจะโอเคกว่าหรือเปล่าที่เขาจะออกไปทำที่อื่น เพราะรู้สึกว่าที่บ้านไม่ปลอดภัย

 

บิว: จริงๆ คนที่ควรมาเรียนคลาสแอ็กติ้งต้องเป็นพ่อแม่ด้วยนะ (หัวเราะ) กว่า 99.99% ปมของแทบทุกคนมาจากครอบครัว มักจะมีพ่อแม่เดินเข้ามาบอกเราว่า ครูคะ ช่วยดูให้หน่อย ลูกไม่กล้าแสดงออกเลย เรียนก็ไม่เก่ง ทำอันนี้ก็ไม่ดี แล้วก็จะพยายามโค้ชลูกใหญ่เลยว่าให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ 

 

 

 

มีวิธีการอย่างไรให้ทุกคนรักษาพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถทำอะไรก็ได้เอาไว้ได้ตลอด โดยไม่ถูกรุกรานหรือโจมตีจากคนอื่นๆ เพราะบางคนอาจจะมีพื้นที่ปลอดภัยในการเต้น วาดรูป การอ่านการ์ตูน ฯลฯ แต่พอทำแบบนั้นในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่บ้าน แล้วถูกคนอื่นๆ มองว่าบ้าหรือไม่ปกติ 

ร่ม: หลังผ่านสเตปแรกในการทำความเข้าใจตัวเอง ค้นพบแล้วว่าพื้นที่ปลอดภัยของเราคืออะไร สเตปที่สองก็คือการแสดงออกหรือสื่อสารข้อความบางอย่าง ผ่านวิธีการมากมาย เพื่อสร้างเส้น สร้างประตู เพื่อแจ้งให้ทราบว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยของฉัน

 

บิว: จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากสเตปแรกที่ทำความเข้าใจตัวเองก่อนจริงๆ ถ้าเรารู้สึกมั่นคงกับตัวเองมากพอ รู้ว่าเราทำสิ่งนี้ แสดงออกแบบนี้ด้วยเหตุผลอะไร ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถรุกล้ำพื้นที่ของเราได้ 

 

ร่ม: นอกจากสร้างพื้นที่ปลอดภัยในตัวเองขึ้นมาได้แล้ว สิ่งที่ได้จากแอ็กติ้งคลาสก็คือการแบกพื้นที่นั่นออกไปด้วยในทุกๆ ที่ คล้ายๆ กับเวลานักแสดงมืออาชีพที่เราแอบรู้สึกว่าเขาจะแสดงได้ดีก็ต่อเมื่อเขารู้สึกรีแล็กซ์ และได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าในกองถ่ายจะมีอีกหลายคนและอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันก็ตาม 

 

บิว: เราชอบพูดกับนักแสดงว่า ถ้าคุณจะเป็นนักแสดงจริงๆ ต้องเปลือยหมด เหมือนนึกภาพว่าเราไปยืนแก้ผ้าอยู่บนเวที แก้ผ้าอยู่หน้ากล้อง ต้องเปลือยความรู้สึกออกมาให้ได้มากขนาดนั้น 

 

กุ๊กไก่: ในคลาสการแสดงของเมืองนอก ถึงขนาดว่าต้องนอนแก้ผ้าแล้วนอนทับกันไปเรื่อยๆ เลยนะ 

 

 

 

คลาสแอ็กติ้งของนักแสดงมืออาชีพกับคลาสสำหรับคนทั่วไปแตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

บิว: พื้นฐานที่สุดเหมือนกัน คือย้อนไปที่เรื่องการเข้าใจตัวเอง เพราะถ้านักแสดงไม่รู้จักตัวเอง เขาจะแกว่งเวลาไปเป็นตัวละครอื่น เลยมีหลายคนที่พอเข้าบทบาทแล้วออกจากตัวละครนั้นๆ ไม่ได้ เขาต้องเข้าใจตัวเองในสเตปแรกให้มากๆ ก่อนเข้าสู่สเตปต่อมาคือ การสังเกตคาแรกเตอร์ที่แตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ถ้าฉันทำแบบนี้ คนอื่นทำยังไง เปรียบเทียบตัวละคร เริ่มปรับมุมมอง ถ่ายเทพฤติกรรมของตัวเองเข้าหาตัวละครนั้น 

 

ร่ม: กระบวนการแสดงของนักแสดงมืออาชีพเลยต้องใช้เวลาในการศึกษาที่นานมากๆ และสะท้อนกลับมาที่เดิมว่า ยิ่งเป็นตัวละครที่แตกต่างกับตัวเองมากๆ คุณยิ่งต้องรู้จักตัวเองให้มากขึ้นเท่านั้น 

 

เคยคุยกับนักแสดงบางคนที่บอกว่า ต้องพาตัวเองไปเข้าคลาสแอ็กติ้งทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน อยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่าการแสดงนอกจากเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน แล้วยังเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย 

บิว: เหมือนการออกกำลังการเพื่อสร้างกล้ามเนื้อทางความรู้สึก สิ่งสำคัญของการเรียนแอ็กติ้งคือการเปิดประสาทสัมผัส ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองเซนสิทีฟที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่หยุดใช้ ความแหลมคมของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็จะเหี่ยวไปด้วย 

 

ร่ม: แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ สมมติฝึกซ้อมว่ายน้ำมาตลอด วันหนึ่งคุณหยุด กลับมาอีกที พอกระโดดลงน้ำยังว่ายได้อยู่ แต่ถ้าคุณฝึกการแสดง ฝึกประสาทสัมผัสมาตลอดแล้วหยุดไปนาน พอกลับมาเหมือนกล้ามเนื้อฝ่อ มันจะทำอะไรไม่ถูกเลย 

 

 

 

ตามปกติเวลาที่เราทำงาน หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดภาวะเริ่มไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งนั้นเท่าไร กับศาสตร์การแสดงที่ต้องอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึก ต้องฝึกประสาทสัมผัสให้แหลมคมตลอดเวลา เคยทำให้พวกคุณรู้สึกเฉยชากับการทำสิ่งนี้ซ้ำๆ บ้างไหม 

ตอบพร้อมกัน: ตรงกันข้ามเลย (หัวเราะ) 

 

ร่ม: มีแต่ยิ่งเซนสิทีฟแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปัญหาเหมือนกันนะ คือพอรู้สึกเยอะ เราต้องเรียนรู้เพื่อปิดความรู้สึกให้ได้ด้วย บางทีแค่เปิดพัดลม มีแอร์เย็นๆ พัดมาก็ร้องไห้ มันทรมานไปหมด 

 

กุ๊กไก่: อีกหนึ่งสิ่งที่นักแสดงต้องเรียนก็คือการคัตความรู้สึกพวกนี้เวลามีมากเกินไปให้ได้ 

 

ร่ม: อันนี้คือเรื่องของการใช้ความรู้สึก ที่มีแต่จะเซนสิทีฟมากขึ้น แต่ถ้าพูดเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนแอ็กติ้งนี่มีนะ เราเพิ่งคุยประเด็นนี้เป๊ะเลย คือเริ่มสอนแล้วรู้สึกไม่ค่อยอิน ไม่สนุก คือข้างนอกยังเซนสิทีฟ แต่พอไปในคลาสมันเป็นอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์อย่างเดียว ซึ่งแต่ละคนก็มีเครื่องมือจัดการแตกต่างกันไป 

 

กุ๊กไก่: วิธีที่เวิร์กกับตัวเราคือ ตั้งสติก่อนเข้าไปสอน ตรงนี้ล่ะที่ศาสตร์แสดงช่วยเราได้ คือพอรู้สึกว่าเริ่มไม่อิน เริ่มไม่สนุก สร้างบริบทให้เกิดความรู้สึกใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เช่น พอสร้างบริบทขึ้นมาใหม่เลยว่า นี่คือนักเรียนหน้าใหม่ทั้งหมดนะ เขาต้องได้รับสิ่งใหม่ๆ จากเรา เหมือนทำ Scene Work ที่ช่วยให้เรารีเซตความรู้สึกในตัวเองได้ 

 

บิว: ใกล้เคียงกับกุ๊กไก่เลย แต่เราจะเซตที่ Objective เป็นหลัก เช่น ถ้าจะเข้าสอน ก็เริ่มที่วัตถุประสงค์ว่าเราอยากให้เด็กได้ผลลัพธ์อะไรจากคลาสนี้ เปลี่ยนจากโฟกัสที่อารมณ์ของเราที่กำลังรู้สึกไม่สนุก ไปโฟกัสที่สิ่งที่เรากำลังจะทำเป็นหลัก แล้วก็สวมบทบาทพาตัวเองแล้วก็เด็กๆ ไปถึงจุดนั้นให้ได้ 

 

ร่ม: ของเราคือการพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน คนที่มาเรียนเขาก็พาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนมาอยู่ในคลาสการแสดง เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรที่เราจัดไปให้ เขาตื่นเต้นทั้งหมดอยู่แล้ว ที่สำคัญคือตัวเรานี่ล่ะ ที่จะต้องพาตัวเองออกนอกคอมฟอร์ตโซนในพื้นที่แบบเดิมให้ได้ เราจะมองตัวเองเหมือนเป็นนักแสดงว่า เราจะทำยังไงให้บริบท คลาส หรือแบบฝึกให้เหมือนเดิม ให้ไม่เหมือนเดิม ให้มันสนุก พยายามหาอะไรใหม่ๆ อะไรที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น เพราะสำหรับเรา 2 สิ่งนี้สำคัญมาก  

 

จะเห็นว่าใน 1 ปัญหา มีวิธีการคิด และกระบวนการการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ละคนมีเงื่อนไข ในสถานการณ์ ลักษณะนิสัย และบริบทที่แตกต่างกันไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่คลาสการแสดงมอบให้ได้ เหมือนเป็นการเพิ่มเครื่องมือในการทำความเข้าใจตัวเอง เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนอีกมากมาย ที่แต่ละคนก็จะเลือกใช้เครื่องมือและวิธีการที่แตกต่างกันไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • คลาส The Acting Effect เปิดทำการสอนจำนวน 2 รอบ (รอบละ 5 วัน) ในช่วงวันที่ 7, 8, 14, 15 และ 21 กันยายน 2019 และ 2, 3, 9, 10, 16 พฤศจิกายน 2019 โดยเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเพียงคลาสละ 20 คนเท่านั้น 
  • สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/campg/campgthexgen?fbclid=IwAR14Jyf0YCBJIqqC6wQ81fxVT5dfkDTcXKv5Li99PwlBpJrFjqb5X49jynI
  • นอกจากคลาส The Acting Effect ในโปรเจกต์ Camp G The X Gen ยังมีคลาสเรียนที่น่าสนใจในสาขาต่างๆ ที่เพิ่งจบลงไป เช่น We Will Doc You! โดย ไก่-ณฐพล บุญประกอบ (ผู้กำกับ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว), คลาส The Film Master Craft โดย นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ (ผู้กำกับ มะลิลา The Farewell Flower)
  • และคลาสที่กำลังเปิดสอนอย่าง คลาส The Sound Creator โดย ต้า-สักกพิช มากคุณ (ผู้ร่วมก่อตั้ง Rap is Now), เดียร์ T-Biggest ศุภณัฐ ปรีย์วัฒนานันท์ (ผู้ก่อตั้ง Beatsway), คลาส Experience Design โดย เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เเละ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล (ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill) เเละคลาสนิเวศวิทยาการสร้างสรรค์งาน โดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (ผู้กำกับ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ)
  • สามารถเข้าไปรับชมภาพบรรยากาศของ 2 คลาสที่ผ่านมา รวมทั้งศึกษาข้อมูลของคลาสที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ที่ www.facebook.com/CampGAcademy/
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising