×

เรียนรู้กระบวนท่าเดิม แต่เพิ่มเติมแนวคิดใหม่ของคณะสถาปัตย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ในขวบปีที่ 21 สู่การเป็นผู้นำทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่อาวุธทางความคิดครบมือ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • จับตาดูขวบปีที่ 21 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับการเดินหน้าแบบก้าวกระโดดด้วยแนวทาง 3i + 1S = Integration, International Mindset, Innovation และ Sustainability สู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่สวมบทบาทในการยกระดับสังคม ยกระดับเศรษฐกิจ ผลิตคนที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน  

“ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราพูดถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในสังคมนั้นจะต้องมีเรื่องของการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การบริการวิชาชีพ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ในยุคที่โลกก้าวสู่ Next Normal สถาบันการศึกษาต้องทบทวนบทบาทใหม่ และต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น” นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายบทสรุปของเป้าหมายใหญ่ในวันที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21  

 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ถึงทิศทางของโลกการศึกษาที่คณะสถาปัตย์ฯ จะก้าวเดินต่อไปในปีที่ 21 รวมถึงหน้าที่ของสถาบันการศึกษาในยุคนี้ที่ต้อง Learn Fast, Fail Fast ‘มองให้ไกลและทำทันที’ ยิ่งเราอยู่ในโลกที่ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไรก็ได้ เช่นนั้นแล้ว สถาบันการศึกษายิ่งต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบัน ที่ไม่ว่าจะหว่านเมล็ดพันธุ์ใดลงไป ก็งอกเงยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีคุณค่าต่อตนเองและสังคม

และหากจะเอ่ยถึงสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำด้านการศึกษา ชื่อของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นและเป็นผู้นำในเรื่องวิชาการ โดยเฉพาะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หลักสูตรของคณะสถาปัตย์ฯ ก็มักจะเป็นหลักสูตรแรกหรือหลักสูตรเดียวในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในการผลิตองค์ความรู้ใหม่ 

เหตุการณ์ที่เน้นย้ำถึงบทบาทผู้นำของสถาบันการศึกษาคือ วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั่วโลกถูกผลักให้ต้องปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal อย่างรวดเร็ว ด้วยลักษณะของโลกแบบ ‘VUCA World’ ที่มีความผันผวนสูง (Volatile) ความไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และคลุมเครือ (Ambiguous) ส่งผลกระทบออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้คณะสถาปัตย์ฯ ต้องทบทวนถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในอนาคตที่ว่า “เราจะสร้างคนรุ่นใหม่อย่างไร?” ผศ.อาสาฬห์ เน้นย้ำว่า การทบทวนบทบาทในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากปีที่ 20 สู่ปีที่ 21

  

 

ก้าวสู่ปีที่ 21 ‘Non-Traditional Education’ ต้องนำมาเขย่าและเล่าในมุมใหม่ 

“จริงๆ แล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คณะสถาปัตย์ฯ ในบทบาทของสถาบันการศึกษาในสังคมต้องมีเรื่องของการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การบริการวิชาชีพกันมาอยู่แล้ว แต่ในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่ Next Normal ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันยังต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้พันธกิจ 3 ข้อ คือ

1. การเรียน การสอน แบบ Non-Traditional Education เป็นเรื่องจำเป็น 

เทรนด์ในอนาคตประชากรเกิดใหม่ลดลง ในขณะที่ภาคแรงงาน อัตราการงานจ้างใหม่จะชะลอไปจนถึงปี 2564 เช่นนั้นแล้ว คนรุ่นใหม่ต้องการทักษะที่เปลี่ยนไป ส่วนคนที่อยู่ในวิชาชีพก็ต้องปรับตัว Re-Skilling / Up-Skilling ดังนั้นเนื้อหาการเรียน การสอน ต้องปรับให้ทันสมัย ส่วนรูปแบบการเรียน การสอน หรือรูปแบบการศึกษาก็คงจะต้องเปลี่ยนให้ถูกใจผู้เรียน คณะสถาปัตย์ฯ จึงผลักดันคอนเซปต์เรื่องของ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ที่เดิมก็ให้ความสำคัญและปลูกฝังสิ่งนี้กับผู้เรียนมาเสมอ คงจะต้องผลักดันให้เข้มข้นขึ้น

 

2. กรอบของการวิจัยต้องเปลี่ยน 

ยุคก่อนงานวิจัยทางด้านการออกแบบ สถาปัตยกรรม และการผังเมือง วางอยู่บนกรอบความคิด ความเชื่อแบบเก่า แต่โลกยุคหลังโควิด-19 ได้บังคับให้เราต้องตั้งคำถามใหม่ กรอบของการวิจัยต้องเปลี่ยน คำถามคือแล้วเราจะได้กรอบของการวิจัยใหม่ๆ จากที่ไหน? นี่ก็เป็นอีกแนวทางที่คณะสถาปัตย์ฯ เตรียมวางแนวทางไว้ชัดเจน

 

3. ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการชี้นำการออกแบบในเชิงวิชาชีพมากขึ้น 

แม้ว่าเรื่องของการบริการวิชาการและการบริการวิชาชีพเป็นเรื่องที่เปลี่ยนน้อยที่สุดในแง่ที่ว่า สถาบันการศึกษาไม่ได้เน้นหนักไปที่การให้บริการวิชาชีพมากนัก แต่เราก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำในการชี้นำการออกแบบวิชาชีพในเชิงวิชาการ วิจัยวิชาชีพมากขึ้น ต้องเชื่อมโยงให้สังคมเข้าใจและรับรู้ได้ง่ายขึ้น ผ่านการออกแบบอาคาร ที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สเกลเล็กๆ อย่างออกแบบห้องพักอาศัยไปจนถึงสเกลใหญ่ของเมือง”

 

กระตุ้นการสร้างสรรค์อนาคตด้วยการออกแบบบผ่านนิยาม ‘Inspiring Design-Driven Future’
“สิ่งที่คณะสถาปัตย์ฯ ทำในช่วงเปลี่ยนผ่านของการเข้าสู่ปีที่ 21 คือการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์อนาคตด้วยการออกแบบ หรือที่เรานิยามว่า ‘Inspiring Design-Driven Future’ คือจะต้องเชื่อมั่นในการกำหนดอนาคตที่มีการวางแผน ได้รับการออกแบบ คาดการณ์ได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งการออกแบบเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมือง หรือในเชิงการแก้ปัญหาต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ 3i + 1S”  

 

3i + 1S = Integration, International Mindset, Innovation และ Sustainability

ความจริงแล้ว Integration, International Mindset, Innovation และ Sustainability ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผศ.อาสาฬห์ บอกว่า นี่คือเรื่องเก่าที่ไม่เคยถูกมองในมุมใหม่ เมื่อกรอบการมองคือกำแพงที่ปิดกั้นทุกอย่าง 


“พอเรามองเรื่องเก่าในมุมใหม่ด้วยการมองว่า ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลง รวดเร็ว ผันผวน และไม่แน่นอน เราต้องไม่เชื่อว่าเส้นกราฟของความสำเร็จจะขึ้นจากจุดต่ำสุดไปสูงสุดเป็นเส้นตรง ในความเป็นจริงมันอาจมีขึ้นมีลง ดังนั้นการมองเทรนด์ให้ออกเป็นเรื่องที่สำคัญ และมองทุกอย่างในมิติอื่นๆ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”  

 

Integration บูรณาการข้ามศาสตร์

“อย่างเรื่อง Integration คณะสถาปัตย์ฯ ในมุมของการบูรณาการข้ามศาสตร์ การนำองค์ความรู้จากหลายศาสตร์มาแก้ปัญหา ซึ่งเราต้องมองให้ลึกขึ้นในเชิงกายภาพ ข้อได้เปรียบคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองเชี่ยวชาญเรื่องกายภาพอยู่แล้ว เช่น การแก้ปัญหาเรื่องเมือง ต้องมองสเกลของเมืองที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้น และต้องมองถอยกลับมาว่าในเมืองมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อที่จะบูรณาการการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม รวมไปถึงเรื่องของทีมในการบูรณาการ ต่อไปนี้เราจะเห็นทีมนักออกแบบทำงานร่วมกับแพทย์ วิศวกรระบบงานปรับอากาศ หรือคนที่ทำงานทางสังคม ชุมชน นี่คือการบูรณาการข้ามศาสตร์เข้ามาร่วมทีมกับนักออกแบบเพื่อแก้ปัญหา

 

“ลองนึกภาพคนเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มียูนิตขนาดเล็ก มีความหนาแน่นมาก ปัญหาที่เจอช่วงโควิดคือ เรื่องของการพักผ่อนหรือทำกิจกรรม จะไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง เพราะทุกคนอยู่ในคอนโด จากนี้ไปคอนเซปต์อาจจะต้องถูกเปลี่ยนเป็นเมืองที่มีสวนสาธารณะขนาดเล็กกระจายแทรกทุกส่วนของเมือง เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเสี่ยงของการแพร่กระจาย นั่นหมายความว่า โจทย์ของคำว่า Integration จะซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในมิติกายภาพไปจนถึงมิติทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ

 

“อีกมุมหนึ่ง เมื่อเราอยู่ในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งมีโลกขนานสองใบ คือโลกของ Digital Information และโลกที่เราอยู่จริงๆ ทุกคนมีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีอัตลักษณ์อยู่ในระบบ Virtual อีกแบบ ดังนั้นการบูรณาการระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ต้องคิดใหม่ เช่น ช่วงที่จะต้องกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งหลังล็อกดาวน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชัดเจนว่าเราจะเรียนกันที่มหาวิทยาลัยแบบมีมาตรฐานใหม่ หรือหากเกิดการระบาดใหม่ เราก็สามารถกลับไปเรียนออนไลน์ได้ทันที แต่การปรับตัวแบบ Next Normal ทำให้เราต้องกลับมาคิดใหม่ สิ่งที่คณะทำคือ คิดระบบควบคุมจำนวนคนในตึกให้มีจำนวนที่สามารถทำ Social Distancing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็นำระบบลงทะเบียนด้วย Face Recognition และใช้กล้องคัดกรองอุณหภูมิ ซึ่งจะมี ID ของนักศึกษาเก็บไว้ในระบบข้อมูล” 

      

 

International Mindset โลกไร้พรมแดน (แห่งการเรียนรู้)

International Mindset ต้องมองในมิติใหม่ เดิมทีเรามองคำนี้เป็นเรื่องของความหลากหลาย นานาชาติ ความเป็นสากล ต่อไปนี้อาจจะต้องมองในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิกฤตโควิด-19 สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า เกิดความร่วมมือกันทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาหรือการตระหนักถึงผลกระทบของ Global Issue ต้องชัดเจนมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ใครจะคาดคิดว่าวิกฤตครั้งนี้จะกระทบคนทั้งโลก ธุรกิจสายการบินหยุดชะงัก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล่ม ดังนั้นบทบาทของคนในอนาคตจะต้องเชื่อมโยงโลกไร้พรมแดนให้ได้ เช่น หากในอนาคต WHO พูดถึงมาตรฐานการออกแบบที่มันแก้ปัญหาโรคนี้ได้ นักออกแบบ นักวางผังเมือง นักคิดกลยุทธ์ ต้องสามารถดึงสิ่งเหล่านี้มาตีโจทย์เพื่อนำไปสู่การออกแบบได้”  

 

Innovation ผู้ใช้คือผู้สร้าง

“จากนี้ไปต้องพูดเรื่อง Innovation ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากจะสร้างนวัตกรรมต้องเกิดจาก 3 ส่วน คือ 

 

1. มองคนแบบ Human-Centered มากขึ้น ว่าเขาต้องการอะไร เขามีปัญหาอะไร อย่างช่วงโควิด-19 สถานการณ์ที่ชัดเจนคือ คนอยู่บ้าน อยู่คอนโด ต้องการสั่งอาหาร ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรีเติบโต ธุรกิจร้านค้าก็ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 

 

2. เข้าใจธุรกิจ ในเชิงของเศรษฐศาสตร์ เช่น โมเดลธุรกิจจะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไป ความรู้เรื่องธุรกิจจะมาช่วยขับเคลื่อนให้ไอเดียเหล่านั้นยั่งยืนขึ้น 

 

3. Data จากเดิมเราตัดสินใจกันโดยไม่มี Data แต่นับจากนี้ Data จะมาขับเคลื่อนการตัดสินใจว่าจะออกแบบไปในทิศทางไหน อาคารหรือเมืองจะต้องบริหารจัดการด้วยการใช้ Data คณะสถาปัตย์ฯ เรากำลังออกแบบส่วนต่อเติมที่ชั้น 7 ของอาคารของเราให้มี Adaptive Facade Design ปรับองศาของ Façade ตามทิศทางแดด เพื่อให้คุณภาพของแสงในอาคารดีขึ้น จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีงานวิจัยและผลักดันให้ไปสู่การใช้งานจริง

 

“และ 1S คือ Sustainability เดิมเราพูดถึง Sustainability ในมุมของสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว คงต้องพูดในสเกลของเศรษฐศาสตร์และเชิงสังคมมากขึ้นว่า ความยั่งยืนเชิงสังคมคืออะไร การที่องค์ความรู้ชุดหนึ่งถูกถ่ายทอดไปอีกยุคหนึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องพูดอย่างจริงจังมากขึ้น” 

  

 


เมื่อตั้งแกนโดยมุ่งไปที่ 3i + 1S เป็นแนวทางหลัก ก็ยิ่งเห็นทิศทางการก้าวเดินสู่ปีที่ 21 ของคณะสถาปัตย์ฯ ชัดขึ้น ผศ.อาสาฬห์ ยังเล่าให้ฟังถึงโปรเจกต์ทดลองที่เคยนำแนวทาง 3i + 1S ไปใช้

“หนึ่งในโครงการที่เห็นภาพชัดคือ Thammasat-Nava Nakorn Smart City เป็นความร่วมมือระหว่างธรรมศาสตร์ บริษัท นวนคร (มหาชน) บริษัท ราช กรุ๊ป และบริษัท เอแอลที เทเลคอม (มหาชน) ร่วมกับ Graduate School of Design ของ Harvard University เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ คำว่า Smart City มักถูกเข้าใจว่าเป็นคอนเซปต์ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน แต่เมื่อได้ศึกษาและทำความเข้าใจใหม่ พบว่าจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีทำเพื่อตอบโจทย์ของคนและสังคมเป็นตัวตั้ง พอเราไปมองว่าเทคโนโลยีมีอะไร เราก็พยายามใส่เข้าไปในเมือง แต่พอเราเปลี่ยนมุมมอง โฟกัสว่าคนต้องการอะไร แล้วค่อยหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้ นั่นคือสิ่งที่เราทำ

 

“โครงการนี้ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ระดับชุมชน ภายใต้เงื่อนไขและแผนพัฒนาที่สอดคล้องตามเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนา Thailand Smart City ทั้ง 7 ด้าน Smart Economy, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Environment, Smart Governance, Smart People และ Smart Living นี่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็น Integration เพราะเราให้นักศึกษาทำงานร่วมกับภาคเอกชน ขณะเดียวกัน International Mindset คือการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และ Innovation เราทดสอบกับภาคเอกชน และดูว่ามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรที่เขามาปรับใช้ได้ เป้าหมายต่อไปในปีที่ 21 เราจะร่วมมือกับ Harvard University จัดตั้ง International Research Center ในเรื่องการออกแบบและการวางแผนเพื่อพัฒนาเมือง”  


ตั้งคำถาม สร้างความใคร่รู้ที่จะค้นหา นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตในแบบธรรมศาสตร์ 

ดูเหมือนการเดินทางในปีที่ 21 ของคณะสถาปัตย์ฯ จะเต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นแนวทางด้านการศึกษาให้กับสถาบันการศึกษาอื่นได้ อย่างการให้ความสำคัญกับ Academic/ Corporate Partnerships สถาบันการศึกษาต้องร่วมมือและทำงานกับภาคเอกชนมากขึ้น หลากหลายสายอาชีพมากขึ้น ไม่จำกัดแต่เพียงสายอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะ หรือการปลูกฝังให้คนต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“การเรียนที่นี่เราไม่ได้สอนผู้เรียนตรงๆ ว่าจะต้องรู้อะไร แต่จะสอนว่า ถ้าอยากได้ความรู้นั้นต้องทำอย่างไร เราสอนกระบวนการคิด กระบวนการวิจัย โจทย์คือแบบนี้ สิ่งที่คุณต้องไปค้นคว้า วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจคืออย่างไร อันนี้คือกระบวนการที่ส่งเสริมและปลูกฝังให้นักศึกษาต้องเรียนรู้ตลอดเวลา อาจจะเรียกว่าเป็นวิชาชีพเดียวที่เราถูกสอนให้คิดแบบนี้ตลอด

 

“คณะสถาปัตย์ฯ เชื่อว่า วิธีหล่อหลอมผู้เรียนแบบนี้จะทำให้เขามีความสามารถในการปรับตัว ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ต้องแก้ปัญหาแบบไหน มันถูกสอนและปลูกฝังแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเรื่อง Design Leadership ที่เราพยายามเน้น แต่มันไม่ใช่สิ่งที่สอนด้วยการบอกว่า คุณต้องเป็นผู้นำ แต่ด้วยธรรมชาติของธรรมศาสตร์ที่เราพยายามจะส่งเสริมการเป็นผู้ชี้นำสังคม การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราสอนให้ผู้เรียนตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ตรงนี้ผู้เรียนจะได้ประสบการณ์และทักษะของการเป็นผู้นำติดตัวตลอดเวลาที่เรียนที่นี่” 

 


 

ผลกระทบ การปรับตัว และสิ่งที่จะเปลี่ยนไป ของระบบการศึกษาหลังโควิด-19
“เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญนะ แต่สถานการณ์โควิด-19 มันก็เป็นบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่คณะทำมาตลอด 20 ปี เราเดินหน้ามาถูกทางแล้วว่า เราปรับตัวเร็ว เราปรับหลักสูตรเป็น Short Course ระยะเวลาในการคิดออกแบบสั้นขึ้น ตอบโจทย์ใหม่เร็วขึ้น คิดว่านับจากนี้ไปเนื้อหาการเรียนในคณะสถาปัตย์ฯ คงเปลี่ยนแน่ๆ จากที่เมื่อก่อนเคยสอนออกแบบเมืองที่ต้องการให้คนกระจุกตัวในเมือง เพื่อให้โครงสร้างออกแบบได้ง่าย สร้างได้ในพื้นที่ที่จำกัด แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้วคนจะอยู่ในพื้นที่อย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาด

 

“แต่วิธีการสอนเรายังเชื่อมั่นว่า การเรียน การสอนที่ดี ไม่ใช่การได้รับองค์ความรู้ แต่มันคือการได้มีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม ผู้เรียนได้เจอกับผู้เรียน ผู้เรียนได้เจอกับอาจารย์ รูปแบบการศึกษาจะถูกบูรณาการระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ ตอนนี้คณะสถาปัตย์ฯ ก็พยายามผสมผสาน บางหลักสูตรเราเริ่มทดลองในบางวิชา เรียนเป็นออนไลน์บ้าง เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้กับการเรียน แต่ส่วนที่เป็น Project Base ที่ต้องมีการโคชชิ่งจากผู้สอน หรือมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็เริ่มกลับมาที่มหาวิทยาลัย

 

“ตอนนี้เราอยู่ในโลกไร้พรมแดน หน้าที่ของสถาบันการศึกษาคือ มองให้ไกลและต้องทำให้เร็ว Learn Fast, Fail Fast ไม่ใช่ Traditional Education แบบเดิมๆ ต้องมองไปถึงบทบาทของการศึกษา ไม่ใช่เพียงผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่บทบาทของสถาบันการศึกษาคือการยกระดับสังคม ยกระดับเศรษฐกิจ ผลิตคนที่มีศักยภาพในการชี้นำสังคม การจะชี้นำสังคมได้มันต้องมีนวัตกรรม ต้องมีอะไรใหม่ เพื่อไปขับเคลื่อนวิธีการทำงานให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

“เป้าหมายของการศึกษาก็ยังเป็นความยั่งยืน มหาวิทยาลัยก็ต้องยั่งยืน คนยังต้องเข้ามาเรียน เราต้องทำให้เขารู้ว่าการมาเรียนมันมีประโยชน์ หรือเราก็ต้องทำให้การศึกษาสร้างประโยชน์ให้กับเขาชัดเจน ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงกับการศึกษาก็ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งนี้จะสร้างความยั่งยืนของสังคม ไม่ใช่โลกแบบเดิมที่ทุกอย่างแยกส่วนกัน” 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising