×

ทำไมไทย-ซาอุ ฟื้นสัมพันธ์หลังร้าวฉานจากปมเพชรซาอุ

25.01.2022
  • LOADING...
ไทย-ซาอุ

พ.ศ. 2528 วงคาราบาว ออกอัลบั้ม อเมริโกย หนึ่งในนั้นมีผลงานเพลงที่ชื่อว่า ‘ซาอุดร’ เนื้อเพลงสะท้อนเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นที่คนอีสานลงทุนขายทรัพย์สินหมดหน้าตักเพื่อไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

 

แรงงานจากประเทศไทยเคยเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียกว่า 200,000 คน จนกระทั่งเกิดสามเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลง และหลังจากนั้นแรงงานของเราก็ลดจำนวนลงจากหลักแสนเหลือแค่หลักพันคน

 

– เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 เกิดเหตุคนร้ายลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดีอาระเบียรวม 4 ราย แต่ตำรวจไทยไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ โดยมีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว

 

– เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน เกิดคดีอุ้มฆ่า มุฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย และเป็นสมาชิกราชวงศ์ ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา ‘อุ้ม’ อัลรูไวลีไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

 

เรื่องนี้ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดีอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

 

– และเหตุการณ์ที่สามที่เข้ามาซ้ำเติมทุกอย่างให้แย่ถึงขีดสุด คือกรณีที่เราเรียกกันว่า คดีเพชรซาอุ ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 คนงานไทยชื่อ เกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายซาอุดีอาระเบีย ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศ โดยตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดีอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร ‘บลูไดมอนด์’ เม็ดใหญ่สุด ยิ่งไปกว่านั้นของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนเอาไปคืนให้ซาอุดีอาระเบีย

 

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศใหญ่ที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นประเทศที่มีอิทธิพลในกลุ่มประเทศมุสลิม เป็นที่ตั้งของนครมักกะฮ์ สถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลกรวมถึงชาวมุสลิมในไทยหวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต 

 

ในทางเศรษฐกิจ ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่สองของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นแหล่งส่งออกสินค้าไทยลำดับที่ 21 และซาอุมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย แต่เนื่องด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ ส่งให้ผลการเจรจาการค้าของทั้งสองฝ่ายไม่สะดวกมากนัก ยังไม่นับรวมธุรกิจจัดส่งแรงงาน และธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวขึ้นอีกมากหากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกลับสู่สภาวะปกติ

 

พ.ศ. 2553 เริ่มมีความหวังในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุ เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่า มุฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ก่อนคดีจะหมดอายุความเพียง 1 เดือน ตอนนั้นหลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี

 

แต่แล้วความหวังก็พังลง เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล 

 

ทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว ความสัมพันธ์ของสองประเทศตึงเตรียดอีกครั้ง และสุ่มเสี่ยงจนถึงขั้นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จากที่เคยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานาน

 

และยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลยกฟ้อง พล.ต.ท. สมคิด และพวกในคดีอุ้มฆ่าอัลลูไวลี ทำให้หลายฝ่ายมองไม่เห็นอนาคตการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียขึ้นมาอีกครั้ง

 

แต่เมื่อปลายปีเดียวกันนั้น เรากลับเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่สอง ถือเป็นการมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

 

ว่ากันว่าก่อนที่จะมีการหารือดังกล่าว ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายช่วยประสานผลักดันให้เกิดการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียเองที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย หรือนักการทูตฝ่ายไทยเองที่ขอความร่วมมือจากมิตรประเทศที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมานานอย่างบาห์เรนให้ช่วยเป็น ‘สื่อกลาง’ เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซาอุปรับท่าทีมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับไทย คือการเปลี่ยนแปลงภายในที่เกิดขึ้นกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่คนรุ่นใหม่ 

 

มีการแต่งตั้งคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่สื่อตะวันตกเรียกย่อๆ ว่าเจ้าชาย MBS คนเดียวกับที่เพิ่งเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ของประเทศอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ ย่อมทำให้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของประเทศเปลี่ยนไป 

 

อีกปัจจัยสำคัญคือปัญหาทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศโครงการวิสัยทัศน์ซาอุ 2030 (Saudi Vision 2030) ขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็จะเปิดช่องทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น

 

นอกจากปัจจัยภายในของซาอุแล้ว ก็ต้องชื่นชมความพยายามของกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง ที่พยายามสานสัมพันธ์กับซาอุอย่างต่อเนื่อง และมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ จนเมื่อต้น พ.ศ. 2563 ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และนับเป็นการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี 

 

จนล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำรัฐบาลระหว่างสองชาติเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

 

และนี่ถือเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการของการฟื้นความสัมพันธ์ทั้งสองชาติหลังร้าวฉานกันมานานตั้งแต่เกิดคดีที่เรียกกันว่า ‘เพชรซาอุ’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising