×

โควิด-กระสุนยาง-ล้มล้างการปกครอง บันทึก 12 เหตุการณ์ใหญ่ประเทศไทยปี 2564

28.12.2021
  • LOADING...

เจ้าหน้าที่นำศพผู้เสียชีวิตจากโควิดลงมาจากแฟลตดินแดง / ศวิตา พูลเสถียร

 

1. โควิดพรากเศรษฐกิจและชีวิตที่ไม่มีวันกลับคืน

ราวปลายเดือนธันวาคม 2563 กระทั่งเดือนมกราคม 2564 การระบาดของโควิดระลอกที่ 2 จากจุดเริ่มต้นที่พบผู้ป่วยรายแรกเป็นแม่ค้าปลาในตลาดกุ้ง สมุทรสาคร นำมาซึ่งการตรวจคัดกรองแถลงพบผู้ป่วยโควิด 535 ราย ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูง ณ เวลานั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มงวดทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดและพื้นที่สะเก็ดไฟที่ลุกลามในจังหวัดอื่น จนสามารถควบคุมการระบาดระลอกนี้ได้ในที่สุด

 

แต่แล้วต้นเดือนเมษายน 2564 คือจุดเริ่มต้นที่ทำประเทศไทยต้องเชิญกับการระบาดของโควิดครั้งที่ร้ายแรงที่สุดนับแต่การระบาด ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ’ คือจุดแรกที่มีการระบาดของโควิดในระลอกเมษายน และ 4 เดือนหลังจากนั้น พามาถึงถึงจุดสูงสุดของสถานการณ์ระบาด จากโควิดสายพันธุ์อัลฟาและการมาถึงของเดลตา ทำให้ลากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจากหลักร้อย หลักพัน กระทั่งแตะจุดสูงสุดเมื่อ 13 สิงหาคม 2564 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ 23,418 ราย และตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่ 312 ราย

 

ผู้ป่วยโควิดรายหนึ่งย่านคลองสามวากำลังสูดดมออกซิเจนระหว่างที่ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำจากการป่วยโควิด / ศวิตา พูลเสถียร

 

รัฐบาลพยายามประคับประคองสถานการณ์เพื่อรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งการล็อกดาวน์บางส่วน จ่ายเงินเยียวยา และจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน โดยเริ่มฉีดให้กับบุคคากรทางการแพทย์ตั้งแต่เดือนมีนาคม และฉีดเป็นการทั่วไปให้กับประชาชนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ว่าหนักหนาสาหัส ไม่เท่าความเสียหายของชีวิตที่สูญเสียไปจนถึงสิ้นปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 2.1 หมื่นราย จากผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 2.1 ล้านราย 

 

ประชาชนมานั่งรอคิวตรวจโควิดที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS วัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งแต่ช่วงดึกของวันนัดหมาย / ศวิตา พูลเสถียร

 

เมื่อยอดฉีดวัคซีนพุ่งสูงสวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตรายวัน สถานการณ์จึงดีขึ้นตามลำดับ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เราต้องเผชิญกับการเปิด-ปิดเศรษฐกิจมาหลายครั้ง เผชิญกับการหาวัคซีนที่มีคุณภาพ เผชิญกับการหาเตียงผู้ป่วยที่ขาดแคลน เผชิญกับการหาถังออกซิเจนให้ผู้ป่วยหนัก เผชิญกับการหาสถานที่และรอคิวตรวจโควิด และหลายคนต้องเผชิญกับความตายที่จากไปอย่างเดียวดายในช่วงที่สถานการณ์ระบาดหนัก

 

ชาวบ้านในชุมชนวัดท่ามะนาว อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังอพยพเพื่อหนีระดับน้ำที่เข้าท่วมและยังสูงขึ้นต่อเนื่อง / ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

2. จากต่างจังหวัดถึงกรุงเทพฯ ปัญหาน้ำท่วมที่ยังไม่มีทางแก้

 

วันที่ 26 กันยายน 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ในช่วงวันที่ 23-26 กันยายน 2564 เกิดอุทกภัยใน 23 จังหวัด ทั้งเหนือ กลาง และอีสาน และมี 27 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เดินสายลงพื้นที่น้ำท่วม กระทั่งระดับน้ำเริ่มคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ

 

น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อเข้าท่วมบริเวณเชิงสะพานซังฮี้ / ศวิตา พูลเสถียร

 

ถัดมาอีกเพียงเดือนเศษ เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 หลายพื้นที่ใน กทม. บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดน้ำท่วมฉับพลันอันเนื่องมาจากน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นคันกั้นน้ำชั่วคราวที่ กทม. ได้วางกระสอบทรายป้องกันไว้โดยไร้การแจ้งเตือนล่วงหน้า

 

“กทม. กราบขออภัยทุกๆ คนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ล้นเข้าในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้” และ “ผมก็ยอมรับผิดอยู่แล้ว ไม่แก้ตัว” 2 วลีจากปากของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันนั้น ที่กล่าวขอโทษระหว่างการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

 

ปัญหาเรื่องน้ำท่วมเหมือนเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน กับคำถามที่ว่าเรามีระบบการจัดการและจริงจังกับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

 

อ่านประกอบ: 

 

เฮลิคอปเตอร์เทโฟมเพื่อควบคุมไม่ให้ไฟกลับมาลุกอีกครั้งแม้จะไม่มีเปลวเพลิงแล้ว / ฐานิส สุดโต

 

3. ระเบิดและไฟไหม้ ‘หมิงตี้เคมีคอล’ ความเสียหายที่เงียบหาย

เวลาประมาณ 03.10 น. เช้ามืดของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 มีรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในในโรงงานผลิตโฟมแห่งหนึ่งในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และทราบภายหลังว่าโรงงานแห่งนั้นเป็นของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด เหตุการณ์ไฟไหม้ที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่เมื่อมีสารเคมีอันตรายที่ใช้ผลิตพลาสติกอยู่ในโรงงานดังกล่าว รวมถึงความพยายามของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ทั้งน้ำและสารเคมีประกอบกัน ซึ่งกว่าจะสามารถควบคุมเพลิงได้สมบูรณ์ ใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมง จึงกลายเป็นที่สนใจของสังคมอย่างยิ่ง 

 

นอจากความเสียหายของตัวโรงงานแล้ว ความเสียหายของบ้านเรือนโดยรอบโรงงาน ซึ่งเกิดจากแรงระเบิดของเช้าวันเกิดเหตุ ทั้งกระจกที่แตกร้าว ข้าวของในบ้านที่กระจัดจาย ซึ่งในวันเกิดเหตุ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้อพยพประชาชาชนที่พักอาศัยในบริเวณนั้นภายในรัศมี 5 กิโลเมตรอไปยังบริเวณที่ปลอดภัย ทั้งเรื่องความกังวลการระเบิดซ้ำและควันพิษที่เกิดจากเผาไหม้สารเคมี

 

สภาพบ้านเรือนที่เสียหายจากแรงระเบิดของเช้าวันเกิดเหตุ / ฐานิส สุดโต

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ปภ. รายงาน ณ วันเกิดเหตุว่าบ้านมีเรือนประชาชนเสียหายอย่างน้อย 155 หลัง รถยนต์ 6 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คัน ประชาชนและอาสาสมัครได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 ราย และมีเจ้าหน้าที่ในปฏิบัติการดับเพลิงครั้งนั้นเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่ภาครัฐได้ให้เงินช่วยเหลือสำหรับการย้ายบ้านชั่วคราวจากการที่ไม่สามารถอยู่อาศัยในที่พักเดิมได้ ครอบครัวละ 18,000 บาท

 

ตัวแทนสื่อออนไลน์และทีมทนายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าไปยื่นคำฟ้อง / ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

4. สื่อออนไลน์รวมตัว ฟ้องเพิกถอนคำสั่งห้ามนำเสนอข่าว ‘อันสร้างความหวาดกลัว’

 

The Reporters, Voice, THE STANDARD, The Momentum, The MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ‘ตัดเน็ต’ ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 

 

โดยขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ เป็นการบัญญัติที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้ว่า แม้ข้อความนั้นเป็น ‘เรื่องจริง’ ก็อาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ และถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ และในวันเดียวกันนี้จะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย

 

ตัวแทนสื่อมวลชนถือข่าวแจกสื่อมวลชนที่ระบุถึงคำสั่งศาลแพ่งห้ามบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 / ศวิตา พูลเสถียร

 

ถัดมาอีกเพียง 4 วัน คือวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ 

 

และยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย 

 

และในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นอันว่าข้อกำหนดดังกล่าวสิ้นสุดลงทันที

 

อ่านประกอบ:

 

บรรยากาศห้องประชุมรัฐสภาขณะที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ / สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 

5. แก้รัฐธรรมนูญ 2560 (เฉพาะ) กติกาเลือกตั้ง

 

ความพยายามในแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ปรากฏให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง ทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่พยายามแก้ไขในประเด็นที่แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องระบบเลือกตั้ง ที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดให้ทางมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. นำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ความพยายามทั้งหมดเหล่านั้นถูกตีตกโดยรัฐสภาทุกครั้ง

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 รัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็น 2 ใบเท่านั้น และต่อมาในเดือนกันยายน 2564 รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 / ราชกิจจานุเบกษา

 

ในที่สุดรัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 100 คน รวม 500 คน รวมถึงการใช้สูตรคำนวนคะแนนเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 อีกครั้ง กระทั่งสามารถทะลวงผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 และโปรดเกล้าฯ ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขมาแล้ว

 

กลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากันหลายครั้งในการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้กระสุนยาง / ฐานิส สุดโต 

 

6. จากกระสุนยางถึงสมรภูมิดินแดง

การนัดหมายชุมนุมครั้งแรกของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 คือวันเดียวกันกับที่ปรากฏการใช้กระสุนยางในการควบคุมการชุมนุมในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกปี 2563-2564

 

ในวันดังกล่าวกลุ่ม REDEM นัดหมายเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งแรก จากบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เดินเท้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 ภายใต้คอนเซปต์ไม่มีแกนนำ มีการเผชิญหน้าหลายครั้งที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก และปั๊ม ปตท.วิภาวดี ขณะที่ พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยในวันต่อมา โดยยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่ตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางในการควบคุมฝูงชนตามความจำเป็น

 

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอกนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเคลื่อนไปยังพระบรมมหาราชวัง แต่แล้วเมื่อถึงเวลานัดหมายได้มีการเปลี่ยนสถานที่นัดหมายเป็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเคลื่อนไปยังกรมทหารราบที่ 1 

 

แต่เมื่อเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ชัยไปได้ไม่ไกลนัก ถึงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง บรรยากาศระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมเริ่มตึงเครียด เกิดการเผชิญหน้ากันอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ชั่วโมง กระทั่งการประกาศยุติการชุมนุม ทว่ายังคงมีชุมนุมที่เหลือปะทะกับเจ้าหน้าที่ กระทั่งช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าควบคุมพื้นที่และควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังใช้ปืนยิงกระสุนยางเพื่อสกัดมวลชนบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตใกล้สามเหลี่มดินแดง / ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจัดตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม การใช้อาวุธ อุปกรณ์ ตลอดจนขั้นตอนในการควบคุมฝูงชน ยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะจากเบาไปหาหนัก ไม่ได้สัดส่วน และไม่สอดคล้องกับหลักสากล จนส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชน และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และยังระบุอีกว่าด้านกลุ่มผู้ชุมนุมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตระเตรียมและใช้อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ อันไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

 

มวลชนที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง / ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

จากวันนั้น ‘สามเหลี่ยมดินแดง’ จึงเป็นสมรภูมิที่มีการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมหลายต่อหลายกลุ่ม และเกิดการอุบัติของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ และ ‘ทะลุแก๊ซ’ ซึ่งมีการเผชิญหน้ายืดเยื้อในช่วงเย็นของทุกวันนานนับเดือน

 

อ่านประกอบ: 

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

 

7. เลือกตั้งเทศบาล และ อบต. หลัง คสช. แช่แข็งกว่า 7 ปี

 

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 85/2557

เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ที่ระงับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกำหนดการได้มาเป็นการชั่วคราว ซึ่งบังคับใช้เกือบ 7 ปี ทำให้ประเทศไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา

 

ในเวลาต่อมามีการทยอยเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 และเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 

 

ทว่ายังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 2 ระดับที่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งคือ นายกเมืองพัทยา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าฯ คนปัจจุบันนั้นมาจากคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

ที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตําแหน่งผู้ว่าฯ และให้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ มาถึงปัจจุบัน

 

อ่านประกอบ:

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อทำพิธีเปิด ‘ Phuket Sandbox’ / ศวิตา พูลเสถียร

 

8. ‘Phuket Sandbox’ ก่อนเปิดประเทศ และโอไมครอน

 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกประมาณ 25 คน เที่ยวบิน EY430 เดินทางจากสนามบินนานาชาติอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เวลาประมาณ 11.00 น. ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ Phuket Sandbox หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และถือเป็นการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติครั้งแรกของไทยหลังการระบาดของโควิด

 

นักท่องเที่ยวเข้ารับการตรวจโควิดแบบ RT-PCR หลังจากเดินทางถึงประเทศไทยก่อนเข้าโรงแรมและท่องเที่ยว / ศวิตา พูลเสถียร

 

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาตามโครงการ Phuket Sandbox ต้องเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศที่กำหนด และต้องได้รับวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยรับรองครบโดส ต้องมีใบตรวจโรคในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีกรมธรรม์ประกันภัยวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีหลักฐานชำระค่าที่พักในภูเก็ตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA+ และค่าตรวจโควิดจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งจะตรวจตั้งแต่ที่สนามบิน 1 ครั้ง จากนั้นจะขึ้นรถของโรงแรมที่จองไว้ไปรอผลใน 24 ชั่วโมง หากไม่พบเชื้อก็สามารถท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้ จากนั้นจะต้องตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้ง คือระหว่างวันที่ 6-7 และระหว่างวันที่ 12-13 หากอยู่ในภูเก็ตครบ 14 วันจึงสามารถเดินทางไปในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยได้

 

นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในวันแรกที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ / ฐานิส สุดโต

 

ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศมาเที่ยวในพื้นที่ที่กำหนดโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งมีมาตรการคล้ายกับ Phuket Sandbox และเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการรับนักท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มระบาดน้อยลงและจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่มากขึ้น

 

แต่แล้วเมื่อมีการระบาดของโควิดสายพันธ์โอไมครอน มาตรการการเปิดประเทศจำเป็นต้องยกระดับให้เข้มข้นขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตาว่าจะสามารถประคับประคองความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการควบคุมโรค จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน

 

อ่านประกอบ:

 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินำทีมแถลงคดี ‘ผู้กับกำกับโจ้’ ด้วยตนเอง / ศวิตา พูลเสถียร

 

9. ‘ผู้กำกับโจ้’ คลุมถุงดำ สะเทือนวงการตำรวจ

 

“ผมยอมรับว่าสิ่งที่ทำไปไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ทำไปเพราะต้องการเอาข้อมูล เพื่อทำลายยาเสพติดที่ทำลายพี่น้องประชาชนในนครสวรรค์ครับ” พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ กล่าวกับสื่อมวลชนในวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวการจับกุมตัวเขา

 

ย้อนกลับไปวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้โพสต์คลิปวิดีโอภาพเหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์หัวเกรียน ซึ่งทราบภายหลังว่านั่นคือผู้กำกับโจ้และลูกน้อง ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวชายสวมเสื้อสีเหลือง โดยเหยื่ออยู่ในอาการขัดขืน จนเสียชีวิต

 

ทันทีที่ปรากฏคลิปดังกล่าว สื่อสังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ทันที และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตจนถึงที่สุด ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวโดยระบุว่า จเรตำรวจแห่งชาติได้ลงไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ประกอบกับคลิปดังกล่าวที่มีการเผยแพร่ จึงลงนามให้ผู้กำกับโจ้ออกจากราชการไว้ก่อน 

 

‘ผู้กำกับโจ้’ ขณะถูกควบคุมตัวออกจากกองปราบปรามหลังการแถลงข่าว เพื่อนำตัวไปยังจังหวัดนครสวรรรค์ / ศวิตา พูลเสถียร

 

วันถัดมาคือ 25 สิงหาคม 2564 ศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้อนุมัติออกหมายจับผู้กำกับโจ้ พร้อมพวกที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชารวมทั้งหมด 7 นาย ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และนำมาซึ่งการจับกุมและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กองบังคับการปราบปรามในวันที่ 27 สิงหาคม 2564

 

ล่าสุดวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อัยการสั่งฟ้องผู้กำกับโจ้ใน 4 ข้อหา ประกอบด้วย เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู่หนึ่งผู้ใด, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำการทารุณโหดร้าย, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ และถูกคัดค้านการประกันตัว เพราะเป็นคดีร้ายแรง ประชาชนให้ความสนใจ และเกรงว่าจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน รวมถึงเกรงว่าจะหลบหนี 

 

อ่านประกอบ:

 

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร ก่อนเข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ / ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

10. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ เป็นการล้มล้างการปกครอง 

 

“วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 (อานนท์-ภาณุพงศ์-ปนัสยา) เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสาม รวมทั้งองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย”

 

นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ในกรณี ณฐพร โตประยูร ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่ 

 

รุ้ง ปนัสยา กำลังประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ศวิตา พูลเสถียร

 

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเครือข่าย อภิปราย ปลุกเร้า ทำให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยกในสังคม มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุมหลายครั้ง มีการลบแถบสีน้ำเงินในธงชาติ เป็นการละเมิดมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญ

 

“พระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป และอยู่ในสถานะเคารพสักการะ จะถูกละเมิดมิได้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ขณะที่ประวัติศาตร์การปกครอง อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และราชอาณาจักรไทยได้ธำรงการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาโดยตลอด” ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

หญิงรายหนึ่งกำลังวาดสัญลักษณ์รณรงค์การยกเลิกมาตรา 112 ระหว่างการชุมนุม / ฐานิส สุดโต

 

ทว่าก่อนหน้านั้นไม่นานนัก วันที่ 24 ตุลาคม 2564 กลุ่มราษฎรประกาศปักธงเตรียมรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยยก 10 เหตุผลที่ต้องมีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาแกนนำของกลุ่มราษฎรหรือผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลมักจะถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวอีกด้วย

 

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมาอย่างยาวนาน มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยที่จะยกเลิกและฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างรณรงค์ในแบบที่ตนเองเชื่ออย่างต่อเนื่

 

อ่านประกอบ:

 

ธง Pride ในการชุมนุมม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล / วรรษมน ไตรยศักดา

 

11. สมรส (ไม่) เท่าเทียม

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

สืบเนื่องจาก เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ พวงเพชร เหมคำ คู่รักซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงแต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธ ก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามกลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

 

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 4 และ 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้

 

ป้ายรณรงค์ #สมรสเท่าเมียม ในการชุมนุมม็อบตุ้งติ้ง 2 / วรรษมน ไตรยศักดา

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26 และ 27 วรรค 1, 2 และ 3 โดยมีข้อสังเกตว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

 

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัติไว้ว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

 

เป็นอันว่าการจดทะเบียนสมรสแบบเพศเดียวกันในประเทศไทยนั้นยังไม่สามารถกระทำได้ และยังต้องรอการตรากฎหมายเพื่อรองรับต่อไป

 

อ่านประกอบ: 

 

พระมหาไพรวัลย์ (ซ้าย) และพระมหาสมปอง (ขวา) เข้าสภาเพื่อชี้แจงตามคำเชิญของกรรมาธิการฯ / ฐานิส สุดโต

 

12. ปรากฏการณ์พระสงฆ์ในปี 2564

 

‘พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ’ และ ‘พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต’ 2 พส. (พระสงฆ์) จากวัดสร้อยทอง ที่โด่งดังและเป็นกระแสในโลกออนไลน์ หลังไลฟ์พูดคุยธรรมะผสมอารมณ์ขัน ที่ทำให้ยอดคนดูไลฟ์พร้อมกันในระดับหลักแสนราย

 

ไม่นานหลังความนิยมในตัว 2 พส. พุ่งสูงขึ้น วันที่ 9 กันยายน 2564 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร นิมนต์พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ซึ่งโดยภาพรวมมีการพูดคุยเรื่องความสำรวม การโฆษณาสินค้า และสัดส่วนระหว่างธรรมและความฮา

 

หลังกระแส 2 พส. ระลอกแรกสงบลง ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศเตรียมสึกขอกลับไปอยู่กับโยมแม่ หลังจากทราบว่าพระราชปัญญาสุธี (อุทัย ญาโณทโย) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง ไม่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ก่อนจะสึกเป็น ‘ทิดไพรวัลย์ วรรณบุตร’ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564

 

‘เณรโฟล์ค’ ขณะเวทีปราศัยบนเวทีชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว / ศวิตา พูลเสถียร

 

ขณะที่ สหรัฐ สุขคำหล้า หรืออดีตสามเณรโฟล์ค ซึ่งเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มราษฎรหลายครั้ง รวมถึงถูกออกหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็นนักบวชในพุทธศาสนารายแรกที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 ตัดสินใจลาสิกขาแล้ววันนี้ ที่วัดม่วงชุม อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 พร้อมชี้แจงเหตุผลที่ต้องลาสิกขาว่า “ผมถูกโครงสร้างและอำนาจรัฐกดดัน”

 

ศิษยานุศิษย์สรงน้ำสรีระสังขาร ‘สมเด็จช่วง’ น้อมกราบถวายความอาลัย / ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

และเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เผยแพร่ข้อความน้อมอาลัย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 96 ปี ก่อนจะเคลื่อนสรีระสังขารจากโรงพยาบาลศิริราชถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญ และเปิดโอกาสให้ศิษยานุศิษย์เข้าสรงน้ำ จากนั้นจะมีการสวดพระอภิธรรมต่อไปเป็นเวลา 100 วัน

 

อ่านประกอบ:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising