×

สรุปเหตุการณ์ หลังศาลวินิจฉัยชุมนุม 10 สิงหา ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เป็นการล้มล้างการปกครอง

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2021
  • LOADING...
Constitutional Court decision

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) บรรยากาศภายนอกศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยังอ่านคำวินิจฉัยกรณี ณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่ 

 

ต่อมาในเวลา 15.30 น. ปนัสยาได้เดินออกมาจากห้องพิจารณาคดี เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมตามที่ผู้ถูกร้องร้องขอ และออกมานั่งฟังการวินิจฉัยอยู่ด้านนอกพร้อมกับมวลชนที่มาร่วมให้กำลังใจ 

 

หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสร็จสิ้นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 พร้อมสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต 

 

ปนัสยาได้อ่านแถลงการณ์ใจความว่า ไม่อาจเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับยืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้อง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง และไม่เป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไปตามที่ ณฐพร โตประยูร ผู้ร้องกล่าวอ้าง 

 

เมื่อสื่อมวลชนถามว่า กังวลหรือไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้จะมีผลผูกพันไปถึงคดีอื่นด้วย ปนัสยากล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่ก็อาจจะมีผลไปถึงคดีอาญาอื่นได้ แต่ก็กังวลว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครองแล้ว การล่ารายชื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้น จะนำเข้าสู่สภาได้อีกหรือไม่ จึงขอเวลาในการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะมีการประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ยืนยันว่าหลังจากนี้จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ต่อไป จนกว่าจะสำเร็จอย่างแน่นอน

 

ด้านกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า หลังจากนี้จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง ว่ามีส่วนใดที่คำวินิจฉัยเกินอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงไปกระทบต่อสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ตามมาตรา 49 วรรค 2 หรือไม่ เนื่องจากมีคำสั่งห้ามบุคคลอื่นหรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการในลักษณะนี้อีกในอนาคต 

 

พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าหลักฐานของฝั่งผู้ร้องครบถ้วนตามกระบวนการหรือไม่ เพราะแม้แต่การขอไต่สวนพยานทั้ง 8 ปากของฝั่งผู้ถูกร้อง ก็ถูกคัดค้านจากศาลรัฐธรรมนูญ

 

Constitutional Court decision Constitutional Court decision Constitutional Court decision Constitutional Court decision Constitutional Court decision Constitutional Court decision Constitutional Court decision Constitutional Court decision

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising