×

บทสรุป ‘2 พส.’ กมธ.ศาสนาขอไลฟ์เนื้อหา 70% ความฮา 30% แต่ พส. ต่อรองขอเป็นร้อยละ 50:50

09.09.2021
  • LOADING...

วันนี้ (9 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา หลัง ‘2 พส.’ 2 รูป ได้แก่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปจากวงหารือ กมธ. และมีการแถลงต่อสื่อมวลชน นำโดย สุชาติ อุสาหะ ประธาน กมธ. พร้อมด้วย กมธ. คนอื่นๆ ที่จุดแถลงข่าวของสภา

 

สุชาติกล่าวว่า บรรยากาศในที่ประชุมวันนี้เป็นการรับฟังความเห็นระหว่างกันทั้ง 2 ฝ่าย โดย 2 พส. ท่านชี้แจงได้ดีต้องยอมรับ และเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีประเด็นการไลฟ์ของพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง โดยมีผู้ติดตามจำนวนมาก และมีความเห็นจากสังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เพราะคนในสังคมมีตั้งแต่คนรุ่นเก่า คนรุ่นกลาง และคนรุ่นใหม่ วันนี้จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ทาง กมธ. ไม่ได้มีมติเชิญ แต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือให้ทั้ง 2 พส. ได้มาชี้แจงแลกเปลี่ยนกับกรรมาธิการในหลายๆ ประเด็นที่สังคมส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลอยู่ และ กมธ. ต้องการที่จะรู้ จึงใช้โอกาสนี้ในการสอบถามร่วม 1 ชั่วโมงเศษ ซึ่งทั้ง 2 พส. ก็ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจน และในหลายหลายเรื่องที่สังคมยังคงค้างคาใจอยู่ และต้องการทราบว่าหากจะต้องไลฟ์ต่อไปในเรื่องของธรรมะออนไลน์ ท่านจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และถ้ามีการโฆษณาหรือการดำเนินการเกี่ยวกับผู้ที่สนับสนุน สามารถดำเนินการได้แค่ไหนอย่างไร

 

กมธ. ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ทำได้ ส่วนเนื้อหาสาระถ้าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไรก็มีคณะผู้ปกครองสงฆ์และเจ้าอาวาสอยู่ ซึ่งทาง กมธ. ไม่ได้ก้าวล่วง และไม่ได้มีอำนาจในการชี้ผิดชี้ถูกว่าเรื่องนี้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทำได้แค่เพียงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน พร้อมยืนยันว่าเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่ กมธ. มีอำนาจ

 

ในการหารือร่วมกันในครั้งนี้ถือว่าจบหน้าที่ของ กมธ. คือการทำให้เรื่องนี้เกิดความกระจ่าง และมีแนวทางเพื่อให้ท่านเดินหน้าต่อไปได้ และครั้งนี้ถือเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่ครั้งแรกที่เราเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ หลังจากที่ 2 พส. เทศนาออนไลน์และมีผู้คนติดตามจำนวนหลายแสนคน จึงเป็นการตกลงร่วมกันว่าหลักเกณฑ์จะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ให้เป็นการปรับปรุงที่เหมาะสมกับสิ่งที่ควรจะเป็น การพูดคุยในวันนี้ถือเป็นความห่วงใยจากทุกฝ่าย ไม่ได้มีประเด็นที่จะไปคาดคั้นว่าสิ่งที่ท่านทำเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก โดยเชื่อว่าสังคมเองก็มีความเห็นที่หลากหลาย 

 

ทั้งนี้ สำหรับกรณีของ ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และรองประธาน กมธ. ขณะนี้ก็ไม่มีประเด็น เพียงแต่ท่านได้ฝากข้อเสนอแนะและความกังวลไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

 

ด้านพระมหาสมปองกล่าวว่า มี 3 ประเด็นที่ได้หารือร่วมกับ กมธ. โดยทาง กมธ. ได้มีแนวคิดเชิงบวกว่ามีความเหมาะสม ทันยุค ทันสมัย และมีความสะดวก โดยทางอาตมาได้เสนอแนวคิดเชิงลบเพื่อนำไปแก้ไข คือ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะไม่สามารถยับยั้งหรือยกเลิกได้ทันท่วงที ทำให้เกิดผลเสีย เนื่องจากเวลาเราไลฟ์เป็นเรียลไทม์ อะไรที่เราพูดออกไปและอยู่ในนั้น ทาง กมธ. ก็ให้เราใช้ดุลยพินิจในการดูเนื้อหาให้เหมาะสม ซึ่งในที่ประชุม กมธ. เสนอ เนื้อหาร้อยละ 70 ความฮาร้อยละ 30 ตอนแรกอาตมาคิดว่าคิดว่าน่าจะทำได้ พอนึกอีกทีจึงขอต่อรองเป็นร้อยละ 50:50 เพื่อให้ยังคงสนุกสนานได้อยู่ ซึ่งไม่ว่าจะมีเนื้อหาร้อยละ 70 หรือเนื้อหาร้อยละ 50 เราสามารถจัดสรรได้อยู่แล้ว 

 

นอกจากนั้นยังคงมีประเด็นที่อาตมามาได้สอบถาม กมธ. เรื่องบัญชีเฟซบุ๊กทางการที่เข้ามาในไลฟ์ เข้ามาอุปถัมถ์ ทาง กมธ. ตอบว่าสามารถทำได้ แต่ผลิตภัณฑ์ต้องเหมาะสม เช่น การตั้งป้ายแต่ไม่กล่าวถึง เพราะเราทำงานด้านนี้มา เราก็ดูแลตัวเองมาตลอด 

 

ขณะเดียวกันไพบูลย์ได้ฝากมาบอกให้ 2 พส. สำรวมอากัปกิริยา ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เลย รักกันๆ อย่าไปว่าท่าน

 

ขณะที่พระมหาไพรวัลย์กล่าวว่า วันนี้รู้สึกดีมากที่ได้มาพูดคุยกับ กมธ. ที่รัฐสภาเป็นครั้งแรก ได้มารับฟังความคิดเห็น ยืนยันที่จะน้อมนำคำแนะนำของ กมธ. ทุกท่าน ทั้งเห็นด้วยและฝากข้อห่วงใย เราจะปรับให้เหมาะสมและคำนึงถึงความเป็นห่วงของผู้ใหญ่ทุกท่านที่ได้กรุณาเป็นห่วง และเห็นว่าเราเป็นพระทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เหมาะสมต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม พระมหาไพรวัลย์กล่าวว่า ไพบูลย์ได้ฝากมาว่าประเด็นใดที่ไม่อยากให้สัมภาษณ์ก็ขอสื่อมวลชนอย่าได้จี้ให้สัมภาษณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

monks-dispute-conclusion

monks-dispute-conclusion

monks-dispute-conclusion

monks-dispute-conclusion

monks-dispute-conclusion

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising