×

ย้อนรอยที่มา ส.ว. ไทย หานัยทางการเมืองบนสูตรแต่งตั้ง เลือกตั้ง ปลาสองน้ำ และแต่งตั้ง (อีกที)

16.12.2021
  • LOADING...
สมาชิกวุฒิสภา

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า สถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดสภาสูงชื่อว่า ‘พฤฒสภา’ เป็นเหมือนสภาที่คอยช่วยเหลือด้านการตรวจสอบกฎหมายที่ออกมาจากสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรัฐประหารปี 2490 เปลี่ยนทิศทางให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง เพื่อเป็นตัวค้ำจุนบัลลังก์อำนาจของรัฐบาลทหาร และการรัฐประหารปี 2501 ทำให้เราได้เห็นการใช้สภาเดี่ยวเป็นตรายาง และใช้วุฒิสภาเมื่อต้องมีการคลี่คลายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง
  • สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า ส.ว. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มสาขาอาชีพมีความน่าสนใจ แต่จุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือหากมีการ ‘จัดฮั้ว’ 
  • ด้านวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ที่มาของ ส.ว. นั้นสะท้อนบริบททางการเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัยว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น ต้องการอะไร และต้องการให้ ส.ว. มาทำอะไรในสถานการณ์นั้น 
  • ส.ว. ทั้งสองคนยังมีความเห็นด้วยและเห็นต่างกับข้อสังเกตที่ว่า ส.ว. นั้นใช้ประคองผ่องถ่ายอำนาจจากคณะรัฐประหารสู่ประชาชน

 

เดือนนี้เป็นเดือนแห่งวันรัฐธรรมนูญ และเมื่อเดือนก่อนเราก็เพิ่งได้เห็นความพยายามของกลุ่ม Re-solution ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ ‘ล้มวุฒิสภา’ หรือล่าสุดก็เพิ่งมีกลุ่มบุคคลยื่นรายชื่อในฐานะผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้สภาแห่งนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน

 

อันที่จริงแล้ว ‘ที่มา-ที่ไป’ ของสมาชิกวุฒิสภาไทยในประวัติศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงที่มาอยู่หลายครั้ง จากการเลือกตั้งทางอ้อม แต่งตั้ง เลือกตั้งทางตรง เลือกตั้งผสมสรรหา จนกลับมาสู่การแต่งตั้งอีกครั้งในบทเฉพาะกาลปัจจุบัน ตลอดจนคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คำถามคือ สิ่งเหล่านี้สะท้อนนัยทางการเมืองอะไรในแต่ละห้วงเวลา และส่งผลต่อบทบาทที่วุฒิสภามีต่อการเมืองไทยอย่างไร

 

THE STANDARD ชวนหาคำตอบ และอ่านมุมมองจาก รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาชิกวุฒิสภาอย่าง สมชาย แสวงการ และวันชัย สอนศิริ

 

‘นักวิชาการรัฐศาสตร์’ เล่าจุดเริ่มต้นวุฒิสภาไทย

ก่อนหน้าที่จะมีวุฒิสภา เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ตามรัฐธรรมนูญปี 2475 ซึ่งเป็นลักษณะของ ‘สภาเดี่ยว’ มาก่อน จากนั้นวุฒิสภาก็ปรากฏตัวขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะ ‘พฤฒสภา’ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ในเรื่องนี้ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายถึงสถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดเหตุการณ์การประนีประนอมทางการเมือง จากกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มกษัตริย์นิยม เพื่อร่วมมือกันในการต่อสู้เพื่อเอกราช ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการเมืองจากสภาเดี่ยวให้มาเป็นสภาคู่ในรัฐธรรมนูญปี 2489 โดยมีสภาสูงชื่อว่า ‘พฤฒสภา’ เป็นเหมือนสภาที่คอยช่วยเหลือทางด้านการตรวจสอบกฎหมายที่ออกมาจากสภาผู้แทนราษฎรให้มีความระมัดระวังรอบคอบมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นสภาถ่วงดุลอำนาจของ ส.ส. เพราะราษฎรมองว่า ส.ส. เป็นอำนาจที่เป็นอำนาจของประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น พฤฒสภาจึงมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

“คณะราษฎรต้องการสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยไทยในทุกระดับมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าอย่างเช่นในกรณีของพฤฒสภา สภาสูง นี่ก็คือเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งในอนาคตมันต้องพัฒนาไปเลือกตั้งทางตรงแน่ๆ ในสภาพการณ์ตอนนั้นก็คือภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลผลิตทางด้านเศรษฐกิจ ความห่างไกลของถนนหนทางของชุมชนต่างๆ มันทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่แนวความคิดนี้มันก็ถูกผลักดันมาแล้วก็บรรลุความสมบูรณ์แบบของมันในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้สภาสูงมาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะวุฒิสภาก็ตาม นี่คือเป็นจิตใจการสร้างประชาธิปไตยแบบคณะราษฎรเลยนะครับ รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ระบุ

 

สมาชิกวุฒิสภา

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

(ภาพจาก Facebook: ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์)

 

ระบุ ‘รัฐประหารปี 2490’ เป็นจุดเปลี่ยนสู่การค้ำจุนอำนาจรัฐบาลทหาร

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมาถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2490 ฝ่ายรัฐประหารมองเห็นการมีอยู่ของสภาสูง จึงนำสภาสูงที่มันถูกปรับมาในรัฐธรรมนูญปี 2489 เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘วุฒิสภา’ แทนที่จะกลับไปใช้สภาเดี่ยว และเมื่อเปลี่ยนชื่อเสร็จ ทิศทางของวุฒิสภาก็กลายเป็นว่าสมาชิกวุฒิสภานั้นมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เพื่อเป็นตัวค้ำจุนบัลลังก์อำนาจของรัฐบาลทหารในการที่จะคานอำนาจของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

“ดังนั้น ถ้าเราพูดถึงวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง เราก็ต้องย้อนนึกว่านี่คือผลพวงของการรัฐประหารปี 2490 เพื่อออกแบบให้ ส.ส. นั้นตกเป็นกลุ่มอำนาจรองของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง วุฒิสภาจะค่อนข้างมีอำนาจที่ใกล้เคียงกับพวก ส.ส. แล้วก็พอมาถึงรุ่นรัฐธรรมนูญปี 2560 มีอำนาจเท่ากับ ส.ส. ในการที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีเลยเห็นไหมครับ ดังนั้น แนวคิดของวุฒิสภาก็คือเป็นสภาค้ำจุนบัลลังก์อำนาจของคณะรัฐประหารเป็นสำคัญ”

 

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ บอกว่าการรัฐประหารปี 2490 ช่วยเพิ่มพูนอำนาจของฝ่ายทหารและข้าราชการประจำมากยิ่งขึ้น แล้วยิ่งภายใต้บริบทของสงครามเย็น สงครามเวียดนาม สงครามอินโดจีน ก็ยิ่งทำให้ทหารกลายเป็นผู้นำของสังคมไทย ดังนั้น เมื่อมาถึงยุครัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2501 จึงเห็นการใช้โมเดลสภานิติบัญญัติเป็น ‘สภาเดี่ยว’ ให้เป็นเสมือนตรายางของคณะรัฐประหาร

 

“ด้วยเหตุนี้เวลาเราเห็นการรัฐประหารปี 2557 เราจึงเห็นการย้อนกลับมาที่การรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ปี 2501 ที่สร้าง สนช. นะครับ แต่พอต้องมีการคลี่คลายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง การตั้งวุฒิสภาขึ้นมาก็คือย้อนกลับไปปี 2490 เพื่อให้วุฒิสภาเป็นตัวค้ำจุนอำนาจรัฐบาลและเป็นตัวดุลอำนาจกับ ส.ส. ในสภา เห็นไหมครับว่าเขาจึงมี 2 แบบนี้ในการเมืองของการรัฐประหาร คือ สนช. กับ ส.ว.”

 

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังระบุว่า ประชาชนตกอยู่ภายใต้ข้อต่อรองให้ต้องรอคอยเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้นในที่สุด โดยยกตัวอย่างดังที่เคยปรากฏในแผน 12 ปีในรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ซึ่งเขาเล่าว่าในแผนดังกล่าว 4 ปีแรกจะเป็นการปกครองแบบรัฐทหารเผด็จการที่มีสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยตรง และหลังจากนั้นสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็จะค่อยๆ ลดบทบาทลงจนกระทั่งไปถึง 12 ปี ที่แม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกในการรัฐประหารปี 2520 แต่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ บอกว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดต่อเนื่อง และรัฐประหารปี 2520 ก็มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแนวทางรัฐแบบขวาจัดให้มาเป็นแบบขวากลางๆ เท่านั้น เพื่อรับมือแรงกดดันจากสงครามกลางเมือง และแรงกดดันสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ส่วนการเปลี่ยนสภาแต่งตั้งจาก ‘สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2519 มาเป็นวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2520 ก็เป็นแนวคิด ‘ทหารนำ วุฒิสภาจะค่อยๆ ลดพลังอำนาจลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป’

 

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) ที่มีการใส่ประเด็น ส.ว. 250 คนที่มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ในการทำประชามติที่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เห็นว่าเป็น ‘ประชามติที่ไม่ใช่ประชามติ’ ซึ่งเป็นข้อต่อรองว่า ส.ว. 250 คนนี้จะอยู่ในห้วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะกลับไปสู่ ส.ว. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

 

 

ข้าราชการกับวุฒิสภา กับกลไกที่ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญบางฉบับ

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังบอกว่า สมาชิกวุฒิสภาในอดีตมีข้าราชการปะปนอยู่ไม่น้อย มีทั้งสัดส่วนของทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน หรือคนที่อยู่นอกข้าราชการแต่มีชื่อเสียงมีบทบาท และเมื่อถามถึงยุคราวปี 2521-2534 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจับสลากให้สมาชิกวุฒิสภาพ้นจากตำแหน่งว่าเห็นบทบาทของ ส.ว. เปลี่ยนไปหรือไม่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ตอบว่า การจับสลากให้สมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งในอดีต แม้จะเป็นวิธีการที่ทำให้ดูเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงใน ส.ว. แต่ก็เป็นโอกาสในการนำผู้ที่เกษียณจากกองทัพหรือหน่วยราชการออกไปแล้วนำคนใหม่เข้ามา เพราะจำเป็นจะต้องนำทหารที่คุมกำลังหรืออยู่ในตำแหน่งสำคัญมาอยู่ในสภาเพื่อจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายแห่งอำนาจ และบางคนถึงแม้ถูกจับสลากออกก็สามารถได้รับแต่งตั้งกลับเข้ามาใหม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2517 พบว่ามีความหลากหลายของอาชีพของผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นพิเศษ อันเกิดจากบทบัญญัติที่ว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการหรือในรัฐวิสาหกิจ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2489 ที่ห้ามข้าราชการประจำเป็น ส.ว. แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2490 ก็กลับไปอนุญาตให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เหมือนเดิม และเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีข้าราชการเพียง 6 ตำแหน่ง (ผบ.เหล่าทัพ-ผบ.ตร.-ปลัดกระทรวงกลาโหม) มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นฉากสำคัญที่จะถูกโจมตีได้ว่ากลับไปเป็นรัฐทหาร รัฐราชการเหมือนเดิม

 

ชี้ ส.ว. เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นผลจากกระแสประชาธิปไตย

เราถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ บอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นผลสำเร็จของการต่อสู้ของประชาชนจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 ที่อาจจะเรียกเทียบเท่ากับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้ และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 ก็ส่งผลต่อกระแสความต้องการของการสร้างประชาธิปไตยสูงมาก ดังนั้น เราจึงเห็นการคงอยู่ของวุฒิสภาโดยการที่มุ่งไปสู่การเลือกตั้งแทน

 

“เพราะว่ามันเป็นประชาธิปไตยไง กระแสประชาธิปไตย แต่เขาก็ยังเห็นว่า…ในขณะนั้นเขาก็ยังเห็นว่าวุฒิสภายังมีบทบาทในการที่จะช่วยตรวจสอบด้านกฎหมายต่อจากที่มาจากกระบวนการของ ส.ส. แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้มีการแต่งตั้งนะครับ เพราะกระแสของมันคือกระแสประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้งทุกระดับ”

 

ถึงกระนั้น รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ก็ยังมองว่าการออกแบบการเลือกตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการออกแบบที่ ‘ตลก’ โดยพยายามที่จะทำให้วุฒิสภาเป็นนักการเมืองแบบ ‘ผู้ดี’ ที่ไม่หาเสียง ไม่สัมพันธ์กับพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

 

“มันมองเหมือนว่าวุฒิสภาเป็นเหมือนพระ คือคุณดีอยู่แล้วอะไรๆ ก็จะดีตาม คือเราต้องทำให้สังคมไทยมองเห็นว่าการเมืองก็คือการเมือง การเมืองคือกระบวนการเสนอตัวเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ ดังนั้น ถ้าเราทำให้เห็นการเมืองคือกระบวนการเสนอตัว มันก็จะทำให้มันหาเสียงได้ มันไม่ต้องการคนดี แต่มันต้องการคนเสนอนโยบายและความสามารถ”

 

‘ส.ว. สมชาย’ ชี้ระบบการเลือกกันเองหลังพ้น ส.ว. ชุดปัจจุบัน ‘น่าสนใจ’ แต่กังวล ‘จัดฮั้ว’

ยังมีความเห็นที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างในประเด็น ‘ที่มา’ ของ ส.ว. ซึ่งมาจากพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาอย่าง สมชาย แสวงการ และ วันชัย สอนศิริ โดยสมชายสะท้อนมุมมองกับเราว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่เขาเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญยุคใหม่ก็คือช่วงปี 2540 ที่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบและในการเลือกองค์กรอิสระ แต่งตั้ง ถอดถอน อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ฝ่ายการเมืองบางส่วนสามารถที่จะควบคุมเสียง ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งได้ในบางระดับ จึงทำให้เกิดการขนานนามว่าเป็น ‘สภาผัวเมีย’ จนกระทั่งมาสู่การรัฐประหารปี 2549 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ ส.ว. ในลักษณะที่สมชายขนานนามว่าเป็น ‘ปลาสองน้ำ’ คือมีจากทั้งการเลือกตั้งและการสรรหา และมาถึงการรัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้ได้ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลที่ส่วนหนึ่งมาจากการทดลองสรรหาทั่วประเทศและ คสช. เลือกไว้ 50 คน และอีกส่วนก็มาจากการแต่งตั้งหรือการสรรหา 194 คน บวกกับ ส.ว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน กระนั้น การได้มาซึ่ง ส.ว. แบบ ‘ปลาสองน้ำ’ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 สำหรับสมชาย ก็ “ไม่ขัดแย้งมากนักนะ มันก็พอเดินหน้าไปได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ชุดของอาจารย์มีชัยก็ไม่ได้ออกแบบแบบนั้นแล้ว ก็เสียดายที่เมื่อเดินต่อแล้วมันก็เกิดเหตุรัฐประหารปี 2557 อีก”

 

สมาชิกวุฒิสภา

สมชาย แสวงการ (แฟ้มภาพ)

 

THE STANDARD พบว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้นมา จะสังเกตเห็นได้ว่ามีการกำหนดคุณสมบัติของ ส.ว. เพิ่มเติม ให้ต้อง ‘ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ และในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เพิ่มเติมเข้าไปอีกว่าต้อง ‘ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่ง ส.ส., ส.ว., ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น, ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดํารงตําแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือในองค์กรอิสระ’

 

 

อย่างไรก็ตาม สมชายมองว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนบทหลักซึ่งจะใช้หลังพ้นวาระตามบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกกันของกลุ่มสาขาอาชีพนั้น หากเป็นการเลือกกันเองโดยพรรคการเมืองไม่เข้าไปแทรกแซง หรือที่สมชายใช้คำว่า ‘จัดฮั้ว’ ก็จะได้ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ จาก 20 กลุ่มอาชีพมาเป็นสภาพลเมืองหรือสภาตัวแทนประชาชนที่ไม่ใช่นักเลือกตั้งอาชีพและดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และเขาเห็นว่าน่าจะสะท้อนความเป็นอิสระได้ดีพอสมควร แต่จุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ หากมีการ ‘จัดฮั้ว’ ซึ่งเขาบอกว่าในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็พยายามเขียนป้องกันไว้

 

“ส่วนจะป้องกันได้ไม่ได้นี่ ยังตอบไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่เห็นผลการโหวตที่จะเลือกกันเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้านะครับ อันนี้ผมก็ยังคิดว่ามันน่าสนใจ” สมชายระบุ

 

ส.ว. วันชัย: “ในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารปี 2557 ผู้กุมอำนาจคงไม่ต้องการให้เป็น ‘ประชาธิปไตยจ๋าแบบเต็มใบ’”

ขณะที่วันชัยเห็นว่า ที่มาของ ส.ว. นั้นสะท้อนบริบททางการเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัยว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น ต้องการอะไร และต้องการให้ ส.ว. มาทำอะไรในสถานการณ์นั้น เขายังอธิบายว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกออกแบบมาให้เป็นประชาธิปไตย ‘เต็มใบเต็มที่’ ไม่ว่าจะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เพราะเป็นบริบททางการเมืองในขณะนั้น และเพิ่งเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 รวมถึงมีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชน

 

ส่วนคำอธิบายของวันชัยต่อที่มาของวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็คล้ายกับสมชาย โดยบอกว่า ส.ว. กลายไปเป็นฐานทางการเมืองของนักการเมืองและพรรคการเมือง และทำให้เขาเปรียบวุฒิสภาว่าเป็น ‘สภาผู้แทนราษฎรสาขาสอง’ จึงนำมาสู่ระบบสรรหาผสมเลือกตั้ง เพื่อให้ “มีการถ่วงดุล มีการคานซึ่งกันและกันได้” อย่างไรก็ตาม สำหรับที่มาตามบทเฉพาะกาลของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น วันชัยบอกว่า ในระยะเปลี่ยนผ่านจากการรัฐประหารปี 2557 ผู้ที่กุมอำนาจคงไม่ต้องการให้เป็น ‘ประชาธิปไตยจ๋าแบบเต็มใบ’ ในระยะ 4-5 ปีนี้

 

สมาชิกวุฒิสภา

วันชัย สอนศิริ (แฟ้มภาพโดย ฐานิส สุดโต)

 

วันชัยบอกว่า หากปล่อยพรวดพราดไปแล้ว ผู้กุมอำนาจ “เขาเกรงว่าจะเกิดการเมืองที่ปั่นป่วน มีวงจรอุบาทว์เหมือนก่อนทำการรัฐประหาร ใช้อำนาจกันแล้วก็มีการโกงกินทุจริตใช้อำนาจเป็นธุรกิจทางการเมืองจนเกินไป ในที่สุด เขาคิดว่าเมื่อเขาปฏิวัติรัฐประหารมาแล้ว กำลังจะส่งต่อให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรจะส่งพรวดพราดทันทีทันใด เขาก็เลยใช้เป็นว่าเป็นลักษณะแบบผสมผสานกัน การเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็มีอำนาจส่วนหนึ่ง การเมืองที่มาจากการรัฐประหารซึ่งกำลังจะไป ก็ฝากอำนาจไว้ในการถ่วงดุลนั้น ไว้ที่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนี้ นี่คือแนวคิดที่เขาหวังว่าถ้าเปลี่ยนผ่านพรวดพราดไปเป็นประชาธิปไตยจ๋าเนี่ย สิ่งที่คณะรัฐประหารได้ทำมานั้นอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ 360 องศา กลับหัวกลับหางไปทันทีทันใด ดังนั้น จึงใช้วิธีผสมผสานระหว่างเลือกตั้งกับระหว่างอำนาจเดิมที่ยังมีอยู่” ผลลัพธ์จึงออกแบบมาในเกณฑ์ลักษณะแบบ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. บวกกับ ส.ว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน

 

กระนั้นเอง วันชัยก็ยังยืนยันว่า เขาเห็นว่าระบบเลือกตั้งเป็นระบบที่ดีที่สุด แม้ตัวเขาเองในฐานะ ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้งหรือเคยมาจากการสรรหา เขาบอกว่าระบบเลือกตั้งจะทำให้ ส.ว. มีความเป็นอิสระ แต่เขาเห็นว่าจะต้องวางกฎกติกาไม่ให้ ส.ว. มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง

 

“ระบบการเลือกตั้งโดย ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ผมเห็นด้วยและสนับสนุน และทำให้ประชาชนนั้นได้มีส่วนอย่างสำคัญในการเลือกตัวแทนเขาในระดับอีกสภาหนึ่ง แต่ต้องมีวิธีการอย่างสำคัญจริงๆ ซึ่งผมถือว่าเป็นวิธีการอย่างสำคัญเลยว่า ทำอย่างไรไม่ให้เป็นคนของพรรคการเมือง เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเมืองให้ได้ ตรงนี้ต้องไปวางมาตรการ วางแผนวางกฎกติกาให้ดี เพราะถ้ามันมาจากฐานการเมืองเดียวกัน มีกระบวนการได้มาซึ่งเลือกตั้งนั้นเดียวกัน มีสภาเดียวดีกว่า เพราะฉะนั้น เขาจึงพยายามแก้เรื่องสภาผัวสภาเมียไปครั้งหนึ่ง สภาผัวอยู่ข้างล่าง เมียอยู่สภาบน อะไรอย่างนี้ เขาแก้ไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ผมคิดว่าเท่านั้นไม่พอนะ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่มาจากการเลือกตั้งและเป็น ส.ว. นั้น ไม่มีส่วนสำคัญทางการเมืองทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย” วันชัยกล่าว

 

ความเห็นด้วย-เห็นต่าง ในข้อสังเกต ‘ส.ว. ใช้ประคองผ่องถ่ายอำนาจจากคณะรัฐประหารสู่ประชาชน’

ด้านข้อสังเกตที่ว่า วุฒิสภาเป็นสิ่งที่ใช้ในการประคองและผ่องถ่ายอำนาจจากคณะรัฐประหารไปสู่จุดที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สมชายระบุว่า คิดว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้องในทางรัฐศาสตร์และหลายประเทศก็เป็นเช่นนั้น แต่เขาก็เห็นว่าในบางสมัยสภาผู้แทนราษฎรเองก็มีสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

 

“ในส่วนสำคัญที่ผมเห็นด้วยว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตการเมือง  มันมีหลายครั้งที่เป็นวิกฤตการเมืองจากเรื่องการรัฐประหาร ก็มีทั้ง 2 ส่วน ไม่ใช่วุฒิสภาอย่างเดียว สภาผู้แทนก็เคยถูกทำแบบนั้น การเปลี่ยนผ่านฝ่ายบริหารต่างๆ ในลักษณะของรูปแบบต่างๆ ในการเปลี่ยนก็ค่อยๆ ผ่องถ่ายอำนาจออกมาทั้งสิ้น จะบอกว่าวุฒิสภาอย่างเดียวผมว่าไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไร คือมันใช่ไหม มันใช่ แต่มันไม่เป็นธรรมหรอก เพราะจริงๆ มันก็เหมือนกัน บางครั้งตอนเปลี่ยนหลังปฏิวัติ มีสภาผู้แทนราษฎร บางสมัยบางรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ถูกไหม ก็เป็นสภาลูกผสม หรืออย่างตัวอย่าง เมียนมานี่เห็นชัดว่าสภาผู้แทนราษฎรที่ผสมระหว่างของกลุ่มทหารก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นธรรมดามากในทางรัฐศาสตร์ ที่ผู้มีอำนาจอยู่ ไม่ว่าจะแบบไหน ถ้ามาจากการรัฐประหารเขาก็ต้องถอยออกแบบป้องกันตัวมากที่สุดในการผ่องถ่าย บางคนเขาเรียกว่าเป็นการผ่องถ่ายคืนอำนาจ แต่บางคนก็เป็นการที่ป้องกันตัวเองไม่ให้โดนตลบหลังกลับ ในทางนั้นมันก็เป็นอย่างนั้นล่ะครับ”

 

สมาชิกวุฒิสภา

(แฟ้มภาพโดย ฐานิส สุดโต)

 

ส่วนวันชัยเองก็เห็นด้วยกับข้อสังเกตที่ว่า วุฒิสภาเป็นสิ่งที่ใช้ในการประคองและผ่องถ่ายอำนาจ โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเช่นนั้นจริง แต่ยืนยันว่าอำนาจเบ็ดเสร็จนั้นอยู่ที่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ส่วน “ส.ว. เอาไว้ถ่วงดุลในบางสถานการณ์เท่านั้นเอง”

 

“ถ้า ส.ส. เขารวมกันได้เกินกว่า 251 เสียงเมื่อไร ส.ว. ก็ทำอะไรไม่ได้…เอ้า ผมพูดให้ฟังเลย แม้วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะออกไปด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ไม่ว่าจะลาออกหรือว่าจะกฎหมายไม่ผ่าน ท่านแสดงสปิริตลาออกอะไรก็ตาม เกิดมีพรรค เกิด ส.ส. เข้าร่วมกันได้ 280 เสียง หรือ 251 เสียง เอ้า คุณดูซิ ส.ว. ที่ไหนจะไปกล้าโหวตเอาคนที่ได้มีเสียงอยู่ร้อยกว่าเสียง ส.ว. ก็จะต้องโหวตเอาคนที่มีเสียงข้างมากแน่นอน หรือโหวตคนที่มีเสียงข้างน้อยเข้าไป วันรุ่งขึ้น อยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือนก็พังแล้ว เพราะฉะนั้นคนไปมองภาพจะมี ส.ว. 250 คนเอาเปรียบ จริงๆ ถ้า ส.ส. เขารวมกันได้จริงๆ ส.ว. ได้แต่นั่งมองทำตาปริบๆ เท่านั้นเอง” วันชัยกล่าว

 

และเมื่อเราสังเกตคุณสมบัติอื่นของ ส.ว. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่จะกำหนดคุณสมบัติเพิ่มและเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การกำหนดให้ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง, การต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่, การไม่เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน, การไม่เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ตลอดจนไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดในบางฐานความผิด เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องที่มาและความยึดโยงกับประชาชนของ ส.ว. ยังมีความสัมพันธ์กับประเด็นอำนาจของ ส.ว. ด้วย และมีนักวิชาการอีกท่านที่ตั้งข้อสังเกตกับเราในประเด็นนี้ โดยเฉพาะกับ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ติดตามต่อในตอนหน้า

 

อ้างอิง:

  • หนังสือ ‘วุฒิสภาไทย: ความรู้เรื่องสมาชิกวุฒิสภา’ โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า
  • หนังสือ ‘วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญไทย’ โดยศิวณัฐภรณ์ นันทะมา จัดทำโดยสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
  • หนังสือ ‘บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540’ โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และปัทมา สูบกำปัง จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า
  • https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/more_news.php?cid=28
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising