×

ยักษ์ธุรกิจเห็นพ้องเร่งเครื่องลงทุน ‘สารัชถ์’ ชี้เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพต้องแก้รัฐธรรมนูญ

02.12.2020
  • LOADING...

สถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าไทยและทั่วโลกกำลังเจอวิกฤตเดียวกัน จนนำไปสู่การมองหาทางออกของทุกภาคส่วน โดยในงาน Intania Dinner Talk 2020 ของสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดมีช่วงการสัมมนาในหัวข้อ ‘เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย’ โดยรวบรวมนิสิตเก่าฯ ผู้บริหารจากหลายบริษัทใหญ่ในไทยมาหาทางออกด้วยกัน

 

เริ่มต้นที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เล่าว่า ท่ามกลางความเสี่ยงโควิด-19 และการรอวัคซีนโควิด-19 นี้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวมาก แม้ว่าปี 2564 จะมีภาพที่ดีกว่า 2563 แต่ยังต้องรอประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจอีกครั้ง 

 

ในส่วนขององค์กร ปตท. ยังเดินหน้าในทุกด้าน ทั้งการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี และในระยะสั้น ปตท. จะกระตุ้นผ่านการจ้างงานที่เป็นปัญหาใหญ่ของไทยในมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยจะเร่งโครงการต่างๆ ผ่านการพูดคุยกับซัพพลายเออร์ เพื่อจ้างงานเด็กจบใหม่ให้มากขึ้น

 

ด้าน สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf) กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจุบันโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในมิติความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่าง Trade War ความตึงเครียดตะวันออกกลาง ไปจนถึง Brexit ทำให้การทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับต่างประเทศต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญมากเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศคือเรื่องการเมือง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว แต่อยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพและความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าปี 2564 ต้องติดตามเรื่องวัคซีนว่ามีการกระจายและส่งผลต่อการฟื้นตัวในต่างประเทศเร็วอย่างที่คิดหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกที่เป็นภาคส่วนหลักของไทย แต่มองว่าปีหน้าประเทศไทยน่าจะพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในการเปิดประเทศได้แล้ว เพราะหากยังปิดประเทศต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบมากขึ้น โดยด้านการท่องเที่ยวมองว่าทรัพยากรธรรมชาติมีการฟื้นฟูมากขึ้นจากช่วงการปิดล็อกดาว์นจากโควิด-19 ซึ่งไทยควรมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมากขึ้น

 

ในส่วนธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะ Gulf ที่มีการลงทุนในต่างประเทศเยอะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าก็ยังไม่กระทบมาก ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนในพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว และจะลงทุนตามนโยบายทั่วโลกเรื่องพลังงานสีเขียวมากขึ้นด้วย

 

ขณะที่ ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย เล่าว่า เศรษฐกิจไทยก่อนวิกฤตมีปัญหาโครงสร้างหลัก จนทำให้เห็นภาพทั้งสังคมสูงวัย และภาพของการแก่แล้วยังจนอยู่แล้ว ดังนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยสามารถเร่งเครื่องและเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหลายด้านให้ได้ 

 

“ไทยเราแก่ทั้งคนและเศรษฐกิจไทย แต่ที่ผ่านมาเรามีส้มหล่นมาจากการส่งออก การท่องเที่ยวที่ยังดี ทำให้เศรษฐกิจเลื่อนไหลไปแบบช้าๆ แต่ตอนนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยสิ้นสุดทางเลื่อน จะเลื่อนอัตโนมัติไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว”

 

ดังนั้นปัจจุบันปัญหาไทยคือการลงทุนที่น้อยกว่าศักยภาพของประเทศ โดยมองว่าวิกฤตครั้งก่อน (ปี 2540) ที่ในวิกฤตจะให้รายใหญ่ไปจับมือต่างประเทศเพื่อเข้ามาลงทุนในไทย แต่ครั้งนี้ต้องมาสร้างโมเดลใหม่ ให้รายใหญ่ทั้งหลายเข้ามาช่วย SMEs ช่วยรายเล็กให้ยังทำธุรกิจในไทยต่อไปได้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจในไทย และต้องการพึ่งพากันเหมือนดอกไม้กับแมลง เพื่อให้เราหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง  

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เล่าว่า ทางเอสซีจีมองว่าทางรอดจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้คือไทยต้องมีส่วนในการกระจายวัคซีน โดยที่ผ่านมาทางบริษัทมีความร่วมมือกับ Oxford ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 นี้อยู่ โดยคาดว่าปีหน้าไทยจะได้รับส่วนแบ่งในการกระจายวัคซีน และตอนนี้ต้องวางแผนการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ช่วงกลางปี 2564 คาดว่าฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปจะมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30-40% ซึ่งไทยสิ่งที่ทำได้คือการเตรียมตัวรับมือ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทั้งการให้ความรู้ ฯลฯ เพื่อให้อย่างน้อยการท่องเที่ยวภาคการบริการจะกลับเข้ามาที่ไทยได้และส่งผลดีกับเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันมองว่าการเติบโตเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของภาคเอกชน และการลงทุนในวันนี้เช่นกัน

 

สุดท้ายนี้ยังมีประเด็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาอะไรบ้าง ซึ่งทาง ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หลังโควิด-19 ไทยต้องปรับโครงสร้างแน่นอน เพราะจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะโครงสร้างปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออกราว 45% และการท่องเที่ยวถึง 15% ดังนั้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการกระจายตัวให้หลากหลายมิติ และในหลากหลายอุตสาหกรรมมากกว่าในปัจจุบัน  

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามี 3 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. การจ้างงาน เพราะตลาดแรงงานยังเห็นคนว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น ทั้งจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลงเหลือราว 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงการปรับทักษะเพื่อให้แรงงานสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  

 

  1. หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบกำลังซื้อของเศรษฐกิจไทย และกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

 

  1. อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมามาก จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง และเพราะไทยนำเข้าสินค้าทุนน้อยมาก รวมถึงมีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เลยอยู่ที่ว่าไทยจะสามารถปรับโครงสร้างตนเองที่การเกินดุลเกิดจากการไม่ได้ลงทุนอย่างไร

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising