×

กูรูเศรษฐกิจมองบวก เชื่อไทยไร้สัญญาณถดถอยเชิงเทคนิค คาดเงินทุนไหลออกฉุดบาทอ่อนต่อ หลังบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาขาดดุล

01.03.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอยเชิงเทคนิค แม้ส่งออกติดลบ-ท่องเที่ยวยังไม่ปังตามคาด เชื่อปัจจัยภายในประเทศช่วยประคอง จับตาเงินทุนไหลออกฉุดบาทอ่อนต่อหลังบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาขาดดุล

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า การขาดดุลเดินสะพัดในเดือนมกราคมทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มมีความน่ากังวลเพิ่มขึ้น เพราะตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าการท่องเที่ยวซึ่งเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และมีความเป็นไปได้ที่กว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาเที่ยวไทยอย่างชัดเจนอาจต้องรอถึงครึ่งปีหลัง

 

“ก่อนหน้านี้ผมมั่นใจว่าไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค เพราะการท่องเที่ยวน่าจะกลับมา แต่ตอนนี้อาจพูดไม่ได้เต็มที่ว่าจะไม่เกิด อย่างไรก็ตาม ลึกๆ ยังเชื่อว่าการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ยังเป็นบวกน่าจะทำให้เราผ่านพ้นภาวะถดถอยเชิงเทคนิคไปได้” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวอีกว่า การขาดดุลเดินสะพัดของไทยในเดือนล่าสุดสร้างความตกใจให้กับเทรดเดอร์ในตลาดเงินและมีความกังวลเกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงที่จีนประกาศเปิดประเทศมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในไทยค่อนข้างมาก เพราะมองว่าไทยจะได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนจนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปค่อนข้างเร็ว เมื่อตัวเลขเดือนมกราคมออกมาไม่ดี ประกอบกับการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดี ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ จึงทำให้มีเงินทุนไหลออกทำให้บาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเร็วเช่นกัน

 

“อะไรที่ทำให้บาทแข็งก็ทำให้อ่อนได้เช่นกัน การที่บาทเคลื่อนไหวผันผวนกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงิน เงินที่มาพักในตราสารหนี้ระยะสั้นพร้อมจะไปเร็วมาเร็ว ช่วงที่จีนเปิดประเทศเขาคิดว่าไทยได้ประโยชน์ เงินจึงไหลเข้ามา ตอนเดือนมกราคมคิดว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่มุมมองตอนนี้ก็เปลี่ยนไป เท่ากับว่าเราโดน 2 เด้ง” อมรเทพกล่าว

 

อย่างไรก็ดี อมรเทพยังประเมินว่า เงินบาทจะอ่อนค่าแบบ Sideway อยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ในครึ่งปีแรก โดยจะไม่อ่อนค่ากลับไปที่ระดับ 38-40 บาทต่อดอลลาร์เหมือนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่งได้ปรับลดลงมามากแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากเงินเฟ้อไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง

 

ขณะที่ นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า โอกาสเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคของไทยยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมาจากฐานที่ไม่สูงมากนัก การที่จะเกิด Technical Recession ได้ภาคส่งออกจะต้องหดตัวรุนแรง แต่ตัวเลขในเดือนมกราคมที่ติดลบ 3.4% ยังถือว่าไม่แย่มากนัก แม้จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาติดลบอีกก็ตาม

 

“ต้องติดตามดูว่าในเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นอย่างไร หากส่งออกติดลบมากก็อาจต้องเริ่มกังวล เพราะถ้าส่งออกหดตัวมากก็มีโอกาสที่ GDP จะโตได้ต่ำกว่า 3% เพราะท่องเที่ยวต่างชาติที่เรายกให้เป็นพระเอกในปีนี้มีน้ำหนักคิดเป็น 12% ของ GDP ขณะที่ส่งออกมีน้ำหนักถึง 60% ของ GDP เราอาจกำลังเจอผู้ร้ายที่เก่งกว่าพระเอก” นริศกล่าว

 

ด้าน สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวยังเชื่อว่าภาวะถดถอยเชิงเทคนิคจะไม่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เพราะแม้การส่งออกในเดือนมกราคมจะติดลบ แต่แรงขับเคลื่อนภายในประเทศอื่นๆ เช่น การผลิต การจ้างงาน และรายได้ของคนที่ยังฟื้นตัว น่าจะประคองเศรษฐกิจไปได้

 

นอกจากนี้หากมองต่อไปข้างหน้าเศรษฐกิจโลกก็มีสัญญาณฟื้นตัวเชิงบวก เช่น ดัชนี PMI จีนที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะ Soft Landing หรือ No Landing ขณะที่ราคาพลังงานและต้นทุนขนส่งสินค้าก็ปรับลดต่ำลงมา

 

“ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาบางตัวอาจดูไม่ดี แต่มันเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต แนวโน้มข้างหน้าเรายังมองว่าดี เรายังเชื่อว่าส่งออกปีนี้จะไม่ติดลบ ปัจจัยแวดล้อมในเวลานี้ยังไม่น่ากังวล” สมประวิณกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising