×

อกหัก รักคุด รับมืออย่างไรไม่ให้หัวใจช้ำกว่าเก่า

13.01.2020
  • LOADING...
กรมสุขภาพจิต

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • กรมสุขภาพจิตยังเผยอีกว่า ปัญหาเรื่องความรักนั้นติด 1 ใน 5 ของปัญหาที่เด็กและเยาวชน (อายุ 11-25 ปี) โทรมาปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิตมากที่สุดประจำปี 2561 ซึ่งมีการให้บริการแก่ผู้ที่โทรเข้ามาทั้งหมด 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง
  • สิ่งที่เราทำได้ คือการเตรียมใจ เผื่อใจ เตรียมพร้อมรับมือกับความผิดหวังเอาไว้บ้าง นี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นกลไลเตรียมรับความจริงวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่อถึงเวลาต้องผิดหวัง

เคยมีคำพูดที่ว่า “แค่อกหักไม่ถึงกับตาย” แต่อย่างไรทุกความผิดหวังก็ล้วนสร้างบาดแผลทางใจ ซึ่งหากเราไม่รีบเยียวยาบาดแผลเหล่านั้น ความเครียดก็อาจทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงมีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า 

 

THE STANDARD อยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถรับมือกับโรคซึมเศร้า และปัญหาหัวใจได้ด้วยความเข้มแข็ง

 

กรมสุขภาพจิต

รูนีย์ มารา ใน Side Effects (2013)

 

โรคซึมเศร้าคืออะไร

คนมักจะเข้าใจผิดว่าโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นโรคร้ายอะไร แต่เกิดจากความคิดที่ผิดปกติ พวกเขาเลยมักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเปลี่ยนความคิด โดยการหันมามองโลกในแง่บวกมากขึ้น การให้คำแนะนำในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นว่าขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามองตัวเองในแง่ลบยิ่งกว่าเก่า การทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จึงควรเริ่มด้วยความคิดที่ว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางกายโรคหนึ่งเสียก่อน    

 

โรคซึมเศร้าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ตัว ได้แก่ ซีโรโทนิน, นอร์อิพิเนฟริน และโดปามีน ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เพราะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ปัจจัยทางด้านชีวภาพ อาทิ กรรมพันธ์ุ การเป็นโรคมะเร็ง การเป็นโรค SLE การเป็นโรคเรื้อรั้ง ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ลักษณะนิสัยที่ชอบยอมคนง่าย ไม่กล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจ และปัจจัยทางด้านสังคม อาทิ การเติบโตในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง เป็นต้น   

  

ส่วนวิธีการดูว่าตัวเองเป็นเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่โดยเบื้องต้นนั้น ควรสังเกตดูว่าตัวเองมีอารมณ์เศร้า หมดความสนใจในหน้าที่การงาน และกิจกรรมที่เคยชอบหรือไม่ หากเกิดมีอาการเหล่านี้ควบคู่กันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป 

 

กรมสุขภาพจิต

 วาคีน ฟีนิกซ์ กับบท ธีโอดอร์ ใน Her (2013)

 

ปัญหาหัวใจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน และมีผู้ที่คร่าชีวิตตัวเองถึงราวๆ 800,000 คน แต่ในประเทศไทย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักไม่ค่อยเข้ารับการรักษา กรมสุขภาพจิตเผยว่าประเทศไทยมีผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 1.5 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

 

ความเครียดจากเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาความรัก อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายได้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง และทำให้เรามีภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะทำให้เรามีอาการต่างๆ เช่น เบื่อหน่ายในสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่มีสมาธิ ตอบสนองสิ่งรอบข้างได้ช้าลง กินข้าวได้น้อยลง นอนไม่ค่อยหลับ เป็นต้น   

 

กรมสุขภาพจิตยังเผยอีกว่า ปัญหาเรื่องความรักนั้นติด 1 ใน 5 ของปัญหาที่เด็กและเยาวชน (อายุ 11-25 ปี) โทรมาปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิตมากที่สุดประจำปี 2561 ซึ่งมีการให้บริการแก่ผู้ที่โทรเข้ามาทั้งหมด 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 พบว่าสัดส่วนของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

 

นอกจากนี้สถิติการให้บริการปรึกษาปัญหาทางสุขภาพจิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ยังเผยอีกว่าปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาทางจิตเวช ร้อยละ 39.02, ความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 27, ปัญหาความรัก ร้อยละ 8.74, ปัญหาซึมเศร้า ร้อยละ 6.89 และปัญหาครอบครัว ร้อยละ 5.59 จากการให้บริการปรึกษาสุขภาพจิตทั้งหมด 13,229 ครั้ง

  

แต่เราจะรับมือกับความเศร้าและความผิดหวังจากความรักที่คาดเดาไม่ได้อย่างไร พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากโรงพยาบาลพญาไทย 2 มีคำตอบ พร้อมคำแนะนำวิธีการรับมือกับปัญหาหัวใจดังนี้

 

กรมสุขภาพจิต

เอ็มมา วัตสัน กับบท แซม เพื่อนสาวที่คอยให้กำลังใจชาร์ลี รับบทโดย โลแกน เลอร์แมน ใน The Perks of Being a Wallflower (2012)

 

หาพื้นที่ปลอดภัย

เมื่อผิดหวังจากความรัก เช่น อกหัก โดนบอกเลิก ปรึกษาคนที่อยู่เคียงข้างเรา เช่น เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง หรือคนที่มีหัวอกเดียวกัน หรือคนที่เคยผ่านเรื่องใกล้เคียงกันมาก่อน หรือชวนกันไปทำกิจกรรมอื่น เช่น พาไปดูหนัง พาไปร้องคาราโอเกะ กินข้าว ไปเที่ยว การได้พูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกันสามารถช่วยทำให้ความเจ็บปวดบรรเทาลงได้

 

ใช้ชีวิตให้เหมือนเดิม

พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้ได้เหมือนเดิม เพราะหากจมอยู่กับปัญหาจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ อาจกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ตามมา อาทิ การเรียน การงาน การใช้ชีวิต นอกจากนั้นหากเรามัวแต่คิดถึงวนเวียนอยู่กับความคิดเรื่องความผิดหวังนานๆ ยังส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ไม่ต่างกับคนที่กินไอศกรีมทุกวัน กินโดยที่ไม่กินอย่างอื่นเลยที่ทำให้เป็นโรคอ้วนเอาได้

 

ทบทวนตัวเอง

ทุกความผิดหวังล้วนเป็นบาดแผลทางใจ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาเยียวยา คนที่เยียวยาตัวเองได้เร็วอาจเป็นคนที่มีสติและมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจสูง เราจึงควรทบทวนตัวเองว่าเรามีเป้าหมายอย่างอื่นในชีวิตที่เราต้องทำหรือไม่ เช่น มีภาระงานที่ต้องทำ มีการเรียนที่ต้องตั้งใจเรียนต่อ มีครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลหรือไม่ หากเราฉุกคิดได้ว่าเรายังมีเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตที่เราต้องทำ ก็จะช่วยให้เราโฟกัสเรื่องอื่นมากขึ้น

 

เตรียมใจที่จะจากกันก่อนจาก

หากเราเตรียมใจกับทุกความรักได้ ก็อาจทำให้เรามีสติก่อนจะเผชิญกับปัญหาความรักมากขึ้น บางทีเราอาจคิดว่ารักเราจะต้องอยู่ยืนยง จนลืมเตรียมใจว่าปัญหาก็เกิดขึ้นได้ เราอาจใช้เวลา ใช้ชีวิตอยู่กับคนคนหนึ่ง แต่สักวันหนึ่งเขาอาจไม่ค่อยโทรหาเรา หรือก็หายไปเลยก็เป็นได้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือการเตรียมใจ เผื่อใจ เตรียมพร้อมรับมือกับความผิดหวังเอาไว้บ้าง นี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นกลไกเตรียมรับความจริงวิธีหนึ่งที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่อถึงเวลาต้องผิดหวัง

 

กรมสุขภาพจิต

ดีแลน มินเน็ตต์ และ แคทเธอรีน แลงฟอร์ด ในซีรีส์ 13 Reasons Why ของ Netflix

 

ขณะที่ ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ นักจิตบำบัดด้วยศาสตร์ Drama and Movement Therapy ได้เคยแนะนำกับ THE STANDARD ไว้ว่าให้จงเรียนรู้จากความสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากที่คุณสามารถจัดการความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้มั่นคงได้มากขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว คุณควรที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ โดยพิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้

 

  • สาเหตุของการยุติความสัมพันธ์
  • เหตุผลและข้อดีที่คุณและอดีตคนรักควรจบความสัมพันธ์
  • ข้อสังเกตในความเป็นตัวของคุณอันมีผลต่อความสัมพันธ์ เช่น คุณได้ให้การยอมรับคนอื่นในแบบที่เขาเลือกที่จะเป็นหรือไม่
  • ข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวคุณเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะโศกเศร้า ว่าตัวเราเองมีการตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร เช่น ย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า มีลักษณะกล่าวโทษตัวเองหรือเปล่า หรือหนีปัญหา เก็บกดอารมณ์หรือไม่
  • ทั้งนี้เพื่อจะได้เรียนรู้และปรับวิธีการรับมือกับความโศกเศร้าของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะอย่างไรเสีย เราก็หลีกเลี่ยงกับความโศกเศร้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้
  • สิ่งที่ตัวคุณควรต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นได้อีกในอนาคต เมื่อมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่

 

เราหวังว่าวิธีต่างๆ ที่แนะนำมาจะสามารถช่วยประสานหัวใจร้าวและความเศร้าให้บรรเทาลงได้บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นหากรู้สึกว่าอาการยังไม่ดีขึ้น นอกจากปรึกษาคนสนิทที่ไว้ใจแล้ว การได้คุยกับจิตแพทย์ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้

 

อ่านเรื่อง ก้าวต่อไปอย่าได้แคร์! วิธีรับมือและเยียวยาอาการ ‘อกหัก’ จากมืออาชีพ ได้ที่นี่

 

อ่านเรื่อง ไขปริศนามืดมนของโรคซึมเศร้า ตอนที่ 1: ทำไมคนยุคนี้ถึงซึมเศร้า ได้ที่นี่

 

อ่านเรื่อง ก้าวผ่านโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ ได้ที่นี่

 

ภาพ: Courtesy of Summit Entertainment

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising