×

ก้าวต่อไปอย่าได้แคร์! วิธีรับมือและเยียวยาอาการ ‘อกหัก’ จากมืออาชีพ

20.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ความโศกเศร้าจากการแยกจากเป็นสิ่งปกติ คุณต้องอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกและระบายความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ควรแสร้งหลอกตัวเองว่าเข้มแข็ง เพราะหากเก็บกดมันไว้ คุณอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ได้ในอนาคต
  • เมื่อความสัมพันธ์เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสสำหรับคุณในการวิเคราะห์และสรุปบทเรียน หลังจากที่สามารถจัดการความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้มั่นคงได้มากขึ้นแล้ว คุณควรพิจารณาเรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้

     เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า ‘เวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจ’ แต่ถ้าเราต้องเผชิญกับความโศกเศร้าเจ็บปวดอันเนื่องมาจากความรักและสัมพันธภาพที่มาถึงจุดสิ้นสุด การนั่งรอให้ ‘เวลา’ มาช่วยเยียวยาอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอแน่นอน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การยุติความสัมพันธ์กับคนรักนั้น ไม่ว่าความสัมพันธ์จะสั้นหรือยาวแค่ไหน ก็มักส่งผลให้เกิดความโศกเศร้าที่ค่อนข้างรุนแรง

     ข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลกหลายชิ้นระบุตรงกันว่า อาการอกหักส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ เมื่อเรารู้สึกโศกเศร้าจากความรัก สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดทางร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักขึ้น ซึ่งอาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า อาการอกหักทำให้เกิดความเจ็บปวดได้จริงๆ

     การเลิกราจากคนรักส่งผลต่อบุคคลทั้งในส่วนกระบวนการคิด อารมณ์ สังคม และพฤติกรรม บุคคลมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกจากสังคม เกิดความคิด ความเชื่อด้านลบเกี่ยวกับตัวเอง เช่น ฉันเป็นคนไม่ดี ฉันโง่ ฉันเป็นคนไม่มีคุณค่า ฉันช่างน่าสมเพช ฉันไม่สมควรจะได้รับความรัก ฯลฯ

‘หากฉันสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ฉันจะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งและฉลาดขึ้น’ 

     คนที่อกหักมักมีอารมณ์โศกเศร้าหดหู่ หรือไม่ก็จมอยู่กับหลากหลายความรู้สึก เช่น สับสน โกรธ ผิดหวัง ไม่มั่นใจ โดดเดี่ยว กลัว กังวลกับอนาคต ฯลฯ จนก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตตามกิจวัตรประจำวันและทำงานตามหน้าที่  

     การดูแลตัวเองให้หลุดพ้นจากช่วงภาวะนี้ ต้องใช้ทั้งความพยายาม ความอดทน ความรักในตัวเอง และความเชื่อในตัวเองที่ว่า ‘หากฉันสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ฉันจะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งและฉลาดขึ้น’ และแม้ว่าเวลาจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่สำคัญ แต่ถ้าคุณลองทำตามเทคนิคและคำแนะนำดังต่อไปนี้ คุณจะสามารถทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความโศกเศร้าเจ็บปวดครั้งนี้ได้เร็วขึ้น

 

     1. ยอมรับสถานการณ์ และทำความเข้าใจกับธรรมชาติของความเจ็บปวดจากการแยกจาก

     ยอมรับความจริงให้ได้ว่า ณ ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของคุณกับเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะหากคุณยังพยามยามดึงรั้งและมีความหวังที่จะยื้อความสัมพันธ์นี้ไว้ การหลุดพ้นและการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด

ความโศกเศร้าจากการแยกจากเป็นสิ่งปกติ คุณต้องอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกและระบายความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่ควรแสร้งหลอกตัวเองว่าเข้มแข็ง เพราะหากเก็บกดมันไว้ คุณอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ได้ในอนาคต  

 

     2. มุ่งมั่นที่จะนำตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์ งดการติดต่อสื่อสารกับอดีตคนรัก และควบคุมจัดการสิ่งกระตุ้นเร้า

     เมื่อคุณแน่วแน่ที่จะยุติความสัมพันธ์ครั้งนี้แล้ว คุณควรปิดช่องทางและระงับการติดต่อสื่อสารกับอดีตคนรักของคุณในทุกรูปแบบ และถึงแม้ว่าคุณจะมีข้อตกลงกับอดีตคนรักของคุณว่า จะยังคงรักษาความเป็นเพื่อนเอาไว้ คุณและเขาควรตกลงกันว่าจะไม่มีการติดต่อกันในช่วงนี้

     คุณควรงดเว้นการใช้โซเชียลมีเดียชั่วคราว เพราะคุณอาจจะหยุดตัวเองที่จะไปติดตามความเป็นไปของอดีตคนรักของคุณไม่ได้ หรือหากคุณทราบรหัสผ่านการเข้าใช้แอ็กเคานต์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมของเขา คุณต้องห้ามตัวเองไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวเด็ดขาด

     นอกจากนี้ยังควรใช้ความระมัดระวังในการติดต่อสื่อสารกับคนใกล้ชิดของอดีตคนรัก คุณไม่ควรระบายอารมณ์หรือกล่าวโทษเขากับบุคคลเหล่านี้ รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมใหม่ ขนย้ายสิ่งของที่ทำให้ระลึกถึงและสิ่งของส่วนตัวของเขาออกจากพื้นที่ที่คุณอยู่

 

     3. ดูแลจัดการกับความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น

     พูด เล่า และระบายความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของคุณกับคนที่คุณไว้ใจ เขียนระบายความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงผ่านการเขียนบันทึกส่วนตัว หรือเขียนจดหมายถึงอดีตคนรัก แต่ห้ามจัดส่งจดหมายโดยเด็ดขาด หรือจะเขียนสรุปเรื่องราวตามโครงสร้างของละครที่มีส่วนประกอบของต้นเรื่อง-กลางเรื่อง-ตอนจบ เพื่อให้คุณสามารถย้อนกลับไปพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนขึ้น

     งดเว้นการโพสต์ข้อความระบายความคิด ความรู้สึกจากความสัมพันธ์นี้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

     ย้ำเตือนตัวเองถึงสิ่งดีๆ ที่คุณมีในชีวิต และลองคิดว่าการยุติความสัมพันธ์ครั้งนี้ส่งผลดีกับคุณอย่างไร

     ปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต หากจำเป็น

 

     4. ดูแลสุขภาพร่างกาย

     ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยระบายความเครียดความกังวล เพิ่มความสามารถในการจัดการของระบบความคิดและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย  

     จัดเวลาและตารางหยุดพัก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ระมัดระวังพฤติกรรม ‘กินแก้เครียด’

     งดเว้นการดื่มสุราและใช้สารเสพติด แม้ว่าหลายๆ คนมักจะใช้วิธีการออกไปเที่ยวกลางคืนกับเพื่อน หรือดื่มสุราเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกที่อึดอัด แต่การปลดปล่อยในรูปแบบนี้ ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ทั้งยังทำลายสุขภาพร่างกายด้วย

 

     5. กระตือรือร้นในการใช้ชีวิต

     เมื่อมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสที่คุณจะได้ทำในสิ่งที่คุณรัก ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำ คุณควรพยายามที่จะรักษาความกระตือรือร้นในการทำกิจวัตรต่างๆ ให้เป็นปกติเท่าที่จะสามารถทำได้ ทั้งนี้เพราะการกระตุ้นเพิ่มการลงมือทำสิ่งต่างๆ ในภาวะเช่นนี้ จะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการเผชิญหน้า และแก้ไขปัญหาได้

 

     6. อย่าเผชิญกับความเจ็บปวดนี้เพียงลำพัง

     คุณไม่ควรแยกตัวอยู่ลำพัง เพราะจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเสพติดกับการคิดลบและจมติดอยู่กับความโศกเศร้า จงเปิดรับความรัก และการดูแลจากคนที่มองเห็นคุณค่าในตัวคุณ ซึ่งปรารถนาจะช่วยให้คุณฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

     7. อย่ากระโจนเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ในทันที

     คุณอาจจะพยายามเอาชนะอดีตคนรักของคุณด้วยเริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด พยายามซ่อนและเก็บกดความรู้สึกถึงความเจ็บปวดหรืออารมณ์ด้านลบ ด้วยความตื่นเต้นจากการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ แต่เมื่อความสัมพันธ์ได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสสำหรับคุณในการวิเคราะห์และสรุปบทเรียนในครั้งนี้

 

     8. จงเรียนรู้จากความสัมพันธ์

     หลังจากที่คุณสามารถจัดการความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้มั่นคงได้มากขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว คุณควรที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ โดยพิจารณาถึง

  • สาเหตุของการยุติความสัมพันธ์
  • เหตุผลและข้อดีที่คุณและอดีตคนรักควรจบความสัมพันธ์
  • ข้อสังเกตในความเป็นตัวของคุณอันมีผลต่อความสัมพันธ์ เช่น คุณได้ให้การยอมรับคนอื่นในแบบที่เขาเลือกที่จะเป็นหรือไม่
  • ข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวคุณเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะโศกเศร้า ว่าตัวเราเองมีการตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร เช่น ย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า มีลักษณะกล่าวโทษตัวเองหรือเปล่า หรือหนีปัญหา เก็บกดอารมณ์หรือไม่
  • ทั้งนี้เพื่อจะได้เรียนรู้และปรับวิธีการรับมือกับความโศกเศร้าของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะอย่างไรเสีย เราก็หลีกเลี่ยงกับความโศกเศร้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้
  • สิ่งที่ตัวคุณควรต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นได้อีกในอนาคต เมื่อมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่

 

ภาพประกอบNarissara k.

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising