×

TechJam 2019 โอกาสพิสูจน์ตัวตนของคนสายพันธุ์ดิจิทัล ที่อยากจะไปให้ถึงฝันในซิลิคอนแวลลีย์

โดย THE STANDARD TEAM
11.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • TechJam เป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีในรูปแบบ Hackathon เพื่อเฟ้นหาสุดยอดฝีมือด้านเทคโนโลยี จัดโดย KBTG
  • ในปีนี้มาในคอนเซปต์ Deep Jam เฟ้นหา Deep Data, Deep Code และ Deep Design ที่แข็งแกร่งที่สุด
  • นน-สรรพวิชญ์ ศิริผล อดีตผู้ชนะจาก TechJam ในสาย Design ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของปีนี้ บอกเล่าถึงประสบการณ์จริงของเขาที่ได้รับจากเวทีนี้ให้เราฟังแบบหมดเปลือก 

นับเป็นเวลา 3 ปีมาแล้วที่ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) จัดการแข่งขัน TechJam ซึ่งเป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีในรูปแบบ Hackathon เพื่อเฟ้นหาสุดยอดฝีมือด้านเทคโนโลยีและการออกแบบมาเป็นมันสมองในการขับเคลื่อนประเทศยุคดิจิทัล โดยจะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ Coding, Data Science และ Design ที่ไม่ใช่แค่เก่ง แต่ต้องรู้จักวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการทำงานเป็นทีม ซึ่งแต่ละปีเราได้เห็นหน้าผู้ชนะระดับหัวกะทิ และรับรู้จากสื่อแขนงต่างๆ ว่าทุกคนได้โอกาสไปสัมผัสประสบการณ์จริงๆ ณ ซิลิคอนแวลลีย์ รวมถึงการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ในคอนเซปต์ Deep Jam เช่นเดียวกัน ทว่าเบื้องหลังนับจากนั้น รวมถึงรายละเอียดความรู้สึกบนเวที เราเชื่อว่ามีเพียงผู้เข้าแข่งขันตัวจริงเท่านั้นที่จะบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขัน TechJam ได้

 

นี่จึงเป็นโอกาสพิเศษของ THE STANDARD ในการได้พูดคุยกับ นน-สรรพวิชญ์ ศิริผล อดีตผู้ชนะในสาย Deep Design จากการแข่งขัน TechJam เมื่อปี 2017 ซึ่งทุกวันนี้เขาคือหนึ่งในขุนพลด้านดีไซเนอร์ของ Beacon Interface ในเครือ KBTG โดยมีแต้มต่อจากสนาม TechJam เป็นเบื้องหลังผลักดันชีวิต หากคุณกำลังสนใจที่จะพิสูจน์ตัวเองในสายเทคโนโลยี การรับรู้เรื่องราวจากปากคำคนจริงบนเวทีนี้จะให้คำตอบที่ดีสำหรับคุณ

 

 

TechJam 2019

นน-สรรพวิชญ์ ศิริผล Designer, KBTG (Beacon Interface) อดีตผู้ชนะในสาย Deep Design จากการแข่งขัน TechJam ปี 2017 

 

บ่อเกิดจากความรักเทคโนโลยีในระดับคลั่งไคล้

ผู้คนชอบตั้งคำถามในเชิงว่า จำเป็นไหมที่งานที่เรารักต้องเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเรียนมา มีหลายเสียงยืนยันว่า ‘ไม่จำเป็น’ สรรพวิชญ์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ตอกย้ำว่าสิ่งที่เรารักสามารถหักเหจากสิ่งที่เราเรียนได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร และตอบตัวเองได้ไหมว่ารักในสิ่งที่ทำ

 

“มันไม่จำเป็นว่าคุณจะจบอะไร แค่คุณมีใจรัก คุณก็ทำมันได้ ผมใช้ชีวิตอยู่ในอินเทอร์เน็ตเป็นหลักมาตั้งแต่อยู่ ป.6 แม้ว่าตอนปริญญาตรีผมจะเรียนจิตวิทยามา แต่ผมมองว่ามันก็เป็นความโชคดีนะที่เราได้เรียนเรื่องนี้ เพราะมีวิชาที่เกี่ยวกับการพูดคุยกับผู้คน มีการทำรีเสิร์ชด้วย บอกตามตรงว่าถ้าผมไม่ได้พาชีวิตมาทำในสิ่งที่รัก คือเรื่อง UX และ UI ผมก็คงไม่ได้นำสิ่งนี้มาใช้”

 

TechJam ประสบการณ์ที่ให้คำตอบในการพิสูจน์ตัวตน

จากความสงสัยใคร่รู้ว่า Hackathon คืออะไร จุดประกายให้สรรพวิชญ์ ตอบตกลงกับเพื่อนในการร่วมเข้าแข่งขัน TechJam 2017 ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ต้องแก้โจทย์ปัญหาภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีเวลาเพียงหนึ่งวันก่อนแข่งในการปูพื้นฐานถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสนามแห่งเทคโนโลยี จากนั้นก็เป็นเวลาแห่งการพิสูจน์ฝีมืออย่างแท้จริง

 

“ผมลงแข่งขันด้าน Design เกี่ยวข้องกับการทำ UX, UI วันที่ผมได้รับโจทย์ สิ่งที่ทีมของผมต้องทำเป็นสิ่งแรกคือคุยกับ User (ผู้ใช้งาน) เพื่อคิดค้นว่าจะทำอะไรให้ตอบโจทย์ User ซึ่งทีมของผมก็พยายามพูดคุยจนได้รู้ว่า User มีปัญหาเรื่องการเก็บเงินในระยะยาว ทุกคนอยากเก็บเงิน อยากเกษียณโดยไม่ต้องทำงาน เอาเงินไปเที่ยว แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีแผนการในระยะยาว มีแต่แผนระยะสั้นว่าจะใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีพอไหม เราจึงร่วมกันสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้ User เก็บเงินได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น โดยสร้างเป็นฟีเจอร์เสริมอยู่ในแอปฯ K PLUS เวอร์ชันเก่า

 

สรรพวิชญ์บอกเล่าถึงบรรยากาศที่จริงจังในการแข่งขัน โดยย้อนความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับการแข่งขัน TechJam คือการจำลองบรรยากาศการทำงานจริงของคนสายพันธุ์ดิจิทัล หากยังมีสิ่งที่ติดค้างในใจว่าสิ่งที่คุณพยายามเรียนรู้มาจะใช้ในชีวิตจริงได้หรือไม่ นี่คือโอกาสที่คุณจะได้วัดกึ๋นและพิสูจน์ตัวเอง เพียงแค่ได้ผ่านเข้าไปในรอบสุดท้ายแค่นั้นก็ตอบตัวเองได้แล้วว่าคุณเหมาะแล้วกับวงการเทคโนโลยีในสายงาน Design แล้วหรือยัง

 

“ผมว่าการได้พิสูจน์ตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สมมติว่าคุณอยากทำงานด้าน UX แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ลองทำจริงๆ จังๆ ด้วยหน้าที่การงานอาจไม่เอื้ออำนวยขนาดนั้น TechJam จะเป็นสนามที่ให้คุณได้มาพิสูจน์ ทุกคอมเมนต์ของคณะกรรมการคือสิ่งที่จะบอกให้คุณทบทวนตัวเองได้ว่า คุณมาถูกทางแล้วหรือไม่ หรืออะไรคือสิ่งที่ควรพัฒนาตนเองต่อไป หากลงแข่งแล้วได้รับรางวัล นั่นคือของขวัญที่ดี แต่ถ้าไม่ได้รางวัลก็ไม่เสียหายอะไร เพราะแค่ประสบการณ์จากการแข่งขันนี้ก็เป็นการใช้เวลาในวันหยุดที่คุ้มค่าสำหรับคุณแล้ว

 

TechJam 2019

 

เหนือกว่ารางวัลคือประสบการณ์ ณ ซิลิคอนแวลลีย์ และโอกาสในการทำงานจริง

หลังจากการแข่งขันจบสิ้น ทีมของสรรพวิชญ์ที่มีรางวัลการันตีฝีมือ รวมถึงผู้ชนะในสาย Deep Code และ Deep Data ก็ได้รับโอกาสสำคัญในชีวิต เดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ณ ซิลิคอนแวลลีย์ ดินแดนในฝันของคนที่อยากทำงานด้านเทคโนโลยี เพื่อพูดคุยกับคนไทยในวงการเทคโนโลยีที่ร่วมงานกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ Facebook, Apple และ Amazon รวมถึงคนไทยระดับหัวกะทิที่ยังทำงานอยู่ในซิลิคอนแวลลีย์ แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับมานั้นทรงคุณค่า เพราะมันคือความรู้และประสบการณ์ตรงที่มาจากสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยี 

 

“ความสนุกมันเริ่มต้นทันทีที่กลุ่มผู้ชนะได้ออกสตาร์ททริปนี้ด้วยกัน ระหว่างเดินทางเราได้พูดคุยเรียนรู้ชีวิตของแต่ละคนว่าผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ พอไปถึงซิลิคอนแวลลีย์ ได้มีโอกาสเข้าเวิร์กช็อปทั้งด้าน AI และ UX Design รวมถึงได้เยี่ยมชมบริษัท IBM ที่มีออฟฟิศอยู่ใกล้หุบเขาของทีม Innovation และ Designer ที่ตั้งออฟฟิศอยู่กลางใจเมือง 

 

แต้มต่อจาก TechJam ทำให้สรรพวิชญ์ได้โอกาสร่วมงานกับ Beacon Interface บริษัทย่อยในเครือ KBTG ที่มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานของทีมดีไซเนอร์ในสายเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นไม่แพ้บริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์ ที่นี่เป็นแหล่งรวมดีไซเนอร์ที่ท้าทายความสามารถของเขา นอกเหนือจากงานดีไซน์ที่เคยผ่านมาคือ เขาต้องบริหารการทำงานของทีมให้ไร้รอยต่อ เพื่องานที่มีคุณภาพ โดยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากซิลิคอนแวลลีย์มาประยุกต์ใช้ ซึ่งสิ่งที่เขาสัมผัสได้เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของ KBTG ก็ถึงกับเปรยว่า “ที่นี่คือซิลิคอนแวลลีย์วิถีไทย” เป็นแหล่งรวมขุนพลแห่งวงการเทคโนโลยีที่ปรับปรุงให้เหมาะกับสังคมไทยเรียบร้อยแล้ว สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ KBTG ที่จะสร้างทีม สร้างคน สร้างวัฒนธรรมองค์กรไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อก้าวไปเป็นบริษัทด้านไอทีอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2565

 

UX และ UI ก็เปลี่ยนโลกได้

ประโยคคุ้นหูที่บอกว่า “เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนโลกได้” สรรพวิชญ์ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ ทำงานกับ UX และ UI ก็รู้สึกไม่ต่างจากนั้น เขาเองก็มีความเชื่อว่างานของเขาสามารถเปลี่ยนโลกหรือสังคมได้จริง

 

หากคนในแวดวง UX และ UI รู้ว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์แบบไหนเพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหาชีวิตให้กลุ่มผู้ใช้งาน

 

“ผมเชื่อว่างานที่ผมทำอยู่ช่วยเปลี่ยนสังคมได้มากนะครับ ถ้าสิ่งที่เราทำสามารถไปตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่รักผลิตภัณฑ์เราได้ เขาก็จะไปบอกต่อเป็นปากต่อปาก แล้วมันจะลุกลามถึงขั้นเปลี่ยนสังคมได้เอง แค่ต้องจุดติดกับคนกลุ่มแรกให้ได้ก่อน ความยากคือตรงนี้นี่ล่ะ หากทำได้เราก็จะสามารถควบคุมได้แล้วว่าจะให้ไปในทิศทางไหน”

 

TechJam 2019

 

สำหรับใครที่จดๆ จ้องๆ กับการลงสมัครแข่งขัน TechJam สรรพวิชญ์ไม่ได้บอกกล่าวเพื่อเชื้อเชิญให้คุณมาร่วมโครงการแบบมัดมือชก ทว่าสิ่งที่เขากำลังบอกกับเรานั้นคือ สนามแข่งแห่งนี้คือพื้นที่ที่คุณจะได้ทบทวนและวัดระดับตัวเองในการทำงานในแวดวงสายเทคโนโลยี ต่อให้ไม่ได้รับรางวัล แค่ได้แสดงพลังแล้วเข้ามาถึงรอบลึกๆ ได้ คุณก็ตอบตัวเองได้แล้วว่า คุณเกิดมาเพื่อร่วมสร้างเทคโนโลยีให้มาเปลี่ยนโลก

 

ผู้สนใจสมัครเข้าแข่งขันที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดระดับการศึกษาหรือสาขาอาชีพ สามารถเข้าร่วมแข่งขันแบบคนเดียวหรือ 2 คนก็ได้ โดยเลือกแข่งขันได้ 1 ด้านเท่านั้น สมัครผ่านทางออนไลน์ได้ที่ www.techjam.tech ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม ถึง 11 พฤศจิกายน 2562 เฉพาะการแข่งขัน Deep Code จะปิดรับสมัครวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ประกาศผลผู้ผ่านรอบแรกในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ทางเฟซบุ๊กเพจ KBTG Live www.facebook.com/KBTGlive/

 

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน และวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่อาคาร KBTG แจ้งวัฒนะ พร้อมประกาศผลและมอบรางวัลให้ทีมผู้ชนะเลิศแต่ละด้าน ซึ่งจะได้มีโอกาสเดินทางไปเปิดประสบการณ์และดูงานด้านเทคโนโลยีและการออกแบบระดับโลก ณ ซิลิคอนแวลลีย์ สหรัฐอเมริกา ผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.techjam.tech หรือสอบถามมาได้ที่เฟซบุ๊กเพจ KBTG Live www.facebook.com/KBTGlive/

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising