×

สมาคมแท็กซี่ผุดไอเดีย ‘เหมาจ่าย’ นั่งทั้งเดือนจ่าย 12,000 บาท

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2018
  • LOADING...

หลังกรมการขนส่งทางบก เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ประมาณ 8% เฉพาะแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการ Taxi OK ประมาณ 13,000 คัน ล่าสุด สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ เตรียมตอบโต้มาตรการดังกล่าวด้วยไอเดีย ‘เหมาจ่าย’ นั่งได้ไม่จำกัดเที่ยว เพียงจ่ายค่าสมาชิกในราคา 12,000 บาทต่อเดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปีหน้า

 

วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ระบุกับ THE STANDARD ว่า ส่วนตัวคาดไว้แล้วว่ากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการในรูปแบบนี้ ขณะที่แท็กซี่ของสมาคมที่เข้าร่วมโครงการ Taxi OK กับกรมการขนส่งทางบกมีไม่มากนัก

 

จึงมีไอเดียให้บริษัท มาย แท็กซี่ ของตน ร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่ เปิดให้บริการแท็กซี่รูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาการปรับค่าโดยสารจากกรมการขนส่งทางบก แต่ใช้ระบบเหมาจ่ายรายเดือน โดยผู้โดยสารที่จะใช้บริการสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกในราคา 12,000 บาทต่อเดือน ใช้บริการได้ไม่จำกัดเที่ยววิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะเดียวกันก็จะกดมิเตอร์ระหว่างเที่ยวการเดินทาง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ว่าค่าโดยสารแต่ละเที่ยวมีอัตราเท่าไร เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายค่าโดยสาร หากเป็นสมาชิกรายเดือนอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ ราคาเหมาจ่าย 12,000 บาท เป็นเพียงรายละเอียดในเบื้องต้น ซึ่งหากมีการให้บริการจริง อาจปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้โดยสาร ซึ่งต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป แต่คาดว่าบริการนี้จะได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทางได้มากพอสมควร เนื่องจากสามารถให้รถแท็กซี่ไปรับที่ไหนก็ได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการได้ในต้นปีหน้า

 

วรพลยังเผยข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้มีสมาชิกแท็กซี่ให้ความสนใจร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 1,000-2,000 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยฝึกอบรมผู้ขับขี่ ซึ่งแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งเสื้อผ้า ความปลอดภัยของรถ และมารยาทในการให้บริการ

 

“จริงๆ เราวางแผนเรื่องนี้มาเป็นปีๆ แล้ว เพราะเชื่อว่าอนาคตจะต้องเป็นแบบนี้ และมองว่าจะเป็นมาตรการที่เป็นธรรมกับทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่” วรพลให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising