×

คุยกับ มาย อาโป และปอนด์ ถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Be On Cloud ที่ Shine กว่าเดิม

07.02.2024
  • LOADING...
mile apo pond

HIGHLIGHTS

11 MIN READ
  • มาย อาโป และปอนด์ Be On Cloud เผยถึงความน่าสนใจของโปรเจกต์ใหญ่ในปีนี้อย่าง ชาย (Shine) ซีรีส์ที่ต่อยอดเรื่องราวจากภาพยนตร์เรื่อง แมนสรวง ซึ่งจะพาผู้ชมเข้าไปสำรวจแง่มุมความสัมพันธ์ของตัวละครมากยิ่งขึ้น 
  • มายและอาโปเล่าถึงความตื่นเต้นของการเดินทางครั้งใหม่ ที่แต่ละคนจะร่วมงานในปีนี้ทั้งด้านการแสดงและดนตรี เราจะพบเจอกับอาโปในลุคที่เปลี่ยนไป และมายกับบทบาทผู้บริหารค่ายเพลง
  • ปอนด์ กฤษดา ยอมรับว่าช่วงแรกที่ทำ Be On Cloud จนมาถึง KinnPorsche The Series เราประสบความสำเร็จเร็วก็จริง แต่พอโตมาด้วยคำว่าครอบครัวแล้วรักกันมาก ความรักทำให้ตาบอด ณ วันนี้ต่อให้จะเป็นครอบครัวเราก็ต้องมืออาชีพขึ้น ถ้าอยากจะโตต้องปรับ ปีนี้เลยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรขึ้นในเร็วๆ นี้

เมื่อพูดถึงกระแสการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนในด้านอุตสาหกรรมบันเทิง คงอดนึกถึงโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 ไม่ได้ อย่างการร่วมมือกันของกระทรวงพาณิชย์ และค่าย Be On Cloud โปรเจกต์ที่เตรียมผลักดันสินค้าไทยไปสู่เวทีโลก ซึ่งมีการจัดงานแถลงข่าวโดยเปิดตัวซีรีส์ใหม่ในชื่อ ชาย (Shine) ไปเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา 

 

วันนี้ THE STANDARD POP ได้รับโอกาสร่วมพูดคุยกับ มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง, อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ และ ปอนด์-กฤษดา วิทยาขจรเดช ผู้บริหารค่าย Be On Cloud ถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์ใหญ่ครั้งนี้ พร้อมแชร์ความคิดเห็นเรื่องการทำงานที่ร่วมมือกับภาครัฐ รวมถึงอีกหลายผลงานที่แอบสปอยล์ความน่าตื่นเต้นให้หลายคนได้ตั้งตารอดูกันอีกด้วย

 

 

ช่วงนี้แต่ละคนอินกับเรื่องอะไรกันอยู่บ้าง เช่น อาหาร สินค้า สถานที่ กิจกรรมของไทย

 

อาโป: ส่วนตัวโปอินกับทุกอย่างที่เป็นไทย อย่างเวลาเห็นผ้าไทยโปก็จะชอบมาก แล้วก็อยากจะได้มาเก็บไว้ อาหารที่ชอบที่สุดคืออาหารไทย เบสิกที่ชอบที่สุดคือ ผัดกะเพราไข่ดาว กินได้ทุกวันเลย ส่วนกิจกรรมจะชอบท่องเที่ยวอย่างที่ใกล้ที่สุดคือย่านพระนคร รู้สึกว่าไปกี่ครั้งก็เหมือนครั้งแรกทุกครั้ง เพราะถึงเราจะไปที่เดิม แต่แสง อุณหภูมิ อากาศเปลี่ยนไป ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป โปว่ามันเป็นสถานที่ที่โรแมนติก 

 

ปอนด์: สองคนนี้ (มายและอาโป) เขาชอบแบบเดียวกันตลกมาก เหมือนไปเดินเจอกันที่พระนคร บางครั้งเราไปแบบนัดกันและไม่นัดกันบ่อยมาก ส่วนเรื่องที่อินของผมในช่วงนี้คือ ผมตื่นเต้นกับการที่เราจะนำสิ่งที่เราเชื่อ เราชอบ ถ่ายทอดออกไปอย่างพร้อมมากขึ้น

 

มาย: ช่วงนี้ก็ยังเป็นดนตรีเหมือนเดิมครับ แต่จะเป็นการอินดนตรีในอีกมุมหนึ่ง ทั้งการเป็นผู้ผลิต ผู้ทำงานร่วม และผู้สร้างมันต่างกันนะ 

 

ผู้ผลิตคือ การหาศิลปินใหม่ๆ มุมมองการฟังเพลงของเราก็จะเปลี่ยนไป รวมถึงมุมมองในการมองหาศิลปินที่เราจะร่วมงานด้วย ส่วนมุมมองการทำงานร่วมกันอย่างการที่เราทำงานกับพี่แสตมป์ (แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข) ในเพลง ขาด เรารู้สึกว่าการที่ได้เห็นศิลปินที่มีความสามารถมาก แล้ววันหนึ่งเขามาร่วมงานกับ Be On Cloud ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ได้มีแค่พี่แสตมป์คนเดียว คงมีคนอื่นๆ อีกด้วย และมุมมองสุดท้ายคือ ผู้สร้าง ถึงเราจะชอบงานเพลงมากขนาดไหน แล้ววันหนึ่งเราได้เป็นคนผลิต คนถ่ายทอดเอง เลยเป็นคนละความรู้สึกกัน การสร้างกับการเสพมันต่างกัน สิ่งนี้เลยเป็นสิ่งที่เราสนใจในช่วงนี้ครับ

 

 

อะไรคือความน่าตื่นเต้นที่สุดของปีนี้

 

อาโป: ปีนี้ลุคของโปจะเปลี่ยนไปตลอดทั้งปีและต่อไป จริงๆ แล้วสไตล์ที่โปชอบจะเป็นสไตล์ย้อนยุค โปชอบอะไรที่ดูดิบๆ เซอร์ๆ ตั้งแต่เด็กโปพยายามไว้หนวดมานานมาก จนกระทั่งวันนี้ครบ 30 ปีแล้ว หนวดขึ้นเต็มพอดี (ทั้ง 3 คนหัวเราะ) ก่อนหน้านี้หนวดจะขึ้นเป็นหย่อมๆ แต่พออายุ 30 ปีมันเป็นจังหวะที่พอดี ประกอบกับผลงานใหม่ที่จะเกิดขึ้น เขาถามว่า “โปมีหนวดไหม” โปพูดอย่างภูมิใจว่า “มันมาแล้วครับ” (หัวเราะ) โปคิดว่าเป็นช่วงวัยที่พร้อมทั้งในเชิงกายภาพ ในเชิงจิตใจ และในเชิงประสบการณ์ คิดว่าผลงานที่ได้ทำต่อๆ ไปก็น่าจะเป็นการบ่งบอกอีกบุคลิกหนึ่งของเราที่โตขึ้น

 

ปอนด์: ผมขอเสริมว่า หลายคนเคยถามว่า Be On Cloud ส่งนักแสดงไปร่วมงานกับคนอื่นหรือเปล่า แบบที่เราไม่ได้ผลิตเอง ไม่ใช่ไม่ได้ส่งนะครับ แต่ถ้าทุกอย่างมันใช่มันก็พร้อม ซึ่งโปรเจกต์ที่โปจะไปร่วมเป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มากๆ เรื่องหนึ่ง พอเราคุยกันแล้วรู้สึกว่าโคตรใช่ ใช่กว่านี้ไม่ได้แล้ว มันต้องทำ ตัวอาโปเองก็รู้สึกว่าเขาโคตรใช่กับบทนี้ เรานั่งคุยกันกับฝั่งนั้นต่างคนต่างเลือกกันและกัน ซึ่งไม่ได้นับซีรีส์ที่เราประกาศวันนี้นะ (ซีรีส์ ชาย Shine

 

อาโป: แล้วประกอบกับผู้กำกับ วิธีการถ่าย การเล่าเรื่องเป็นเรามาก เขาบอกทุกอย่างคือธรรมชาติมากๆ 

 

 

โปรเจกต์ภาพยนตร์ที่อาโปจะร่วมแสดงนี้จะเกิดขึ้นในช่วงไหน 

 

ปอนด์: คงจะมีประกาศโปรเจกต์ในปีนี้ และเริ่มถ่ายทำเร็วๆ นี้ ผมว่าทุกคนจะว้าว เพราะผู้กำกับท่านนี้เป็นผู้กำกับที่พวกเราทุกคนเป็นแฟนคลับเขา พอเราได้รู้จักเขาลึกๆ รู้สึกเลยว่า เขาสมควรแล้วที่มีผลงานที่ถูกจารึกไว้เยอะขนาดนั้น ความคิดความอ่านวิธีการทำงานของเขาน่าศึกษาและน่าทำด้วย แต่เราอาจยังสปอยล์เรื่องไม่ได้รอกันอีกนิดหนึ่ง 

 

มาย: ส่วนความน่าตื่นเต้นของผมในปีนี้ คิดว่ามันเป็นเรื่องของการที่เราบาลานซ์ระหว่างการไปนอกประเทศกับในประเทศได้ดีขึ้น แฟนๆ ทั้งในและต่างประเทศจะรู้สึกว่าเขาเอ็นจอยทุกอย่างร่วมกัน สำหรับมุมผมไม่ว่าจะเป็นพาร์ตของเพลงหรือพาร์ตของการแสดงที่จะประกาศวันนี้ (31 มกราคม) หรืออื่นๆ ทุกอย่างจะใหญ่ขึ้น กลมขึ้น ในมุมของผู้เสพ ในมุมของแฟนคลับ และในมุมของคนอื่นที่เพิ่งมารู้จัก Be On Cloud และพวกผมครับ 

 

ปอนด์: ส่วนผมอย่างที่พูดไปทั้งหมดคือ เราพร้อมกันมากขึ้น จิตใจเรานิ่งมากขึ้น ยอมรับข้อผิดพลาดทั้งข้อดีข้อเสียที่ผ่านมามากขึ้น เหมือนให้อภัยทุกอย่าง ในขณะเดียวกันก็ชื่นชมทุกอย่างเช่นกัน เป็นการให้อภัยความผิดพลาดของเราในอดีต กลับมาเริ่มในจุดที่นิ่งและพร้อมจะเติบโต

 

อย่างที่บอกผมเคยผ่านชีวิตที่ยาก เราไม่เคยมีอาการเหลิง แต่ยอมรับว่าช่วงแรกที่ทำ Be On Cloud จนมาถึง KinnPorsche The Series ปรากฏการณ์นี้พาให้ทุกคนเหลิงไปพร้อมๆ กันได้โดยที่เราไม่รู้ตัว พอเหลิงกว่าจะรู้ตัวมันต้องมีเหตุการณ์อะไรมาเตือนเรา แต่โชคดีที่เตือนแล้วเรายังเข้มแข็ง แล้วจิตเรานิ่งพอจะรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการจะทำอะไร เราเลยดึงตัวเองมาสู่จุดที่พร้อมยอมรับแล้วเข้าใจว่า ‘เราจะไม่เป็นคนแบบนั้นแล้ว’ งานเอ็นเตอร์เทนเมนต์สำคัญที่สุดเลยคืออคติต้องไม่มี ถ้าเรามีอีโก้มีตัวตนมากๆ ก็จะทำงานที่ดียาก ซึ่งตอนนี้เรารู้สึกว่าเราไม่มีอีโก้เลย มีแต่ความอยากทำ ไม่ใช่ความอยากได้ ปีนี้เลยเป็นปีที่รู้สึกว่าน่าตื่นเต้น 

 

และอีกเรื่องที่เรากำลังจะทำคือ เมื่อเรากำลังจะเติบโตและมีพาร์ตเนอร์เพิ่มขึ้น เรียกว่าขยายบริษัทให้ใหญ่ขึ้นในเรื่องของทั้งเงินลงทุน และการเติบโตของโอกาสต่างๆ เราก็เลยต้องย้อนกลับมามองว่าอะไรบ้างที่เราควรจะจัดการ เพื่อไม่สร้างปัญหายิ่งใหญ่กว่านั้นได้ในอนาคต จริงๆ เราเตรียมการมาสักพักแล้ว 

 

เราจะมีการปรับเปลี่ยน นักแสดงของเราอาจไม่ได้ไปต่อด้วยกันทุกคน วิธีการดูแลศิลปินเราปรับเปลี่ยนแล้ว เราเคยคุยกับทีมงานไปแล้วว่า เราไม่มีนโยบายผู้จัดการนักแสดง เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่ผู้จัดการนักแสดงอีกต่อไป การที่เราจะมาตามคุณไปทำอันนี้หรือยัง ออกกำลังกายนะ อ่านบทหรือยัง เตรียมตัวพร้อมไหม คงไม่ใช่เรา เราฝึกสกิลคุณได้ แต่เราจะไม่มาเข็นวินัยของคุณ แล้วถ้าแอตติจูดในการทำงานไม่ตรงกับเรา เรายินดีที่จะให้คุณไปเติบโตในแบบของคุณนะ เพราะว่ากำลังคนของเรามันต้องใช้ให้เหมาะสมในทุกๆ พาร์ต 

 

สิ่งสำคัญที่สุดมาทำงานตรงนี้ต้องถามก่อนว่าคุณอยากได้อะไร พอคุณบอกว่าอยากได้อะไร เราจะวงแล้วนะความอยากของคุณมันนำ แต่ถ้าคุณบอกว่าคุณอยากทำอะไร อันนั้นคือสิ่งที่เราต้องการ ก็แน่นอนว่าเราจะเหลือนักแสดงน้อยลง

 

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะเริ่มทำเมื่อไร

 

ปอนด์: เร็วๆ นี้ครับ เพราะว่าผมก็อยากให้เขาได้ไปมีโอกาสของเขาเหมือนกัน แล้วในปีหนึ่งเราก็ไม่มีโปรเจกต์ที่ผลิตได้เยอะ เราเป็นค่ายที่แต่ละโปรเจกต์ใช้เวลาทำบทเป็นปีๆ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถทำมาเพื่อซัพพอร์ตทุกคนได้ เราต้องซัพพอร์ตคนที่พร้อมในทุกองค์ประกอบ คำว่าพร้อมทุกองค์ประกอบไม่ได้วัดกันว่าคุณดังไม่ดังนะ ไม่เกี่ยวกัน มันเกี่ยวกับว่าเหมาะกันไหมดีกว่า ไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าด้วยแต่เป็นเราเหมาะกันไหม เขาไปทำกับคนอื่นอาจเหมาะสมกว่า และคนในสังกัดเราอาจต้องเลือกมากขึ้น เราอาจเปิดรับ เพราะตอนนี้ก็มีนักแสดงที่เป็นอิสระเยอะ หลายคนอยากมาทำงานกับเรา แต่เราไม่ได้จะเอามาเยอะ จะเลือกคนที่เหมาะกับเป้าหมายและวิธีการทำงานแบบเรา 

 

เราควรจะลดกำลังในการไปขุนไปเข็น แล้วไปเพิ่มกำลังในการสร้างมากกว่า การจะสร้างกำลังเรามีแค่นี้ ต่อให้ขยายเราควรจะโฟกัสคนจำนวนไม่เยอะมาก เพื่อให้ไปถึงจุดที่เหมาะสม แต่ไม่ได้แปลว่าถ้าไม่อยู่กับเราร่วมงานกันไม่ได้ เราอาจร่วมงานกันหลวมๆ ในมุมอื่นได้ เพียงแต่พอมันจะเติบโตทุกอย่างต้องถูกใช้ให้ถูกที่ถูกทาง 

 

อย่างที่หลายคนเห็นว่า Be On Cloud พลาดอะไรมา เราประสบความสำเร็จเร็วก็จริง แต่พอโตมาด้วยคำว่าครอบครัวแล้วรักกันมากๆ ความรักทำให้ตาบอดนิดหนึ่ง ณ วันนี้ต่อให้จะเป็นครอบครัวเราก็ต้องมืออาชีพ ถ้าอยากจะโตต้องปรับ

 

 

เซอร์ไพรส์ Big Project ที่จะเกิดขึ้นในงานนี้คืออะไร (งานแถลงข่าวการร่วมมือกันของกระทรวงพาณิชย์ และบริษัท Be On Cloud วันที่ 31 มกราคม) 

 

ปอนด์: จริงๆ เรื่องนี้วางแผนมาตั้งแต่ตอนทำ แมนสรวง แล้วครับ เราทำมาเป็นปีแล้ว ตอนทำ แมนสรวง ตั้งใจไว้ว่าจะไม่มีเรื่องราวของความสัมพันธ์เลย เพราะสุดท้ายถ้าคุณเจอชีวิตแบบนั้นคุณไม่คิดเรื่องความสัมพันธ์หรอก มีคนฆ่ากันตายทุกวัน ไม่รู้ใครฆ่าแล้วคุณยังมีความสัมพันธ์กันได้มันก็ยากนิดหนึ่ง แต่วันนี้ แมนสรวง มันสงบสุขแล้ว มีการเปลี่ยนผ่านในช่วงของรัชสมัยด้วย เป็นช่วงรัชกาลที่ 4 เลยถึงเวลาแล้วที่เราจะมาพูดกันเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่ความสัมพันธ์จะเป็นจุดไหน จะรู้สึกอย่างไรกันอันนี้ก็ต้องติดตามดู ทั้งฉัตรและเขมจะเป็นการเติบโตในเรื่องของความสัมพันธ์และยอมรับตัวตนในเรื่องของความสัมพันธ์ เรื่องนี้เป็นช่วงเวลาที่ต่อจาก แมนสรวง แต่เราไม่ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเดิมเลย เพราะเรื่องจบไปแล้ว มีตัวละครที่ต่อจาก แมนสรวง แต่ไม่ใช่ทุกตัวละครจะมา

 

เรื่องนี้ชื่อ ชาย (Shine) เพราะผมมีความเชื่ออย่างหนึ่ง พอเราไปหลายประเทศเราจะรู้ว่าถ้าพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิทธิเท่าเทียมกัน หรือการระบุเพศตัวเอง ผมว่าในประเทศไทยเราเปิดกว้างแบบกว้างมากแต่ก็ปิดบางส่วนเช่นกัน ซึ่งมันแปลกมาก แต่ที่ผ่านมาทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องทุกข์ แต่เรารู้สึกว่ายังจะมีกลุ่มคนที่เขามีความรักแบบนี้ที่ไม่ได้ตรงกับที่คนอื่นพูดแต่เขาอยู่กันได้ เขาหาทางเอาตัวรอดได้ และเขาจะมีความเชื่อว่าวันหนึ่งจะดีขึ้น นี่คือคีย์หลักของเรื่องนี้ 

 

ชาย (Shine) คือเรื่องที่จะเล่าในมุมที่ว่า มีความหวัง มีความสดใสอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองอย่างไร สมมติว่าคุณอยู่ในที่มืดมากๆ คุณมีไม้ขีดแค่ก้านเดียวมันก็มีแสงได้ อยู่ที่ว่าคุณเลือกจะมองความมืดหรือมองแสงตรงนั้น คนดูเรื่องนี้คุณจะรู้สึกดี รวมถึงยิ้มกริ่มไปด้วย และเห็นความงดงามของทุกอย่างที่เราตั้งใจทำเพราะทีมกำกับเอง ทีมงานที่เลือกมาเป็นทีมที่ ‘Shine’ ไปด้วยกันแน่นอน 

 

บรรยากาศเรื่องนี้เหมือนออกจาก แมนสรวง ที่ดูมืดๆ หม่นๆ ทุกอย่างกดทับเรา ส่วนเรื่องนี้เราจะออกเดินทางไปด้วยกัน ทีมงานก็เหมือนกัน การถ่ายทำของเราทีมงานทั้งหมดจะอยู่ด้วยกันเกือบตลอดเวลาเหมือนไปออกค่าย โดยที่ไม่มีใครได้กลับบ้าน ส่วนโครงการที่ทำกับกระทรวงพาณิชย์จะไม่มีการยัดเยียด เราไม่ใช่ค่ายที่ทำอะไรยัดเยียดหรือมานั่งสอนคน จุดประสงค์หลักของเราคือสร้างความบันเทิง แต่ในความบันเทิงนั้นเราสอดแทรกอะไรได้บ้าง มันจะอยู่อย่างเนียนๆ เราถึงทำโครงการตั้งแต่วันนี้ เพื่อจะทำบทให้เนียนที่สุด ซึ่งเรากำลังจะเริ่มถ่าย

 

 

นอกจาก ชาย (Shine) ยังมีซีรีส์อื่นๆ อีกไหมที่ Be On Cloud กำลังทำ

 

ปอนด์: สำหรับตัวซีรีส์ที่เราเคยพูดไว้เรายังทำอยู่ 4 MINUTES ยังมีนะครับ แต่เวลาผมทำอะไรก็ตามเราต้องเว้นพื้นที่ให้จังหวะนี้เป็นจังหวะที่เราจะประกาศเรื่องนี้ก่อน อีกสักพักก็จะเป็นเวลาของ 4 MINUTES ทุกวันนี้ถ้าถามว่าทำไมถึงใช้เวลานาน บทมันสำคัญมากจริงๆ ผมเพิ่งปรับ 4 MINUTES บทไฟนอลเสร็จไปเมื่อวานซืน อันนี้ปรับประมาณรอบที่ 859,982,521 (หัวเราะ) คือต้องมั่นใจก่อนทีมถึงลงมือทำ เราไม่อยากเร่ง อย่างเรื่องนี้ ชาย (Shine) เราก็ใช้เวลาเป็นปี

 

หมายความว่าตอนนี้ซีรีส์ 4 MINUTES อยู่ในระหว่างการปรับบทใช่ไหม 

 

ปอนด์: ใกล้จะเปิดกล้อง มีนักแสดงแล้วเรียบร้อย ส่วนเรื่องใครจะแสดงเราจะบอกทีเดียว (หัวเราะ) วันนี้เป็นเวลาของพวกเขาก่อน

 

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ที่จะทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์คืออะไร

 

ปอนด์: อย่างที่เล่าไปเลยว่า จริงๆ เราคุยกันตลอดว่าเราจะมีซีรีส์ต่อที่เป็นการพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ แล้วเราก็ชอบความงดงามของยุคนั้นด้วย เราก็ทำเรื่องนี้ขึ้นมาสักพัก พอเสร็จแล้วก็มีจุดที่ผมคิดเรื่องของการที่เรามีสินค้าชุมชนมากมายที่รู้สึกว่าไปต่อได้ และทำให้สินค้าที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วขายได้ ถ้าตอนนี้ย้อนกลับไปมองในเศรษฐกิจระดับจุลภาคคือสินค้าชุมชน เราสามารถทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ไหม โดยผ่านความสามารถและโปรเจกต์นี้ของเรา

 

พอเกิดความตั้งใจนี้ขึ้นมา ผมก็เป็นคนเข้ามาคุยกับกระทรวงพาณิชย์เอง จริงๆ ตอนนั้นไม่ได้เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์อะไรเลยนะ เราเห็นแล้วแหละว่าทุกคนกำลังทำกันอยู่ แล้วตอนนั้นเราก็มีสินค้าที่สนใจ เราสนใจเรื่องการค้าขาย ซึ่งมันตรงกับยุคนั้นด้วย เพราะยุครัชกาลที่ 3 กับ 4 เป็นยุคที่การค้าขายกับต่างประเทศรุ่งเรืองมาก มันเลยแมตช์กับสิ่งที่เราเชื่อพอดี เพราะฉะนั้นถ้าค้าขายก็ต้องคุยกับกระทรวงพาณิชย์หรือเปล่า เราก็เลยเข้ามาคุย อธิบายให้เขาฟัง มันก็น่าตื่นเต้นตรงที่เขาเห็นภาพ ผมอาจเป็นคนทำธุรกิจมาก่อนเราก็ค้าขายอยู่แล้ว พอมาคุยกับฝั่งค้าขายก็ไม่ได้เข้าใจกันยากแล้วก็เป็นการซัพพอร์ตกัน เราบอกเขาว่าต้องทำแบบใหม่นะ นอกกรอบ ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนพร้อมนอกกรอบหมดเลย

 

วันนี้เลยเกิดการรวมพลังกัน สังเกตว่าไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์จ้าง Be On Cloud นะ เราทำร่วมกัน และต่อให้ไม่มีกระทรวงเราก็ทำ แต่วันนี้พอมีกระทรวง มันมีพลัง มีแรงสนับสนุน เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีบุคลากรประมาณ 5,000 คนอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เขาดูเรื่องการค้าขาย นำเข้า ส่งออก สินค้าไทย ทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจไทยค้าขายได้ดี เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาทำกับเขามันน่าจะถูกต้อง

 

ถ้าพูดถึงว่าคนรู้จักประเทศไทย คนทำเยอะแล้ว ทุกคนรู้จักประเทศไทย แต่วันนี้เราอยากทำเพิ่มมากขึ้นในฝั่งของการทำให้สินค้าและธุรกิจไทยลองขยายต่อ เพราะเราลองกับ แมนสรวง และทรงวาดแล้วทุกอย่างมันทำได้จริงๆ

 

 

ในมุมของทั้ง 3 คน อะไรคือความน่าสนใจของการที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงนี้

 

มาย: ในมุมมองของผม ผมคิดว่าการที่รัฐบาลจะมาทำกิจกรรมร่วมค้า (Joint Venture) กับเอกชนที่ทำคอนเทนต์จริงๆ แพตเทิร์นแบบนี้ยังไม่เคยเห็น ในมุมของบางคนที่มองเข้ามาอาจคิดว่าจะถูกยัดเยียดไหม ซึ่งผมว่าการคุยกันครั้งนี้อาจไม่ใช่ในรูปแบบนั้น เพราะพอผมมาเห็นพี่อ้วน (ภูมิธรรม เวชยชัย) ผมเห็นถึงความวัยรุ่น ความเปิดรับ ความสนุกสนานในตัวของเขา และทีมงานหลายๆ คน ดังนั้นหมายความว่าคอนเทนต์ที่จะทำ ถ้ามาทำร่วมกันกับรัฐบาลที่เปิดรับขนาดนี้น่าจะเป็นอะไรที่น่าสนใจ

 

การที่บอกว่าซอฟต์พาวเวอร์เราต้องมา Tie-in ว่าเราไปนั่งกินของไทยอะไรอย่างนี้ มีคนพูดมาตลอดแต่ไม่ถูกทำสักที หรือถูกทำก็ไม่ถูกทำให้ต่อเนื่องสักที ผมว่าคีย์ของความสำเร็จไม่ว่าจะในวงการไหนมันคือความต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่จะทำให้เห็นตรงนั้นครับ

 

ปอนด์: อย่างที่บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว และร่วมพัฒนากันในหลายภาคส่วนจริงๆ ไม่ใช่แค่มาทำซีรีส์กันเถอะ ต้องยอมรับก่อนว่ารัฐบาลไม่ถนัดทำทุกอย่าง อยู่ดีๆ รัฐบาลบอกจะมาสร้างซีรีส์ก็จะโดนคนขำนะ คุณเคยทำเหรอ คุณไม่เคยทำ เพราะฉะนั้นวันนี้เราคือผู้ผลิตที่เรามีประสบการณ์ มีผลงานที่พูดแล้วไม่เขิน ก็ถือว่าเป็นที่ประจักษ์ว่าประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง แต่วันนี้ถ้าเราจะทำอย่างนี้ต่อไป เราจะร่วมมือกันในเรื่องของการค้าขายแล้วทำสินค้า แน่นอนเราก็ต้องมาคุยกับคนที่เขาถนัดอย่างนี้ เครือข่ายเขาเต็มไปหมด บุคลากรเขาเต็มไปหมด ถ้าผมจะไปพัฒนาสินค้า ไปหาสินค้ามันก็ยาก สู้ให้รัฐบาลช่วยหาดีกว่า เขาเรียกว่าต่างคนต่างพึ่งพากัน ไม่มีใครมาขออะไรกัน

 

อาโป: โปว่าสมมติถ้าหาของดีของประเทศไทย เราอาจถนัดน้อยกว่ากระทรวงพาณิชย์แน่นอน เพราะเขาดูอยู่ทั้งประเทศ รวมถึงต่างประเทศ แล้วเราถนัดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เราก็แค่มาร่วมมือกัน เอาของพวกนั้นมาใส่ไว้ในเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เหมือนว่าตัวละครพวกนี้ใช้ในปัจจุบัน แล้วเวลาที่คนทั่วโลกเขาดู มันเหมือนเป็นการบอกเขาไปด้วยนะว่าสิ่งนี้คืออะไร ก็จะกระจายไปเรื่อยๆ เพราะว่าพอเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์มันอยู่กับเราไปตลอด คนสามารถกลับมาดูเมื่อไรก็ได้ แล้วคนก็ยังรู้จักและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์หามา แล้วเราจอยกันแล้วก็ส่งผ่านกันไป

 

เหมือนตอน แมนสรวง X ทรงวาด ทรงวาดเป็นซอยที่กำลังจะป๊อปปูลาร์ พอ แมนสรวง ไปร่วมทำด้วยก็เหมือนคนดูหนัง แมนสรวง แล้วตามไป พอตามไปแล้วได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ ซึ่งเหมือนเป็นการเริ่มต้นของเอ็นเตอร์เทนเมนต์แล้วส่งต่อของดีของชุมชน จะทำให้การขับเคลื่อนในประเทศกว้างมากขึ้น แทนที่คนจะมาแค่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต คนก็ไปหลายจังหวัดมากขึ้น เพื่อไปดูสิ่งนั้นๆ ไปดูของท้องถิ่นจริงๆ โปว่าประเทศก็จะโตขึ้น

 

เหมือนกับเวลาเราดูซีรีส์ต่างประเทศ เขาใส่มาเรื่อยๆ เขาทำกันมานานมาก มีการซัพพอร์ตจากรัฐบาล พอเขาส่งเสริมกันมาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นภาพจำว่าไปประเทศนี้ต้องกินสิ่งนี้ ต้องทำสิ่งนี้ โปว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

ปอนด์: ผมขอเสริมเรื่องตอนทำ แมนสรวง X ทรงวาด จริงๆ แล้วเราลงทุนเอง ไม่ได้ไปขอสปอนเซอร์จากใคร แล้วก็ไม่ได้สปอนเซอร์จากร้านด้วย เราเอาเงินไปตกแต่งให้ร้านเอง แต่สุดท้ายเราจะพิสูจน์ว่าเหมือนงบโฆษณาแหละ แต่เราเอาไปใช้ในแบบนั้น พอทำแล้วร้านเขาประสบความสำเร็จ ทรงวาดเกิดขึ้นจริง เลยเป็นกรณีศึกษาของเราว่า สื่อบันเทิง ซีรีส์ หรือหนังมันทำได้จริงๆ ที่มากกว่าแค่ทำให้คนรู้จักว่าวัฒนธรรมคืออะไร เราก็เลยเอากรณีศึกษานี้มาทำในภาคที่ใหญ่ขึ้นกับโปรเจกต์นี้ เขาเรียกว่าการโปรโมตเศรษฐกิจมิติใหม่ แต่จริงๆ ไม่ได้ใหม่สำหรับประเทศอื่นนะ ใหม่สำหรับประเทศเรา

 

อาโป: ทางทีมคุยกัน เรามีคอนเซปต์ว่าเราจะทำเป็นของที่ตัวละครใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นแปลว่าเราไม่ได้ต้องการ Tie-in เราต้องการให้เขาใช้ในชีวิตประจำวัน คนจะรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ควรใช้ในชีวิตประจำวัน จะไม่ใช่การมาตั้งว่าสิ่งนี้คือของดี

 

ปอนด์: เราไม่ทำแบบนั้นแน่นอน ฝากโควตคำนี้ไว้เลยว่า ‘เราไม่ทำ Tie-in แบบนั้นมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วง เราเป็นแบบนี้มาตลอด อันนี้เราจะทำให้เนียนเลยจ้า’ ช่วยกันสนับสนุนและแนะนำได้ไม่ต้องกังวล เราก็ไม่ชอบอะไรที่ไม่เนียนเหมือนกัน (หัวเราะ)

 

 

ช่วงหลังๆ เราได้ยินและเห็นคนในอุตสาหกรรมบันเทิงสื่อสารในทิศทางเดียวกัน ประมาณว่า “วงการบันเทิงบ้านเรามาไกลมาก แต่สามารถไปไกลกว่านี้ได้อีกถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ” ทั้งสามคนคิดอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง 

 

ปอนด์: คนพูดคำนี้กันเยอะ แต่เอาแค่รัฐบาลก็ไม่รอดหรอก รัฐบาลมีหน้าที่ในการเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ต้องมาลงทุน ไม่ต้องขนาดนั้น สุดท้ายแล้วคำว่ารัฐบาลมาสนับสนุนก็เงินภาษีเราทั้งนั้นแหละ แต่สุดท้ายสิ่งที่รัฐบาลมีคือ อำนาจในการเจรจาต่อรองอะไรที่ภาคเอกชนทำไม่ได้

 

สิ่งที่เราจะช่วยกันไม่ใช่แค่รัฐบาล ก็คือทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ตัวเราในฐานะผู้ผลิต และแฟนๆ ก็คืออินฟลูเอ็นเซอร์ท่านหนึ่ง ภาคเอกชนท่านหนึ่ง ร้านค้าทุกคนแม้กระทั่งภาคเอกชนอื่นๆ ก็สามารถสนับสนุนกันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เหมือนเราทำให้เห็นแหละว่าวันนี้เรามีรัฐบาลเป็นหนึ่งในตัวเมนก็จริง แต่ลำพังแค่ Be On Cloud กับรัฐบาลไม่พอนะ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ใช่ไหมครับท่าน (ยิ้มแล้วหันไปมองมาย)

 

มาย: ครับ ก็ต้องไปด้วยกัน ในมุมผม ผมใช้คำว่าคือการผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ คือแข่งกันเพื่อให้เติบโตน่าจะดีกว่า ในมุมของรัฐบาลเขาไม่ได้มาเป็นนักลงทุนกับเรา เขาไม่มาเป็นผู้ผลิตกับเรา ในแง่นี้เขาเป็นเครื่องมืออย่างที่พี่ปอนด์บอก เขาเป็นส่วนที่ซัพพอร์ตในเรื่องของโอกาสต่างๆ ที่บางทีเอกชนไม่สามารถคว้าถึงจริงๆ ไม่ว่าจะในแง่ของการหาคอนเทนต์ สินค้าต่างๆ หรือการส่งออกอะไรก็ตามออกไป ดังนั้นก็ต้องเป็น Co-Partner กับรัฐบาลที่ดี และในมุมของเอกชนก็ต้องร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ 

 

อาโป: โปว่าคือการเดินกันเป็นทีม เราดีใจที่พี่ปอนด์และ Be On Cloud เข้ามาคุยกับทีมกระทรวงพาณิชย์ ตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าไม่เคยเห็นรัฐบาลทำกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ใหญ่ขนาดนี้ พอเราได้มาเจอก็รู้สึกว่าเขามีความสนุก ความร่าเริง ทั้งๆ ที่เขาก็โตมากแล้วครับ ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วคือการจอยกันแล้วเดินกันเป็นทีม ไม่ใช่ว่าใครต้องทำมากกว่าใคร แต่แค่เรามีความคิด วิธี มุมมองแบบเดียวกันแล้วเรามาร่วมกัน

 

มาย: เวลาเราพูดว่ารัฐบาลมาทำกับเอกชน คนยุคใหม่บางกลุ่มอาจรู้สึกถึง Generation Gap ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีทางเข้าใจเอกชนหรอก ซึ่งความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ ผมว่าอาจลองดูว่ามันจะเกิดขึ้นในทางที่ดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าดีขึ้นแน่นอน อย่างน้อยจากจุดนี้หรือจุดอื่นๆ ก็ตามครับ

 

นอกจากได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ จริงๆ แล้วเราอยากให้ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องไหนเพิ่มเติมอีกบ้างไหม

 

ปอนด์: ผมรู้สึกว่าไม่ได้ระบุอะไร ตอนนี้สิ่งที่อยากให้เกิดคือ ภาพการทำงานร่วมกันของทุกกระทรวงมากกว่า เพราะถ้าเป้าหมายคือปากท้องของประชาชนกับอนาคตของประเทศ ไม่ต้องแยกหรอกว่าใครเป็นกระทรวงอะไร ใครถนัดอะไรเราก็ยินดีเปิดรับร่วมงานกับทุกคน เหมือนกันกับ Be On Cloud ในปีนี้มิติใหม่หลังจากนี้ที่สามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้มากขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นค่ายไหน ช่องไหน แพลตฟอร์มอะไร เพราะฉะนั้นก็ตอบโจทย์เหมือนกันว่าใครก็ได้ครับ ถ้าสมมติว่าปลายทางเรามองเหมือนกันว่ามันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประเทศ และทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเราก็พร้อมอยู่แล้ว

 

 

นอกจากการที่กระทรวงพาณิชย์อยากส่งเสริมการยกระดับสินค้าไทยสู่ตลาดโลก ยังมีการพูดถึงการสนับสนุนประเทศไทยสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ในฐานะผู้ผลิตและนักแสดง คิดว่าเราจะสามารถผลักดันในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างไรบ้าง

 

ปอนด์: เราพูดเรื่องนี้กันมาตลอดนะ สังเกตได้ตั้งแต่ KinnPorsche The Series หรือ แมนสรวง อะไรก็ตามที่ทุกคนรู้สึกว่าอันนี้ไม่ตรงกับเพศสภาพเราไม่เคยขยี้เลย อย่าง KinnPorsche The Series พอร์ชไม่มีแม่ แต่พอร์ชมีเจ๊หยกที่เป็นเหมือนแม่ เรารู้สึกว่านี่คือเรื่องปกติ แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ ทุกอย่างคือปกติ

 

วันนี้ผมรู้สึกว่าสังคมดีขึ้น คนได้รับการยอมรับง่ายมากขึ้น แต่ถ้าบางครั้งไปยัดเยียดว่าต้องคิดแบบนี้นะ มันจะมีการต่อต้านขึ้นมาทันที ซึ่งวันนี้เราพยายามสร้างความบันเทิงให้คนรู้สึกว่าชินไปกับมัน เราทำให้รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าที่ดีใจมากกว่านั้นคือเชื่อว่าปีนี้ การยอมรับตัวเองหรือการที่พื้นที่เหล่านี้จะถูกรองรับด้วยกฎหมายเพราะมีหลายๆ คนที่เขาใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้วเขาไม่สามารถมีกฎหมายรองรับ อันนี้ลำบากนะ เช่น คุณกู้บ้านด้วยกันไม่ได้ คนหนึ่งเสียชีวิตไป คุณไม่สามารถเคลียร์เรื่องมรดกได้ หรือว่าคนหนึ่งเข้าโรงพยาบาลอีกคนเซ็นไม่ได้ กฎหมายนี้มันสำคัญตรงนี้

 

ไม่สำคัญว่าประเทศฉันยอมรับแล้วนะว่ามีเรื่องแบบนี้ ผมว่าประเทศเรายอมรับตั้งนานแล้ว แต่คราวนี้เราต้องการกฎหมายที่การันตีให้ดีกว่าว่านี่คือ ‘กฎหมายรองรับ’ มันเป็นวิธีที่ถูกต้อง กฎหมายใช้ได้จริงๆ นะ ไม่ต้องมานั่งหาช่องทางช่องว่างทางกฎหมาย 

 

อาโป: โปว่าคนเราไม่ต้องมาถามตัวเองก็ได้ว่าวันนี้ฉันเป็นใคร ฉันเป็นอะไร โปว่าคำถามที่เราถามตัวเองกันจริงๆ ทุกวันคือ วันนี้เราความสุขไหม เรามีพลังในการใช้ชีวิตในวันนี้หรือยัง โปว่าเป็นคำถามที่มนุษย์เราทุกคนจะถาม อยู่ที่ว่าเราทำอะไร หรือเรามีมุมมองแบบไหนมากกว่า ถ้าเกิดเราทรีตคนอื่นหรือแม้แต่ทรีตตัวเองอย่างยุติธรรม โปว่าอันนี้ก็คือความเท่าเทียม

 

มาย: ในมุมผม ผมว่าคำว่าคู่รักกับคู่ชีวิตไม่เหมือนกัน หมายถึงต่อจากนี้ไปในเรื่องของความเท่าเทียม ก็ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในเชิงกฎหมาย ในเชิงของการใช้ชีวิตจริงๆ อย่างที่พี่ปอนด์พูดไป พอคนรักกันแล้วมาติดที่แต่งงานกันไม่ได้ ต้องกู้บ้าน ทำธุรกรรมบางอย่างไม่ได้ ทำให้ดำเนินชีวิตจริงที่เขาเป็นอยู่ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่แฟร์กับความเป็นธรรมชาติเหล่านั้น

 

เพราะฉะนั้นมุมเหล่านี้ถ้ามาส่งเสริมกันและเข้าใจกันได้ดีในวงกว้างขึ้นก็คงดี และมากกว่านั้นคือการทำงานกับรัฐบาลก็ยิ่งทำให้เห็นถึงเสน่ห์ของการเปิดรับของคำว่าคนไทย ผมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดรับไม่ใช่แค่เรื่องของความรัก ความชอบ มันคือเรื่องของวัฒนธรรม ของอะไรมากมายที่เป็นเสน่ห์ของเมืองไทย

 

ปอนด์: เมืองไทยโคตรหลากหลายเลย 

มาย: ความหลากหลายคือความเจ๋งของเมืองไทย คาแรกเตอร์ตรงนี้แหละที่เป็นจุดแข็งของเมืองไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising