×

เปิดใจ หัวหน้าพรรคอยากเลือกตั้ง ในสนามการเมืองจุฬาฯ “เพราะผมอยากกระตุกนิสิตให้สนใจการเมือง”

07.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ‘นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ’ ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ เพื่อเลือกตัวแทนเข้าไปบริหาร และเป็นปากเสียงของนิสิตกว่า 2 หมื่นคน
  • พรรคอยากเลือกตั้ง ที่มี ‘แอนดริว’ นิสิตครุศาสตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และสมาชิกเพียงคนเดียวประกาศท้าชิงตำแหน่งดังกล่าวด้วย
  • แอนดริว ไม่ปฏิเสธว่าชื่อพรรคคล้ายกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเป็นการสะท้อนความต้องการที่เป็นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

สนามการเมืองใหญ่ระดับประเทศจะได้เลือกตั้งเมื่อไรยังไม่รู้ แต่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตกำลังจะได้ใช้สิทธิ ‘หย่อนบัตร’ เลือกตั้งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในวันที่ 27 มีนาคมนี้

 

หลังปิดรับสมัครมี 4 พรรค ที่เสนอตัวลงชิงดำตำแหน่งนี้ จากจำนวนนิสิตจุฬาฯ ที่มีกว่า 2 หมื่นคน

 

ในจำนวนพรรคทั้งหมด ปรากฏชื่อ ‘พรรคอยากเลือกตั้ง’ ที่มี ‘แอนดริว’ หรือ ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เป็นหัวหน้าพรรค และเขาเป็นสมาชิกพรรคเพียงคนเดียว แถมประกาศลงชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ อีกด้วย ขณะที่ชื่อพรรคดูเหมือนจะตั้งใจให้เหมือนกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ในนาม ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ที่จัดชุมนุมและถูกดำเนินคดี จนเรียกชื่อใหม่ในเวลาต่อมาว่า ‘MBK39’

 

 

เพราะการเลือกตั้งคือการเคารพกันและกัน

แอนดริว เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อสนใจงานการเมือง เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคการเมืองในยุคก่อน ขณะที่แม่เขาเองก็มีความสนใจทางการเมืองในอีกขั้วที่ต่างออกไป ทำให้เขาเห็นมุมมองทางการเมืองที่ต่างกัน เมื่อมีข้อสงสัยก็ซักถามจากแต่ละฝ่าย แอนดริวยอมรับว่า พ่อแม่คิดต่างกันในมุมการเมือง แต่มีเรื่องเดียวที่ดูจะเห็นตรงกัน และประสานพลังร่วมกันเสมอก็คือ ‘การเลือกตั้ง’

 

“เหมือนเป็นจุดร่วมกันที่เห็นตรงกันว่า ในเมื่อเราคิดเห็นไม่ตรงกัน คิดต่างกัน ทำไมเราไม่หาพื้นที่ให้คนสองฝ่ายได้มีจุดร่วมที่เคารพการแสดงออกของกันและกัน ใช้สิทธิในการเลือกของแต่ละฝ่าย เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้ใช้เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน”

 

และนั่นเป็นความรู้สึกตื่นตัวในทางการเมืองของแอนดริว ที่สั่งสมผ่านการเรียนรู้ในครอบครัวมาโดยตลอด กระทั่งได้เข้าศึกษาต่อในสาขาที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเรียน ‘ครู’

 

 

“เมื่อเรารู้จักการเมืองมากขึ้น มันไม่ใช่มิติเดียวที่เห็นแต่เรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะการเลือกเรียนครู ทำให้ผมสนใจเรื่องการศึกษาไปพร้อมกับเรื่องการเมือง ที่มันสำคัญและผูกโยงกันอยู่ อย่างเรื่องประชาธิปไตย มันควรปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ให้เห็นความสำคัญ และสร้างกระบวนการเหล่านี้เป็นพื้นฐาน หากเราบอกว่านี่คือสังคมประชาธิปไตย”

 

เมื่อเอ่ยถึงคำว่าการเลือกตั้งในห้วงเวลานี้ ดูเหมือนจะเป็นของแสลงกับบางกลุ่ม ซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกัน เขาให้ข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ว่า

 

“ผมคิดว่ามันเกิดจากการที่เราขาดความเชื่อมั่นในระบบ เราใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถูกคลอนแคลนด้วยระบบทหารมาโดยตลอด คนบางกลุ่มกลัวการเลือกตั้ง คนบางกลุ่มมองว่าการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบที่ดีในแง่ของสันติวิธี มันทำให้เราหาทางออกร่วมกันยาก แต่ผมคิดว่ามากกว่านั้นคือ เรื่องของความยุติธรรม แต่ละฝ่ายที่ซ่อนอยู่ในปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะสังคมหาความเชื่อมั่นที่มีต่อสิ่งนั้นไม่ได้ ทั้งที่โดยหลักการมันคือวิธีการในทางประชาธิปไตย”

 

 

หวังกระตุกนิสิตสนใจการเมือง กลายเป็นที่มาพรรคอยากเลือกตั้ง

เพราะเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง และอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง ทำให้แอนดริวเลือกทำกิจกรรมหลายอย่างในมหาวิทยาลัย เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ แต่เขาก็สอบตก จึงไปสมัครเป็นสตาฟฟ์แทน เพราะอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานตามความตั้งใจ

 

ความสนใจทางการเมืองผ่านการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ผ่านการทำกิจกรรม เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้นิสิตคนหนึ่ง อยากลุกขึ้นมากระตุกความรู้สึกให้คนทั่วไป โดยเฉพาะนิสิตในรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้เห็นความสำคัญของการเมืองที่มีผลต่อชีวิตเราทุกคนในหลายมิติ เขาจึงประกาศตัวที่จะลงรับสมัครเลือกตั้ง ‘นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ’ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่และสนามที่ใหญ่กว่าสภานิสิต โดยมีเขาเป็นหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคเพียงคนเดียวในนาม ‘พรรคอยากเลือกตั้ง’

 

“ผมคิดว่าที่ผมมาลงสมัครครั้งนี้ เริ่มต้นคืออยากแสดงให้เห็นว่านิสิตคณะอื่นก็สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งนี้ผูกขาดไว้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์มาหลายปี ทุกคนก็มีความสามารถ คณะสายสังคมศาสตร์ก็ทำได้”

 

 

แอนดริวบอกอีกว่า เขาใช้เวลาตัดสินใจในการลงสมัครครั้งนี้ไม่นาน เพราะเปิดรับสมัครเพียง 1 สัปดาห์ ส่วนชื่อพรรคอยากเลือกตั้ง นั้นมาจากความรู้สึกที่อยากสร้างความมีส่วนร่วมให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง

 

“ทุกปีตัวเลือกน้อย นิสิตมีเยอะมากเกือบ 2 หมื่นคน แต่คนสนใจมาลงสมัครน้อยมาก ผมก็เลยเสนอตัวเป็นอีกทางเลือกที่เพิ่มขึ้น การตั้งชื่อพรรคก็อยากให้เขาตื่นตัว ส่วนชื่อที่ไปตรงกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็มีความต้องการเชื่อมโยงบ้าง และการเมืองในมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองระดับประเทศ การชุมนุมของ MBK39 ก็มีนิสิตจุฬาฯ ไปเข้าร่วม และถูกดำเนินคดีถึง 3 คน ก็รู้สึกว่ามีนิสิตจุฬาฯ ที่อยากเลือกตั้ง แต่ทำไมพื้นที่ในการแสดงออกของเขา แม้สถานที่จะอยู่ใกล้จุฬาฯ ก็ยังไม่สามารถแสดงออกอย่างเต็มที่ อันนี้ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง ที่จะชวนมาแสดงออกผ่านการเลือกตั้งของจุฬาฯ ให้เห็นว่าคนอยากเลือกตั้งมีมากน้อยแค่ไหน”

 

 

ด้วยเหตุนี้ นโยบายสำคัญของเขาคือ ‘ต้องการสร้างพื้นที่การแสดงออกของนิสิต’ ซึ่งไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่เรื่องการเมือง อาจเป็นเรื่องอื่นในเชิงศิลปะ วัฒนธรรม เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาการใช้พื้นที่จำเป็นต้องมีการเช่าและเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นิสิต จัดการกันเอง ดูแลกันเอง และอยากจะทำหลายอย่าง แต่ด้วยกรอบวัฒนธรรมของที่นี่ก็ต้องสู้อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องแต่งกาย เรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ

 

ส่วนการหาเสียงก็ใช้วิธีแบบออนไลน์และออฟไลน์ แต่จะทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องให้ กกต. ตรวจก่อน การใช้ภาพหาเสียงก็ต้องเป็นเครื่องแบบนิสิตเท่านั้น ข้อความก็ต้องตรวจ ทำคลิป ทำสไลด์ต้องส่งตรวจหมด หลายอย่างที่เขาอยากทำก็ทำไม่ได้ เพราะต้องมานั่งรอการตรวจ ตอนนี้ก็ต้องเน้นลงพื้นที่เจอผู้คน ทำให้คนเขารู้จักให้มากที่สุด

 

 

หวังได้รับเลือกตั้ง และไม่แคร์คนโยงกลุ่มเคลื่อนไหว

แน่นอนว่าทั้งทีมคือเขาคนเดียว หลายคนสงสัยว่าเขาไปเอาความมั่นใจมาจากไหนที่จะฝ่าด่านพรรคอื่นที่มีทีมงานนับสิบเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้นได้ รวมถึงท่อน้ำเลี้ยงในการหาเสียงมาจากที่ใด

 

“งบประมาณเบิกได้จาก กกต. อย่างผมได้ประมาณ 4,200 บาท ถามว่าเอาอะไรมามั่นใจ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ ผมมีความหวังเสมอ ถ้าผมไม่มีความหวังผมคงไม่ตัดสินใจลงสมัคร เพราะถ้าผมไม่สร้างความหวัง สุดท้ายแพสชันในตัวผมก็จะหมด ต่อให้ผมแพ้ผมก็ได้ทำแล้ว ผมได้สร้างแพสชันในตัวเองได้สำเร็จ ผมได้บอกคนอื่นว่าผมมีความตั้งใจแบบไหน ผมก็มั่นใจว่าผมจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาก็มีคนที่ลงคนเดียวได้รับเลือกตั้ง”

 

 

แอนดริวบอกว่า ถ้ามีคนโยงชื่อพรรคกับกลุ่มการเมืองที่มีการเคลื่อนไหว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ เพราะนั่นเป็นความรู้สึกร่วมที่คนในระบอบประชาธิปไตยพึงมีได้

 

“อย่างที่บอก พื้นที่แสดงออกนั้นสำคัญ และคนรุ่นใหม่ๆ อย่างพวกผมก็มีส่วนที่จะสร้างแรงผลักดันให้สังคมได้

 

“คนรุ่นใหม่ถูกคาดหวัง ถูกวาดหวังเรื่องอนาคต แต่คนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดยังขาดการรวมกลุ่ม อาจจะเห็นภาพในกรุงเทพฯ เยอะ แต่ผมเชื่อว่าคนที่มีพลังก้าวหน้าก็ไม่น้อย เราอาจจะต้องเรียนรู้พร้อมกันไปด้วยถึงวิธีการที่เรากำลังขับเคลื่อน ขณะเดียวกันผู้ใหญ่บางคนก็พยายามจะบอกว่าช่วยกรุณาก้าวหน้าในกรอบสังคมของคุณก็พอ ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว เพราะเราเห็นและสัมผัสโลกได้ง่ายและกว้างกว่าเดิม คนรุ่นใหม่ก็เป็นความหวัง แต่ก็ต้องเรียนรู้วิธีการว่าจะทำยังไงให้คนอีกด้านเข้ามารับฟังและเปิดใจกับเรา ผมจะพยายามพิสูจน์ตัวเอง”

 

27 มีนาคมนี้ จะได้รู้กันว่า แอนดริว หรือพรรคไหน จะเข้าวินไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงของนิสิตจุฬาฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising