×

ในโลกที่สนใจแต่ผลลัพธ์ เราจะสร้าง ‘กระบวนการที่ดี’ เพื่อไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร

25.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins read
  • ‘กระบวนการที่ดี’ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ หรือในทางกลับกัน ผลลัพธ์ = ผลพลอยได้จากกระบวนการที่ดี
  • ‘คำถาม’ คือสิ่งสำคัญในขั้นตอนการค้นหากระบวนการ เพราะกระบวนการจะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ทิศทางที่จะไป จะรู้ทิศทางได้ ต้องรู้จุดมุ่งหมาย จะรู้จุดมุ่งหมายได้ ต้องรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร
  • หนึ่งในเคล็ดลับที่จะช่วยหาคำตอบว่า ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร?’ คือจงมีแพสชันและทำงานเหมือนกับมีเพศสัมพันธ์ โดย ‘มีความสุขระหว่างทาง’ ในขณะที่ทำงาน แม้งานนั้นจะยังไม่สำเร็จ
  • ‘ผลลัพธ์’ ไม่จำเป็นต้องมีมิติเดียว เพราะนอกจากเงิน ยังมีผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพที่วัดได้ เช่น สิ่งที่คุณหรือองค์กรทำทำให้ประชากรในบางพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น 10,000 บาท/คน/ปี เป็นต้น
  • การลองถูกลองผิดและไม่อยู่เฉยจะทำให้คุณได้พบกับ ‘กระบวนการที่ดี’

ปี 2017 เรากำลังอยู่ในโลกที่คนสนใจแต่ ‘ผลลัพธ์’ หลายคนจึงนึกอะไรไม่ออกนอกจาก ‘อยากรวย’

 

ความรวยไม่ใช่เรื่องผิดหรือจำเลยของเรื่องนี้ แต่การคิดว่า ‘เงิน’ หรือสิ่งที่พอจะตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น บ้าน รถ กระเป๋า คือหน่วยวัดความสำเร็จเดียวที่โลกใบนี้ยอมรับอาจไม่ถูกต้อง และจะทำให้เราตกเป็นเหยื่อที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานในโลกสมัยใหม่

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

ลองหยิบโทรศัพท์ในมือขึ้นมาแล้วเปิดเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม คุณจะเห็นผลลัพธ์มากมายที่แสดงถึงภาพแห่งความสุขและความสำเร็จ

 

 

หลายครั้งภาพชีวิตดี๊ดี (ซึ่งมักจะเป็นภาพที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้) ก็แสดงผลลัพธ์ ‘เกินจริง’ เพราะผ่านการปรุงแต่งและคัดสรรเฉพาะความจริงที่อยากให้คนเห็น แล้วครอปความจริงที่ต้องการปกปิดออกไป

 

Photo: www.boredpanda.com

 

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราต่างผูกติดตัวเองเข้ากับผลลัพธ์เหล่านั้น แล้วยึดมั่นกับมันจนเกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ ทั้งด้านบวก (ชื่นชม ยินดี ฯลฯ) และด้านลบ (หมั่นไส้ อิจฉา ฯลฯ) จนกระทั่งเกิดความอยากแล้วนึกเอาผลลัพธ์ที่เห็นเป็นหมุดหมายแห่ง ‘ความสำเร็จ’ ที่ต้องไปให้ถึง

 

เมื่อเอา ‘ผลลัพธ์’ เป็นที่ตั้ง หลายคนจะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการจนเกิดอาการ ‘หน้ามืด’ ลืมนึกถึงวิธีการ คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุผลลัพธ์เร็วที่สุด

 

เหมือนที่เวลาเห็นคนรวย เรามักไม่สนใจว่าความรวยหรือเงินของคุณมาจากไหน?

 

เราสนใจเพียงสิ่งภายนอกจนลืมไปว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้บอกว่าคนคนนั้นเป็นคนอย่างไร ดี เก่ง หรือมีน้ำใจไหม มันแค่บอกว่าเขามีวัตถุชิ้นนั้น

 

เช่นเดียวกับธุรกิจทุกวันนี้ที่มักตั้งผลลัพธ์เป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะต้องมีผลกำไรเท่านั้นเท่านี้ หรือเปิดบริษัทมาวันแรกก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าตลาดหุ้น

 

คงไม่เป็นการพูดแรงเกินไป ถ้าจะบอกว่าเรากำลังสนใจกับผลลัพธ์จนลืมสิ่งสำคัญที่สุดที่เรียกว่า ‘กระบวนการ’

 

——

 

ทำไมผลลัพธ์ถึงไม่สำคัญเท่ากระบวนการ?

 

ถึงตรงนี้ผมอยากยกตัวอย่างสั้นๆ เช่น ตอนนี้มีหลายคนพูดถึงบิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนและคนทั่วไป หลังราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 19,666 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ หลายคนบอกว่าควรจะซื้อตั้งแต่ตอนที่ราคาบิตคอยน์ยังต่ำมาก ถ้ามีคนถามว่าผมจะเสียดายไหมที่ไม่ได้ซื้อไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ

 

ผมตอบได้ทันทีว่าไม่เสียดาย เพราะผมเชื่อว่าถ้าเข้าใจ ‘กระบวนการ’ การขึ้นและลงของราคาบิตคอยน์ เราจะซื้อช่วงเวลาไหนก็ได้

 

ลองมาดูสถิติการขยับขึ้นลงของราคาบิตคอยน์กันครับ

 

 

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่ากระบวนการคือตัวแปรที่สร้างผลลัพธ์ ถ้ากระบวนการดี ผลลัพธ์ย่อมเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะสนใจผลลัพธ์หรือไม่ก็ตาม

 

คำถามสำคัญคือเราจะสร้างกระบวนการที่ดี (เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ) ได้อย่างไร?

 

แล้วกระบวนการที่ดีเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

สำหรับผม ‘คำถาม’ คือสิ่งสำคัญในขั้นตอนการค้นหากระบวนการ

 

เพราะกระบวนการจะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ทิศทางที่จะไป

 

จะรู้ทิศทางได้ ต้องรู้จุดมุ่งหมาย

 

จะรู้จุดมุ่งหมายได้ ต้องรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร?

——

 

การตอบคำถามว่า ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร’ (เราในที่นี้ คุณสามารถมองเป็นองค์กรหรือตัวบุคคลก็ได้) เป็นขั้นตอนแรกของการหากระบวนการ

 

คำถามนี้พูดง่าย แต่ตอบไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะตอบไม่ได้ ผมคิดว่ามีวิธีคิดในการตอบคำถามนี้ 2 วิธี

 

 

วิธีที่ 1 ถามตัวเองว่าเราดำรงอยู่เพื่อส่งมอบอะไร และให้ใคร (What do you stand for?)

 

เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างคลินิกศัลยกรรมความงามชื่อ มาสเตอร์พีซ คลินิก คลินิกแห่งนี้มองว่าตัวเองเป็น ‘ตัวกลาง’ ระหว่างหมอกับลูกค้า และเกิดมาเพื่อทำให้หมอซึ่งเป็นผู้ให้บริการมีความสุข ดังนั้นสิ่งที่คลินิกนี้ต้องทำคือทำให้หมอมีความสุข เพื่อให้หมอทำให้ลูกค้ามีความสุข เมื่อหมอมีความสุข ลูกค้าย่อมมีความสุข พอทั้งสองฝ่ายมีความสุข คลินิกแห่งนี้ก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

 

สมมติคลินิกมีหมอ 50 คน หมอก็จะชวนหมอคนที่ 51 52 53… เข้ามา แต่การจะทำได้แบบนี้แปลว่าคลินิกต้องมีระบบหรือแพลตฟอร์มที่ดีพอที่จะดูแลหมอให้มีความสุข

 

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าคลินิกแห่งนี้มองตัวเองเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่จะทำให้หมอมีความสุขเพื่อสร้างความสุขให้ลูกค้า และรู้ว่าการจะทำได้ต้องมีแพลตฟอร์มที่ดี พอรู้จุดมุ่งหมายก็จะเห็นทิศทางและเกิดคำถามว่า เราจะสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้หมอมีความสุขได้อย่างไร?

 

ซึ่งคำถามนี้เองจะเป็นตัวสร้าง ‘กระบวนการ’ ให้เกิดขึ้น

 

วิธีที่ 2 ถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราตื่นมาแล้วทำได้ทุกวัน แม้ว่าจะไม่ได้เงินก็ตาม (What are you really passionate about?)

 

ถ้าคุณตอบตัวเองได้ คุณจะมีความสุขระหว่างทางที่ทำงาน แม้ว่าจะยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่หวัง

 

 

แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ ไม่แน่ตอนนี้คุณอาจเป็นคนแบบที่หนังสือ วิชาความสุขที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด ระบุว่าหลายคนชอบเอาความสุขไปแขวนที่ความสำเร็จ แล้วยอมดิ้นรนทุกอย่าง แบกรับ ฟาดฟัน ทนทรหด ทุกข์ทรมานเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น พอถึงก็ ‘เยส!’ อะดรีนาลินหลั่ง แล้วก็ตั้งเป้าหมายใหม่ แล้วก็อดทนระหว่างทางเพื่อให้ไปถึงจุดหมายอีกครั้ง

 

สำหรับผม การมีชีวิตแบบนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘หนูวิ่งแข่ง’ ทำงานหนัก อดทน ดิ้นรน เพื่อจะมีความสุขชั่วขณะเมื่อเข้าเส้นชัย จากนั้นก็ต้องกลับไปทำงานหนักอีกครั้งเพื่อวิ่งเข้าสู่เส้นชัยใหม่ๆ มันคือการ ‘ทำสิ่งที่ทรมานในปัจจุบันเพื่อความสุขในอนาคต’

 

กลับกัน ถ้าคุณมีแพสชันกับสิ่งที่ทำ คุณจะมี ‘ความสุขระหว่างทาง’ แม้ว่าตอนนั้นสิ่งที่คุณทำจะยังไม่สำเร็จก็ตาม

 

ความรู้สึกในการทำงานแบบนี้อธิบายได้ด้วย ‘แบบจำลองเพศสัมพันธ์’ ที่เปรียบเทียบชีวิตการทำงานว่าควรเหมือนการมีเพศสัมพันธ์ คือมีความสุขไปตลอดระหว่างทางจนถึงจุดสุดยอด เราก็จะมีความสุขที่สุด เพราะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ถ้าเราทำงานได้เหมือนกับที่มีเพศสัมพันธ์ หรือถ้าเราค้นพบงานที่ทำให้เรารู้สึกได้แบบนั้น การหาคำตอบว่า ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร?’ ที่จะนำไปสู่ ‘กระบวนการ’ คงไม่ใช่ปัญหา

 

——

 

ในฐานะคนทำงาน ถ้าคุณพบคำตอบว่าเกิดมาเพื่ออะไร? หลังจากนี้คุณก็แค่จัดการตัวเองเพื่อหากระบวนการที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

 

แต่ถ้าเป็น ‘องค์กร’ สิ่งที่ผู้บริหารหรือเจ้าขององค์กรต้องทำคือทำให้พนักงานทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน

 

อย่าเข้าใจว่าการสร้างเป้าหมายร่วมกันจะเกิดจากการมี motto เท่ๆ หรือป่าวประกาศปรัชญาขององค์กร สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสิ่งสำคัญคือคุณต้องเข้าใจพนักงาน

 

ความเข้าใจอาจฟังดูนามธรรม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อน ขอแค่คุณเข้าใจว่าพนักงานก็ต้องการมีความสุขในชีวิตและมีความสุขระหว่างการทำงานเช่นเดียวกับที่เราอยากมีความสุข

 

Farmgroup บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบและแฟชั่นสัญชาติไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความสุขของพนักงานควบคู่ไปกับการสร้างผลงานที่ดี

 

วิธีที่จะสร้างความฝันร่วมกันขององค์กรและพนักงาน ในฐานะผู้บริหาร คุณจำเป็นต้องถามว่าความฝันของพนักงานคนนั้นคืออะไร เพื่อจะหาจุดเชื่อมโยงระหว่างฝันของเขากับฝันของเรา

 

ถ้าพนักงานคนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร การถามถึงความฝันของเขาอาจช่วยให้เราและเขาได้ร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กันก็ได้

 

——

 

ถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องให้ความใส่ใจกับพนักงานขนาดนั้น ถ้ายังจำได้ พนักงานคือองค์ประกอบหนึ่งของ ‘กระบวนการ’ และกระบวนการคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

พนักงานสำคัญขนาดไหนกับองค์กร? คำถามนี้ตอบได้ 2 มุม

 

มุมแรก ตัวพนักงาน

 

โลกดิจิทัลและการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมาถึงของ AI ระบบ Automation ที่มีทักษะสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเข้ามาทดแทนแรงงานคน ทำให้คนตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น คำถามทั่วไปอย่าง ‘งานที่ทำอยู่จะถูก AI แย่งงานไหม’ สภาพสังคมยุคใหม่ได้บีบบังคับให้มนุษย์ต้องกลับมาหาคุณค่าในตัวเอง

 

 

ถ้ามนุษย์ไม่สามารถตอบได้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร มีจุดประสงค์ใดในชีวิต สุดท้ายมนุษย์คนนั้นก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์

 

เพราะสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจาก AI ก็คือ wisdom หรือ ‘ปัญญา’ ที่ไม่ได้หมายถึงความรู้ทั่วไปหรือรู้อะไร (เพราะกูเกิลก็รู้) แต่คือความรู้ที่ลึกกว่านั้น นั่นคือรู้ว่าทำไมเราจึงดำรงอยู่ และจะอยู่อย่างไร

 

กล่าวอย่างถึงที่สุด ปัญญาของมนุษย์คือการรู้จักตนเอง

 

มุมที่สอง ตัวองค์กร

 

ถ้าองค์กรมีพนักงานที่ทำงานไปวันๆ โดยไร้ความหมาย แปลว่าพนักงานคนนั้นจะย้ายงานกี่ที่ก็ได้ ถ้าได้เงินเดือนหรือผลตอบแทนเยอะขึ้น นั่นแปลว่าเป็นเรื่องยากที่พนักงานคนนั้นจะอยู่กับองค์กร ขณะเดียวกันองค์กรก็จะมี turnover สูง เปลี่ยนคนบ่อย แม้ธุรกิจจะอยู่ได้ แต่ก็จะไม่โตมากและไม่ยั่งยืน

 

Photo: www.humanresourcesonline.net

 

กลับกัน ถ้าคุณเป็นองค์กรหรือผู้บริหารที่สนใจแต่ ‘ผลลัพธ์’ พนักงานจะไม่ใช่โจทย์สำคัญที่คุณให้ความสนใจ เพราะโฟกัสของคุณจะอยู่ที่การตั้งเป้าหมาย ยอดขาย และผลกำไร โดยไม่สนใจ ‘กระบวนการ’ ในการได้มาซึ่งยอดขาย ตัวพนักงานจะต้องทำงานหนักเกินไปไหม หรือจะมีความสุขหรือไม่ คุณอาจคิดว่านี่คือเรื่องที่ควรใส่ใจ แต่การพุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์กลับทำให้คุณหลงลืม

 

หรือถ้าองค์กรถึงเป้า คุณถึงเป้า แต่พนักงานไม่มีความสุขเลย คุณอาจดีใจแล้วชวนเขามาฉลอง แต่อีก 3 เดือนต่อมาพนักงานคนนั้นลาออก เพราะเขาไม่มีความสุข แล้วคนที่ออกไปคือคีย์แมนของคุณ คือเซลล์ที่ทำยอดขายได้ 50 ล้านบาท

 

นั่นหมายความว่าคุณต้องหาคนใหม่มาเติมยอดขาย 50 ล้านที่หายไป …อย่างนั้นเหรอ?

 

สำหรับผม ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ควรทำเหมือน ‘ตุ่มที่น้ำไม่มีวันไหลออก’

 

แน่นอน คุณต้องใส่ใจและหมั่นตรวจสอบว่าตุ่มของคุณจะไม่มีรูรั่วหรือรอยร้าวที่จะเป็นเหตุให้เกิดรูรั่วในอนาคต

 

พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่การเพ่ง ‘ผลลัพธ์’ แต่เป็นการใส่ใจ ‘กระบวนการ’

 

——

 

ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าหลายคนคงจะเห็นความสำคัญของ ‘กระบวนการ’ และรู้วิธีที่จะหากระบวนการหรือทิศทางของตัวเองและองค์กรกันแล้ว

 

แต่ยังจำได้ไหม ตอนต้นของบทความผมใช้คำว่า ‘กระบวนการที่ดี’ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ หรือในทางกลับกันผลลัพธ์ = ผลพลอยได้จากกระบวนการที่ดี

 

แล้วเราจะสร้างกระบวนการที่ดีอย่างไร?

 

 

ตอบง่ายๆ คือต้องกล้า ‘ลองผิดลองถูก’ ลองไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตกระบวนการที่ทำให้เกิดและไม่เกิดผลลัพธ์

 

จากจุด A (ปัจจุบัน) ไปจุด B (ผลลัพธ์) วิธีไหนดีที่สุดและทำซ้ำได้ ให้เลือกวิธีนั้น

 

เหมือนที่โทมัส เอดิสัน ทดลองประดิษฐ์หลอดไฟไปเรื่อยๆ จนพบวิธีที่ดีที่สุดในการประดิษฐ์หลอดไฟ

 

ต้องจดจำวิธีที่ fail ทำซ้ำวิธีที่ success

 

Fail fast, learn faster จงเรียนรู้ให้เร็วกว่าเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นที่เรายอมรับได้

 

อย่ากลัวที่จะล้มเหลว ไม่มีวิธีที่ผิด มีแค่ ‘ดี’ กับ ‘ดีกว่า’

 

 

ความกล้าและไม่หยุดลองผิดลองถูกจะสร้าง ‘กระบวนการ’ ใหม่ๆ และ ‘กระบวนการที่ดี’ ในช่วงเวลานั้น

 

ไม่มีสูตรสำเร็จ หรือถ้ามีก็เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะโลกสมัยใหม่ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่อนุญาตให้ใครอยู่เฉย

 

แม้แต่สูตรสำเร็จก็จะไม่สำเร็จ ถ้าสูตรนั้นไม่ได้รับการพัฒนา

 

ลองถูกลองผิดและอย่าอยู่เฉย แล้วคุณจะได้พบกับ ‘กระบวนการที่ดี’

 

——

 

เมื่อรู้วิธีที่จะหากระบวนการที่ดีแล้ว ถึงตรงนี้ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่อง ‘ผลลัพธ์’

 

นอกจาก ‘เงิน’ คุณคิดว่าผลลัพธ์หรือหน่วยวัดความสำเร็จเป็นอะไรได้บ้าง?

 

 

ผมขอตอบว่า ‘เป้าหมายไม่จำเป็นต้องมีมิติเดียว’ เพราะนอกจากเงินแล้วยังมีผลลัพธ์อื่นๆ อีกมากมาย เป็นผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพที่วัดได้ เช่น สิ่งที่คุณหรือองค์กรทำทำให้คนมีความรู้เยอะขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีความดันโลหิตลดลง 10% ทำให้ประชากรในบางพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น 10,000 บาท/คน/ปี

 

 

เช่น วิถีไทย Thai Handicraft Marketplace ที่ให้ดีไซเนอร์เข้าไปช่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมอันเป็นงานฝีมืออันทรงคุณค่าของประเทศไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาฝืมือแรงงาน และดูแลชุมชนให้มีความสุข จากเดิมสินค้าที่ชาวบ้านเคยขายได้ 200 บาท ก็ขายได้ 200 เหรียญสหรัฐ

 

 

5 ตัวอย่างชุมชนที่ทำงานร่วมกับวิถีไทยจนสำเร็จแล้วในเบื้องต้น เช่น ชุมชนบ้านอ้อย จังหวัดชัยนาท (ผักตบชวา), ชุมชนบ้านศรีอุทุมพร จังหวัดนครสวรรค์ (ผักตบชวา), ชุมชนตลาดใหม่ จังหวัดอ่างทอง (หวาย), ชุมชนบ้านโคกสะอาด จังหวัดสุรินทร์ (เสื่อกก), ชุมชนบ้านแพรก จังหวัดอยุธยา (ไม้ไผ่)

 

 

เมื่อสินค้าขายได้ก็นำกำไรมาแบ่งให้บริษัท ดีไซเนอร์ และชาวบ้านในชุมชน จะเห็นว่า โจทย์ของวิถีไทยไม่ได้ตั้ง ‘ผลลัพธ์’ ที่ผลกำไรของตัวเองอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงผลกำไรของชาวบ้านในชุมชน และฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

 

นี่คือตัวอย่างขององค์กรที่คิดถึง ‘ผลลัพธ์อื่นๆ’ มากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประกอบการ (เงิน) หรือการเข้าตลาดหุ้น (รวย) แต่ใช้ธุรกิจในการแก้ปัญหาคนหรือสังคม

 

——

 

ถึงตรงนี้ ผมไม่ได้คิดตำหนิว่าธุรกิจที่คิดถึงแต่ผลประกอบการว่าเลวร้ายนะครับ แต่ถ้าเปรียบธุรกิจเป็นคนสักคน แล้วคนคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่เงิน

 

คุณคิดว่าคนคนนั้นเป็นคนน่าคบไหม?

 

คุณไม่ต้องตอบคำถามนี้ก็ได้ แต่ผมอยากให้คุณตอบคำถามต่อมา

 

คุณคิดว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร?

 

ไม่จำเป็นต้องรีบตอบตอนนี้นะครับ ค่อยๆ ขบคิด และขอให้คุณค้นพบคำตอบ

 

เพราะคำตอบนั้นจะนำมาซึ่ง ‘ผลลัพธ์’ และ ‘กระบวนการ’ ที่จะสร้างความหมายให้กับชีวิตของคุณ

 

 

เรียบเรียงโดย วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising