×

รัฐอสูรกาย เมื่อประชาชนเข้มแข็ง รัฐจึงไม่มั่นคง ธงชัย วินิจจะกูล และกลุ่ม OctDem. กับการตีแผ่ตุลาการภิวัฒน์

01.04.2021
  • LOADING...
รัฐอสูรกาย เมื่อประชาชนเข้มแข็ง รัฐจึงไม่มั่นคง ธงชัย วินิจจะกูล และกลุ่ม OctDem. กับการตีแผ่ตุลาการภิวัฒน์

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • รัฐอสูรกาย คือรัฐมีชีวิตโดยตัวมันเอง ไม่ได้ทำนุบำรุง บรรเทาทุกข์บำรุงสุขประชาชน รัฐคือรัฐ ที่รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อความมั่นคงอย่างมากเพราะรัฐต้องการมีชีวิต แล้วใครกันเป็นศัตรูต่อรัฐ ก็ไม่ใช่ต่างชาติ ศัตรูของรัฐที่เป็น Leviathan หรืออสูรกายคือประชาชนที่ต่อต้าน 
  • “เหตุที่คนสารภาพ (ความผิดตามมาตรา 112) เพราะสภาพคุกของไทย ผมเองเคยติดคุกมาสองปี และ 40 กว่าปีที่ผ่านมาคุกมันเลวไม่เปลี่ยนเลย อาหารเลวเหมือนเดิม เจ็บไข้ได้ป่วยเลวเหมือนเดิม คุกผู้หญิงเลวที่สุด เลวกว่าคุกผู้ชายเหมือนเดิม พวกเขาจึงสารภาพเพื่อให้ติดคุกสั้นที่สุด ฉะนั้นการสู้กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ได้มีแค่กฎหมาย ศาล แต่รวมถึงระบบราชทัณฑ์ด้วย” ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว
  • นพ.สุรพงษ์กล่าว ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และนำปัญหามาจนทุกวันนี้

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ร่วมกับกลุ่ม OctDem. คนเดือนตุลา จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘ศาล หลักนิติธรรม กับความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย’ ผ่านแอปพลิเคชัน Clubhouse โดยมี จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย, พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ และ พูนสุข พูนสุขเจริญ และ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งช่วงหนึ่งได้เชิญ ธงชัย วินิจจะกูล อดีตคนเดือนตุลาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา มาร่วมเสวนาผ่าน Clubhouse เป็นครั้งแรกด้วย

 

การประหัตประหารและกวาดล้างผู้เห็นต่างไม่ใช่การแก้ปัญหา

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า คนเดือนตุลาผ่านการถูกกระทำ ถูกปราบ ถูกฆ่า และการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมมาก่อน จึงอยากใช้ประสบการณ์นี้ทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วยการประหัตประหารและกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างไม่ใช่การแก้ปัญหา และความขัดแย้งนั้นคลี่คลายได้ก็เพราะหาทางอยู่ร่วมกัน และเห็นปัญหา

 

กระบวนการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่การตั้งข้อหาจนถึงการดำเนินคดีในชั้นศาล ที่หลายอย่างไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม หากไม่มีการทักท้วงก็จะไปซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้ง และทำให้สังคมแตกแยกกว่าเดิม จึงประสานสร้างเป็นกลุ่ม OctDem. คนเดือนตุลาขึ้นมา

 

ด้านพนัสกล่าวว่า ประเด็นเรื่องศาลและนิติธรรมนั้น เห็นจากจนถึงทุกวันนี้เรายังไม่สามารถประกันตัวเด็กและเยาวชนที่กำลังถูกดำเนินคดีได้ โดยมีกรณีข้อเปรียบเทียบจากกลุ่มคนที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเพียงสองวันก็สามารถได้รับการประกันตัวออกมาได้ ขณะที่เด็กๆ และคนที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ากระทำความผิด กลับไม่ได้รับการประกันตัว จนเป็นความรู้สึกที่หลายคนคับข้องใจว่าเกิดอะไรขึ้น คำถามคือมันเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่

 

 

พูนสุข ในฐานะตัวแทนจากศูนย์ทนายฯ กล่าวว่า นับจากเดือนกรกฎาคม 2563 ศูนย์ทนายได้เก็บสถิติการชุมนุมระลอกหลังมาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีผู้ที่โดนดำเนินคดี 382 ราย 207 คดี ดังนั้นเมื่อรวมกับเดือนมีนาคมก็น่าจะมีผู้ที่โดนดำเนินคดีทะลุ 500 รายเป็นอย่างน้อย

 

อีกทั้งบางคนโดนมากกว่าหนึ่งคดี เฉพาะในคดี 112 ซึ่งเป็นนโยบายในการจัดการของรัฐบาล คสช. มาโดยตลอด โดยสถานการณ์ล่าสุดนั้นเริ่มดำเนินคดีอย่างจริงจังคือวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ในช่วง คสช. มีคนโดนมาตรา 112 อย่างน้อย 169 ราย แม้จะมีช่วงหยุดใช้ไประยะหนึ่ง โดยใช้มาตราอื่นเช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์หรือดำเนินกระบวนการนอกกฎหมายแทน อยากให้ข้อสังเกตว่า มีการใช้มาตรการทางกฎหมายในการปราบคนที่แสดงออกอย่างแตกต่างมาโดยตลอด แล้วแต่ว่าช่วงเวลาไหนรัฐจะเลือกใช้มาตรการไหนเท่านั้นเอง แสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายตามอำเภอใจ และประชาชนไม่อาจวางใจได้เลยว่าจะถูกดำเนินคดีหรือไม่

 

“เราอยู่ภายใต้การปกครองของ พล.อ. ประยุทธ์ ประมาณ 6 ปี 10 เดือน ซึ่งเราอยู่ภายใต้ทั้งกฎอัยการศึก ทั้งมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. 3/58 ควบคุมเรา และเพิ่งยกเลิกมาตราไปมีผลเมื่อ ครม. ชุดแรกเข้ารับหน้าที่คือเดือนกรกฎาคม 2562 ปัจจุบันเราก็อยู่ภายใต้กฎหมายพระราชกำหนดภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นับระยะเวลา 6 ปี 10 เดือน มีเวลา 8 เดือนเท่านั้นเองที่เราอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายแบบปกติ ซึ่งใน 8 เดือนนั้นก็มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าใช้กลไกอื่นๆ เพื่อใช้ควบคุมสังคม” พูนสุขกล่าว

 

ประเทศไทยกับรัฐอภิสิทธิ์ที่รัฐใช้อำนาจจนเกินไป

ธงชัยกล่าวว่า ประเด็นที่ว่าประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษดังที่ทนายพูนสุขกล่าวนั้น ขอขยายความว่า 80 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2475 หรือย้อนกลับไปยังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ มีระยะเวลาที่อยู่ภายใต้กฎหมายที่ควรจะเป็นปกติไม่เท่าไร หากนักสังคมศาสตร์ถือเอาสิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้น เราไม่อาจพูดได้เลยว่าเราอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมตามปกติ ประเทศไทยไม่เคยเป็นนิติรัฐ ไทยมีหลักพื้นฐานที่ตรงข้ามกับ Rule of Law 

 

ธงชัย วินิจจะกูล อดีตคนเดือนตุลาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา  ภาพ: กษิดิศ อนันทนาธร อดีตผู้จัดการโครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

ธงชัย วินิจจะกูล อดีตคนเดือนตุลาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา 

ภาพ: กษิดิศ อนันทนาธร อดีตผู้จัดการโครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

 

“วันนี้ผมขอใช้คำว่าหลักนิติธรรม โดยขอเตือนว่าเป็นคำที่ต้องระวัง เพราะแฝงนัยผิดหลัก Rule of Law ไว้ คำที่ใช้ในภาษาไทยมีนัยอันตราย แต่สามารถใช้กันในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วๆ ไปว่า หมายถึงการใช้กฎหมายให้เป็นธรรม จึงขอใช้คำว่านิติธรรมแทนคำภาษาอังกฤษว่า Rule of Law

 

“อะไรคือหลักพื้นฐานของนิติธรรมแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนกับ Rule of Law อะไรคือสภาวะนิติรัฐแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนกับ Legal State ในแบบสากล ซึ่งแบบสากลนั้นเริ่มมาจากยุโรป กฎหมายก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ มันมีวิวัฒนาการขึ้นมาจากประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงของสังคมนั้นๆ Legal State ของยุโรปเติบโตมาหลายศตวรรษท่ามกลางการสู้กันระหว่างรัฐ ศักดินา ซึ่งต่อมากลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ อำนาจรวมศูนย์ที่กษัตริย์ เป็นรัฐที่มีระบบราชการสมัยใหม่ไม่เหมือนรัฐศักดินาสมัยก่อนที่ยังล้าหลัง ในยุโรปเริ่มพัฒนาประมาณศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ตลอดเวลานั้นก็เผชิญกับการต่อสู้ ปะทะกับประชาชนที่หมายถึงกระฎุมพี ชนชั้นล่างต่างๆ ซึ่งไม่ต้องการให้รัฐมีอำนาจมากเกินไป หลักการพื้นฐานของ Legal State กับนิติรัฐคือจะต้องเป็นระบบกฎหมายที่ประกันหรือจำกัดการใช้อำนาจของรัฐไม่ให้มาคุกคามสิทธิเสรีภาพ สิทธิทรัพย์สิน และสิทธิของปัจเจกบุคคลของประชาชน ไม่ได้แปลว่ายุโรปเปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็ว ที่จริงเขาสู้กันเป็นศตวรรษ เขาจึงเคยมีสภาวะคล้ายๆ กับที่ไทยมี” ธงชัยกล่าว

 

ก่อนจะเสริมว่า กฎหมายไทยต่างจาก Legal State ของตะวันตกมาก คือเราไม่ได้เกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนต่อสู้พยายามจำกัดอำนาจรัฐ ระบอบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยวางรากฐานมาจากการเปลี่ยน ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อสนองรับใช้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายไทยจึงให้อภิสิทธิ์รัฐอย่างมาก คือให้อภิสิทธิ์ที่ไม่ต้องรับความผิด เช่น ออกกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ถือเป็นอภิสิทธิ์ขนาดยักษ์ ทั้งยังมีอภิสิทธิ์ทางกฎหมาย คือได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับความผิด ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่กฎหมายรังเกียจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทหารที่รัฐให้อำนาจมาก พยายามหาทางให้อภิสิทธิ์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ต้องเสียหน้า เสียชื่อ และไม่ต้องรับผิดชอบอยู่เป็นประจำ อภิสิทธิ์เช่นนี้มีอยู่ไม่กี่ประเทศในโลก ในเอเชียมีรัฐอภิสิทธิ์มากกว่าประเทศในยุโรป อาจมีประเทศเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์บ้างที่รัฐมีอภิสิทธิ์กว่าแถบยุโรป แต่ก็เทียบไม่ติดเลยกับอภิสิทธิ์ของไทย ไม่มีที่ใดให้รัฐให้สิทธิ์การลอยนวลพ้นผิดได้มากเท่าไทย

 

“อภิสิทธิ์ประการที่สองคือ เพื่อความมั่นคง ความมั่นคงเป็นปัญหามาก ระบบกฎหมายของ Legal State โดยทั่วไปต้องไม่ยอมให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไปจนมาละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิของปัจเจกบุคคล ของไทยเราให้อภิสิทธิ์แก่รัฐละเมิดได้เสมอ หากว่าประชาชนไปกระทำอะไรที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยแก่ความมั่นคง หลายประเทศมีกฎหมายทำนองนี้ ซึ่งมีความหนักเบาต่างกัน เทียบในยุโรป เขาอ้างเรื่องนี้ง่ายๆ ไม่ได้ อเมริกาอ้างได้มากกว่า ญี่ปุ่นอ้างได้น้อยกว่าอเมริกา ขณะที่ไทย เมียนมา อ้างได้สุดๆ และอ้างได้อย่างจิปาถะ” ธงชัยกล่าว และไทยเป็นประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้อำนาจแก่รัฐมากโดยตรวจสอบไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องความบังเอิญหรือความเฮงซวยส่วนบุคคล มันฝังอยู่ในระบบกฎหมายที่วางรากมาตั้งแต่ปี 1908 คือประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรก คนร่างเขียนรายงานไว้ชัดว่า ไม่จำเป็นต้องระบุถึงสิทธิพลเมือง สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิการมีลูกขุน หรือสิทธิการมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพราะสยามไม่เคยมีมาตราเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้อยู่เลย เมื่อกฎหมายเริ่มต้นมาเช่นนั้นตั้งแต่ต้น ผมไม่ได้พยายามบอกว่าต้องปฏิวัติล้มล้างกฎหมายในชั่วข้ามคืน การปฏิวัติที่เปลี่ยนชั่วข้ามคืนที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมาฉับพลันนั้นไม่มีอยู่ การปฏิวัติไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทันที

 

“มันไม่ใช่ปัญหาแค่ 7 ปีประยุทธ์หรือแค่คนไม่กี่คน ดังเช่นที่อาจารย์นิติศาสตร์หลายคนท่องว่าเป็นปัญหาเฉพาะคน แต่กฎหมายยังดีอยู่ ผมไม่เห็นด้วยเลย ถ้าตราบใดไม่ตระหนักว่าปัญหาอยู่ที่ปรัชญารากฐานและระบบกฎหมายไทย เราจะตีไม่ตรงจุด มันต้องแก้กฎหมายกันเยอะมาก เช่น ต้องจำกัดการตีความ จำกัดการใช้กฎหมายอาญาในภาคที่สอง ลักษณะหมวดความผิดที่หนึ่ง ต้องจัดการตรงนั้น แต่จะจัดการอย่างไรนั้นผมไม่ได้เรียนกฎหมาย ไม่มีความรู้เชิงเทคนิคว่าจะต้องทำอย่างไรในการจำกัดการใช้ และการตีความเรื่องความมั่นคงจนเป็นการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล จำกัดหรือยกเลิกไปเลย การให้อภิสิทธิ์จะต้องไม่มีอยู่ รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐจะได้กลัวและเข็ดหลาบเวลาใช้อำนาจอย่างเกินเลย ทุกวันนี้ใช้อำนาจอย่างเกินเลยในนามความมั่นคง และอีกด้านก็รู้ว่ามีโอกาสที่จะไม่ต้องรับความผิดอยู่มาก เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหารากที่ผมคิด” เขากล่าว

 

“หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายนั้นให้อภิสิทธิ์แก่รัฐในการละเมิดประชาชนได้ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ในสภาวะยกเว้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายแบบนั้นเป็นเวลานานมากในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

 

112 ในสายตาความมั่นคง และคุกที่เลวไม่เปลี่ยน บีบให้คนต้องสารภาพ

“ปัญหาของ 112 ก็เช่นกัน หลายคนอาจยังไม่เข้าใจอาจารย์ปิยบุตร (ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่) ซึ่งผมว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ามากกรณีถ้าจะไม่ยกเลิก ถ้าก้าวหน้าที่สุดคือยกเลิกไปเลย ถ้าจะมีประนีประนอมได้บ้าง ต้องเอาอย่างอาจารย์ปิยบุตรเสนอคือ เอาออกจากความมั่นคง และไม่ให้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญา เหตุที่ใครๆ ก็ฟ้อง 112 ได้ สมมติไปเจอกระเป๋าที่สงสัยว่าเป็นระเบิด จำเป็นไหมที่ต้องให้ผู้เสียหายไปฟ้องระเบิด ไม่จำเป็น ใครก็ไปฟ้องได้เพราะการก่อการร้ายอยู่ในหมวดความมั่นคง

 

“ปัญหาคือ แล้วทำไมเอาความผิดเชิงหมิ่นประสาทไปใส่ไว้ในหมวดความมั่นคง การที่มันอยู่ในหมวดความมั่นคงจึงใช้วิธีปฏิบัติเดียวกับในหมู่ความมั่นคงอื่นๆ ใครๆ ก็ฟ้องได้ คุณลองไปดูจารีตการปฏิบัติผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง มีจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติว่าเขาจะสมมติฐานไว้ก่อนว่าคุณมีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความผิด

 

“กลับหัวกลับหางจากหมวดที่ 1 ของกฎหมายอาญาที่ว่าให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด จารีตนี้มีมาแต่โบราณตั้งแต่กฎหมายเขมร และถูกสั่นสะเทือนตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ก็จริง แต่ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง ปัญหาจึงลึกกว่าที่เราคิด มันไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลอย่างประยุทธ์หรือประวิตร แม้ว่าคนเหล่านี้ที่สืบทอดจารีตนี้จะแย่และระยำมากก็ตาม แต่ปัญหามันอยู่ในจารีตของกฎหมายและผู้พิพากษาที่จะใช้จารีตการปฏิบัติอย่างไร” ธงชัยกล่าว

 

“เราต้องผลักประเด็นเหล่านี้ไปทีละจุด แม้ว่าผมจะไม่มีความรู้พอว่าในเชิงรูปธรรมแล้วควรจะต้องจับประเด็นไหน จุดไหนที่ต้องแก้ก่อนและแก้ทีหลัง การเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้บ่อยครั้งเกิดจากกรณีเล็กๆ ที่ใหญ่โตขึ้นมา”

 

ธงชัยกล่าวว่า “สมมติเรากัดไม่ปล่อยกรณีทนายสมชาย เอากันให้เด็ดขาดไปเลย ผมว่าเป็นหนึ่งกรณีที่จะส่งผลสะเทือนต่อคนหมู่มากได้ ผมว่าคงต้องมีบางกรณีที่เป็นรอยประสานของปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งหากเราต่อสู้เรื่องนี้จะส่งผลสะเทือนต่อปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาประสานได้

 

“ที่เรากล่าวเล่นๆ ว่า ตำรวจคือกฎหมาย เอาเข้าจริงๆ ก็พูดถูกนะ แต่ขอขยายว่ารวมถึงทหารและรัฐมนตรี ทั้งนายกฯ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐด้วย“รัฐอังกฤษเอง เคยมีระยะที่สภาพคล้ายๆ ไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 ยุคสมัยนั้นมีนักปรัชญาที่แสดงความเห็นที่ส่งผลสะเทือนมาก ในทางสนับสนุนรัฐแบบนั้นเพราะเห็นว่าประชาชนยังไม่มีความสามารถพอในการปกครองตัวเอง ยังไม่พร้อม เขาเห็นว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังจำเป็น เขาคือ โธมัส ฮอบส์ เขียนหนังสือที่เรียกรัฐที่เขาเรียกว่า ‘รัฐที่เขาพึงปรารถนา’ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า Leviathan แปลว่าอสูรกาย รัฐเป็นอสูรกายในความหมายว่า รัฐมีชีวิตโดยตัวมันเอง ไม่ได้ทำนุบำรุง บรรเทาทุกข์บำรุงสุขประชาชน รัฐคือรัฐ ที่รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อความมั่นคงอย่างมากเพราะรัฐต้องการมีชีวิต แล้วใครกันเป็นศัตรูต่อรัฐ ก็ไม่ใช่ต่างชาติ ศัตรูของรัฐที่เป็น Leviathan หรืออสูรกายคือประชาชนที่ต่อต้าน เขาจึงเสนอสองประเด็นใหญ่คืออภิสิทธิ์ปลอดความผิด และเรื่องความมั่นคง เป็นเรื่องที่ต้องจับให้มั่นและสู้มันเข้าไป เพราะรัฐยกเรื่องความมั่นคงเล่นงานประชาชนเสมอ เพราะยิ่งประชาชนเข้มแข็ง รัฐยิ่งไม่มั่นคง หมวดที่ 2 ลักษณะที่ 1 ว่าด้วยความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นความมั่นคงของรัฐอสูรกาย ไม่ใช่ความมั่นคงของประเทศไทย ยิ่งเขารักษาความมั่นคง ประชาชนจะยิ่งแย่ เขาจึงต้องทำให้ประชาชนอ่อนแอ รัฐจึงจะมั่นคง พูดเช่นนี้แล้วคงเห็นว่าระบบกฎหมายปัจจุบันมันลักลั่นแค่ไหน

 

“สุดท้าย ก่อนหน้าจะมีการหยุดใช้กฎหมาย 112 ชั่วคราวเมื่อประมาณปี 2018-2019 ผมเจอปรากฏการณ์หนึ่งว่า คนโดน 112 ช่วงประยุทธ์ช่วงก่อนปี 2018 คนที่โดนในช่วงนี้สารภาพมากกว่าคนที่โดนในช่วงอื่น อาจเพราะโดนจับเยอะมาก แต่สงสัยว่าทำไมคนจึงสารภาพ

 

 

“ผมได้ความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายฯ ที่พาไปรู้จักกับคนที่โดนคดีเหล่านี้ทั้งที่ออกมาจากคุกแล้ว หรือที่ยังอยู่ในคุก เมื่อถามว่าทำไมจึงสารภาพ แทบทุกคนบอกว่าถ้าไม่เจอสภาพคุกอย่างที่เขาได้เจอ เขาก็ไม่สารภาพหรอก ถ้าได้ประกันเขาก็ไม่สารภาพ เพราะเขาเชื่อว่าเขาไม่ผิด แทบทุกการสารภาพจากทุกรายเกิดจากการคิดคำนวณอย่างมีเหตุผลมากว่าจะสารภาพตอนไหนให้ติดคุกสั้นที่สุด สารภาพแล้วโดนโทษมากไป สารภาพแล้วโดนโทษกึ่งหนึ่ง ไม่คุ้มก็ไม่สารภาพ ทุกคนคำนวณว่าสารภาพเมื่อไร อย่างไร แล้วจึงจะติดคุกสั้นที่สุด สารภาพหรือไม่สารภาพ หากว่ามีผลกระทบต่อการติดคุกไม่ต่างกัน สารภาพตอนไหนจึงจะตัดเวลาในการดำเนินคดี เมื่อคำนวณแล้วซึ่งทนายมีส่วนอย่างมาก คนที่สารภาพจะออกมาในอีกแบบหนึ่ง คนที่ไม่สารภาพเพราะต้องอยู่คุกอีกนาน จากที่ผมคุยราว 20 กว่าคน มีสองคนครึ่งที่ไม่สารภาพ คือคุณสมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) และคุณสิรภพ (สิรภพ กรณ์อรุษ) หรือ รุ่งศิลา เพราะเขาเห็นว่าหากสารภาพคงจะมีชีวิตต่อไปไม่ไหว เขาทนการขายตัวเองไม่ได้ ผมไม่ได้จะยกย่องสองคนนี้มากกว่าคนที่สารภาพ ผมว่ามันเป็นการตัดสินใจของแต่ละคน เขาต้องตัดสินใจสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

 

 

“เหตุที่คนสารภาพเพราะสภาพคุกของไทย ผมเองเคยติดคุกมาสองปี และ 40 กว่าปีที่ผ่านมาคุกมันเลวไม่เปลี่ยนเลย อาหารเลวเหมือนเดิม เจ็บไข้ได้ป่วยเลวเหมือนเดิม คุกผู้หญิงเลวที่สุด เลวกว่าคุกผู้ชายเหมือนเดิม พวกเขาจึงสารภาพเพื่อให้ติดคุกสั้นที่สุด ฉะนั้นการสู้กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ได้มีแค่กฎหมาย ศาล แต่รวมถึงระบบราชทัณฑ์ด้วย อย่าลืมพ่วงประเด็นเรื่องคุก เพราะคุกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ โดยเริ่มจากการประกัน เพราะถ้าได้ประกันพวกเขาก็ไม่ต้องตัดสินใจเรื่องคุก”

 

ตุลาการภิวัฒน์ หลักนิติธรรม และกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม

พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวเสริมในฐานะนักกฎหมายว่า ระบบกฎหมายไทยนั้น แม้จะมีความพยายามทำให้ทันสมัยขึ้นจากการรับมาจากตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เราเดินตามแบบศาลอังกฤษ ศาลที่ตั้งขึ้นมาหรือแม้แต่การพิจารณาคดีก็รับแบบจากอังกฤษ ประมวลกฎหมายอาญาดังที่อาจารย์ธงชัยพูดถึงนั้น กฎหมายฉบับแรกก็รับมาจากอังกฤษ แบบที่ใช้ในอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในยุคนั้น มาตรา 112 ที่จริงแล้วก็รับมาจากต่างประเทศ แต่ที่ต่างกันคือสมัยนี้ โดยเฉพาะประเทศที่มีกษัตริย์เขาก็แทบไม่ได้ใช้หรือยกเลิกไปแล้ว แต่ของเรานั้นการใช้มาตรา 112 ในระยะหลังมันเข้มข้นมาก ส่วนหนึ่งเสนอให้ยกเลิก อีกส่วนรู้สึกว่าโทษรุนแรงเกินไป เพราะความผิดมันคือการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งถ้าเป็นคนปกติธรรมดาด้วยกันเองโทษไม่แรงมาก 112 จึงเพิ่มโทษขึ้นมาสูงมาก โดยเฉพาะจากยุค ธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

“ในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ปัจจัยที่จะทำให้ศาลปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรมได้อย่างถูกต้องคืออิสระของศาล ไม่ได้แปลว่าไม่มีใครมาตรวจสอบศาลได้ แต่หมายถึงว่าศาลต้องปราศจากอคติในการพิพากษาคดี โดยเเฉพาะในฐานะที่เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ตุลาการมีหน้าที่สำคัญในการคานอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมากมายมหาศาล เพราะมีการรัฐประหารและปกครองด้วยกฎหมายพิเศษมาโดยตลอด หากศาลไทยมีสำนึกในหลักนิติธรรมและอิสระโดยแท้จริง หลายๆ เรื่องหลายๆ คดี เพื่อเป็นการปกป้องบุคคลที่ถูกกระทำจากรัฐ ศาลต้องยืนข้างบุคคลที่ถูกกระทำ ซึ่งอาจมีความคิดความเห็นที่ต่างจากคนส่วนใหญ่” พนัสกล่าว

 

ตามมาด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง ที่แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐไทยทำผิดโดยไม่ต้องรับโทษ เป็นการสมคบคิดกันจากหลายฝ่ายจนรัฐไม่ต้องรับโทษ และนำไปสู่การรัฐประหาร บทบาทของศาลต่อเรื่องนี้คือมีคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้ระงับการใช้คำสั่งตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินประมาณ 10 กว่าข้อ เป็นตัวอย่างที่สามารถเข้าทำเนียบต่อไปได้ และอีกสารพัดจน พ.ร.ก. ฉุกเฉินใช้ไม่ได้เลยจนนำไปสู่การรัฐหาร เป็นการที่ตุลาการภิวัฒน์เข้ามามีบทบาท ในช่วงหลังมีการใช้กฎหมายปกติอยู่ 8 เดือน ต่อมาใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจนเกิดการตั้งข้อหาเกินจริงไปมาก และอัยการก็ฟ้องตามนั้นโดยไม่มีพยานหลักฐานที่น่าจะฟ้องได้ เรื่องที่เป็นปัญหามากคือการประกันตัว เมื่อไม่ให้ประกันตัว สภาพคุก สภาพการดำเนินคดี มันเกิดสภาพบีบคั้นให้ผู้ต้องหาเลือกสารภาพทั้งที่เชื่อว่าตนไม่ได้กระทำผิด ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่การจับจนไม่ให้ประกันตัวและการพิจารณาคดีในศาล เรื่องเหล่านี้ขัดต่อหลักนิติธรรมชัดเจน ใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม กระบวนการพิจารณาคดีที่ผู้ต้องสงสัยพึงได้รับสิทธิต่างๆ ก็ขาดหายไป หลักนิติธรรมสากลก็ขาดหาย และเรื่องของรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่มักพูดเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนมีความผิดมิได้ มีอีกวรรคหนึ่งถัดไปซึ่งสำคัญมาก การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี ซึ่งตรงนี้คดีส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่แสดงทีท่าว่าหลบหนี หรือที่อ้างว่าเกรงจะไปกระทำผิดซ้ำ ในกรณีที่เป็นข้อหาเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น การบอกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้แสดงความผิดซ้ำ แสดงว่าศาลเชื่อว่าการพูด แสดงความเห็นที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพูดไปนั้นเป็นความผิดแน่นอนไปแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะศาลยังไม่ได้ฟังทั้งสองฝ่ายเลย” จาตุรนต์กล่าว

 

นพ.สุรพงษ์ปิดท้ายว่า ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและนำปัญหามาจนทุกวันนี้ ส่วนตัวเคยใช้ชีวิตกับคุณสมยศในเรือนจำกรุงเทพฯ ประมาณสิบเดือน และได้รับรู้แบ่งปันปัญหากัน สภาพเรือนจำมีปัญหาอย่างมาก คุณสมยศถูกเคลื่อนย้ายไปยังหลายๆ เรือนจำทั่วประเทศ บางจุดต้องถูกตรวจจนมีบาดแผล ปัญหาหนึ่งที่มีโอกาสได้พูดคุยคือ หากคนที่อยู่ระหว่างการสู้คดีและไม่ได้ประกันตัว โอกาสการสู้คดียากมาก เพราะถ้าเราอยู่ภายนอกยังมีโอกาสสู้คดี พูดคุยกับทนายได้ทุกเวลา ถ้าอยู่ข้างในเรือนจำนั้นพบทนายได้จำกัด การจะปรึกษา หาเอกสารต่างๆ เพื่อประกอบการสู้คดีนั้นยากมาก โอกาสในการสู้คดีอย่างจริงจังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย และที่เป็นปัญหาอีกคือ ผู้ต้องขังหลายๆ คนหากไม่ถึงที่สุด เราจะเรียกกันว่าเป็นคดีระหว่างคนที่ถูกจำขังนั้นจะเสียสิทธิหลายอย่าง เช่น หากว่าถูกพิพากษาถึงที่สุดเมื่อเข้าไปในเรือนจำก็เป็นผู้ต้องขังชั้นกลาง หากประพฤติดีสามเดือนหรือหกเดือนก็จะปัดเป็นชั้นดี การถูกปัดชั้นมีผลในการลดหย่อนโทษ อภัยโทษได้ แต่คนที่คดียังไม่ถึงที่สุด เช่นอยู่ในระดับศาลชั้นต้น ผู้ถูกต้องขังจะไม่มีการปรับชั้น ลดหย่อนหรือรับสิทธิใดๆ ทำให้คนที่ถูกจำขังนานมากๆ เสียสิทธินั้นไป คุณสมยศโดนกักขัง 7 ปีจึงเป็นนักโทษชั้นกลางเสมอ ซึ่งตรงนี้ชวนตั้งคำถามว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่ควรพิจารณาหรือไม่

 

ในช่วงตอบคำถาม ธงชัยกล่าวสรุปว่า ชัยชนะอาจไม่เกิดในวันพรุ่งนี้ แต่มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็จากฐานที่มีคนต่อสู้ไปเรื่อยๆ นั่นเอง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising