×

‘เลิกให้ครูอยู่เวร’ มติ ครม. ที่ครูเห็นด้วย แต่ สส. ภูมิใจไทย เห็นแย้ง

โดย THE STANDARD TEAM
24.01.2024
  • LOADING...

จากเหตุการณ์ชายรายหนึ่งบุกทำร้าย สตรีวัย 41 ปี ครูโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ตำบลดอยลาน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

 

ขณะปฏิบัติหน้าที่ ‘ครูเวร’ ในวันหยุดเพียงลำพัง จนได้รับบาดเจ็บบริเวณปาก มีแผลฟกช้ำตามใบหน้าและลำตัว 

 

เหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงกระทรวงศึกษาธิการและผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ  

แฟ้มภาพ: ฐานิส สุดโต

 

‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นเจ้ากระทรวง ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่จังหวัดระนอง ขอให้ยกเลิกมติ ครม. ปี 2542 หรือออกมติ ครม.ใหม่ เกี่ยวกับการอยู่เวรรักษาการณ์ในโรงเรียนทั่วประเทศ

 

“ข้าราชการไม่ควรต้องมารับผิดชอบต่อความเสียหายของทรัพย์สินของทางราชการที่เกิดจากอาชญากรรม หากมีอาชญากรรมเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องดูแล ไม่ว่าจะป้องกันหรือปราบปราม ไม่ใช่หน้าที่ครู” อนุทินกล่าว 

 

ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้เทกแอ็กชันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณายกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 

 

เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป จึงให้มีการยกเลิก ยกเว้น โดยให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จะรับไปพิจารณาต่อไป

 

‘อยู่เวรรักษาการณ์’ รายละเอียดมติ ครม. ปี 2542 เป็นอย่างไร 

 

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ลงนามโดย ‘วิษณุ เครืองาม’ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการประจำสถานที่ราชการ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลว่า ต้องมีการจัดเวรเพื่อรักษาการตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนในทุกวันหยุดราชการ เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสถานที่ราชการหรือหน่วยงานจากกรณีต่างๆ 

 

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้อยู่เวรเป็นผู้หญิง ให้จัดให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลากลางวันของวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เว้นแต่ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติในเวลากลางคืน โดยจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรที่เป็นผู้หญิงด้วย

 

มติของ ครม. ฉบับนี้ยังระบุอีกว่า ในกรณีที่ส่วนราชการใดมีหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำสถานที่ราชการ หรือมีการจ้างเอกชนให้ดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในส่วนนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการจัดเวรรักษาการณ์หรือผู้ตรวจเวรก็ได้

 

‘เป็นเรื่องดี’ ที่ต้องจับตาต่อไป 

 

‘ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ กลุ่มครูขอสอน กล่าวกับ THE STANDARD ถึงการยกเลิกมติ ครม. ที่ว่าด้วยการพิจารณายกเว้น ‘เวรครู’ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายละเอียดที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข 

 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร เมื่อมีมติออกมาในลักษณะนี้แล้ว หน่วยงานต่างๆ หรือโรงเรียนจะมีการปฏิบัติตนอย่างไร เพราะตนเองเชื่อว่ายังมีผู้บริหารบางคนที่ยังรู้สึกว่า ถึงอย่างไร ครูยังต้องอยู่เวร และบีบคั้นให้ครูอยู่เวรต่อไป

 

“เป็นการเทกแอ็กชันที่ดี ต้องชื่นชม ต้องให้เครดิตกับคุณครูที่ออกมาส่งเสียงและต่อสู้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนสุดท้ายแล้วก็สามารถนำกระแสสังคม สร้างแรงกดดัน จนทำให้ฝ่ายนโยบายต้องเปลี่ยน หากไม่ได้มีเสียงกดดันจากภาคประชาชนคิดว่าเรื่องนี้ก็คงจะยังอยู่แบบนี้ต่อไป”

 

ธนวรรธน์กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือ ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีจากส่วนกลางนั้นจะมีต้องความชัดเจนที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหาร เพื่อไม่ให้มีความตะขิดตะขวงใจ รวมถึงจะต้องมีการประสานหน่วยงานกับที่จะเข้ามาดูแลทดแทนด้วย

 

ธนวรรธน์กล่าวย้อนว่าที่ผ่านมาชีวิตของคนที่เป็นครู ถือเป็นแม่พิมพ์ของชาติ โดยครูที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนไม่มากต้องสลับเวรกันอยู่จนไม่ได้กลับบ้าน สภาพก็ไม่ต่างจากทหารที่อยู่ตามชายแดนหรือตำรวจ ตชด. จนถูกตั้งคำถามว่า ‘หน้าที่’ และ ‘ศักดิ์ศรี’ ของครูอยู่ตรงไหน 

 

“หลายครั้งเราเรียกร้องหาคุณภาพผู้เรียน เรียกร้องหาคุณภาพการศึกษา แล้วก็โทษครู แต่รากของปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหนนั้น อยากให้สังคมรับรู้ เพื่อให้สังคมนั้นเห็นปัญหา และส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ได้จริงๆ” ธนวรรธน์กล่าว 

 

ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาทบทวนเพื่อให้ครูและโรงเรียนได้กลับมาโฟกัสที่หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ประเทศไทยได้พัฒนาตามเป้าหมายที่แท้จริง

 

ต้องยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2552 ด้วย 

 

ขณะที่ ‘ปารมี ไวจงเจริญ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ในฐานะอดีตแม่พิมพ์ของชาติว่า มติ ครม. นั้นยกเลิกได้โดยมติของ ครม. อยู่แล้ว การยกเลิกมติ ครม. ครั้งนี้ ตนเองมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2552 ที่ว่าด้วยเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของสถานที่ราชการ ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขในส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย 

 

เนื่องจากตนเองเกรงว่าจะมีผู้บริหารในบางโรงเรียนที่ไปใช้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ‘มาบีบ’ ให้ครูนั้นต้องนอนเวรอีก 

 

ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

แฟ้มภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

“หากมีการยกเลิกจริงๆ ดิฉันก็ขอบคุณที่เห็นใจคุณครู และถือว่าเป็นขวัญกำลังใจให้ครู ที่จะเหลือเวลาที่จะไปพัฒนาการเรียนการสอนของตัวเอง ครูบางคนที่ขี้เกียจหรือไม่น่ารักก็จะได้ไม่มีข้ออ้างอีกต่อไป”

 

ปารมีบอกกับ THE STANDARD อีกว่า หลังจากนี้จะขับเคลื่อนเกี่ยวกับภาระครูต่อไป โดยเฉพาะโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่มีจำนวนหลายร้อยโครงการและใช้งบประมาณจำนวนมาก เมื่อได้พิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าโครงการเหล่านั้นเป็นนามธรรม ทั้งยังจับต้องไม่ได้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ไม่ได้มีการพัฒนาระบบการศึกษาและนักเรียนเลย รวมถึงจะผลักดันประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพครูที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน และต้องมีการระบุไว้ในจรรยาบรรณของบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารของโรงเรียนจะต้องไม่ให้เอางานส่วนตัวมาให้ครูทำ

 

ภูมิใจไทยค้าน เปรียบเหมือน ‘เผาป่า ฆ่าหนู’

 

อย่างไรก็ตาม แม้ ‘อนุทิน’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม. แต่ ‘สฤษดิ์ บุตรเนียร’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย อดีตเจ้าของโรงเรียนกลับมองว่า การออกคำสั่งใดๆ ก็ตาม อย่าให้ครอบจักรวาลมากนัก เหมือนเผาป่า ฆ่าหนูนิ

 

สฤษดิ์บอกกับ THE STANDARD ว่า การออกมติ ครม. ในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการแก้ปัญหาที่มากเกินไป พร้อมตั้งคำถามว่า “หนูตัวเดียวกัดต้นหญ้า เราต้องเผาป่าเพื่อตีหนูตัวนั้นเหรอ” บริบทแต่ละโรงเรียนนั้นไม่เหมือนกัน แต่การเข้าเวร ‘จำเป็น’ หรือ ‘ไม่จำเป็น’ ให้อยู่ดุลพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน 

 

โรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการมีหลายประเภท ทั้งโรงเรียน สพฐ. โรงเรียนขยายโอกาส จึงเชื่อว่าโรงเรียนยังจำเป็นต้องมี ‘ครูเวร’ โดยเฉพาะโรงเรียนระดับในชั้นมัธยมศึกษา เพราะเด็กๆ ยังใช้เวลาในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การซ้อมดนตรี, ซ่อมเสริมวิชาเรียน หรือการทำแปลงผัก 

 

สฤษดิ์ บุตรเนียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย

 

“เรื่องนี้ยังไม่จำเป็นต้องยกเลิกทั่วประเทศ และไม่จำเป็นต้องถึงคำสั่งการของ ครม. ด้วยซ้ำ ต่อไปจะขัดแย้งกับคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการที่มีคำสั่งให้ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การออกคำสั่งให้ยกเลิกมติ ครม. 2542 ผมไม่เห็นด้วย” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากปราจีนบุรี กล่าวกับ THE STANDARD 

 

ส่วนความคิดเห็นที่ว่า ‘ยกเลิกเวรครู เพื่อให้ครูมีเวลาไปพัฒนาการเรียนการสอน’ สฤษดิ์กล่าวว่า “ครูที่เป็นเวรก็สามารถทำงานของตัวเองได้ แต่อยู่ที่มุมมองของคนเป็นครู…เอาแต่สอนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้จักบูรณาการ ครูเหมือนพ่อแม่ที่ต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ครูส่วนใหญ่ที่เข้าเวรก็แค่นั่งเฉยๆ ไม่เหมือนยามที่ต้องดูเรื่องของความปลอดภัยและต้องเฝ้า”

 

สฤษดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้าเวรยังถือว่ามีประโยชน์ และให้พิจารณาจากบริบทของแต่ละโรงเรียน แต่การออกกฎตามมติ ครม. ต้องยกเลิกการเข้าเวรทั่วประเทศ ตนเองก็ไม่เห็นด้วย

 

กทม. ยกเลิกครูเวรกลางคืน 100%

 

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องครูเวรเป็นเรื่องที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562-2564 มีประกาศจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตสามารถจ้างเอกชนเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ 

 

ปัจจุบันบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีโรงเรียนแจ้งว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ ต้องมีครูอยู่ประจำ เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ หากพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่คนเดียวจะไม่มีครูรับเรื่องในการรับสมัครนักเรียน ทำให้ช่วงกลางวันอาจมีบางโรงเรียนที่มีครูเวรอยู่ประจำ แต่ในช่วงกลางคืนตอนนี้เกือบทุกโรงเรียนไม่มีครูที่ต้องมาประจำแล้ว 

 

ศานนท์กล่าวต่อว่า เราได้มีประกาศที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามเมื่อเดือนกันยายน 2566 ให้จ้างเอกชนเข้ามาดูแลความปลอดภัยได้ ดังนั้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีระเบียบรองรับเรียบร้อยแล้ว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising