×

เสวนา ‘หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน’ ชี้รัฐบาลเริ่มเพลี่ยงพล้ำจนต้องใช้สื่อเป็นแพะ ย้ำนักข่าวไม่ใช่โจร

29.07.2021
  • LOADING...
ข่าวปลอม

วันนี้ (29 กรกฎาคม) 6 องค์กรวิชาชีพสื่อจัดเวทีเสวนา ‘หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน’ พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นมาตรการจำกัดเสรีภาพของประชาชนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการสื่อสารเชิงข่มขู่สื่อและประชาชนเรื่องการรายงานข่าวปลอม โดยมีวิทยากรประกอบด้วย สุทธิชัย หยุ่นสื่อมวลชนอาวุโส, กิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการ ข่าว 3 มิติ, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD และตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ถ่ายทอดสดผ่านเพจสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ชี้แจงถึงสาเหตุของการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาการออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฉบับที่ 27 ข้อ ประเด็นมาตรการเรื่องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มีเนื้อหาที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข่าวสาร จนทำให้เกิดแถลงการณ์ฉบับแรกขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในวันที่ 15 กรกฎาคม ทว่าไม่ได้รับคำตอบ จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีออกมาโพสต์ Facebook เรื่องการจัดการข่าวปลอม และมอบอำนาจให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินคดีกับสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และประชาชนได้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อต้องออกแถลงการณ์อีกฉบับในวันที่ 28 กรกฎาคม เสนอ 3 ความเห็นร่วมกัน อีกทั้งยืนยันว่าจะจัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

 

“ผมก็เชื่อว่าสาเหตุมันมาจากว่ารัฐบาลเริ่มจะเพลี่ยงพล้ำ แล้วเริ่มจะรู้สึกว่า ข่าวสารที่รายงานกัน ข้อเท็จจริงที่ออกมาประชาชนรับทราบจากสื่อ ที่เริ่มตั้งคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถรับมือกับโควิดได้หรือไม่ และถ้ารับไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนรัฐบาล” 

 

สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโสได้แสดงความเห็นต่อการโพสต์ Facebook ของนายกรัฐมนตรี คาดว่าเป็นเพราะสถานะของรัฐบาลมีความไม่มั่นคง จึงเริ่มที่จะหาแพะอย่างสื่อมวลชน และดิ้นรนเพื่อจะรักษาความชอบธรรม

 

“สิ่งโควิดกลัวที่สุดคือวิทยาศาสตร์ ไม่ได้กลัวปืนใหญ่ ไม่ได้กลัวรถถัง ไม่ได้กลัวเรือดำน้ำ แต่ว่าอาวุธของคุณหมอ นักวิชาการ คือวิทยาศาสตร์ ข้อมูล การวิเคราะห์ การวิจัย และอาวุธของสื่อเรา คือข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือ” 

 

สุทธิชัยกล่าวว่า ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังรบอยู่ในสงครามครั้งใหญ่ ที่ผู้บัญชาการรบกำลังแสดงอาการว่าอยู่กันคนละฝั่งกับประชาชนที่ต้องการเห็นผลงานของรัฐบาล พร้อมทั้งเสนอให้ 6 องค์กรสื่อรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์กลางของข่าวที่สามารถตรวจสอบได้ วางยุทธศาสตร์ในการทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ต่างจากอยู่ในสภาวะสงคราม ที่ต้องต่อสู้กับทั้งกับโรคระบาดและกับกลไกของรัฐ 

 

ด้าน กิตติ สังหาปัต ผู้ดำเนินรายการ ข่าว 3 มิติ แจงว่าการที่รัฐออกมาตรการมาแบบนี้เหมือนกับนำนักข่าวไปเปรียบเทียบกับโจร อีกทั้งความไม่ชัดเจนจะนำไปสู่การตีความกลั่นแกล้ง ทั้งที่ถ้าหากนักข่าวไม่รายงานข่าวก็จะถือเป็นความผิดเหมือนกัน ย้ำให้รัฐบาลและผู้ที่ออกมาตรการนี้ทบทวนถึงจิตวิญญาณของสื่อมวลชน

 

“คุณอย่าเอาคนที่เขาทำสื่อโดยสุจริตไปปนกับคนที่คุณมองเห็นหน้าเขาว่าเขาโจมตีคุณ” กิตติกล่าวเสริม

 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ระบุว่า การกระทำนี้ของรัฐบาลเป็นการข่มขู่ ให้คนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือนำเสนอข้อเท็จจริงจากฝั่งตรงกันข้ามกับที่รัฐอยากนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง หรือประชาชน ให้เกิดความเกรงกลัว

 

“การควบคุมความจริงได้ การควบคุมข้อมูลข้อเท็จจริงได้ คือการที่คุณจะสามารถสั่งการหรือทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือกับตนเองได้สูง เพราะเขาไม่รู้ว่าข้อมูลไหนจริงไม่จริง” นครินทร์มองว่าวิธีของทหารหรือเผด็จการมักจะควบคุมให้คนเชื่อข้อมูลข้อเท็จจริงจากฝั่งภาครัฐอย่างเดียว จึงเป็นเหตุให้เกิด IO หรือปฏิบัติการทางข้อมูลต่างๆ

 

อีกทั้งยังตั้งข้อสงสัยว่า คำว่า ‘Fake News’ ทางวิชาการ กับการตีความของภาครัฐนั้นมีความหมายไม่ตรงกันหรือไม่ ในฝั่งของนักวิชาการ ความหมายของ Fake News คือการใช้ข้อมูลที่ผิด มีเจตนาตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลจะตีความว่า Fake News คือข้อมูลจากคนที่คิดตรงกันข้ามกับเรา ซึ่งนิยามของคำนี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีสื่อหรือผู้ที่นำเสนอข้อมูลอีกฝั่ง

 

ในขณะที่มีหลายกรณีของภาครัฐที่นำเสนอข้อมูลออกมาแล้วกลับตรงข้ามกับความเป็นจริง อย่างเช่นประเด็นเรื่องวัคซีน AstraZeneca ที่รัฐแจงว่าจะต้องฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส แล้วทำไม่ได้ตามเป้า หรือการที่รัฐมนตรีคนหนึ่งพูดในรัฐสภาว่าจะมีวัคซีนเต็มแขนในไตรมาสนี้ กรณีเหล่านี้นับว่าเป็น Fake News หรือไม่

 

ในขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand ชี้ว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ควรจะทำเพื่อลดความสับสนของข้อมูลข่าวสารคือการให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องออกมาแถลงข่าวพร้อมกัน โดยให้ผู้สื่อข่าวสามารถซักถามได้เป็นประจำทุกสัปดาห์ ไม่ใช่การประกาศพระราชกิจจานุเบกษาในกลางดึก ปล่อยข่าวสำคัญในตอนกลางคืนของวันหยุด ทำให้ข่าวกระจัดกระจาย สื่อมวลชนไม่สามารถสอบถาม เช็กข้อมูลกับแหล่งข่าวได้จนเกิดความสับสน 

 

สุภิญญาเน้นย้ำว่า สื่อมวลชนไม่ใช่อาชญากรรมที่รัฐจะใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาบังคับราวกับว่าเป็นอาชญากร ซึ่งการนำเสนอความคิดเห็นของสื่อหากไปกระทบใครและต้องรับผิด ก็มีกฎหมายอาญา กฎหมายหมิ่นประมาทมารองรับอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

 

“การที่รัฐมัวแต่เอาเวลามาทะเลาะกับสื่อ มันทำให้เสียโอกาสในการแก้ปัญหาตรงจุด”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising