×

ล้วงวิธีคิด สแตน ลี ตำนานผู้สร้างฮีโร่มาร์เวล เขย่าโลกทั้งใบด้วยป๊อปคัลเจอร์

13.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • สแตน ลี หรือสแตนลีย์ มาร์ติน ลีเบอร์ ชื่นชอบการดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือมาตั้งแต่เล็กๆ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือที่ถือเป็นงานอดิเรก เนื่องจากอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มผันตัวเข้าสู่วงการนักเขียน โดยการเขียนเรียงความ และส่งงานเข้าประกวดตามที่ต่างๆ
  • ชอบความท้าทาย และเปิดรับโอกาสใหม่ๆ สมัยเรียนอยู่ที่ไฮสคูลเคยรับงานพิเศษเขียนข่าวการเสียชีวิตของบุคคลต่างๆ และข้อความโฆษณาของโรงพยาบาล ครั้นเริ่มเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักเขียน ก็จับพลัดจับผลูไปอยู่สำนักพิมพ์คอมิกส์ ทั้งๆ ที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะทำงานกองบรรณาธิการนิตยสาร แต่ก็มองเป็นโอกาส และการสั่งสมประสบการณ์
  • มองมุมต่าง กล้าหยิบเรื่องที่คนอื่นไม่เคยถ่ายทอดมาก่อนคือเบื้องหลังการสร้างคาแรกเตอร์ และเรื่องราวฮีโร่ในแบบของลี ที่ชัดเจนที่สุดคือ สมัยสร้างสไปเดอร์แมนขึ้นมา แม้จะเป็นฮีโร่ที่เก่ง แต่กลับมีเรื่องราวชีวิตส่วนตัวที่เปราะบาง ยากจน กำพร้าพ่อแม่ อับโชคเรื่องรัก ทำให้คนอ่านรู้สึกอิน เพราะมีจุดร่วมในตัวละคร

12 พฤศจิกายน 2018 สแตน ลี อดีตบรรณาธิการบริหาร ประธานบริษัท นักเขียน ผู้ตีพิมพ์ โปรดิวเซอร์มือทองของมาร์เวลคอมิกส์ และชายผู้สร้างฮีโร่ที่เยียวยาจิตใจของใครหลายคน อย่างสไปเดอร์แมน,​ ฮัลค์, แฟนแทสติก โฟร์, เอ็กซ์ เมน หรือแบล็ก แพนเตอร์ ฯลฯ ได้จากโลกใบนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 95 ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมคอมิกส์และโลกฮอลลีวูด

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แฟนมาร์เวลและคอหนังซูเปอร์ฮีโร่หลายคน เพิ่งมีโอกาสได้พบหน้าค่าตา ‘ปู่สแตน ลี’ ในบทบาทรับเชิญ (Cameo) ของภาพยนตร์เรื่อง Venom เหมือนที่เขามักจะไปปรากฏตัวในภาพยนตร์ฮีโร่เรื่องอื่นๆ ของค่ายมาร์เวลอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าถอยออกมามองโลกแห่งความเป็นจริง แฟนมาร์เวลหลายคนเองคงจะทราบดีว่าในช่วงระยะหลังๆ สุขภาพของลีนั้นไม่ค่อยจะสู้ดีสักเท่าไร

 

แม้วันนี้บิดาแห่งมาร์เวลจะจากไปแล้ว แต่ THE STANDARD เชื่อว่าเรื่องราวชีวิต กระบวนคิดในการทำงาน หรือเบื้องหลังสูตรสำเร็จของชายจากนิวยอร์กที่เติบโตจากการเป็นเด็กรักการอ่านและเขียน สู่ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ Timely Publications และก้าวขึ้นมาเป็น สแตน ลี ชายที่เขย่าโลกทั้งใบด้วยวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์และฮีโร่พลังพิเศษ น่าจะพอมีมุมหรือแง่คิดบางอย่างให้เราหยิบมาลองทำตามได้ไม่มากก็น้อย

 

Photo: Wikimedia Commons

 

เชื่อในสิ่งที่รัก เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกๆ วัน

สแตน ลี หรือสแตนลีย์ มาร์ติน ลีเบอร์ ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1922 ที่อพาร์ตเมนต์ย่านแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่จำความได้ ลีเป็นคนที่หลงใหลการอ่าน และชื่นชอบงานเขียนมาตั้งแต่เล็กๆ เขาเติบโตมากับหนังสือและภาพยนตร์ สองสิ่งที่สร้างอิทธิพลให้กับชีวิตวัยเด็กของหนุ่มน้อยผู้นี้เป็นอย่างมาก

 

แต่ถ้าให้เลือกสิ่งที่ชอบที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็น ‘หนังสือ’ เนื่องจากสมัยก่อนฐานะทางบ้านของลีไม่สู้ดีนัก หากเลือกดูหนังในโรงภาพยนตร์ก็จะดูได้เรื่องละเดือนเท่านั้น ต่างจากหนังสือที่อ่านได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีผู้เป็นแม่คอยสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านของลูกชายอยู่ไม่ห่าง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเริ่มผูกพันกับหมึกบนหน้ากระดาษมาตั้งแต่นั้น

 

กระทั่งเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียน ลีได้ค้นพบตัวเองว่าอาจมีทักษะด้านงานเขียนอยู่บ้าง จากการได้เริ่มลองเขียนเรียงความภาษาอังกฤษแล้วได้รับคำชม และแรงกระตุ้นจากคุณครูว่า ‘ทำได้ดี ให้เขียนต่อไปเรื่อยๆ’ จุดนี้เองที่ลีเล่าว่าเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เวลาได้รับการกระตุ้นจากใครสักคน ทำให้เขากระหายที่จะเขียนเรียงความชิ้นต่อๆ ไปให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน

 

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ครูคนโปรด ลีออน บี. กินส์เบิร์ก ได้สอนให้เด็กชายลีรู้จักเทคนิคการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ดึงดูดผู้ฟังหรือคนอ่านด้วยการใช้อารมณ์ขัน เรื่องราวเบาสมองนำ ถือเป็นบทเรียนที่ล้ำค่ามากสำหรับลี โดยที่ตัวเขาเองยังคงจดจำ และนำมาใช้จนถึงตอนทำงานที่ต้องถ่ายทอดเรื่องราวให้คนอ่านติดงอมแงม ซึ่งอารมณ์ขันที่ว่าก็ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์งานเขียนของเขา

 

เมื่ออายุได้ 15 ปี ก็ส่งงานเขียนเข้าประกวดในโครงการ ‘The Biggest News of the Week Contest’ กับหนึ่งในหัวหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นอย่าง Harold Tribune ก่อนได้รับจดหมายชื่นชมจากบรรณาธิการว่าเขามีดีพอจะเป็นนักเขียนอาชีพได้ไม่ยาก นับเป็นกำลังใจที่ดีที่ช่วยปลุกความมั่นใจในตัวลีให้จริงจังกับงานเขียนมาเรื่อยๆ และผลักดันให้เขาเข้าสู่เส้นทางนักเขียนอาชีพในที่สุด

 

เวลาในช่วงวัยเด็กของลีในแต่ละวันจึงมีหนังสือ งานเขียน และภาพยนตร์เป็นเพื่อนคู่ใจมาตลอด เปรียบเสมือน 3 ส่ิงที่ค่อยๆ ขัดเกลาให้ลีเติบโตมาพร้อมกับเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรให้ดีกว่าเดิมในทุกๆ ต้นฉบับ

 

ไม่ปิดกั้นตัวเองจากการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คว้าทุกโอกาสที่ได้รับ

ว่ากันว่ามนุษย์ในโลกแห่งการทำงานมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก พอได้รับโจทย์ยากก็จะเอาแต่บอกปัดว่าทำไม่ได้ ห่างไกลจากความเป็นจริง อีกประเภท เมื่อได้ฟังโจทย์หินเช่นนั้น กลับมองมันเป็นโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง พร้อมขอลองทำดู ซึ่งลีจัดอยู่ในประเภทที่ 2 นี้

 

หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของลีคือ การเป็นมนุษย์ประเภท ‘เปิดรับ เปิดกว้าง’ พร้อมและยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นตนเองอาจจะไม่เคยสนใจ หรือไม่ถนัดมาก่อนก็ตาม เหมือนที่สมัยเรียนไฮสคูล เขาเริ่มรู้จักงานเขียนหลายๆ ชนิด นอกจากการเขียนเล่าเรื่อง หรือเรียงความ โดยรับงานพิเศษทั้งเขียนข่าวมรณกรรมให้กับสำนักข่าว รวมถึงเขียนใบปิดโฆษณาให้กับโรงพยาบาล

 

ในช่วงที่เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักเขียนอาชีพตอนอายุ 15 ปี เขาได้รับการเชื้อเชิญจากสามีของลูกพี่ลูกน้อง มาร์ติน กู๊ดแมน ที่ต่อมามีศักดิ์เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาร์เวลคอมิกส์ ให้มาเป็นผู้ช่วยสำนักพิมพ์เมื่อปี 1939 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว กู๊ดแมนเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์นิตยสาร Pulp แต่เกิดไอเดียอยากขยายธุรกิจมาจับตลาดหนังสือการ์ตูนในชื่อแผนกย่อย ‘Timely Publications’

 

นี่คือเรื่องที่แม้แต่ตัวลีเองก็ไม่ทราบ เพราะเข้าใจว่าตนกำลังจะมาเป็นผู้ช่วยกองบรรณาธิการนิตยสาร Pulp แต่เมื่อได้รับตำแหน่งนี้ จึงกัดฟันขอลองเรียนรู้งานดูสักตั้ง แม้จะไม่ใช่งานเขียนด้านที่เขาหลงใหลมาก่อนก็ตาม

 

“ตอนนั้นผมได้ยินว่าเขากำลังเปิดรับสมัครผู้ช่วยกองบรรณาธิการ แต่ไม่ยักรู้ว่ามันคือแผนกคอมิกส์ ผมคิดว่าตัวเองยื่นสมัครงานที่กองบรรณาธิการนิตยสารไป ไม่คิดด้วยซ้ำว่าตัวเองจะมาทำงานในอุตสาหกรรมคอมิกส์ เพราะในยุคนั้นหนังสือการ์ตูนยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรจากโลกภายนอก ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นผมขอลองเรียนรู้งานสัก 2-3 เดือนก่อน หลังจากนั้นค่อยย้ายไปแผนกอื่นๆ ก็ได้” ลีสารภาพกับเว็บไซต์ Pr.com

 

กลายเป็นว่าแผนของลีมีอันต้องพังทลายลง เดิมที่ตั้งใจว่าจะทำงานในกองบรรณาธิการคอมิกส์แค่ ‘ชั่วคราว’ กลับกลายเป็นอยู่ ‘ถาวร’ โดยทำงานร่วมกับบรรณาธิการและนักเขียนมากความสามารถอย่าง แจ็ค เคอร์บี และโจ ซิมมอน ในฐานะ ‘ออฟฟิศบอย’ หรือคนที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกองฯ

 

วันดีคืนดี ทั้งเคอร์บีและซิมมอนมีงานล้นมือจนดูแลกัน 2 คนไม่ไหว ทั้งคู่จึงเอ่ยปากถามลีว่า เขาพอจะมาช่วยเขียนงานชิ้นนี้ได้ไหม (หน้าที่ตอนนั้นคือเติมบทสนทนาในคอมิกส์กัปตันอเมริกา Captain America Foils the Traitor’s Revenge (1941))

 

แม้ตอนนั้นลีจะอายุแค่ 17 ปี แต่เขามองโอกาสนี้เป็นเหมือน ‘เนื้อปลาชิ้นโต’ ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในช่วงวัยเดียวกัน ที่อาจจะมองมันเป็นมะระรสขม ลีตอบตกลงขอรับงานที่ท้าทายชิ้นดังกล่าวมาเขียนโดยทันที ด้วยความสามารถด้านการเล่าเรื่องที่มีเป็นทุนเดิม กับประสบการณ์จากการป้วนเปี้ยนในกองบรรณาธิการ จนรู้ทางหนีทีไล่ของกองฯ เป็นอย่างดี ในที่สุดความสามารถและพรสวรรค์ที่มีจึงทำให้เขาได้รับการโปรโมตเป็นนักเขียน แล้วเปลี่ยนนามปากกาเป็น ‘สแตน ลี’ ที่เรารู้จักกันในวันนี้ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ในที่สุด

 

 

‘คิดให้ต่าง ทำส่ิงที่คนอื่นไม่เคยทำ’ เรื่องที่พูดง่ายทำยาก แต่ สแตน ลี ทำมาแล้ว

ชื่อเสียงของ สแตน ลี เป็นที่ยอมรับกว้างขวางในแง่ของการเป็นผู้ (ร่วม) ให้กำเนิดซูเปอร์ฮีโร่ยอดนิยมหลายต่อหลายคน ตัวอย่างเช่น ไอ้แมงมุม ‘สไปเดอร์แมน’, สี่พลังคนกายสิทธิ์ ‘แฟนแทสติก โฟร์’, ยักษ์เขียวจอมพลัง ‘ฮัลค์’ หรือแม้แต่หมอแปลก ‘ด็อกเตอร์ สเตรนจ์’

 

เบื้องหลังความเป็นมาของฮีโร่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและขัดแย้งในตัวเองอยู่พอสมควร สไปเดอร์แมนมีใยแมงมุมเอาไว้ห้อยโหนทั่วเมือง ปีนตึกกำแพงได้อิสระ ยกของหนัก 20-25 ตันได้สบายๆ แถมยังมี Spider Sense เอาไว้ระวังภัยที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่กลับอาภัพรัก มีปัญหาชีวิตคู่อยู่บ่อยๆ ฐานะทางบ้านไม่ดี กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆ ต้องปากกัดตีนถีบใช้ชีวิตอยู่กับคุณยายตั้งแต่จำความได้

 

ส่วนเอ็กซ์เมน แม้จะมีพลังและความสามารถที่มนุษย์หลายคนถวิลหา แต่กลับถูกสังคมตีตราเอาไว้ว่าเป็นมนุษย์กลายพันธ์ุ ผิดแปลกแตกต่างจากปุถุชนธรรมดาทั่วๆ ไป การใส่เรื่องราวความ ‘เปราะบาง’ และด้านที่อ่อนแอลงไปในฮีโร่ทุกตัวจึงเป็นสิ่งที่มาร์เวลถนัด และทำให้ผู้อ่านหรือคนดูรู้สึกอินและคล้อยตาม อยากเอาใจช่วยฮีโร่ที่พวกเขารู้สึกว่ามีจุดร่วมบางอย่างกับชีวิตจริงผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยาก

 

เรื่องนี้ลีเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ตนก็ไม่เคยนึกฝันมาก่อนเหมือนกันว่าบรรดาฮีโร่เหนือมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจะเป็นที่รักและกลายเป็นที่นิยมจวบจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เขาทำได้ตอนเริ่มจับดินสอหรือปากกาคือ ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวให้ออกมาดีที่สุด ด้วยหวังเพียงแค่ว่าจะมีคนซื้อคอมิกส์เล่มนั้นๆ กลับไปอ่าน เพื่อรักษาตำแหน่งตัวเอง และได้รับการเพิ่มเงินเดือน

 

ถามถึงเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ และสิ่งที่ลีอยากแนะนำคนที่อยากเดินตามรอยเขา ลีบอกว่าไม่รู้จะแนะนำอะไร เพราะแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่รู้สูตรสำเร็จของมันเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่เขาพอจะบอกได้คือ ให้ลองเล่าเรื่องที่คนอื่นอาจจะไม่เคยทำมาก่อน หรือเลือกหยิบแง่มุมบางอย่างที่ไม่เคยถูกยกมาพูดถึง ก่อนบิดหรือปรับให้เรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสารออกไปน่าสนใจที่สุด

 

 

“ผมเคยเล่าเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งผมนั่งครุ่นคิดพยายามหาไอเดียใหม่ๆ (สร้างฮีโร่) หลังจากนั้นผมก็เหลือบมองไปบนกำแพงแล้วเห็นแมลงไต่อยู่บนนั้น ผมเลยคิดเล่นๆ ว่ามันคงจะเยี่ยมไม่น้อยเลย ถ้ามีฮีโร่ที่สามารถปีนกำแพงได้เหมือนแมลง หลังจากนั้นผมก็คิดว่าจะตั้งชื่ออะไรให้เขา มีทั้งมนุษย์แมลง Fly Man และ Insect Man ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าสนใจเอาเสียเลย

 

“ผมลิสต์ชื่อต่างๆ กระทั่งพบเข้ากับชื่อ ‘สไปเดอร์แมน’ ซึ่งฟังดูทั้งน่ากลัวและน่าประทับใจในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่นั้นผมก็ตัดสินใจเรียกเขาว่า ไอ้แมงมุม มาตลอด ส่วนตัวผมเองไม่ค่อยชอบเรื่องราวของผู้ช่วยฮีโร่ (Side Kick) วัยรุ่นสักเท่าไร เหมือนที่แบทแมนมีโรบิน หรือกัปตันอเมริกามีบัคกีย์ (วินเตอร์ โซลเดอร์) ผมคิดว่าถ้าตัวเองเป็นฮีโร่ คงจะไม่ตะลอนไปไหนมาไหนพร้อมกระเตงวัยรุ่นไปด้วย

 

“ก็เลยตัดสินใจว่าจะให้สไปเดอร์แมนเป็นฮีโร่วัยรุ่นที่ไม่ใช่แค่ผู้ช่วยฮีโร่ แต่เป็นฮีโร่ตัวหลักไปเลย และเพื่อให้ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของเขาดูชัดเจน ผมทำให้ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ไม่ได้ดูหล่อเหลา (ต่างจากภาพจำฮีโร่ปกติทั่วๆ ไป ที่กำยำ แข็งแรง และภูมิฐาน) อับโชคเรื่องความรัก มีฐานะไม่ดี แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้เด็กๆ หลายคนเข้าถึงได้ และรู้สึกผูกพันกับตัวละคร”

 

ปัจจุบันสไปเดอร์แมนนับเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ยอดนิยมของโลกป๊อปคัลเจอร์ มีอายุยืนยาวถึง 56 ปี (1962) แถมยังถูกผลิตซ้ำในวงการฮอลลีวูดมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานการคิดนอกกรอบของลีได้ดีว่าประสบความสำเร็จมากแค่ไหน

 

วิถีแบบมาร์เวล (Marvel Method) ทีมเวิร์กคือเรื่องสำคัญ

การทำงานร่วมกันในองค์กร หรือ Synergy ที่เกิดจากบริษัทย่อยๆ หลายแห่งภายใต้บริษัทแม่เดียวกัน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่ผู้บริหารบริษัทพยายามผลักดันมาโดยตลอด เพราะนอกจากจะช่วยให้บริษัทไปได้ไกลแล้ว คนในองค์กรก็จะผูกพันและมีทีมเวิร์กที่ดีไปในตัว

 

เรื่องเดียวกันนี้ ลีเคยปลูกฝังให้พนักงานในมาร์เวล ไม่ว่าจะคนเขียนเรื่องหรือนักวาดภาพประกอบทำงานร่วมกันในวิถีของมาร์เวล (Marvel Method, Marvel House Style) ในช่วงที่เขาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะหัวเรือใหญ่ของบริษัท

 

วิถีของมาร์เวลคือ การสร้างบรรยากาศให้คนในทีมทำงานร่วมกันแบบเป็นทีม ไม่ได้แยกย้ายตัวใครตัวมัน ปลีกวิเวกไปทำงานในมุมส่วนตัว วิธีการก็คือ เดิมทีนักวาดภาพประกอบและนักเขียน (เจ้าของพล็อตเรื่องซูเปอร์ฮีโร่) จะแยกส่วนงานกันทำอย่างชัดเจน นักเขียนมีหน้าที่เขียนเรื่องราวทั้งหมดขึ้นมา แล้วส่งต่อไปให้นักวาด ถ่ายทอดเรื่องราวในลำดับต่อไป แล้วปิดงาน

 

ถามว่าวิธีการนี้มีข้อเสียอย่างไร อันดับแรกเลยคือ ไม่มีการสื่อสารร่วมกันที่ดีเท่าที่ควรระหว่างตัวนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ ประการถัดมาคือ ทำให้งานล่าช้า เพราะอาจจะต้องแก้งานกันมากขึ้น แถมยังปิดกั้นการมีส่วนร่วมของนักวาดภาพประกอบ ที่อาจจะอยากสอดแทรกมุมมองหรือเรื่องราวบางอย่างที่ตนเองอยากถ่ายทอดออกมาในงานชิ้นนั้นๆ

 

แต่กับ Marvel Method ลีได้ออกแบบกระบวนการทำงาน (Work Flow) ให้นักเขียนส่งพล็อตเรื่องแบบคร่าวๆ ในแต่ละตอนให้กับนักวาดภาพ หลังจากนั้นนักวาดภาพประกอบจะนำโจทย์ที่ได้รับมาถ่ายทอดต่อตามความคิดของพวกเขาเอง แต่ยังคงปรึกษาและทำงานร่วมกับนักเขียนอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ตัวนักเขียนจะมาเติมคำและใส่บทสนทนาให้ตัวละครแต่ละตัว

 

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทั้งนักเขียนและนักวาดมีการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ถ่ายทอดเรื่องราวของฮีโร่แต่ละตอนออกมาได้อย่างน่าสนใจ และมีมิติที่ดีกว่าเก่า ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้แง่คิดหรือไอเดียของนักวาดภาพประกอบ ที่แม้แต่บางครั้งตัวผู้เขียนก็นึกไม่ถึง ได้มีโอกาสถ่ายทอดออกมาจริงๆ งานแต่ละชิ้นจึงสดใหม่กว่าที่เคย สุดท้ายแล้วทีมเวิร์กของคนในองค์กรก็ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา

 

 

‘Take Some Rest’ ผ่อนคลายบ้างก็ไม่ผิด ความกดดันคือสารกระตุ้นความสำเร็จชั้นดี!

สมัยเด็กๆ ลีเคยเล่าเอาไว้ว่าเขามักจะชอบออกไปปั่นจักรยานสำรวจย่านแมนฮัตตันในนิวยอร์กที่เขาอาศัยอยู่บ่อยๆ โดยเปรียบเทียบจักรยานคันดังกล่าวเป็นเหมือนยานสำรวจ เนื่องจากช่วงเวลาได้ขี่จักรยาน คือโมเมนต์ที่จินตนาการและไอเดียของเขาจะพุ่งพล่านมากที่สุด

 

พอโตมาสมัยทำงาน ลีก็ย้ำเช่นเดิมว่า เขาไม่ได้มีกระบวนการคิดหรือเบื้องหลังการผลิตความนิยมของฮีโร่แต่ละคนเป็นสูตรตายตัวสักเท่าไร ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหัวตันหรือคิดอะไรไม่ออก เขาก็จะหยุดความสนใจจากเรื่องดังกล่าวทันที แล้วเบนไปทำกิจกรรมอื่นๆ แทน เพื่อปล่อยให้สมองได้ผ่อนคลายเสียบ้าง ทั้งยังยอมรับว่าการทำงานในสภาวะกดดันช่วยให้เขาผลิตงานชั้นเยี่ยมออกมาได้อยู่บ่อยๆ

 

“ด้วยความสัตย์จริง ผมคิดว่าตัวเองอาจจะเป็นนักเขียนประเภท Hack Writer (เขียนให้ทันส่งเดดไลน์มากกว่าจะมาประณีต ละเมียดละไม ใช้เวลากับงานเขียนชิ้นนั้นๆ) เวลาที่ผมไม่มีแรงบันดาลใจหรือไอเดียจะเขียนอะไร ผมจะไม่เขียนมันเลย ผมเป็นนักเขียนประเภทที่ชอบ ‘ความกดดัน’

 

“ถ้ามีคนมาบอกผมว่า ‘สแตน เขียนอะไรสักอย่างหน่อยสิ’ แล้วผมต้องทำให้เสร็จทันส่งพรุ่งนี้ ผมจะค่อยๆ นั่งลง แล้วเริ่มลงมือเขียนมัน ผมค่อนข้างชอบเขียนงานที่ต้องการเร่งรัดเอาด่วนๆ เพราะถ้าไม่ใช่อะไรที่รีบ ผมก็จะไม่ทำมันจนกระท่ังใกล้ถึงช่วงเวลาวิกฤต ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผมรู้ตัวเองดีว่า ผมสามารถทำมันได้ ก็เลยไม่ได้กังวลสักเท่าไร แล้วทำไมผมต้องเสียเวลาการดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือออกไปเดินด้วยล่ะ”

 

แม้ลีจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจ หรือทำให้สมองผ่อนคลายอย่างไร แต่การดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือออกไปเดินในความหมายของ สแตน ลี ก็คือการหยุดพักจากภาวะความกดดันและการคิดอะไรไม่ออกชั่วขณะ ก่อนที่ไอเดียบรรเจิดจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นช้าๆ เหมือนในสมัยเด็กๆ ที่เขามักจะออกไปขับยานอวกาศสำรวจย่านแมนฮัตตันอยู่บ่อยๆ

 

นี่คือเคล็ดลับกระบวนการคิดการทำงานบางส่วนที่เราสกัดมาจากความสำเร็จของตำนานที่ชื่อว่า สแตน ลี ที่แม้วันนี้เขาจะจากเราไปแล้ว แต่จิตวิญญาณ อารมณ์ขัน รวมถึงคุณงามความดี และคติประจำใจที่เขาสอดแทรกลงไปในเรื่องราวของฮีโร่แต่ละเรื่องจะยังคงอยู่กับเราต่อไป สืบทอดจนถึงเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานไม่รู้จบ

 

พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งฉันใด

 

พรสวรรค์และความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบ ก็มาพร้อมกับการเคี่ยวกรำและกระบวนการคิดที่ดีฉันนั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising