×

Stage (สตาช) ชูวัตถุดิบชั้นดีผสานเทคนิคการทำอาหารของครัวฝรั่งเศส จากทีมที่เรียกตัวเองว่า ‘เชฟฝึกงาน’

26.12.2019
  • LOADING...
Stage สตาช

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ทีมงานแทบทุกคนเคยทำงานที่ L’Atelier de Joel Robuchon กรุงเทพฯ มาก่อน แต่เมื่อร้านปิดตัวลง แต่ละคนได้แยกย้ายไปสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติม ก่อนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่ Stage 
  • แม้ทีมงานส่วนใหญ่รู้จักกันที่ร้านอาหารฝรั่งเศสระดับมิชลินสตาร์ แต่เมนูอาหารของ Stage ต่างออกไปด้วยการใช้วัตถุดิบเป็นตัวชูโรง ไม่จำกัดอยู่แค่ชาติใดชาติหนึ่ง อาศัยเทคนิคการทำอาหารที่ซับซ้อนของฝรั่งเศสในการปรุงแต่ง เมนูแต่ละจานจึงไม่ได้ออกมาฝรั่งเศสจ๋า แต่มีความกินง่าย เข้าใจง่าย และทวิสต์ให้สนุกสนานผ่าน Tasting Menu
  • Truffle Hot Dog จานเด็ดที่ดูแล้วค่อนข้างฉีกอารมณ์ไปจากจานอื่นๆ แต่เมื่อชิมดูจะรู้ว่านี่ไม่ใช่ฮอตด็อกธรรมดา ตัวขนมปังเป็นบริยอชชุ่มเนย ส่วนไส้กรอกทำมาจากหมูที่ทางร้านทำขึ้นเอง ก่อนโรยหน้าด้วยแบล็กทรัฟเฟิล ซึ่งเป็นสามองค์ประกอบที่เข้ากันได้เป็นอย่างดี

หากการฝึกงานถือเป็นการบ่มเพาะประสบการณ์และนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในสนามจริง ห้องอาหารฝรั่งเศสแนว Casual Fine Dining อย่าง Stage (สตาช) ในย่านเอกมัย น่าจะเป็นแหล่งรวมตัวกันของเด็กฝึกงานก้นครัวที่มีคุณภาพมากที่สุดในประเทศไทย เพราะคำว่า ‘สตาช’ ซึ่งเป็นชื่อร้านนั้นได้มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ‘การฝึกงาน’ 

 

เชฟและเจ้าของ เจย์-สายนิสา แสงสิงแก้ว เล่าให้ฟังว่าเหตุผลที่เธอเลือกใช้ชื่อนี้เพราะมองว่าการฝึกงานหรือการเทรนนิ่งในความหมายของคนครัวเรียกว่าการทำสตาช ซึ่งเชฟส่วนใหญ่จะฝึกงานราว 1-3 เดือนแบบไม่มีค่าจ้างใดๆ ซึ่งเธอมองว่าการที่จะทำสตาชได้ หนึ่ง คุณต้องมีความอดทน เพราะต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงดึก สอง ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเราคือโนบอดี้ และสาม ต้องมีแพสชันสูง เพราะงานในครัวเป็นงานที่หนักและมีรายละเอียดมาก บางครั้งทำงานวันละ 11-15 ชั่วโมงก็ยังไม่พอ 

 

อีกทั้งตัวเจย์เองก็เคยสตาชหรือฝึกงานมาก่อน จึงค่อนข้างเข้าอกเข้าใจคนที่ทำงานในครัวทุกตำแหน่ง เมื่อมีโอกาสได้เปิดร้านอาหารของตัวเอง จึงขอใช้ชื่อนี้เพื่อสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจของคนในทีมที่มีองค์ประกอบทั้งสามครบ ได้แก่ ความอดทน ความอ่อนน้อมถ่อมตน และเต็มไปด้วยแพสชัน 

 

Stage สตาช

เชฟและเจ้าของ เจย์-สายนิสา แสงสิงแก้ว

 

แต่ใช่ว่าทีมงานจะไม่เคยก้าวขึ้นมาอยู่ด้านหน้ามาก่อน เพราะทั้งเจย์และทีมงานแทบทุกคนในร้าน ไม่ว่าจะเป็น ปฏิภาณ สุขมาก (หัวหน้าเชฟ), ธนพร พรรธนประเทศ (Executive Sous Chef), เรขา ลิมปิชาติ (Pastry Chef), หลุยส์-ภัทรพล พลฤทธิ์ ผู้จัดการห้องอาหารและซอมเมอลิเยร์ ล้วนเคยทำงานที่ L’Atelier de Joel Robuchon กรุงเทพฯ ก่อนที่ร้านได้ปิดตัวลง นอกจากนั้นเจย์ยังเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่มีโอกาสได้ไปเทรนที่ L’Atelier de Joel Robuchon ปารีส 

 

ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อมั่นได้ว่าแม้ชื่อร้านจะแปลว่าฝึกงาน แต่ประสบการณ์และฝีมือของแต่ละคนนั้นจัดอยู่ในระดับ Supervisor ที่จะถ่ายทอดออกมาผ่านอาหาร การจัดการ และงานบริการระดับ Fine Dining อย่างแน่นอน    

 

Stage สตาช

 

The Vibe

“หากอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Stage ออกเสียงว่า สะ-เตจ เราจึงอยากทำให้ครัวเป็นครัวเปิดคล้ายการดูโชว์” เจย์เล่าให้ฟังถึงโจทย์ที่เธอโยนให้ทีมออกแบบร้าน ซึ่งเป็นทีมเดียวกับที่ออกแบบบาร์ Crimson Room และห้องอาหาร Canvas อย่าง Paradigm Shift ดังนั้นตั้งแต่ก้าวเข้าร้าน จุดดึงดูดความสนใจของเราจึงตรงไปที่ครัวก่อนสิ่งใด เพราะสามารถมองเห็นการทำงานของทีมเชฟได้โดยรอบ ในขณะที่ตัวร้านได้รับแรงบันดาลใจมาจากสไตล์น้อยนิ่งของชาวสแกนดิเนเวียน ผสมเข้ากับจริตของฝรั่งเศสอย่าง Parisian Chic ที่ทำให้ไม่หวานหรือแข็งจนเกินไป เน้นโทนสีน้ำเงิน เทา ขาว และคอปเปอร์ มีการแบ่งสัดส่วนไว้สำหรับเชฟเทเบิลที่รองรับ 8 ที่นั่ง หรือลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มใหญ่แล้วอยากได้ความเป็นส่วนตัว ทางร้านก็สามารถกั้นม่านให้กลายเป็นห้องส่วนตัวขนาดย่อมได้ อย่างที่บอกว่าร้านนี้วางตัวเองเป็น Casual Fine Dining ที่อยากให้คนมาแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สบาย เป็นกันเอง ดังนั้นเข้ามาแล้วไม่ต้องเกร็ง 

 

Stage สตาช

Stage สตาช

Stage สตาช

 

The Dishes 

แม้ทีมงานส่วนใหญ่รู้จักกันที่ร้านอาหารฝรั่งเศสระดับมิชลินสตาร์ แต่เมนูอาหารของ Stage ต่างออกไปด้วยการใช้วัตถุดิบเป็นตัวชูโรง ไม่จำกัดอยู่แค่ชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น โดยอาศัยเทคนิคการทำอาหารที่ซับซ้อนของฝรั่งเศสในการปรุงแต่ง เมนูแต่ละจานจึงไม่ได้ออกมาฝรั่งเศสจ๋า แต่มีความกินง่าย เข้าใจง่าย และทวิสต์ให้สนุกสนาน โดยนำเสนอผ่าน Tasting Menu ที่ทีมเชฟอยากพาพวกเราไปสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ซึ่งจะเปลี่ยนไปทุกๆ 2 เดือน แต่ละคอนเซปต์เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ อย่างคอนเซปต์แรกที่ทางร้านวางไว้คือ Stage Experience เมื่อพวกเขาคิดกันว่าหากเปรียบอาหารเหมือนกับการเดินทางไปทั่วโลก หน้าตาและรสชาติของพวกมันจะเป็นอย่างไร 

 

การเดินทางเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้ 

 

จานที่ยกมาเป็น คาโนลี อาหารกินเล่นของทางร้าน (Snack) ที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักด้วยการนำมาทำเป็นไส้ด้านในผสมกับเนื้อปู ส่วนด้านนอกทำจากชาโคลกรุบกรอบ จานนี้ได้คนละชิ้น 

 

Stage สตาช

Snack

 

ต่อด้วย Mussel Tart ที่ถือเป็นการหยิบเอาคลาสสิกเมนูมาทวิสต์ใหม่เพื่อหลีกหนีจากขนบเดิมๆ ด้วยการทำให้ตัวซอสมีลักษณะเป็นทรงหยดน้ำ ซึ่งเกิดจากการเคี่ยวเนื้อหอย น้ำ และเปลือกหอยจนได้รสชาติที่เข้มข้น แต่เบา ไม่หนักจนเกินไป สามารถกินได้ทั้งคำโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะมันเลี่ยน ในขณะที่หอยแมลงภู่เสิร์ฟมาอย่างพอดีคำ พร้อมแป้งทาร์ตที่ค่อนข้างเนื้อบาง ซึ่งต่างจาก Mussel Tart ที่เคยเห็นมา เริ่มจากซอสก่อนแล้วตามด้วยทาร์ต  

 

Stage สตาช

Mussel Tart 

 

ถัดไปหน้าตาออกไปทางอาหารญี่ปุ่น Otoro / Caviar กลับพาเราไปสู่อีกฝั่งทวีป หลังเชฟได้นำส่วนท้องปลาทูน่าที่มีความมันมากที่สุดไปแล่ให้บางเหมือนซาชิมิ ก่อนเสริมมิติด้วยรสเปรี้ยวจากส้มยูซุและความมันของคาเวียร์จากอิตาลี ด้านล่างเป็นครีมงาดำ จานนี้จะยกมาเบิร์นที่โต๊ะ เพราะอยากให้ไขมันในปลาละลาย สร้างเท็กซ์เจอร์ที่ต่างไป แต่ที่ได้มาเป็นของแถมคือกลิ่นหอมๆ ตลบอบอวล 

 

Stage สตาช

Otoro / Caviar 

 

Lobster / Sucrine ล็อบสเตอร์จากบอสตัน จานนี้ใช้เทคนิคสโลว์คุก มาพร้อมผัก Sucrine หรือเบบี้กรีนคอส เพิ่มรสชาติด้วยซอสขาวและไข่ปลาแซลมอน รสชาติลงตัว กินง่าย เป็นจานที่หลายคนชื่นชอบเอามากๆ     

 

Stage สตาช

Lobster / Sucrine

 

Truffle Hot Dog มาถึงจานเด็ดที่ดูแล้วค่อนข้างฉีกอารมณ์ไปจากจานอื่นๆ แต่เมื่อชิมดูจะรู้ว่านี่ไม่ใช่ฮอตด็อกธรรมดา ตัวขนมปังเป็นบริยอชชุ่มเนย ส่วนไส้กรอกทำมาจากหมูที่ทางร้านทำขึ้นเอง ก่อนโรยหน้าด้วยแบล็กทรัฟเฟิล ซึ่งเป็นสามองค์ประกอบที่เข้ากันได้เป็นอย่างดี ที่เห็นซองสีแดงข้างๆ คือซอสสูตรพิเศษของทางร้าน (ไม่ใช่ซอสมะเขือเทศแน่นอน) เหมาะสำหรับคนที่ชิมคำแรกแล้วอยากได้รสสัมผัสที่สองซึ่งต่างออกไป 

 

Stage สตาช

Stage สตาช

Truffle Hot Dog

 

มาถึงจานที่คนรักเนื้อต้องชอบ ที่ร้านใช้เนื้อวากิวญี่ปุ่น Furano Wagyu Hokkaido A5 สุกระดับมีเดียมแรร์ เคียงด้วยกุยช่าย เห็ดย่าง และหัวหอม  

 

Stage สตาช

 

จานนี้เชฟเจย์ต้องการปรับโฉมชีสที่เรามักเห็นพนักงานยกมาเสิร์ฟเป็นถาด รวมชีสหลากหลายประเภท มาเป็นการรวมชีส 4 ชนิดเข้าด้วยกันอย่างพาร์เมซาน มอสซาเรลลา บรี และมาสคาร์โปน รวมถึงถั่วต่างๆ ที่เรามักกินคู่กับชีส เช่น พิสตาชิโอ อัลมอนด์ มาผสมรวมอยู่ด้านล่าง คลุมด้วยแผ่นชีสที่เวลากินต้องกะเทาะให้แตก ก่อนคลุกเคล้ากินพร้อมกับมวลหมู่ชีสด้านล่าง  

 

Stage สตาช

Cheese 

 

ขนมหวานที่ยกมาเป็น Baba au Rhum ขนมฝรั่งเศสที่หลายคนน่าจะเคยลิ้มลองมาบ้าง แต่ทางร้านเสิร์ฟมาในขนาดพอดีคำ เนื้อในชุ่มฉ่ำ ไม่แห้งร่วน กินคู่กับซอสที่มีรสเปรี้ยวนำด้านล่าง

 

Stage สตาช

Baba au Rhum

 

ไฮไลต์ของขนมหวานปิดท้ายต้องบอกว่าสนุกมาก เมื่อ เชฟจ๋า-เรขา ลิมปิชาติ ที่เรียนการทำขนมมาจากกรุงปารีส และเคยฝึกงานที่ร้าน Quartier du Pain โดยเชฟ Frédéric Lalos ผู้เป็นเชฟขนมหวานแถวหน้าของฝรั่งเศส เลือกที่จะหยิบเอาแรงบันดาลใจที่ได้มาจากขนมในวัยเด็กมาคิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโคลลอนไส้ราสป์เบอร์รี โอรีโอที่ด้านในเป็นไอศกรีมวานิลลา เจลลี่สตรอว์เบอร์รี หรือแม้แต่ช็อกโกแลตบาร์สนีกเกอร์ และแทนที่จะยกเสิร์ฟมาเป็นจาน ทางร้านจะเสิร์ฟด้วยรถเข็นขนมหวาน (Dessert Trolley) ที่พนักงานเข็นมาให้เลือกกันถึงโต๊ะ 

 

Stage สตาช

Dessert Trolley

 

Stage (สตาช) 

Address: 359/2-3 ชั้น 1 เอกมัย สุขุมวิท 63 คลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ

Contact: 0 2002 5253

Budget: สำหรับ 4 คอร์ส ราคา 1,900++ บาท, 6 คอร์ส ราคา 2,900++ บาท และ Stage Experience 8 คอร์ส ในราคา 3,900++ บาท ทุกคอร์สสามารถจับคู่กับไวน์ได้ในราคาที่แตกต่างกัน 

Website: www.restaurant-stage.co 

Open: วันพุธ-วันจันทร์ เวลา 18.00-24.00 น. (เปิดรับจองโต๊ะถึงเวลา 21.30 น.) และปิดบริการทุกวันอังคาร

Maps: 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising