×

ส่องสถานการณ์-ดูแผนรัฐบาลอังกฤษ ‘จำกัด-ชะลอ-วิจัย-บรรเทา’ เขารับมือโควิด-19 อย่างไร

11.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สหราชอาณาจักรวางแผนปฏิบัติการรับมือโควิด-19 หรือที่เรียกกันว่า Action Plan ประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ ระยะจำกัดการระบาด ระยะชะลอการระบาด ระยะวิจัย และระยะบรรเทาผลกระทบ บางมาตรการก็เริ่มดำเนินการไปแล้วแม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศเข้าสู่ระยะที่เกี่ยวข้องก็ตาม
  • มีการวิเคราะห์ข้อมูล สร้างแบบจำลอง และพัฒนาเครื่องมือในเชิงคำนวณเพื่อค้นหาข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับโควิด-19 นำโดย Imperial College ในกรุงลอนดอนและนักวิชาการกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนการวิจัยเพื่อรับมือและตอบสนองกับการระบาดของโควิด-19 นำโดย King’s College ในกรุงลอนดอน

แม้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในสหราชอาณาจักรขณะนี้จะยังไม่รุนแรงเทียบเท่ากับประเทศอื่นในยุโรปอย่างอิตาลีและฝรั่งเศส แต่ก็พบการระบาดในทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนบ้างแล้ว

 

ยอดผู้ติดเชื้อ ณ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 10 มีนาคม 2563 ตามเวลาท้องถิ่น อยู่ที่ 373 ราย เสียชีวิต 6 ราย และกรุงลอนดอนคือพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 91 ราย ส่วนแคว้นอื่นๆ ได้แก่ เวลส์มีผู้ติดเชื้อ 6 ราย สกอตแลนด์มีผู้ติดเชื้อ 27 ราย และไอร์แลนด์เหนือมีผู้ติดเชื้อ 16 ราย อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว BBC รายงานโดยอ้างคำยืนยันของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อเย็นวันที่ 10 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่นว่า ยอดผู้ติดเชื้อในเวลส์เพิ่มเป็น 15 รายแล้ว และในคืนวันเดียวกัน นาดีน ดอร์รีส์ รัฐมนตรีระดับรองของกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักร ก็ออกมายอมรับว่าเธอมีผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นบวกเช่นกัน

 

การระบาดยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมสาธารณะต่างๆ อาทิ งานหนังสือ London Book Fair ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม ซึ่งถูกยกเลิก แต่การแข่งขันรักบี้หกชาติ (Six Nations) ระหว่างเวลส์และสกอตแลนด์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม ยังคงเดินหน้า ท่ามกลางคำยืนยันว่า ทางผู้จัดการแข่งขันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเต็มที่ ส่วนการเดินทางไปยังอิตาลี ทางการก็ขอให้งดการเดินทางยกเว้นในกรณีจำเป็น เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของทางการอิตาลี ซึ่งล่าสุดมีคำสั่งปิดเมืองทั่วประเทศแล้ว

 

ประชาชนแห่ซื้อสินค้าประเภทเจลล้างมือและสบู่ล้างมือจนหมดอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน

 

ด้านเศรษฐกิจ เราเริ่มเห็นการเพิ่มจำนวนการซื้อสินค้าของประชาชน สินค้าบางรายการหาซื้อได้ยากในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะเจลล้างมือซึ่งหายากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนสบู่ล้างมือ ผ้าเช็ดทำความสะอาด (Wipe) กระดาษชำระ พาสต้า อาหารกระป๋อง ที่พร่องไปจากชั้นวางสินค้า ทำให้บางห้างร้านต้องออกมาตรการจำกัดการซื้อสินค้าที่มีความต้องการซื้อสูง 

 

ทีมข่าว THE STANDARD ยังได้รับรายงานจากเจ้าของร้านขายวัตถุดิบไทยแห่งหนึ่งในเมืองคาร์ดิฟฟ์ว่าเริ่มสั่งซื้อวัตถุดิบบางอย่าง อาทิ ข้าวสาร จากผู้ค้าส่งได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยจากการกักตุนสินค้าหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 บวกกับปัจจัยฤดูแล้งในประเทศไทย ทั้งนี้แม้รัฐบาลบอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนสินค้า แต่ก็ได้ผ่อนปรนชั่วโมงการขนส่งสินค้าตอนกลางคืนเพื่อให้ร้านค้ายังมีสินค้าขายอย่างต่อเนื่อง 

 

ความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ของระบาดของไวรัสยังฉุดดัชนี FTSE 100 ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนร่วงลงเกือบ 8% ในวัน ‘Black Monday’ เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยเรื่องสงครามราคาน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

บางร้านติดป้ายแสดงข้อความว่ามีการจำกัดการซื้อเจลล้างมือคนละไม่เกิน 2 ขวด

 

และแม้ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยกันเป็นพฤติกรรมปกติ ซึ่งทำให้ที่ผ่านมาผู้ที่สวมใส่หน้ากากอนามัยอาจถูกตีความว่าเป็นผู้ป่วยได้ แต่ตามท้องถนนขณะนี้เราเริ่มได้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติที่เริ่มหันมาใส่หน้ากากอนามัยบ้างแล้วแม้ไม่ได้ป่วย อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการสาธารณสุขแห่งชาติของที่นี่ระบุในคำแนะนำว่า หน้ากากอนามัยมีบทบาทสำคัญในบางสถานที่ เช่น โรงพยาบาล แต่มีหลักฐานไม่มากนักที่สนับสนุนประโยชน์ของการใช้หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

 

ภาพการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองคาร์ดิฟฟ์ เริ่มมีผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

 

กลับมาดูภาพรวมการรับมือของรัฐบาลกันบ้าง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แถลงข่าวร่วมกับ ศาสตราจารย์คริส วิตตี ประธานที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และเซอร์​แพทริก วัลลานซ์ ประธานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรการรับมือกับโควิด-19 ของภาครัฐ ศาสตราจารย์คริสยังเปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับโควิด-19 ภายใน 10-14 วันนี้ โดยข้อแนะนำใหม่นี้ ถ้ามีสัญญาณของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือมีไข้ แม้จะไม่มาก ก็จะถูกขอให้แยกตัวเองออกไป 7 วัน

 

นอกจากนี้จอห์นสันยังยืนยันว่า ขณะนี้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในระยะ ‘จำกัดการระบาด’ แต่กำลังเตรียมการอย่างรอบด้านเพื่อจะเคลื่อนไปสู่ระยะ ‘ชะลอการระบาด’ เขายังย้ำถึงความสำคัญที่รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการอย่างถูกต้องและถูกเวลา และจะต้องไม่ทำสิ่งใดก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีหรือให้ผลดีเพียงจำกัดในทางการแพทย์ด้วย

 

ทั้งนี้สหราชอาณาจักรวางแผนปฏิบัติการรับมือโควิด-19 หรือที่เรียกกันว่า Action Plan ประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ ระยะจำกัดการระบาด ระยะชะลอการระบาด ระยะวิจัย และระยะบรรเทาผลกระทบ บางมาตรการก็เริ่มดำเนินการไปแล้วแม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศเข้าสู่ระยะที่เกี่ยวข้องก็ตาม

 

เราลองมาดูกันว่าแต่ละระยะ เขาวางมาตรการกันไว้อย่างไร

 

ระยะจำกัดการระบาด ซึ่งจอห์นสันยืนยันว่าสหราชอาณาจักรยังอยู่ในระยะนี้

หน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในสหราชอาณาจักรจะออกแผนรับมือและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อตรวจหาและแยกผู้ป่วยรายแรกๆ ทันทีที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในประเทศ

 

มีการยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขกับการขนส่งทางเรือ นอกจากนี้เที่ยวบินที่บินตรงมายังสหราชอาณาจักรจากบางประเทศ ตลอดจนเรือที่มาจากท่าเรือต่างชาติต้องมีการแสดงตนเพื่อรับรองสถานะทางสุขภาพของผู้โดยสาร

 

กระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ ตลอดจนหน่วยกิจการพรมแดนจะช่วยเหลือในการส่งตัวพลเมืองของสหราชอาณาจักร รวมถึงผู้ติดตามที่ได้รับผลกระทบอยู่ในต่างแดนเพื่อกลับประเทศ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติที่อยู่ในสหราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้อยู่อาศัยต่อไปในสหราชอาณาจักรได้

 

บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อาจมีอำนาจในการกักตัว สั่งการบุคคลในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือสงสัยว่ามีไวรัส จำกัดกิจกรรมของบุคคลที่ถูกพบว่าเป็นโรค หรือมีการสัมผัสกับโรค รวมถึงการห้ามเข้าและอยู่ในสถานที่ใดๆ หรือสั่งให้บุคคลเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ทั้งนี้ อำนาจเหล่านี้อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

 

มีการซักซ้อมแผนในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้ป่วยรายแรกๆ จะได้รับการดูแลจากหน่วยเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับกรณีเช่นนี้ ซึ่งจะใช้ชั้นตอนการควบคุมการระบาดที่เชื่อถือได้และผ่านการทดสอบแล้วเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส แต่หากจำเป็นก็จะต้องย้ายจากหน่วยเฉพาะทางไปยังหน่วยบริการทั่วไปในโรงพยาบาล และเมื่อพบการติดเชื้อรายใหม่ก็จะใช้ขั้นตอนการควบคุมการระบาดในลักษณะเดียวกัน

 

สหราชอาณาจักรจะมีการสำรองยาและเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดไวรัส สต๊อกของยาและเวชภัณฑ์เหล่านี้จะมีการตรวจสอบเป็นรายวัน และสามารถเพิ่มสต๊อกได้หากจำเป็น

 

มีการให้คำแนะนำกับพลเมืองสหราชอาณาจักร เพื่อการตัดสินใจก่อนการเดินทาง รวมถึงสิ่งที่ต้องทำหากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระหว่างการเดินทาง และมีการให้คำแนะนำไปยังนายจ้าง หน่วยงานด้านการยุติธรรม (เช่น เรือนจำและหน่วยคุมประพฤติ) หน่วยงานด้านการศึกษา ตลอดจนหน่วยบริการทางสังคมสำหรับผู้ใหญ่ด้วย

 

สำนักงานการค้าต่างประเทศทั่วโลกจะสนับสนุนบริษัทของสหราชอาณาจักรในการรับมือกับความปั่นป่วนอันเกิดจากโควิด-19 ขณะที่หน่วยตอบสนองภาวะวิกฤตของกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพจะทำงานกับสถานทูตอังกฤษทั่วโลกเพื่อให้การช่วยเหลือชาวสหราชอาณาจักรที่อยู่ในต่างประเทศและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการกักตัวและแยกตัวเองสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง

 

ระยะชะลอการระบาด มีเป้าหมายเพื่อชะลอการระบาดในช่วงที่มีอัตราการระบาดสูงสุดให้ไปอยู่ในช่วงที่สามารถรับมือได้ง่ายขึ้น เช่น ในฤดูร้อน

 

โดยหลายมาตรการจากระยะจำกัดการระบาดยังคงจะถูกใช้ต่อไป ซึ่งจะมีการเพิ่มการรณรงค์ด้านสุขอนามัย เช่น การล้างมือ หรือมาตรการ ‘Catch it, Bin it, Kill it’ ซึ่งรณรงค์ให้ประชาชนพกกระดาษทิชชู่ และป้องกันละอองจากการไอหรือจาม จากนั้นให้ทิ้งลงถังขยะ ตามด้วยการล้างมืออย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยอยู่บ้านตลอดระยะการเจ็บป่วยนั้น ซึ่งขณะนี้ก็มีการรณรงค์ในลักษณะนี้อยู่แล้ว

 

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาใช้มาตรการเพื่อเพิ่มการแยกตัวของประชาชน เช่น การสั่งปิดสถานศึกษา การกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่บ้าน หรือลดจำนวนการชุมนุมขนาดใหญ่ แต่มาตรการเหล่านี้ต้องประเมินผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจก่อนนำมาใช้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

 

 

การรณรงค์ ‘Catch it, Bin it, Kill it’ ของหน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักร

 

ระยะวิจัย มีการดำเนินหลายมาตรการไปแล้ว ได้แก่ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยหลายหน่วยงานเพื่อสนับสนุนและประสานงานการวิจัยระหว่างการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้หน่วยบริการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรยังร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วโลกในการพัฒนาระบบทดสอบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อนำไปใช้ในประเทศ

 

มีการวิเคราะห์ข้อมูล สร้างแบบจำลอง และพัฒนาเครื่องมือในเชิงคำนวณเพื่อค้นหาข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคติดต่อ ซึ่งรวมถึงโควิด-19 นำโดย Imperial College ในกรุงลอนดอนและนักวิชาการกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนการวิจัยเพื่อรับมือและตอบสนองกับการระบาดของโควิด-19 นำโดย King’s College ในกรุงลอนดอน

 

รัฐบาลประกาศให้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 20 ล้านปอนด์ผ่านกระทรวงสาธารณสุข ในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันแห่งชาติว่าด้วยการวิจัยสุขภาพ กับหน่วยวิจัยและนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อหาโครงการพัฒนาวัคซีน การวินิจฉัย การรักษา หรือเพื่อการหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 และยังสัญญาว่าจะให้อีก 20 ล้านปอนด์กับองค์กรพันธมิตรด้านนวัตกรรมเพื่อการเตรียมความพร้อมกับโรคระบาด (CEPI) เพื่อพัฒนาวัคซีนใหม่ที่ใช้ต่อสู้กับโรคร้ายในโลก ซึ่งรวมถึงวัคซีนสำหรับโควิด-19 ด้วย

 

ทั้งนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในอนาคตด้วย

 

ระยะบรรเทาผลกระทบ ตัวอย่างมาตรการ อาทิ หน่วยบริการทางสังคมและสุขภาพ จะทำงานร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลและกลับไปอยู่บ้าน

หน่วยบริการฉุกเฉิน อาทิ ตำรวจหรือกู้ภัย จะบังคับใช้แผนงานเพื่อความต่อเนื่องของภารกิจ เพื่อประกันความต่อเนื่องในการทำภารกิจสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจมีการสูญเสียกำลังพลและเจ้าหน้าที่ และตำรวจจะเน้นการตอบสนองต่ออาชญากรรมร้ายแรงและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม เช่นเดียวกับหน่วยบริการสุขภาพและหน่วยบริการสังคม ซึ่งจะใช้แผนงานเพื่อความต่อเนื่องของภารกิจเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบที่เกิดกับสังคมและห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

 

สำหรับภาคธุรกิจที่ปัญหาการหมุนเวียนเงินทุน สำนักงานสรรพากรและศุลกากรมีมาตรการบรรเทาผลกระทบให้เป็นรายกรณีไปหากไม่สามารถชำระภาษีได้ตามกำหนด

 

นอกจากนี้จะมีการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยลดการป้องกันในภาพใหญ่ที่อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่การระบาดเกิดขึ้นแล้วอีกต่อไป แล้วนำทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ไปทำหน้าที่อื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

 

จะมีการบริหารสต๊อกยาและเวชภัณฑ์ เช่น เสื้อผ้าสำหรับป้องกันเชื้อ เพื่อจัดสรรไปยังหน่วยบริการสาธารณสุข หน่วยบริการสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ที่เหมาะสม

หากจำเป็นอาจมีการพิจารณาออกกฎหมายเพื่อให้ระบบและบริการต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

 

ปิดท้ายกันที่เสียงเรียกร้องของผู้คนที่นี่ที่ดังกระหึ่มตรงไปยังรัฐสภาและรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 เรื่องแรกที่มีผู้ลงชื่อเรียกร้องเกือบ 137,000 คนแล้ว (ณ เวลา 03.00 น. ของวันที่ 11 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น) คือการขอให้ผู้ประกอบอาชีพแบบจ้างตนเอง (Self-Employed) ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 15 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในสหราชอาณาจักร มีสิทธิ์ได้รับเงินลาป่วยตามกฎหมายในกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอีกเรื่องที่มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 234,000 คน คือข้อเรียกร้องให้มีการสั่งปิดโรงเรียนและวิทยาลัยโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ข้อเรียกร้องที่มีผู้ลงชื่อเกิน 10,000 คน จะได้รับการตอบสนองในทางใดทางหนึ่งจากรัฐบาล และหากเกิน 100,000 คน จะต้องถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งทั้งสองข้อเรียกร้องนี้ล้วนเข้าข่ายถึงมือรัฐสภาแล้วทั้งสิ้น

 

รัฐสภาจะตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้หรือไม่ และรัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน จะนำสหราชอาณาจักรฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้ดีเพียงใด คงต้องรอดูกันต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising