คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความร่วมมืออย่างยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค กับ Oxford Nanopore Technologies จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีจีโนมิกส์สำหรับการแพทย์ในประเทศไทย
หมุดหมายสำคัญของวงการแพทย์ จีโนมิกส์ และเศรษฐกิจไทย
Anna Pearson อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่มีมายาวนาน โดยต่างเห็นศักยภาพในการพัฒนาด้านการแพทย์ให้ก้าวสู่ความเป็นสากล ซึ่งความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และอุดมศึกษา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก
Anna Pearson อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นแนวหน้าในการศึกษาด้านจีโนมเพื่อพัฒนาวงการแพทย์มาช้านาน ถือเป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนาการรักษาและการวิจัยด้านการแพทย์ ทำให้ป้องกันและรักษาแบบ Personalized มากขึ้น
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวด้านจีโนมมาก ความร่วมมือนี้จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยทั้งด้านมะเร็ง ความปลอดภัยด้านอาหาร และยังเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab
Zoe McDougall SVP Corporate Affairs แห่ง Oxford Nanopore Technologies กล่าวว่า ความร่วมมือจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาหลากหลายด้าน ทั้งด้านมะเร็ง ระบบพันธุกรรมมนุษย์ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกได้มากมาย
Zoe McDougall SVP Corporate Affairs แห่ง Oxford Nanopore Technologies
Lei Tong, Associate Director of Clinical Sales Specialists กล่าวว่า ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นครั้งนี้จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานข้ามสาขาวิชา เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาโลกให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการเห็นภาพใหญ่และศึกษาด้านจีโนมอย่างลึกซึ้ง สามารถถอดรหัสพันธุกรรมและลำดับจีโนมได้ในทุกความยาวและความเร็ว ทั้งยังมีการเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงได้ง่ายขึ้น
Lei Tong, Associate Director of Clinical Sales Specialists
‘จีโนมิกส์’ คืออะไร
จีโนมิกส์เป็นการศึกษาถึงจีโนมและรหัสพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต การนำความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพ เพื่อให้การรักษาโรคมีความแม่นยำและตรงกับแต่ละบุคคลมากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากการวิเคราะห์ลำดับเบสของดีเอ็นเอ
เทคโนโลยีจีโนมิกส์ใช้ถอดรหัสพันธุกรรม ยกระดับการแพทย์ขั้นสูง
การใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ในการแพทย์เปรียบเสมือนการมีคู่มือส่วนตัวในการดูแลสุขภาพ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมมาช่วยในการวางแผนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จีโนมิกส์สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้การแพทย์และเศรษฐกิจไทย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์นี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมจีโนมิกส์ไทยไปสู่ระดับสากล
เทคโนโลยีของ Oxford Nanopore Technologies ช่วยพลิกโฉมการวิจัยด้านการแพทย์ การศึกษาด้านสุขภาพและการแพทย์ได้ในหลากหลายมิติ เช่น
- โรคมะเร็ง
การถอดรหัสพันธุกรรมอย่างละเอียดสนับสนุนการรักษาเฉพาะบุคคล เพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
- โรคติดเชื้อ
การถอดรหัสพันธุกรรมแบบเรียลไทม์ช่วยตรวจจับและวิเคราะห์เชื้อโรคอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
- โรคหายาก
เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงจะถอดรหัสแบบยาว ช่วยระบุความผิดปกติที่วิธีการเดิมไม่สามารถตรวจพบ สนับสนุนการวินิจฉัยและพัฒนาการรักษาเฉพาะบุคคล
- โรคที่มีความซับซ้อน
เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม การถอดรหัสพันธุกรรมช่วยพัฒนากลยุทธ์ป้องกันและรักษาเฉพาะบุคคล
- เภสัชพันธุศาสตร์
ข้อมูลพันธุกรรมสนับสนุนการใช้ยาที่เหมาะสม ลดผลข้างเคียง และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ฉายภาพให้เห็นว่า พันธุกรรมมะเร็งในประเทศไทย เฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกมีมากเกือบ 4,600 ราย
ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การเข้ามาของ Oxford Nanopore Technologies จะทำให้การแพทย์ไทยสามารถระบุพันธุกรรมมะเร็ง ตรวจจับ และป้องกันการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วก่อนจะเกิดโรค เครื่องมือการถอดรหัสพันธุกรรมแบบยาวช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ โดยระบุการกลายพันธุ์ก่อนเกิดโรค เพิ่มความแม่นยำในการจำแนกสายพันธุ์ และวิเคราะห์ด้านจิโนมิกส์ได้กว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์ของ Oxford Nanopore Technologies ยังพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพและการแพทย์ แต่ยังรวมไปถึงการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ เช่น
- ชีวสารสนเทศศาสตร์และการวิเคราะห์ข้อมูล
สามารถเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ด้วยโปรแกรมฝึกอบรมเฉพาะทาง เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงในการถอดรหัสพันธุกรรมและการวิเคราะห์ข้อมูลช่วยสร้างพื้นฐานด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการเติบโตของวงการจีโนมิกส์ในประเทศ
- เกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้านพืช
โซลูชันการถอดรหัสพันธุกรรมช่วยวิเคราะห์จีโนมของพืชได้ละเอียดแม่นยำ ส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรค และปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
- จีโนมสัตว์
การถอดรหัสพันธุกรรมช่วยสนับสนุนโครงการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ในปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อพัฒนาลักษณะที่ต้องการ ปรับปรุงสุขภาพสัตว์ และเพิ่มผลผลิต ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำฟาร์มสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
- การพัฒนาการศึกษาและงานวิจัย
เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยสามารถดำเนินการวิจัยจีโนมขั้นสูง โดยมีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายและใช้งานสะดวก กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจีโนมิกส์และชีวสารสนเทศศาสตร์
- การเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม
เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพด้านชีวเทคโนโลยี ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมนวัตกรรม ความร่วมมือนี้มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
เทคโนโลยีจีโนมิกส์ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยหลากหลายมิติ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้จีโนมิกส์ในประเทศไทย
ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Siriraj Long-read Lab หรือ Si-LoL ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงในการถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูงจาก Oxford Nanopore Technologies ซึ่งเข้ามายกระดับการวิจัยการแพทย์ในหลากหลายภาคส่วน
การใช้เทคโนโลยีจาก Oxford Nanopore Technologies จะยกระดับทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการให้ข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และรวดเร็ว
ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ธิดาทิพย์ กล่าวถึงความสำเร็จหนึ่งจากการใช้เทคโนโลยีจาก Oxford Nanopore Technologies คือการให้ความร่วมมือในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีปฏิบัติการ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab รวมถึงการถอดรหัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ใช้เวลาเพียง 16 ชั่วโมง และแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีของ Oxford Nanopore Technologies ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมอันรวดเร็วนี้ทำให้ Siriraj Long-read Lab สามารถนำข้อมูลไปทำแดชบอร์ดจีโนม SARS-CoV ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
การถอดรหัสพันธุกรรมของเทคโนโลยีจีโนมิกส์ช่วยคนไทยในช่วงการแพร่ระบาด
ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและ Oxford Nanopore Technologies ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับวงการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพของไทยสู่มาตรฐานสากล ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีจีโนมิกส์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และสิ่งแวดล้อม จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพของภูมิภาค โดยมีบริษัท ไบโอดีไซน์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย Oxford Nanopore Technologies ในประเทศไทย เป็นพันธมิตรสนับสนุนการนำเทคโนโลยีระดับโลกนี้มาประยุกต์ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์ไทย พร้อมสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
เยี่ยมชม Oxford Nanopore Technologies ผู้นำด้านเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูงได้ที่ www.nanoporetech.com
ทำความรู้จัก Siriraj Long-read Lab หรือ Si-LoL ได้ที่ https://www.longreadlab.com/
เยี่ยมชมบริษัท ไบโอดีไซน์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากบริษัท Oxford Nanopore Technologies ประจำประเทศไทย ได้ที่ https://www.biodesign.co.th/
บทความที่เกี่ยวข้อง: