×

นั่งคุยกับ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ลูกพี่ผู้ให้กำลังใจผู้อื่นบนพื้นฐานของ #กำลังใจที่เข้าใจ [Advertorial]

15.11.2019
  • LOADING...
เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจโบกมือลางานนิตยสาร ย้ายบ้านมาทำงานที่เดอะสแตนดาร์ดตั้งแต่ในวันที่ยังไม่มีออฟฟิศเป็นหลักเป็นแหล่งด้วยซ้ำ คือการที่เราจะได้ร่วมงานกับ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการที่เราเคยได้ยินเสียงเล่าอ้างถึงมุมมองสดใหม่ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยากทำให้วงการสื่อออกมามีความสร้างสรรค์ และส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับผู้อ่านได้ มันคือความรู้สึกที่ทำให้เรากระตือรือร้นอยากจะได้ทำงานกับเขา แต่คุณเชื่อไหมว่า ตลอด 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา เราแทบไม่ค่อยได้คุยกันจริงจังเลย…

 

อาจด้วยหน้าที่การงานที่เราอาจจะยังไม่ได้โคจรมาเจอกัน หรือภาระอื่นๆ ที่เราต่างต้องไปรับผิดชอบในแต่ละส่วน จึงทำให้วันหนึ่งที่เราเจอกัน ถ้าไม่ใช่ประชุม ก็เจอกันตรงเครื่องบดกาแฟเคาน์เตอร์ชั้นล่างสุด ทักทายกันพอประมาณ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ให้กำลังใจน้องๆ พอหอมปากหอมคอ ก่อนที่ ‘พี่เคน’ ของน้องๆ จะรุดหน้าไปทำงานของตัวเอง จนหลายๆ ครั้งมันก็เกิดคำถามนะว่า คนที่ทำงานตลอดเวลาอย่างพี่เคน เขาจะเคยเหนื่อยบ้างไหม ทวีตบ่นเรื่องงานบ้างไหม หรือง่ายที่สุดคือ ตัวพี่เคนเองเคยอยากได้กำลังใจและความเข้าใจจากลูกน้องของเขาบ้างไหมนะ?

 

ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้นั่งคุยกับพี่เคนอย่างสบายๆ ในฐานะเจ้านาย หรือ ‘ลูกพี่’ ที่เขานิยามตัวเองด้วยคำนั้นด้วยตัวเองกับเรา ในเช้าวันทำงาน เรานัดนั่งจิบกาแฟพร้อมจับเข่าคุยในเรื่องง่ายๆ ที่รุ่มรวยไปด้วยความรู้สึก พลังงานที่ดี และการส่งต่อแนวคิดที่สำคัญที่ทำให้ ‘พี่เคน’ ยังเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีเสมอต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน

 

เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

 

ดูเหมือนพี่เคนจะเป็นคนที่จัดการกับชีวิตและความรู้สึกของตัวเองได้อย่างดี ด้วยวัยและประสบการณ์ พี่ยังมีมุมเล็กๆ ที่อยากได้กำลังใจจากคนอื่นบ้างหรือเปล่า

มีครับ ทุกคนมี อันนี้พูดจริงๆ ไม่ว่าใครหรือทุกๆ คน ไม่ว่าเขาจะรักงานที่ตัวเองทำขนาดไหน อย่างพี่เองดูจากข้างนอกจะดูว่ามีแพสชัน มีแรงผลักดัน แต่ลึกๆ มันก็มีบางช่วงบางตอนที่เราก็ต้องการกำลังใจ ซึ่งกำลังใจที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่กำลังใจขนาดที่เดินตรงเข้ามาแล้วถามว่า “เป็นอะไรมากไหม” กำลังใจสำหรับเราก็คือ อาจจะแค่ตบไหล่แล้วก็บอกว่า “สิ่งที่ทำอยู่ดีแล้ว” “สิ่งที่ทำอยู่ทำเต็มที่แล้วนะ”

 

เพราะกำลังใจมันไม่ใช่ว่าจะดึงเราขึ้นมาจากความทุกข์หรือแย่ มันเหมือนเป็นการบอกเราสักนิดหนึ่งว่า “มีคนเห็นคุณค่าของเราอยู่นะ” กำลังใจมันเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงเล็กๆ เพื่อช่วยให้อะไรที่มันฝืดๆ อยู่ เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น เชื่อเถอะว่า ต่อให้เป็นใครที่แม้จะคิดบวกแค่ไหนก็ตาม หรือคนที่จะดูเหมือนว่าเป็นคนมีกำลังใจในตัวเองสูง พวกเขาก็ยังต้องการสิ่งเหล่านี้สักเล็กน้อยก็ยังดี

 

วิธีการให้กำลังใจผู้อื่นในแบบ #กำลังใจที่เข้าใจ ของเคน นครินทร์ เป็นอย่างไร

เรามักจะถามเขาก่อนว่าปัญหาคืออะไร หากเขาต้องการกำลังใจนะ พี่เชื่อว่าการที่ให้เขาได้สำรวจตัวเอง ได้สะท้อนความคิดของตัวเองออกมามันดีกว่าการไปบอกเขาทื่อๆ หรือไปสั่งเขา มันไม่มีใครอยากให้ใครมาชี้หน้าด่า ชี้หน้าบอกหรอก และเราก็จะดูว่าไอ้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขานี่อยู่ในระดับไหน เพราะพี่เชื่อว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางทีสมมติว่าใครสักคนกำลังรู้สึกดิ่งมาก รู้สึกแย่มาก เขาอาจจะไม่ต้องการอะไรเลย เราอาจจะแค่มีคำถามสั้นๆ ว่า “มีอะไรให้เรารับฟังไหม” ซึ่งเป็นระดับที่ง่ายสุด อาจจะแค่ถามว่า “อยากให้เราอยู่ด้วยไหม” อะไรแบบนี้

 

อีกระดับหนึ่งคือ รู้สึกแย่ไม่มาก และเกิดขึ้นมาด้วยความไม่แน่ใจ เราก็ต้องเริ่มต้นจากการเข้าไปถามว่า เกิดอะไรขึ้น เป็นอะไร ไม่ใช่พุ่งตัวไปว่า “สู้ๆ นะ” เราจะถามเขาก่อนว่า อยากเล่าไหม ถ้าเขาอยากเล่า เขาก็จะเล่ามาเองว่าปัญหามันคืออะไร สมมติว่าถ้ามันเป็นเรื่องงาน เราต้องค้นหาว่าปัญหามันเกิดจากอะไร และลองย้อนกลับมามองตัวเองว่า ถ้าเป็นตัวเองจะแก้ไขอย่างไร

 

ระดับสุดท้าย ถ้าหากว่าเขาต้องการคำแนะนำ เราก็จะเข้าไปบอกว่า ถ้าเป็นพี่จะอย่างไร พี่จะทำแบบนี้ แบบนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องงาน การจัดการเวลา ความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงาน แต่ถ้าเป็นเรื่องความรักบอกตรงๆ ว่าไม่ค่อยถนัด เพราะตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอด (หัวเราะ)

“เรามักจะถามเขาก่อนว่าปัญหาคืออะไร พี่เชื่อว่าการที่ให้เขาได้สำรวจตัวเอง ได้สะท้อนความคิดของตัวเองออกมา มันดีกว่าการไปบอกเขาทื่อๆ หรือไปสั่งเขา”

ด้วยภาระงานและประสบการณ์ในปัจจุบันที่ทำให้พี่เคนสามารถรับมือกับการแก้ปัญหาเหล่านี้ แล้วเคนในสมัยก่อนล่ะ รับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ต้องบอกว่า เมื่อก่อนพี่เป็นคนแย่มาก แต่ด้วยตำแหน่ง ด้วยบทบาท ภาระหน้าที่ที่เราเป็นผู้นำ มันเลยต้องใช้ฟังก์ชันเหล่านี้มากขึ้น ถ้าเมื่อก่อน พูดตรงๆ ว่าเป็นคนไม่ดี คือเป็นคนประเภทอยู่กับตัวเอง ทะเยอทะยานตัวเอง ไม่ใช่คนที่จะไปปลอบประโลมหรือให้กำลังใจ ไม่ค่อยมีบุคลิกอย่างนั้นสักเท่าไร แต่ว่ามันฝึกได้นะ จริงๆ ลึกๆ เป็นคนที่อ่อนไหว แต่ไม่ค่อยได้เอามาใช้เท่าไร

 

พอเริ่มมาทำงานที่เป็นหัวหน้าคนจริงๆ เราเริ่มรู้สึกว่า มีคนต้องการให้เราเป็นที่พึ่ง อย่างน้อยๆ เขาก็อยากรู้ว่าในฐานะผู้นำ เราจะพาเรือลำนี้ไปไหน และยิ่งมารู้สึกจริงๆ ตอนที่ THE STANDARD เจอวิกฤตหลายๆ ครั้ง เราเข้าใจเลยว่า คนที่ควรจะเป็นคนแรกที่ออกมาพูด ออกมาปกป้อง หรือออกมาให้กำลังใจ ควรจะเป็นผู้นำ ก็เลยฝึกกับตัวเองว่า เราต้องมีความเป็นผู้นำ พร้อมที่จะปกป้องลูกน้อง ให้กำลังใจเขา เหมือนช่วยสนับสนุนเขาในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่ทำให้เรื่องงานของเขาดีขึ้น แต่หมายถึงทุกๆ เรื่องในชีวิตที่อย่างน้อยๆ ลูกน้องก็มีเราเป็นคนที่คอยซัพพอร์ต เราต้องให้กำลังใจเขาแบบเข้าใจปัญหาของเขาอย่างแท้จริง

 

พี่ชอบคำภาษาไทยนะที่ใช้คำว่า ‘ลูกน้อง’ คนไทยใช้คำนี้ และก็มีคำว่า ‘ลูกพี่’ และพี่ว่าคนอื่นเขาก็สามารถมองเราเหมือนลูกได้เหมือนกันนะ เหมือนให้ความรักเหมือนคนเป็นพ่อเป็นแม่ ให้ความเอาใจใส่คนอื่นๆ เหมือนเป็นลูกคนหนึ่ง พี่ใช้หลักการง่ายๆ ว่า ลูกน้องก็เหมือนลูกเราทุกคน แม้บางเรื่องเขาจะผิด แต่เราก็คงไม่ตีเขาแรงขนาดนั้น เราต้องถามเขาหน่อยไหม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทำได้ไม่ดีทั้งหมดเหมือนกัน มีเหวี่ยงบ้างนิดหน่อย หากว่าปัญหานั้นมันซ้ำแล้ว แต่ก็พยายามลดอารมณ์ฉุนเฉียวแบบนั้นลง เพราะพี่เชื่อเสมอว่า คนเรามันไม่เหมือนกัน

 

เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

 

ดูเหมือนว่าพี่เคนจะเป็นคนที่ค่อนข้างใจเย็น พร้อมประนีประนอมอยู่เสมอ พี่คิดว่ามันมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

‘ใจเย็น’ กับ ‘ใจไม่นิ่ง’ มันต่างกัน ใจเย็นมันหมายความว่า หากเจอแรงกระแทกเราสามารถทำให้มันเย็นลงก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นใจที่ไม่นิ่ง อ่อนปวกเปียก อันนี้เราว่าไม่ดี เพราะเราไม่ใช่คนแบบนั้น เราไม่ใช่คนที่อะไรก็ได้ หรือยอมไปหมด ก็ตรงไปตรงมา ซึ่งคนที่เป็นผู้นำคอยให้กำลังใจคน ต้องเป็นคนตัดสินใจเด็ดขาด มันต้องเลือก ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่มีเรื่องไหนที่สามารถแทงกั๊กได้ แต่ก็มีตัดสินใจผิดพลาดบ้าง ซึ่งสำหรับการทำงานแล้ว การเห็นอกเห็นใจกันเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 เลยนะ พี่ว่ามันสำคัญมาก เพราะว่าทุกวันนี้คนมันมีหลากหลายความคิดมากในยุคปัจจุบัน แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองเยอะมาก และเทคโนโลยีก็ส่งเสริมให้พฤติกรรมเปลี่ยนเร็วด้วย

“พี่ใช้หลักการง่ายๆ ว่า ลูกน้องก็เหมือนลูกเราทุกคน แม้บางเรื่องเขาจะผิด แต่เราก็คงไม่ตีเขาแรงขนาดนั้น เราต้องถามเขาหน่อยไหม”

#กำลังใจที่เข้าใจ ในชีวิตพี่เคนตอนนี้คืออะไร

ถ้าในเรื่องงาน กำลังใจสำคัญคือคนอ่านนะ คือคนที่รับสารเราไป แม้แต่คนอ่าน คนฟัง หรือแม้แต่ลูกค้า ใครก็ได้ที่เห็นเราแล้วมีฟีดแบ็กกลับมา ไม่ว่าจะในทางที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเขาประสงค์ดี นั่นคือกำลังใจของเรา ซึ่งเขาจะวิจารณ์เราก็ได้นะ สิ่งเหล่านี้มันหล่อเลี้ยงให้เราอยากจะตื่นมาทำงาน โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่มีคนเดินเข้ามาบอก ส่งอีเมลเข้ามาคุย ส่งอินบ็อกซ์มาหา บางคนไม่ได้ส่งมาแค่ขอบคุณ แต่มองเราเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา เข้ามาปรึกษาในแง่เรื่องธุรกิจ เรื่องความเป็นผู้นำ ซึ่งเราก็เป็นกำลังใจให้พวกเขานะ

 

คือเราก็เป็นแค่คนที่ได้ทำงานที่เรารัก โดยที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดอะไร เราก็ชอบมัน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนมาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ พี่โคตรเข้าใจพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) เลยว่าทำไมเขาถึงรักแฟนเพลงขนาดนั้น เข้าใจนักฟุตบอลว่าทำไมถึงรักแฟนบอล ว่านี่คือเขาแค่ทำในส่ิงที่เขารัก ไม่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ นะ แม่บ้าน คนทำบัญชี หรือ HR ที่ได้ทำงานที่เขารัก แต่บังเอิญว่า สิ่งที่เราทำมันอยู่ในที่สาธารณะ แต่หลังๆ มาจะพยายามนำคำชื่นชมเหล่านั้นมาเก็บไว้ แต่ต้องไม่ให้เราหลงตัวเอง ยินดีในระดับที่พอดี ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ได้พัฒนาตัวเองไปต่อ

 

ส่วนกำลังใจที่เข้าใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ในเวลาที่เราเหนื่อย ท้อแท้ ก็มีบ้าง คนรอบข้างเรานี่แหละ ครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน เขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเราทั้งหมด เขาก็ฟังเรา หรือบางทีเขาอาจจะพูดอะไรแย่ๆ ออกมาก็ได้ แต่อย่างน้อยเขาประสงค์ดีกับเรา แม้แต่เพื่อนร่วมงาน ก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา รู้ว่าเราเป็นคนยังไง รู้ว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน

 

เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

 

การให้กำลังใจบนพื้นฐานของความเข้าใจในมุมมองของเคน นครินทร์

สังคมไทยตอนนี้ต้องการสิ่งนี้มากนะครับ เราควรให้ความสำคัญกับการให้กำลังใจแก่กัน มอบกำลังใจให้ใครก็ได้ หรือคนที่ไม่รู้จักก็ได้ ที่ก่อนจะให้กำลังใจแก่กัน เราต้องเริ่มต้นมาจากพื้นฐานของความเข้าใจ คือเราอาจจะไม่เข้าใจอีกฝั่งเลยก็ได้ กับคนที่คิดไม่เหมือนกัน ความคิดเห็นต่างกัน ต่างเพศ ต่างวัย ต่างงาน ต่างอาชีพ ต่างพรรค มันเป็นเรื่องปกติทั่วโลก เพราะทุกคนมีความเป็นตัวเองกันสูงมาก ยิ่งต่างต้องเข้าใจให้มากที่สุด ถ้าเข้าใจแล้ว เราก็สามารถให้กำลังใจในสิ่งที่เราเข้าใจเขามากขึ้น ส่งต่อกันไป ถ้าท้ายที่สุดบางทีไม่ต้องถึงกับเข้าใจก็ได้ ถ้ามันยากมากเหลือเกินที่จะเข้าใจ อย่างน้อยๆ เราเคารพซึ่งกันและกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา มอบกำลังใจให้แก่กันจะดีกว่าหรือเปล่า

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

FYI
  • ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #กำลังใจที่เข้าใจ กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยการส่งต่อกำลังใจถึงคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ ผ่านทาง bit.ly/36otE9K
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising