×

‘สิงห์ เอสเตท’ เตรียมแตกไลน์ธุรกิจสู่นิคมอุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้า ทุ่มเงินลงทุนก้อนแรก 3.8 พันล้าน หวังดันรายได้แตะ 2 หมื่นล้านใน 3 ปี

10.03.2021
  • LOADING...
‘สิงห์ เอสเตท’ เตรียมแตกไลน์ธุรกิจสู่นิคมอุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้า ทุ่มเงินลงทุนก้อนแรก 3.8 พันล้าน หวังดันรายได้แตะ 2 หมื่นล้านใน 3 ปี

บมจ. สิงห์ เอสเตท หรือ S แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2564 ได้มีมติอนุมัติเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ของบริษัท ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัท เอส.ไอเอฟ. จำกัด (S.IF.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่ ด้วยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมี S ถือหุ้น 99.99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด เข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด (PIC) ในสัดส่วน 100% และเข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท อ่างทองเพาเวอร์ จำกัด (ATP)ในสัดส่วน 30% 

 

รวมทั้งมีการได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ (Option) ไม่น้อยกว่า 30% ในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด จาก Prime Harvestment Ltd. รวมการเข้าลงทุนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.8 พันล้านบาท 

 

โดยรายการแรก S.IF. จะเข้าซื้อหุ้นสามัญของ PIC จำนวน 5 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 100% มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมของ PIC โดย PIC เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดประมาณ 1,790.56 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหลักฟ้าและตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามประกาศคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยกำหนดมูลค่าชำระราคาค่าหุ้นสามัญเป็นเงินจำนวนประมาณ 510 ล้านบาท ซึ่งแบ่งชำระตามข้อกำหนดการชำระเงิน (Milestone Payment)

 

นอกจากนี้ PIC ยังมีเงินที่กู้ยืมจากบุญรอด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 640 ล้านบาท โดย PIC คาดว่าจะชำระเงินคืนให้แก่บุญรอดครบถ้วนภายในเดือนธันวาคม 2570 ซึ่งจะทำให้ดีลนี้มีต้นทุนทางการเงินเกิดขึ้นสูงสุดไม่เกิน 185 ล้านบาท 

 

โดยกลุ่มบริษัทจะต้องใช้งบลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวภายหลังการซื้อหุ้นแล้วเสร็จเป็นเงินจำนวนประมาณ 1,726 ล้านบาท รวมมูลค่าการได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ PIC และการพัฒนาโครงการทั้งหมดประมาณ 2,421 ล้านบาท

 

รายการที่สอง S.IF. จะเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด (ATP) จำนวน 450,000 หุ้น จากทั้งหมด 1.5 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาท จาก Whitefords United Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสิงคโปร์ และมีบุญรอดเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมด

 

ATP เป็นผู้ประกอบธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และไอน้ำที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) อายุสัญญา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (COD) โดยได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 โดยกำหนดมูลค่าในการชำระราคาค่าหุ้นจากการเข้าทำรายการเป็นเงินจำนวนประมาณ 557 ล้านบาท

 

รายการที่ 3 S.IF. จะเข้าซื้อสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Option) บนมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด (BGPR 1) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด (BGPR 2) จาก Prime Harvestment Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน 

 

โดยมีมูลค่าการชำระราคาเป็นเงินรวม 15 ล้านบาท และภายหลังการใช้สิทธิตามสัญญา Option ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิสิ้นสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ทาง S.IF. จะต้องชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน 30% ให้ทั้งสองบริษัท รวมถึงต้องใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการทั้งสองอีกประมาณ 820 ล้านบาท รวมมูลค่าการทำรายการ 835 ล้านบาท

 

ทั้งสองบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EGAT อายุสัญญา 25 ปี โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4/66 ภายใต้การบริหารงานของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าทั้งสองยังมีกำลังการผลิตคงเหลือที่จะสามารถรองรับความต้องการในการใช้ไฟฟ้าหรือไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ PIC

 

ทั้งนี้ S มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำเพื่อยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจและองค์กร ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงจากแหล่งที่มาของรายได้ และฐานรายได้ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ครอบคลุมไปถึงธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยมีธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและธุรกิจให้บริการด้านสาธารณูปโภคเป็นธุรกิจที่จำเป็นในการสนับสนุนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

แหล่งเงินทุนจะประกอบด้วยเงินกู้จากสถาบันการเงิน (อยู่ในระหว่างการเจรจา) และกระแสเงินสดภายในของบริษัท ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3,378 ล้านบาท บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนของแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม

 

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 พิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ /หรือชำระคืนหนี้ รวมถึงเพื่อความจำเป็นและเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคตของบริษัท

 

นักลงทุนสัมพันธ์ S กล่าวว่า การขยับเข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าครั้งนี้เป็นไปตามแผนงานที่ S วางไว้ว่าจะมีดำเนินธุรกิจ 4 ขาหลัก ประกอบด้วย Commercial, Residential, Hospitality และ Industry 

 

โดยในช่วงแรกที่ S เริ่มก่อตั้งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ได้เริ่มต้นกับธุรกิจ Commercial และ Residential และ Hospitality ไปแล้ว และช่วงปีนี้จึงมองเป็นโอกาสในการเริ่มต้นทุนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานภายในที่เกี่ยวข้อง โดยงบลงทุนครั้งนี้รวมกันราว 3.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นเท่านั้น S มีแผนที่จะต่อยอดการเติบโตในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าอีกในอนาคต 

 

นอกจากนี้ S ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภายในนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าด้วย เนื่องจากมองว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นกระดูกสันหลังของทุกธุรกิจที่ S ดำเนินกิจการอยู่ 

 

“จากแผนงานที่แจ้งไว้ การที่เรามีขาธุรกิจครบ 4 ขาตามที่เราวางแผนไว้ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท จะผลักดันให้เกิดการเติบโตของรายได้อย่างมาก เบื้องต้นเราวางเป้าหมายรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี หรือราวปี 2566 คิดเป็นการเติบโตสามเท่าตัวจากปีที่แล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising