×

โกงเงินกองทุนเสมาฯ แผลสดระบบราชการไทย และโอกาสเด็กยากไร้ที่ต้องสูญเสีย

27.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins read
  • การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการเอง สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อความไว้เนื้อเชื่อใจภาคราชการให้กับประชาชนอย่างยิ่ง
  • มากกว่าเงินที่ควรไปถึงมือกลุ่มคนอยากไร้ นั่นคือบาดแผลและโอกาสในชีวิตของพวกเขาที่ควรได้รับสิ่งนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้สูญเสียไป
  • ความคลางแคลงใจต่อการทุจริตโกงเงินนักเรียนในครั้งนี้ คือคำถามที่ว่า ข้าราชการซี 8 คนเดียวหรือที่กล้าทำเรื่องนี้โดยลำพัง ตลอด 10 ปีที่โกงไปกว่า 88 ล้าน ยังมีผู้ร่วมขบวนการคนอื่นอีกหรือไม่ สังคมกำลังจับตาการตรวจสอบครั้งนี้อย่างเข้มข้น

หลังใช้เวลาประชุมเกือบ 4 ชั่วโมง เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ว่า นางรจนา สินที  ข้าราชการ ศธ. มีความผิดวินัยร้ายแรง ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ

 

สืบเนื่องจากกรณีที่เธอได้กระทำการทุจริตงบประมาณในโครงการใน ‘กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต’ ของกระทรวงศึกษาธิการ

 

โดยตลอดช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2561 พบว่า ได้ทำการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 88 ล้านบาท

 

ในขณะที่เงินจำนวนนี้จัดสรรไว้สำหรับให้เด็กหญิงยากไร้ เพื่อให้พวกเขามีทิศทางอนาคตด้วยการศึกษา

 

ท่ามกลางกระแสข่าวทุจริตที่ผุดขึ้นหลายเรื่องในเวลานี้ กรณี ‘โกงเงินนักเรียน’ เหมือนจะได้ตัวผู้กระทำผิดเร็วที่สุด กระทั่งนำมาซึ่งการสั่งลงโทษทางวินัยที่เด็ดขาด แต่ยังคงมีคำถามคาใจตามมาว่า ใช่ ‘รจนา สินที’ คนเดียวหรือที่กล้าทำเรื่องแบบนี้

 

จุดเริ่มต้นกองทุนเสมาฯ ก่อนพบต้นตอโกงเงินนักเรียน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศไทยมีปัญหาเชิงสังคม ในประเด็น ‘ตกเขียว’ ค่อนข้างหนัก เมื่อพ่อแม่บางส่วน ต้องการหลีกหนีจากปัญหาความยากจน ด้วยการยอมส่ง ‘ลูกสาว’ ไปหารายได้ ด้วยการค้าประเวณี ทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกหลายมิติ เช่น การค้ามนุษย์ การศึกษา โรคติดต่อทางเพศ เป็นต้น

 

สภาพความยากจนเหล่านี้ทำให้พวกเธอเลือกที่จะหันหลังให้การศึกษา เพราะไม่มีเงินที่จะเล่าเรียน บวกกับมายาคติความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงไม่ต้องเรียนมาก หรือไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้ เนื่องจากท้ายที่สุดผู้ชายก็จะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูพวกเธอเอง

 

(Facebook: Ladawan Wongsriwong)

 

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เคยอธิบายถึงสภาพดังกล่าว พร้อมกับพยายามหาทางช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และนำพวกเขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเริ่มต้นแนวคิดและลงมือทำมาตั้งแต่ปี 2536 ในจังหวัดพะเยา ก่อนที่จะนำเสนอรูปแบบดังกล่าวและสามารถผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งกองทุนเสมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้สำเร็จในปี 2542 ตามมติ ครม. ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย

 

หลังรับทราบว่ามีการทุจริตในโครงการดังกล่าว ลดาวัลลิ์ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา พบว่าทางครูได้ติดต่อขอทุนจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้รับการตอบกลับในลักษณะว่า ‘กองทุนเสมาฯ ได้ปิดไปแล้ว’

 

(ดร.อาทร จันทวิมล)

 

ขณะที่ ดร.อาทร จันทวิมล อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดเป็นกองทุนเพื่อเด็กหญิงด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้สัมภาษณ์ผ่านเดลินิวส์ว่า “ไม่คิดว่าจะมีใครกล้าทำขนาดนี้” เพราะรู้ทั้งรู้ว่ากองทุนนี้ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อะไร และตอนที่ตั้งกองทุนก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร และพิจารณาอนุมัติเงินทุน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มั่นใจว่ามาตรการวางไว้อย่างรัดกุมแล้ว แต่ก็ยังมีช่องให้ยักยอกทุจริตกันได้อีก

 

ขณะที่ครั้งหนึ่งองค์การอนามัยโลกได้ยกให้โครงการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เป็นตัวอย่างในการป้องกันเอดส์ หรือ Best Practice Innovation

 

กลิ่นโกงเหม็นโฉ่ เมื่อสอบเจอการยักยอก ด้วยฝีมือข้าราชการ

เมื่อตรวจสอบพบว่า โครงสร้างการบริหารจัดการของ ‘กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต’ ได้มีการจัดตั้งในรูปแบบ คณะกรรมการกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเอกสารเบิกเงินเหมือนกับเป็นฝ่ายธุรการ โดยทำการจัดสรรให้กับเด็กใน 4 กลุ่มคือโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์, โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราช, วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี และราชประชานุเคราะห์

 

ขณะที่ช่องโหว่ที่เปิดให้มีการทุจริตเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตามข้อมูลที่พบในปัจจุบันว่า แต่เดิมนั้นสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษาจะเป็นผู้ประสานงานผ่านเขตพื้นที่การศึกษาไปถึงโรงเรียน แต่ภายหลังเปลี่ยนหลักเกณฑ์ โดยให้สำนักงานเป็นหน่วยประสานกับโรงเรียนโดยตรง

 

สำหรับขั้นตอนการทุจริตในเงินงบประมาณกองทุนเสมาฯ ล่าสุดที่ตรวจสอบพบว่า มีเงินที่ไม่ถึงมือนักเรียนกลุ่มเป้าหมายหายไป 88 ล้านบาทนั้น ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้วตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ทำการทักท้วงการบริหารจัดการกองทุน ขณะที่การตรวจสอบทำได้เพียงการสุ่มตรวจและเฝ้าระวังเท่านั้น เนื่องจากไม่มีผู้ร้องเรียน กระทั่ง

 

5 มีนาคม 2561: สตง. ได้ตรวจพบความผิดปกติของโครงการ ในการโอนงบประมาณในปี 2559 ไปเข้าบัญชีของผู้รับรายหนึ่งที่ไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นผู้รับทุน เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมผ่านธนาคารกรุงไทยพบว่า มีความผิดปกติเพิ่มเติมอีก 8 บัญชี

 

7 มีนาคม 2561: สตง. ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ตรวจสอบความผิดปกติในกองทุนดังกล่าว

 

8 มีนาคม 2561: กระทรวงศึกษาธิการจัดแถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีพบการทุจริตในกองทุนเสมาฯ และมีการขยายผลสอบเพิ่มเติม ทำให้พบความผิดปกติในการยักยอกเงินกองทุนถึง 22 บัญชี

 

มีการตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2561 พบมีการโอนเงินกองทุนไปเข้าบัญชีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกว่า 87,993,372 บาท จากเงินกองทุนที่จัดสรรให้ 176,034,510 บาท โดยในปี 2561 นางรจนาแจ้งระบบโอนเงินกองทุนทั้งหมด 3,025,000 บาท

 

(ภาพ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

 

9 มีนาคม 2561: นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มีการยักยอกโอนเงินเข้าบัญชีพรรคพวกและญาติพี่น้องของผู้กระทำผิดกว่า 88 ล้านบาท เฉพาะปี 2560 เป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท โดยมีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง 5 คน ในจำนวนนี้เป็นข้าราชการระดับ 8 และได้รับสารภาพแล้ว 1 คน โดยเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะทำเพียงคนเดียว และได้มีคำสั่งย้ายข้าราชการทั้ง 5 คนไปปฏิบัติหน้าที่ยังหน่วยงานอื่นแล้ว

 

 

ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่า ข้าราชการระดับ 8 ของกระทรวงศึกษาธิการที่กระทำการทุจริตในเงินกองทุนคือ นางรจนา สินที ปัจจุบันอายุ 59 ปี จะเกษียณอายุราชการปี 2561 ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักกิจการพิเศษ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ประสานงานระหว่าง ศธ. กับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

โดยทำหน้าที่เป็น ผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ทำหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม จัดทำบัญชีและเอกสารเด็กเพื่อเสนอเอกสารขออนุมัติทุน

 

และพบว่า นางรจนาได้นำบัญชีของญาติพี่น้อง ครอบครัวตน และสามี แทรกแซงแทนบัญชีเด็กที่ควรได้รับทุน จากนั้นจึงโอนกลับมาบัญชีของตนเอง

 

(ภาพ: www.kruthai.info)

 

14 มีนาคม 2561: ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนิติกร นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เอาผิดกับเจ้าของบัญชี 22 บัญชี ที่รับโอนเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต รวม 88 ล้านบาท

 

(ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)

 

20 มีนาคม 2561: ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน นางรจนา สินที ในกรณีการทุจริตดังกล่าว โดยพบว่าตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2560 มีการจัดทำเอกสารยักยอกเงินกว่า 88 ล้านบาท แต่ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าเธอทำเพียงคนเดียว จะมีการขยายผลสืบสวนต่อไป

 

(ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)

 

23 มีนาคม 2561: ป.ป.ท. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จู่โจมค้นบ้านนางรจนา สินที เพื่อหาหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต

 

24 มีนาคม 2561: นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เปิดเผยว่า มีตัวเลขเงินหายไปเพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านบาท

 

26 มีนาคม 2561: คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนสำนักงานปลัด ศธ. (อ.ก.พ.สป.) พิจารณาโทษวินัยร้ายแรงนางรจนา สินที โดยมีมติเอกฉันท์ให้ไล่ออกจากราชการ

 

27 มีนาคม 2561: ตรวจพบหนังสือที่ ป.ป.ท. ส่งมาให้ ศธ.ในปี 2557 มีการชี้เเจงกรณีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีทางภาคเหนือร้องเรียนว่า สถาบันยังไม่ได้รับเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของปี 2554-2556 โดยพบว่าอดีตปลัด ศธ. สมัยนั้นได้สั่งการนางรจนา สินที ดำเนินการชี้แจงไปยัง ป.ป.ท. ภายใน 15 วัน แต่ขณะนี้ยังหาหนังสือที่ ศธ. ชี้แจงไปยัง ป.ป.ท. ไม่พบ

 

(ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)

 

โกงเงินนักเรียน บาดแผลและโอกาสที่พวกเขาต้องสูญเสีย

ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตครั้งนี้ ได้สร้างบาดแผลให้กับแวดวงข้าราชการอีกครั้ง เมื่อบุคคลในหน่วยงานที่กินภาษีประชาชนกลับมีพฤติกรรมโกงเงินประชาชนเสียเอง ซ้ำร้ายเงินจำนวนดังกล่าวคือเงินเพื่อโอกาสทางการศึกษาของผู้ยากไร้ และโอกาสที่พวกเขาควรจะได้รับกลับต้องถูกตัดทิ้งจากความโลภและเห็นแก่ได้ของคนในแวดวงการศึกษาเสียเอง ลองมาดูกันว่า ส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ถูกเปิดเผยถึงโอกาสที่สูญเสียไปมีใครบ้าง

 

 1. กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีนักเรียนพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ที่รับทุนเสมาฯ รวมทั้งหมด 254 คน โดยมีผู้ที่ได้รับเงินทุนครบเต็มจำนวนเพียง 56 คน ค้างการจ่ายทุนทั้งหมด 198 คน เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ 161 คน นักศึกษาที่จบแล้วแต่ยังได้รับทุนไม่ครบอีก 37 คน เงินทุนที่ค้างจ่ายรวม 5 ล้านบาท

 

 2. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. รายงานว่า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีครูและลูกจ้างชั่วคราว ได้รับเงินจากกองทุนฯ ทั้งหมด 53 คน ในโรงเรียน 41 แห่ง และจากข้อมูลพบว่าในปีงบประมาณ 2560 ลูกจ้างชั่วคราวส่วนใหญ่ได้รับเงินล่าช้า และลูกจ้างชั่วคราว 7 คน ใน 53 คน บางปีไม่มีการโอนเงิน

 

 3. นายณรงค์ ศิริเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบการโอนเงินกองทุนเสมาฯ พบว่า ได้รับการโอนเงิน 1 ครั้ง มีความล่าช้าทุกปี ไม่เคยอยู่ในรอบปีงบฯ ส่วนใหญ่จะส่งมาในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งเจอปัญหานี้มาตลอด 

 

 4. หญิงชาวม้ง นักเรียนพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยบรมราชชนนีแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ เปิดใจกับ PPTV ด้วยน้ำเสียงร่ำไห้ว่า ตั้งแต่ปี 2558 ติดต่อไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับคำชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่โอนผิดบัญชีไปทางวิทยาลัยภาคอีสาน ก่อนจะได้รับเงินคืนในอีก 2 ปีถัดมา แต่ล่าสุดปี 2560 ยังไม่ได้เงินทุนการศึกษาในส่วนนี้เลย พ่อแม่ต้องกู้หนี้นอกระบบส่งเธอเรียน

 

 5. ภาคเหนือ พบการถูกยักยอกเงินนักเรียนทุนมากที่สุด เป็นเด็กผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเกือบ 50 คน

 

ข้าราชการโกงเอง กระทบความมั่นใจประชาชน และอนาคตความเชื่อมั่น

แม้จะมีการลงโทษไล่ออก นางรจนา สินที ข้าราชการ ศธ. ที่ได้ยอมรับสารภาพถึงความผิดนี้ แต่กระแสสังคมรวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบที่รับผิดชอบยังไม่อาจปักใจเชื่อแน่ชัดว่า เธอจะกระทำการทุจริตในเรื่องนี้เพียงลำพัง ขณะที่ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่า มีข้าราชการอีก 4 รายที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีอีก 22 ราย

 

กระแสการทุจริตเงินงบประมาณโดยข้าราชการเองนั้น กระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน ในฐานะเจ้าของเงินภาษี นอกจากกรณีโกงเงินนักเรียนในกองทุนเสมาฯ แล้ว ยังมีกรณีเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้ลุกลามไปในหลายจังหวัด มีการสั่งย้ายข้าราชการออกนอกพื้นที่สลับจังหวัด

 

(ภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

 

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านการให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะคนในภารรัฐ ภาคราชการที่กระทำเอง สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการของภาครัฐและกลไกของระบบราชการทั้งหมด ที่ไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหา แต่กลับสมคบกันและปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

 

“ผมคิดว่าสิ่งที่ประชาชนยังไม่มีความไว้วางใจรัฐบาล 100% ว่าเอาจริงกับปัญหาคอร์รัปชัน เป็นเพราะส่วนหนึ่งมีเรื่องใกล้ตัวของผู้มีอำนาจสูงสุด มีเหตุให้สงสัยในเรื่องของการทุจริต การไม่เปิดเผยทรัพย์สินต่างๆ เรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ตรงนี้เองทำให้สังคมคาใจ”

 

ส่วนต้นตอของปัญหานั้น ดร.สมเกียรติมองว่า ต้องดูเป็นกรณี ว่ากรณีไหนเกิดขึ้นกับฝ่ายการเมืองแล้วสั่งข้าราชการทุจริตคอร์รัปชันให้ หรือเรื่องไหนที่ฝ่ายการเมืองไม่ได้จงใจ แต่อาจเกิดจากการดูแลที่ไม่ทั่วถึงจนทำให้มีช่องโหว่ให้ข้าราชการประจำไปทุจริตคอร์รัปชัน หรืออาจมีบางเรื่องในบางยุคสมัยที่ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการจับมือกันหากินกับการทุจริตคอร์รัปชัน

 

สำหรับการแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบ ผู้นำต้องสร้างระบบที่ดี และระบบที่ดีไม่ใช่การแก้กฎหมายหรือปรับกฎระเบียบต่างๆ เท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องทำให้เป็นตัวอย่างจนเกิดวัฒนธรรมที่ดีขึ้นมา ส่วนตัวคิดว่าสิ่งนี้ยังขาดหายไปมากในสังคมไทย

 

สำหรับกรณีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งดำเนินการตรวจสอบ โดยได้ส่งทีมมาร่วมตรวจสอบคู่ขนานไปด้วย พร้อมมีคำสั่งให้มีการยุบและตรวจสอบกองทุนที่มีซ้ำซ้อนกัน

 

กรณีไล่ออกนางรจนา สินที อาจเป็นเพียงดาบแรกเท่านั้น เนื่องจากเธอสารภาพจำนนต่อหลักฐานตรงหน้า ขณะที่กระบวนการทางกฎหมายนอกจากการลงโทษทางวินัยยังรออยู่อีก

 

แต่สิ่งที่สังคมต้องจับตาก็คือ มีใครเป็นตัวการร่วมกระทำทุจริตอีกหรือไม่ บทสรุปเรื่องนี้ยังต้องติดตามอีกยาว และแน่นอนว่าสังคมต้องร่วมกันตรวจสอบ ส่งเสียง และตั้งคำถาม ไม่ปล่อยให้เงียบ เพราะนั่นคือเงินภาษีที่หายไปเข้ากระเป๋าคนกลุ่มเดียว ซึ่งต้องแลกกับอนาคตและโอกาสของเด็กไทยที่ควรจะได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising