×

รับมือเศรษฐกิจไตรมาส 2 มองผ่านกำลังซื้อ ‘ฟื้นจริง’ หรือ ‘ฟื้นทิพย์’

17.03.2021
  • LOADING...
รับมือเศรษฐกิจไตรมาส 2 มองผ่านกำลังซื้อ ‘ฟื้นจริง’ หรือ ‘ฟื้นทิพย์’

เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงการผ่อนคลายการควบคุมกิจกรรมทั้งหลาย คนกำลังมองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้น เริ่มออกมาเดินถนนมากขึ้น สัญญาณที่ชี้ชัดเจนอย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมาก็คือ รถเริ่มติด คนกลับมาทำงานมากขึ้น WFH ลดลง ตรงนี้เองน่าจะกลับสู่ภาวะปกติใหม่ หรือก่อนการระบาดรอบใหม่กันได้หรือยัง แม้ว่าเรายังมีกระแสโควิด-19 อยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลัสเตอร์บางแคที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด ที่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ

 

ผมมีโอกาสซอกแซกสอบถามร้านค้าทั้งหลายว่ายอดขายดีขึ้นไหม กำลังซื้อคนกลับมาหรือยัง สิ่งที่ได้คำตอบในช่วงที่ผ่านมาคือ คนกล้าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังต้องมีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่ คนก็อาจจะเริ่มใช้จ่ายกัน แต่ยังต้องมีแรงจูงใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ‘คนละครึ่ง’ หรือมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ทีนี้ร้านไหนที่ไม่มี ‘คนละครึ่ง’ หรือมาตรการใช้เงินภาครัฐมาอาจจะถูกแย่งลูกค้าไป ขายไม่ได้หรือขายได้น้อยลง หรือโดนดึงลูกค้าไปร้านอื่น ก็เลยต้องมีกันเพราะคนอื่นมี  

 

นอกเหนือไปกว่ามาตรการภาครัฐแล้ว สิ่งที่ร้านค้าคาดหวังต่อไปจากนี้ก็คือว่า พวกเขาจะสามารถขยับราคาสินค้าได้หรือไม่ เพราะต้นทุนเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็ค่าน้ำมันรถ สิ่งที่จะมองต่อว่าสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นจริงก็คือ ราคาสินค้าเพิ่มได้ หากเศรษฐกิจดี คนเดินถนน รถเริ่มติด คนกล้าจับจ่าย ไตรมาส 2 เราอาจได้เห็นราคาสินค้าทยอยปรับเพิ่ม แต่จะเห็นการปรับขึ้นในลักษณะ ‘ชักเย่อ’ นั่นคือเกมที่ดึงเชือกระหว่างคนซื้อและคนขาย คนขายก็อยากขึ้นราคา แต่คนซื้อก็ยังรู้สึกว่า ถ้าร้านใดขึ้นราคาก็จะหันไปซื้อร้านอื่นที่ไม่ขึ้นราคา ตรงนี้เองอาจจะทำให้เรายังไม่เห็นราคาสินค้าขยับขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการทยอยขึ้นเมื่อผู้ขายรู้สึกว่า เขาสามารถขึ้นราคาตามต้นทุนได้บ้าง อันนี้อาจเห็นความชัดเจนมากขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวกว่านี้ในช่วงครึ่งหลังของปี

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจ ผมได้มีโอกาสไปเดินซอกแซกตามงานแสดงสินค้า บริการและการท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง พบว่าคนเยอะมาก และคนเริ่มซื้อสินค้าและบริการรวมถึงจองห้องพักเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ผมสังเกตอีกอย่างคือ ผมรู้สึกว่าราคาที่แต่ละบูธเสนอขายในรอบนี้ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับราคาเมื่อปีที่แล้ว เรียกว่าปีก่อนราคาลงจริง ขณะที่ราคาตอนนี้แทบไม่ได้ลด จึงไม่ดึงดูด หรือทำให้คนรีบเข้าไปซื้อหาจับจอง

 

แต่ที่สังเกตคือคนบางกลุ่มยังเข้าไปสำรองห้องพักหรือซื้อสินค้าบริการ แม้ราคาไม่ได้ดีเท่าปีก่อนก็ตาม ผมจึงตั้งคำถามอีกว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อ พร้อมใช้จ่ายและอยากใช้จ่ายจริง เพราะอัดอั้นจากช่วงล็อกดาวน์ เห็นอะไรที่น่าซื้อก็อยากจะเข้าไปซื้อ มุมนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว

 

ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง (อย่างผมเป็นต้น) ที่ยังรู้สึกว่าราคาตอนนี้มันไม่คุ้มเท่าเดิม อยากได้ดีกว่านี้ อยากได้มากกว่านี้ จะเรียกว่าโลภก็ได้ แต่เพราะว่าเราติดใจราคาที่เคยถูกกว่านี้ เชื่อเถอะว่าคนแบบผมนี่ยังมีอีกเยอะ และคนกลุ่มนี้เองยังรอระดับราคาที่เคยเห็นในอดีต 

 

ราคาสินค้าที่ลดลงมากในปีก่อนเพราะเกิดล็อกดาวน์ คนไม่เคยเห็นเศรษฐกิจวิกฤต แต่มาถึงตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ราคาเริ่มกลับมาสมเหตุสมผลมากขึ้น   ก็เป็นที่มาว่า ยังมีคนที่รอใช้จ่าย โดยเฉพาะคนระดับกลางที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นพร้อมจะใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ยังมีความรู้สึกว่า ราคายังไม่โดนใจก็จะเก็บไว้อยู่  แต่เชื่อว่าคนกลุ่มหลังนี้จะน้อยลงไปเรื่อยๆ และหวังว่าคนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าผู้ประกอบการเองก็สามารถขายของให้คนที่พร้อมใช้จ่ายได้มากขึ้น

 

เราอาจจะเห็นภาพแบบนี้ที่คนรอใช้จ่ายเงิน รอใช้บริการ แต่รอราคาที่ถูกลดลงเรื่อยๆ ตัวนี้อาจเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น หากคนกล้าใช้จ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล แม้ราคาจะไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าปีที่แล้ว  

 

และนั่นจะสะท้อนว่าผู้ประกอบการเริ่มขายของได้ ผู้ซื้อยอมรับราคาที่สูงขึ้นได้ และเริ่มใช้จ่ายไปด้วยกัน อันนั้นจะเป็นภาพเศรษฐกิจที่อาจจะได้เห็นในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ไปตลอดจนช่วงสงกรานต์ที่จะมาในเดือนหน้า พร้อมกิจกรรมเศรษฐกิจที่น่าจะเร่งตัวมากขึ้นกว่าช่วงที่มีการระบาดรอบใหม่ครั้งนี้ นั่นก็เป็นปัจจัยที่จะต้องซอกแซกกันต่อในช่วงกิจกรรมท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ พร้อมกับกำลังซื้อว่าสุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจไทยจะพลิกเร่งตัวได้ดีขึ้นสักเพียงใดในช่วงไตรมาส 2 คงต้องติดตามกันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising