×

จุดหมายใหม่ในวัย 34 ของ ‘ฌอห์ณ จินดาโชติ’ ที่ปรับเข็มทิศจากนักแสดงสู่ผู้กำกับสารคดีและมีความสุขในแบบ ‘บุคคลธรรมดา’

09.09.2022
  • LOADING...
ฌอห์ณ จินดาโชติ

‘ฌอห์ณ จินดาโชติ’ คงเป็นนักแสดงในวงการเพียงไม่กี่คนที่มีบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเรื่องงานแสดงไม่เยอะเท่ากับบทสนทนาเรื่องแนวคิด ชีวิต และการทำในสิ่งที่เขาชอบ 

 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน THE STANDARD มีโอกาสคุยกับฌอห์ณ ในฐานะของ ‘ผู้กำกับหนังสารคดี’ เขาบอกว่าใช้เวลากว่า 2 ปีในการสร้าง ‘The Journal Lists (เข็มทิศ / หัวใจ / จุดหมาย / ผู้คน)’ สารคดีกึ่งการเดินทางที่เล่าประเด็นทางความคิดผ่าน ‘คน’ มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่

 

ฌอห์ณ จินดาโชติ

 

ทำไมต้องเป็น Documentary

“ผมคิดมาตลอดว่าในช่วงอายุประมาณนี้อยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อเป็นการทดสอบและค้นหาศักยภาพของตัวเอง วันหนึ่งผมคุยกับแฟนแล้วเขาถามผมว่า ตอบตัวเองได้หรือยังว่ามีอะไรที่อยากทำ สิ่งแรกที่คิดคือผมอยากเป็นผู้กำกับ แต่ไม่ได้อยากทำละคร ทำซีรีส์ ผมอยากทำ Documentary เขาก็บอกว่า ทำสิ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ผมรู้แค่ว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอุดมการณ์เดียวกับผม เราอยากเป็นสื่อกลางที่จะนำเสนอเรื่องราวแง่มุมดีๆ ในสังคม สิ่งเหล่านั้นจะเป็นผลดีกับคนดูและเป็นผลดีกับคนทำ 

 

“พอตัดสินใจลุย ก็เริ่มรวมทีม เตรียมงาน หาผู้ใหญ่ที่จะมาสนับสนุน ก็ต้องขอบคุณ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่เชื่อมั่นในความคิดของผม เรามีความเชื่อเหมือนกัน คือการเห็นคุณค่าของคน จึงเกิดเป็นโปรเจกต์นี้อย่างสมบูรณ์ขึ้นมา”  

 

“มันมีคำพูดเกิดขึ้นในหัวตลอดว่า ‘กูทำอะไรของกูวะเนี่ย’”

 

“ตอนเริ่มต้นมันยากนะ เพราะมันคือการเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง ตั้งแต่เริ่มวางแผนก็ต้องวางสถานะของตัวเองใหม่ว่าเราอยู่ในบทบาทของการเป็นโปรดักชันเฮาส์ จะไม่มีความสะดวกสบายเหมือนเวลาที่เราไปในฐานะนักแสดง แต่งานนี้ทุกอย่างใหม่สำหรับผมหมด คำว่าขาดทุนและกำไรมีอยู่ทุกวัน 

 

“ความท้าทายในมุมการทำงานคือ ทีมงานทุกคนมีอาชีพหลักของตัวเอง แต่ทุกคนต้องปรับและลงแรงกับสิ่งนี้อย่างตั้งใจ ทุกคนต้องเอาชนะใจตัวเอง มันมีคำพูดเกิดขึ้นในหัวตลอดว่า “กูทำอะไรของกูวะเนี่ย” อยู่ห้วยขาแข้ง 4 วัน แล้วขับถ่ายก็ยาก นอนก็ลำบาก กับการแค่มานั่งส่องสัตว์ แต่ระหว่างที่คิดลบมันก็จะมีความคิดบวกเถียงกลับมาว่า “เฮ้ย แต่มันดี มันคือการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว” พอเห็นทีมงานทุกคนไม่บ่น ไม่ได้กินอิ่มทุกมื้อเพราะต้องเซฟค่าใช้จ่าย ทุกคนถวายชีวิตกันมาก งั้นเราก็ยอมแพ้ไม่ได้”

 

 

นิยาม ‘The Journal Lists’  

“มันเป็นสารคดีที่พูดถึงมุมมองของการใช้ชีวิตแบบมีเป้าหมายของคนที่ไม่ได้มีโอกาสเจอแสงสปอตไลต์ แต่เป็นคนดีที่มีอยู่จริงในสังคม และไม่เคยเรียกร้องให้สังคมสนใจ เราก็เป็นกลุ่มคนที่ถือสปอตไลต์ไปและพร้อมจะสาดและตีแผ่เรื่องเหล่านี้ พวกผมทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการพูดถึงแง่มุมของสังคม สิ่งที่เขาเจอ แต่สิ่งที่ใหญ่ไปกว่านั้น การที่เขายังสามารถดำรงตนได้แม้ว่ามันจะเกิดภัยสังคม จะเกิดกระแสสังคมในเชิงลบ แต่เขาก็ยังสู้ต่อไปด้วยปณิธานที่เขาตั้งมั่น โดยที่เราสอดแทรกเรื่องของวิวทิวทัศน์ เรื่องของกลุ่มรุ่นใหม่ของพวกเราเข้าไปอยู่เฟรมว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากตีแผ่เรื่องนี้ มันก็เลยมีความ POP ขึ้นมา  

 

“จะว่าไป The Journal List มันก็คือพวกผมนั่นแหละครับ ‘Journalist’ คือสื่อสารมวลชน สิ่งที่ผมทำอยู่ตั้งแต่การเป็นนักแสดงก็เป็นนักสื่อสาร แต่เป็นการสื่อสารในเชิงการแสดง พอมาเป็นนักเขียนก็สื่อสารผ่านตัวอักษร วันนี้เราสื่อสารผ่านภาพเคลื่อนไหว ทีมเราก็เป็นนักสื่อสารกันมา แต่อีกพาร์ตเราก็เป็นนักเดินทางด้วย ส่วนคำว่า Lists มาจาก Bucket Lists คือสิ่งที่ควรรู้ในช่วงชีวิตของเรา” 

 

ฌอห์ณ จินดาโชติ

 

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในเข็มทิศ / หัวใจ / จุดหมาย / ผู้คน

“คำเหล่านี้พวกเราช่วยกันคิด โจทย์คือต้องมีคำที่ทำให้คนดูรู้ว่าคอนเซปต์ของ The Journal Lists จะไปทางไหน แต่ละคนก็คิดกันมา พอเรามาเลือกแล้วมานั่งดูกันจริงๆ คำเหล่านี้แก่นของมันเป็นเรื่องเดียวกันคือ ‘เป้าหมาย’ เข็มทิศทำให้เราไม่หลงทางจากเป้าหมาย หัวใจคือชีวิต คือเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ และผู้คน ก็คือคนที่เราไปสัมภาษณ์ เขาคือเป้าหมายของเรา 

 

“มองอีกมุม เข็มทิศ / หัวใจ / จุดหมาย / ผู้คน มันก็นิยามตัวตนของพวกเราเช่นกัน เพราะสิ่งที่เราทำมันต้องมีเข็มทิศ ถ้าไม่ใช้ใจนำมันเดินต่อไปไม่ได้ และถ้าไม่มีจุดหมายก็ไม่มีแรงไปต่อ แต่เราเห็นจุดหมายของการทำงานนี้ว่ามันคือการได้ทำงาน และผู้คนก็คือการที่เราเข้าใจผู้คนมากขึ้นมากกว่าตัวเราเอง เข้าใจว่าสังคมมันขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานแบบนี้”  

 

“พวกเขาไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้นเพื่อตัวเอง เขาทำให้สิ่งที่ชอบด้วยแพสชัน
แต่มากกว่านั้นบางคนทำเพื่อคนรอบข้าง บางคนอาจทำเพื่อครอบครัว”

 

6 คนหัวใจนักสู้ ที่เรียนรู้การมีชีวิตเพื่อผู้อื่น

เราเลือกจากคนมากกว่า 50 คน แรกๆ ก็เลือกจากคนที่ทีมงานชอบก่อน แต่ต้องมีทิศทางเดียวกัน คือต้องการคนที่มีเป้าหมายเหมือนกันแต่เฉดสีไม่เหมือนกัน เพื่อที่คนดูจะได้รู้สึกว่ามันทิศทางเดียวกันหมด เป้าหมายเหมือนกัน คือพวกเขาไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้นเพื่อตัวเอง เขาทำให้สิ่งที่ชอบด้วยแพสชัน แต่มากกว่านั้นบางคนทำเพื่อคนรอบข้าง บางคนอาจทำเพื่อครอบครัว อย่าง พี่ประวัติ วะโฮรัมย์ นักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย เขาบอกว่าเขาทำเพื่อชาติ แต่หลังจากที่ผมลงไปคลุกคลีกับพี่เขาสัมผัสได้ว่าสำหรับเขาครอบครัวคือที่หนึ่ง หรือ โน้ต วัชรบูล แพสชันคือป่าไม้ แต่สุดท้ายสิ่งที่เขาหว่านเมล็ดไปมันคือสิ่งที่ส่งต่อให้คนรุ่นหลังมาเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า หรือ อาจารย์พรรณพิมล ปันคำ สิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมามันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น

 

“สารตั้งต้นของทุกคนมาจากแพสชัน แต่ทุกคนกำลังหว่านเมล็ดพืชให้เติบโตแก่คนรุ่นหลังในแบบของตัวเอง อย่าง ลุงยุ้ย (อารมย์ นิลซา) เขาเอาเรือประมงเก่าๆ ไปเก็บศพในทะเล เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันยิ่งใหญ่ บางคนอาจจะมองว่าเขาคิดประหลาดกว่าคนอื่น แต่คนในพื้นที่ยกย่องเชิดชูเพราะถ้าไม่ใช่เขาแล้วจะใครที่เสียสละทำสิ่งยิ่งใหญ่แบบนี้ และเขาก็ทำให้มุมมองของการทำความดีเกิดขึ้นในสังคม  

 

“สำคัญเลยคือ ทั้ง 6 คนสวมหัวใจสิงห์ มีหัวใจนักสู้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้มีหัวใจที่แข็งแกร่ง โดยที่พวกเขาไม่ได้ยัดเยียดให้โลกรู้ว่าเขาเป็นคนดี แต่ทุกคนจะสัมผัสได้ถ้าได้รู้จักชีวิตของพวกเขา ความงดงามไม่ใช่ความสำเร็จ แต่ความงดงามที่มากกว่านั้นก็คือ การไม่ยอมแพ้และพยายามทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ 

 

“จริงๆ แล้วทุกคนต่างก็มีหัวใจที่แข็งแกร่งและไม่ยอมแพ้ในแบบของตัวเอง”

 

“มันทำให้ผมยิ่งมั่นใจเลยว่า พวกเขาทั้ง 6 คือคนที่ไม่เคยยอมแพ้ ทุกคนมีความท้าทายในชีวิต พี่ประวัติอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตที่ต้องเลือกระหว่างครอบครัวหรือจะไปต่อ ลุงยุ้ยอยากกลับไปเก็บศพแต่ไม่มีเรือแล้วก็ต้องตัดใจอยู่กับปัจจุบัน ครูนิดพยายามต่อสู้เพื่อเด็กบนดอย อาจารย์พรรณพิมลจากที่เคยมีรายได้ประจำ เลือกมาเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือพี่โน้ตที่เลือกพิทักษ์ป่าโดยไม่มีรายได้ และเจ้าหน้าที่อุทยานที่เคยเป็นทหารมาก่อน ทุกคนล้วนผ่านบาดแผลและความพ่ายแพ้ แต่ไม่มีใครทุกข์ โทษสังคม โทษบุญกรรม มันก็แค่เกิดขึ้นแล้ว และก็ต้องสู้ต่อ วันนี้มันมีน้อยลงแต่ไม่ใช่ว่าไม่มี ถ้ายังยึดติดว่าต้องมีเหมือนเมื่อก่อนชีวิตคุณก็จะไปต่อไม่ได้ มันคือการไม่ยอมแพ้ ทำให้มุมมองของผมเปลี่ยน และค้นพบว่าจริงๆ แล้วทุกคนต่างก็มีหัวใจที่แข็งแกร่งและไม่ยอมแพ้ในแบบของตัวเอง” 

 

ฌอห์ณ จินดาโชติ

 

แมสเสจที่ถูกซ่อนอยู่ใน The Journal Lists

“แมสเสจที่มันจะถูกซ่อนอยู่คือ ยังมีสิ่งดีๆ อยู่ในสังคมทุกที่ ถ้าคุณตัวใหญ่กว่า มีไฟฉายที่ใหญ่กว่า ก็ฉายแสงไปให้คนเหล่านี้บ้าง เขาจะได้มีแรงต่อ ยอมรับนะว่าตัวผมเองก็ยังมีความคิดในบางวันว่า ทำดีเหนื่อยมาก และทำดีต้องใช้ความเงียบในการทำงาน มันเสียงดังไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ทำดี การทำดีมันเหมือนการปลูกต้นไม้จริงๆ มันจะตอบแทนเราอย่างงดงามและยั่งยืนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แค่เราต้องรอ

  

“ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องการสร้างผลงานดีๆ เพื่อทิ้งเชื้อเพลิงหรือแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับคนรุ่นหลัง The Journal List คือผลงานที่จะสร้างพลังงานดีๆ แบบนั้นหรือไม่ ใช่ครับ (นิ่งคิด) นี่อาจจะเป็นผลงานที่ทิ้งไว้ให้ตัวเองด้วย ถ้าวันหนึ่งผมมีลูก เวลาเขากลับมาดู ผมจะบอกเขาได้เต็มปากว่าพ่อก็เคยออกจากคอมฟอร์ตโซนเดิมๆ หัวโขนเดิมๆ ว่าเคยเป็นนักแสดง เคยเป็นพระเอก จริงๆ เมื่อเราอยู่ในสเตตัสก็ไม่จำเป็นต้องหาโอกาสอะไรหรือลงแรงทำอะไรแบบนี้ แต่สิ่งนี้ทำให้ผมสอนเขาได้ว่า ‘อย่ายึดติด’ กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะมันเปลี่ยนทุกวัน แต่จงพยายามที่จะสรรหาโอกาสและความตั้งใจที่ดีที่อยากจะทำสิ่งดีๆ เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราได้นานกว่าสเตตัส

 

“แต่คุณอย่ามองว่าผมเป็นไอดอลนะ ผมไม่ใช่ โดยเฉพาะกับการสร้างงานชิ้นนี้ เพราะมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้ทีมงานที่ดี ถ้าจะเอางานนี้เป็นแบบอย่าง อย่ามองมาที่ผม ให้มองภาพรวม ทีมผมทุกคนมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนอยากทำเรื่องราวดีๆ ในสังคม ก็มาร่วมมือกัน ตั้งใจทำให้มันเกิด สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ สิ่งดีๆ มันเกิดขึ้นได้นะถ้าคุณตั้งใจทำ คุณสามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ถ้าคุณมีความมั่นใจ อย่ากลัวที่จะหาโอกาส มันไม่น่าอายเลยที่จะวิ่งไปหาโอกาส หรือสร้างโอกาส แต่จะน่าอายยิ่งกว่าถ้าคุณบ่นกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยที่คุณไม่ทำอะไรแล้วก็โทษสิ่งรอบตัว”

 

 

ก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซน

“น่าจะเพราะผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย มันมีแค่เจ๊งกับเจ๊า ไม่ว่าจะตอนที่ลุกมาเขียนหนังสือหรือตอนทำโปรเจกต์นี้ก็ตาม เวลาตัดสินใจทำสิ่งที่เราไม่เคยทำผมแค่ตั้งเจตนาไว้ อย่างตอนเป็นนักแสดง ผมไม่ได้ปักธงว่าผมอยากอยู่ในสปอต์ไลต์ เดินไปไหนแล้วคนจำได้ ตอนนั้นผมแค่อยากแบ่งเบาภาระของพี่สาว และเราเป็นผู้ชายก็ไม่อยากเห็นพี่ออกไปทำงานหนัก 

 

“ตอนตัดสินใจเขียนหนังสือ มันมาจากที่ผมได้คำสอนจากวัดที่ผมบวชและได้คำสอนจากคนใกล้ชิด เลยอยากส่งต่อสิ่งเหล่านี้ แม้วันหนึ่งผมจะตายไปแต่หนังสือน่าจะยังอยู่ แล้วถ้าหนังสือขายได้ก็นำเงินไปบริจาคให้กับวัดที่เราบวชและมูลนิธิป้าสำรวย ด้วยเจตนาที่ดีมั้ง เราเลยไม่กลัว เพราะเราไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะขาดทุนไหม

 

 

“The Journal List ก็เหมือนกัน เราคุยกันในทีมเสมอว่า ถ้าออนแอร์ไปแล้วมีคนดูแค่ 1 คน คนดูนั้นแชร์หรือกดไลก์ผมก็ดีใจแล้ว เพราะแปลว่าเขาดูจริงๆ เขาดูจนจบ บางคนอาจจะคิดว่าทำไปทำไม เหนื่อยก็เหนื่อย ทำไมไม่ไปรีวิวอาหาร หรือก็เล่นละครต่อไปสิ แต่ผมรู้สึกว่าการที่เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้นำศักยภาพที่มี ไปลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น มันเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ ต้นไม้มันโตช้าแน่นอน ต้องใช้เวลา ถ้าอยากจะกินง่ายก็ปลูกถั่วงอกไป แต่ถ้าหวังความสวยงามหรือเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น การปลูกต้นไม้มันก็ต้องใช้เวลาเกิน 20-30 ปี

 

“คิดถูกนะที่พาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน เพราะเราได้บทเรียนจากการไปคุยกับแขกรับเชิญแต่ละท่านที่เขาสอนผ่านชีวิตเขาจริงๆ ผมพบว่าบางทีเราให้คุณค่ากับวัตถุนิยมและกระแสสังคมมาก ยึดติดกับสิ่งที่เราควรจะได้ จนลืมไปว่าสิ่งที่มีอยู่คืออะไร นอกจากได้ทำงาน มันทำให้ผมรู้สึกพอใจกับชีวิตตัวเองมากขึ้น”  

 

 

โอกาสหรือคาดหวัง

“ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่ดีใจที่ได้ทำ ยอดวิวมันไม่ได้มีความหมายสำหรับผม เวลาผมเหนื่อยก็ชอบกลับไปดู ได้เห็นคอมเมนต์ว่าขอบคุณมากที่ทำสิ่งนี้ออกมา ผมจะแคปส่งไปให้ทีม คือผมรู้สึกว่ามันมีคนมองข้ามตัวผมไป เขามองที่ผลงานของทีม นี่คือสิ่งที่ผมได้แล้ว การที่คนมองเห็นเจตนาและสิ่งที่เราตั้งใจทำ

 

“ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ดูกัน ชอบก็แชร์ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอก คือตอนนี้สารคดีในเมืองไทยมันน้อยลง เพราะมันไม่สร้างกำไรและมันใช้เวลาในการทำนาน คนเลยไม่ค่อยอยากทำ เลยทำให้โอกาสที่สปอตไลต์จะส่งไปยังพื้นที่ที่น่าสนใจ คนที่น่าสนใจน้อยลง ผมอยากให้มองว่าโปรเจกต์นี้คือโอกาสของคนเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เลยนะ การที่คนเปิดใจและให้โอกาส เหมือนที่ผมมาขอโอกาสทำโปรเจกต์นี้และได้รับโอกาส และเป็นการขอโอกาสทำในสิ่งที่ผมและทีมงานคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีพอร์ตงานโปรดักชันโด่งดังอะไร เรามีแค่ความฝัน แรงกาย และเจตนาที่ดี ฟังดูยากมากที่จะมีคนยอมลงทุนและให้โอกาส เกือบสองปีกว่าจะได้”  

 

“ถ้าผมยังเลือกที่จะเป็นฌอห์ณคนเดิม ที่เอาแต่นั่งรอถ่ายละคร
โดยที่ไม่คิดที่จะทำอะไรอย่างอื่นอีก ผมคงหันไปบอกตัวเองว่า ‘แกมันโคตรกระจอกเลย’”

 

ฌอห์ณในแต่ละช่วงวัย

“ถ้านับตั้งแต่ผมเข้าวงการตอนอายุ 17 มันเป็นช่วงของเด็กหนุ่มไฟแรง ใช้อารมณ์นำสติ แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ มีความใจเย็นประมาณหนึ่งเพราะมีคนคอยเชฟเรา แต่ก็ยังขาดความประณีตและพิถีพิถัน ช่วงอายุ 25 เหมือนได้ออกสู่โลกกว้างมากๆ เข้ามาอยู่ในวงการบันเทิงเต็มตัว เป็นช่วงที่ผมได้เรียนรู้จากสิ่งที่เราเป็นจริงๆ เราเลือกได้แล้วว่าจะชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะมีทางเลือกมากมาย ผมว่าช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ดีนะ มันเหลาให้ผมเป็นฌอห์ณในวันนี้ ได้เรียนรู้ทั้งสิ่งที่ตัดสินใจถูกและตัดสินใจผิด โดยเฉพาะเรื่องที่ตัดสินใจผิด นอกจากจะให้บทเรียนแล้วก็ยังให้แผลเป็น ทำให้ได้รู้ว่านี่คือบทเรียนจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ณ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจหรอก ทำไมมันเจ็บปวดขนาดนี้ สุดท้ายแล้วเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้คือคุณต้องลุกขึ้นสู้เท่านั้น

 

“ช่วงวัย 30-32 เป็นช่วงโควิดพอดี ชีวิตเข้าสู่จุดเยือกแข็ง แต่โชคดีที่มีที่ปรึกษาที่ดี และมีคุณแม่ที่คอยดูแล และโชคดีมากๆ ที่ผมได้เจอกับ เพชร (ภิพัชรา แก้วจินดา แฟนฌอห์ณ) เขาเป็นคนละลายน้ำแข็งให้ทำผมกลับมาตั้งสติ ช่วยผมตั้งแกนเสา เขาบอกผมเสมอให้ตั้งเป้าหมายให้ชัด อยากจะเป็นอะไร ศักยภาพเราอะไรที่ทำได้ 

 

ฌอห์ณ จินดาโชติ

 

 

“ผมล้างระบบความคิดใหม่ เซ็ตเข็มทิศชีวิตใหม่ เป็นช่วงวัยที่ผมรู้จักการทำ Proposal ทำหนังสั้น วิ่งหาเอเจนซีเฮาส์ ไปเป็นผู้กำกับโฆษณา เป็นปีที่เหนื่อยมาก แต่ผมกลับชอบชีวิตตอนนี้มาก การที่เราสามารถจัดการปัญหาทำให้งานมันเสร็จสิ้น ทำให้ผมค้นพบศักยภาพตัวเองไปอีกขั้น รู้จักความเป็นผู้ใหญ่ แฟนผมบอกว่าเนี่ยเขาเรียกว่า ‘บุคคลธรรมดา’ การทำใบเบิก ทำใบจ่าย จัดการงบประมาณด้วยตัวเอง มันโคตรดีเลย ชีวิตที่ได้รู้จักการแก้ปัญหาและลุกขึ้นมาสู้ มันเชฟผมให้กลายเป็นคนที่กล้าได้ กล้าเสีย กล้าตัดสินใจ ถ้าผมยังเลือกที่จะเป็นฌอห์ณคนเดิมที่เอาแต่นั่งรอถ่ายละครโดยที่ไม่คิดที่จะทำอะไรอย่างอื่นอีก ผมคงหันไปบอกตัวเองว่า ‘แกมันโคตรกระจอกเลย’ 

 

“ฌอห์ณในวัยที่เข้าใกล้ 34 เป็นช่วงที่ชีวิตผมกลมมาก มีความสุข เหนื่อยมากขึ้น นอนน้อยลง แต่ภูมิใจกับชีวิตวันนี้ ถึงจะไม่สุขสบายเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ทุกข์ เพราะผมมีเป้าหมาย ผมกำลังพยายามเรียนรู้การมีภาวะผู้นำที่ถูกต้อง การเป็นผู้นำที่ดีสำหรับผม คือต้องรู้จักแก้ปัญหา รู้จักลำดับความสำคัญ 

 

“ผมไม่กล้าให้ A กับชีวิตตัวเองตอนนี้ ขอให้เกรด B พอ เพราะมันเพิ่งเริ่มต้นการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่จริงๆ ในช่วง 2-3 ปีนี้ ผมมีแรงกายและทัศนคติที่พร้อมจะไปต่อ ถ้าพรุ่งนี้ผมไม่ได้เล่นละครแล้ว ผมอ้วนขึ้น หน้าตาเปลี่ยน ผมบางลง คนจำผมไม่ได้ ผมไม่เสียใจนะ นั่นมันคือสัจธรรมชีวิต แต่ผมจะเสียใจมากถ้าเอาแต่เดินบ่นว่า รู้หรือเปล่าว่าเมื่อก่อนผมดังมากเลยนะ มันจะดูโง่มาก และจะกลายเป็นคนยึดตดกับสิ่งเดิมๆ ที่เคยมี ดังนั้นผมเลยให้เกรดตัวเองเท่านี้ ผมมีสารตั้งต้นที่ดีแล้ว ไม่ได้เก่งถึงขนาดที่ว่าทุกคนจะวิ่งเข้าหาในมุมของคนทำงานโปรดักชัน เขาแค่เห็นเจตนาที่ดี และพร้อมจะสนับสนุน แต่ทีมผมต้องเก่งขึ้น ต้องไปต่อ วันนี้ผมมองมันเป็นอีกหนึ่งอาชีพของเรา เราจึงต้องแข็งแรงพอที่จะไปสู้กับคนอื่น  


ฌอห์ณ จินดาโชติ

 

ชีวิตบทต่อไปของ ฌอห์ณ จินดาโชติ

“ผมคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ จะอัปสเกลมันไปเรื่อยๆ The Journal Lists ผมอยากจะทำไตรภาคสเกลก็จะเปลี่ยน อย่างซีซันแรกเราพูดถึงเรื่องของความดีที่ต่อสู้ เป็นการแนะนำให้คนเห็นก่อนว่าเจตนาเราคือแบบนี้ ตัวละครจะมีประมาณนี้ ทีมงานคือทีมนี้ พอคนเริ่มคุ้นเคยเราค่อยเติมรสชาติใหม่ๆ เข้ามา สเกลต่อไปเรากำลังคุยอยู่ว่าจะตีแผ่แง่มุมไหนที่ใหญ่ขึ้น หาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะลงมากขึ้น และนอกจากการทำ Documentary เราจะเริ่มทำหนังสั้นมากขึ้นเพื่อซัพพอร์ตงานที่ทำ 

“พอโปรเจกต์นี้มันเริ่มปล่อยออกไป มีผู้ใหญ่หลายท่านเริ่มเห็นก็ชอบสิ่งที่เราทำ เลยเกิดการพูดคุยและชักชวนให้เราลองทำโปรเจกต์อื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณทาง สิงห์ คอร์เปเรชั่น ที่ให้โอกาสเป็นสารตั้งต้นให้เรา ทางผู้บริหารบอกว่าอยากจะเดินไปกับเรา อยากเห็นการเติบโตไปด้วยกัน และพร้อมจะให้โอกาสเสมอ

 

“ผมเห็นภาพตัวเองว่าวันหนึ่งผมจะเป็นผู้กำกับที่ดีได้นะ อันนั้นเป็นฝันหนึ่งที่คิดจะไปต่อ อีกฝันหนึ่งที่ผมอยากจะทำมันให้ชัดก็คงเรื่องของการมีครอบครัวที่ดี ด้วยวัยและวุฒิภาวะน่าจะเป็นคู่ครองที่ดีได้ และวันหนึ่งผมจะเป็นพ่อที่ดีได้ เป็นฝันที่ท้าทายผมมาก”

 

FYI
  • ‘The Journal List (เข็มทิศ / หัวใจ / จุดหมาย / ผู้คน)’ สารคดีกึ่งการเดินทาง 6 เส้นทาง 6 บุคคล ที่ได้ทีมนักเขียนจาก Apollo จับมือกับกลุ่มคนชอบเล่าภาพอย่าง Mad Mood Production และมี ฌอห์ณ จินดาโชติ นั่งแท่นผู้กำกับ ออกอากาศทุกวันจันทร์สุดท้ายของเดือน ทาง Facebook Fanpage: Singha Corporation และทาง YouTube: Singha Corporation, Youtube : The Journal List
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising