×

‘SCGP’ ราคารูดต่ำไอพีโอ หลังเผยกำไร Q3/63 ต่ำกว่าคาด

28.10.2020
  • LOADING...
SCGP ราคา ไอพีโอ กำไร Q3/63

SCGP ร่วงแตะ 34 บาท ต่ำกว่าราคาไอพีโอ หลังเผยงบไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิ 1,335 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาด ผู้บริหารแจงถูกกระทบจากกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าเกษตร แต่ปีหน้าตั้งเป้ายอดขายแตะ 1 แสนล้านบาท ปัจจัยหนุนจากการขยายกำลังผลิตและซื้อกิจการ

 

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ร่วงแตะ 34 บาท ต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ 35 บาท หลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2563 โดยมีรายได้จากการขาย 23,287 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,335 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษจะมีกำไรจากการดำเนินงาน 1,636 ล้านบาท ลดลง 4% จากปีก่อน

 

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ SCGP ที่รายงานออกมาล่าสุดนี้ ในเบื้องต้นถือว่าต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของผลการดำเนินงานและแนวโน้มต่อไปในอนาคตจะอัปเดตเพิ่มเติมหลังจากการประชุมนักวิเคราะห์ในวันนี้ (28 ตุลาคม 2563)

 

ส่วนผลประกอบการ 9 เดือน ที่ผ่านมา SCGP มีรายได้จากการขาย 69,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 4,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน

 

กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งถูกกดดันจากสินค้าคงทนที่ชะลอตัวลง แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้าง ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบบ้างจากสภาพอากาศ รวมถึงการชะลอตัวของบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเทศกาลปลายปี ซึ่งในปีนี้ชะลอตัวลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

“ส่วนตัวยังเชื่อว่าลูกค้าของบริษัทยังมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่อเนื่อง และปัจจุบันก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของสินค้าหลายประเภท หากมองไปปีหน้า เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเรื่อยๆ และหากเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางได้ ก็จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้นอีก สำหรับราคาหุ้นที่ลดลงอาจเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จองซื้อหุ้นไอพีโอไม่ได้”

 

ทั้งนี้ บริษัทยังมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe Option) อีก 169.13 ล้านหุ้น ซึ่งผู้ที่ดูแลอาจจะพิจารณาเข้าซื้อ โดยที่ราคาในการซื้อจะต้องไม่สูงกว่าราคาไอพีโอที่ 35 บาท โดยวันที่สิ้นสุดการซื้อเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน คือ 20 พฤศจิกายน 2563

 

สำหรับเป้าหมายของบริษัทในปี 2564 คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 1 แสนล้านบาท โดยการเติบโตจะมาจากการขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

 

นอกจากนี้ บริษัทจะมีรายได้ส่วนเพิ่มจากโครงการลงทุนใหม่และการซื้อกิจการ โดยโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 4 ส่วน คือ ขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่นในเวียดนาม โดยเพิ่มกำลังการผลิต 84 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดแล้วเสร็จไตรมาส 4/63, โครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนตันต่อปี และ 2 แสนตันต่อปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 2/64 และไตรมาส 3/64 ตามลำดับ, โครงการขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว ส่วนเพิ่ม 53 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดแล้วเสร็จไตรมาส 3/64

 

ทั้ง 4 โครงการจะใช้เงินลงทุนรวม 8,266 ล้านบาท หลังการลงทุนแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทราว 9,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การซื้อกิจการบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในเวียดนาม (SOVI) อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งรายได้และกำไรเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 4/63 โดย SOVI มีรายได้ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี 

 

ส่วนการลงทุนในอนาคต บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในแต่ละปี (CAPEX) ไม่ต่ำกว่าในอดีต ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท อย่างปี 2563 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 12,000 ล้านบาท ขณะที่โครงสร้างเงินทุนในอนาคต บริษัทตั้งเป้าจะควบคุมอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่ให้เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 0.4 เท่า

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising