×

SCBS มอง ‘หุ้นไทย’ ซึมยาวตลอดไตรมาส 2 รับแรงกดดันเงินเฟ้อพุ่ง-นโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น แนะหลบภัยในหุ้น 3 กลุ่ม

20.04.2022
  • LOADING...
หุ้นไทย

บล.ไทยพาณิชย์ มองตลาดหุ้นไทยเดือนเมษายนและตลอดไตรมาส 2 ปีนี้ ซึมยาวและอาจเผชิญแรงขายเพิ่มขึ้น จากแรงกดดันจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะรับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน รวมถึงนโยบายดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจเร็วและแรงกว่าคาด พร้อมแนะลงทุนในกลุ่มการแพทย์และ ICT และกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ เพื่อลดความเสี่ยงขาลง 

 

รายการ WEALTH IN DEPTH จัดโดย THE STANDARD WEALTH ได้ร่วมพูดคุยกับ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ในหัวข้อ เจาะลึก ‘หุ้นไทย’ พิสูจน์แรงขายเดือนเมษายน แนวรับอยู่ที่ไหน กลุ่มใดเหมาะลงทุน 

 

สุกิจกล่าวโดยสรุปว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายนรวมถึงตลอดทั้งไตรมาส 2/65 จะมี Downside มากกว่า Upside เพราะเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 เรื่อง คือ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น 

 

เงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันหุ้นไทยทั้งไตรมาส

 

เขากล่าวว่า ปัจจัยจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงหุ้นไทย โดยสัญญาณเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วและยังไม่คลี่คลายดี แต่ถูกถ่วงน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากการเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก 

 

สำหรับแรงกดดันจากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น ประเมินว่าจะส่งแรงกดดันสู่ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย และแม้ว่าปัจจัยนี้จะเป็นที่รับรู้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่ก็ทวีแรงกดดันมากขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมา

 

โดยปัจจุบันตลาดและนักวิเคราะห์เริ่มให้น้ำหนักมุมมองที่ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยขยับถึงกรอบเป้าหมายที่ 2.3-2.6% 

 

“จากหุ้นที่ขึ้นจากจุดต่ำสุดมาจนวันนี้ มาจากแรงส่งก็คือนโยบายกระตุ้นต่างๆ นอกเหนือจากผลประกอบการที่ยังไม่ได้ดีขึ้นชัดเจน แต่วันนี้แรงส่งไม่มี เท่ากับหุ้นแต่ละตัวต้องยืนอยู่บนปัจจัยพื้นฐาน” สุกิจกล่าว 

 

ประเมินแรงขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 

 

สุกิจกล่าวว่า แรงขายในตลาดหุ้นไทยจะยังมีต่อเนื่องทั้งจากฝั่งนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากในไตรมาส 2/65 มีปัจจัยสำคัญกดดันตลาดคือ ปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูง และนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed 

 

“มีแนวโน้มว่าจะได้เห็นแรงขายมากขึ้น เพราะปัญหาคือเงินเฟ้อ ซึ่งยังแก้ไม่ได้เพราะต้นเหตุเงินเฟ้อยังไม่ได้ถูกแก้ ทั้งราคาพลังงาน นโยบายเชิงเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ๆ ทั้งจีน และสหรัฐฯ ยกตัวอย่างสหรัฐฯ เงินเฟ้อจะมีสัดส่วนอยู่ในอสังหา (ค่าเช่าบ้าน) รถยนต์ และราคาพลังงาน ซึ่งยังสูงอยู่และไม่มีทีท่าลดลง ถามว่าจะลงเมื่อไร เงินเฟ้อจะปรับลดลงก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณ” สุกิจกล่าว 

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน (19 เมษายน) ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ 92,334.79 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 117,154.31 ล้านบาท โดยสาเหตุที่สถาบันในประเทศขายสุทธิส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF ที่ครบกำหนด ในขณะที่มุมมองของผู้จัดการกองทุนต่อตลาดหุ้นไทยนั้นยังมองเป็นบวกอยู่เช่นเดิม 

 

ส่วนแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาตินั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยตลาดหุ้นไทยและอินโดนีเซียเป็น 2 ตลาดหุ้นในภูมิภาคที่มีเงินไหลเข้าสุทธิอย่างโดดเด่น 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเห็นแรงซื้อเริ่มลดลงในไตรมาส 2 เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นอยู่อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ของสหรัฐฯ ที่จะดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ 

 

หุ้นไทยไตรมาส 2 Downside เพิ่ม ผลกระทบต้นทุนพลังงาน

 

สุกิจกล่าวว่า หุ้นไทยไตรมาส 2/65 น่าจะมี Downside มากกว่า Upside โดยประเมินกรอบแนวรับที่ 1,550 จุด เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยหนุนหรือปัจจัยกระตุ้นอะไร ในทางกลับกัน บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จะเผชิญกับการถูกปรับประมาณการกำไรลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น หลังจากเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน 

 

นอกจากนี้สถานการณ์โควิดในประเทศและต่างประเทศก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยภายหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์และช่วงเฝ้าระวัง 7 วันผ่านพ้นไป อาจจะได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของหุ้นไทย 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการรับมือและควบคุมโควิดของไทย และหลายประเทศ ยกเว้นจีน น่าจะไม่กลับไปล็อกดาวน์หมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีบทเรียนความเสียหายทางเศรษฐกิจมาแล้ว 

 

แนะลุยหุ้นที่ส่งผ่านต้นทุนได้เร็ว

 

สุกิจกล่าวว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่เฝ้าระวังดังกล่าว กลยุทธ์หลักในการมองหาหุ้นที่จะเป็นหลุมหลบภัยได้ คือ การดูความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนพลังงาน โดยทั่วไปแล้วรายได้ของทุกธุรกิจในไตรมาส 1/65 น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 เพราะปีที่แล้วมีการล็อกดาวน์เป็นระยะ ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้ไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตัวแปรหลักของผลประกอบการไตรมาส 1/65 คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ารายได้ โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน 

 

“นักลงทุนต้องหาว่าธุรกิจใดที่ส่งผ่านต้นทุนได้เร็วบ้าง และธุรกิจใดที่ส่งผ่านต้นทุนไม่ได้ ซึ่งในเร็วๆ นี้จะเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/65 และเราจะได้เห็นการปรับประมาณการกำไร ทั้งปรับขึ้นและปรับลง” สุกิจกล่าว

 

ทั้งนี้ บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่ากลุ่มที่ถูกปรับประมาณการกำไรลง คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะมีต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแพ็กเกจจิ้ง, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มแพ็กเกจจิ้ง 

 

ส่วนกลุ่มที่จถูกปรับประมาณการกำไรขึ้น คือ กลุ่มการแพทย์ ซึ่งสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ดี และเป็นบริการที่มีความจำเป็นสำหรับทุกคน, กลุ่มพลังงาน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น 

 

เปิด 3 กลุ่มหุ้นหลุมหลบภัย 

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน (19 เมษายน) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับเพิ่มขึ้นมาเพียง 1.09% ในขณะที่หุ้นกลุ่มการแพทย์ กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ และกลุ่ม ICT ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% 

 

ดังนั้นจึงมองหุ้นทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวเป็นหลุมหลบภัยในช่วงนี้ โดยเมื่อพิจารณาแต่ละธุรกิจแล้วจะพบว่าล้วนปรับตัวได้ดีและไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากนัก อย่างไรก็ตาม กลุ่มท่องเที่ยวและบริการอาจจะมีความผัวผวนขาลงบ้างในช่วงนี้ เพราะสถานการณ์โควิดยังไม่นิ่ง แต่หากราคาย่อตัวลงมาก็ประเมินสามารถลงทุนได้ เพื่อดักอานิสงส์เชิงบวกจากภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลัง

 

Inverted Yield Curve เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม 

 

เขากล่าวว่า แม้ Inverted Yield Curve จะไม่ใช่เรื่องใหม่และเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในครั้งนั้นท้ายสุดแล้ว Fed ได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็อยากให้ตลาดและนักลงทุนไม่กลัวภาวะนี้มากจนเกินไป โดยอยากให้มองเป็น 2 มุม 

 

มุมแรก คือ การเกิด Inverted Yield Curve คือ Bond Yield ระยะยาวต่ำกว่า Bond Yield ระยะสั้น ซึ่งตลาดและนักลงทุนกังวลว่าในระยะยาวแล้ว Bond Yield ระยะยาวจะลดลงอีก ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังจะถดถอย มุมนี้ Inverted Yield Curve จึงเป็นสัญญาณเตือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ตลาดเกิดความระมัดระวัง ในทางกลับกัน หากตลาดได้รับสัญญาณเตือนแล้วแต่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ก็มักจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นตามมา

 

“แต่เชื่อว่า Fed ยุคนี้ไวและมีบทเรียน น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม จากสภาวการณ์ปัจจุบัน ก็ยอมรับว่ามีโอกาสที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง” สุกิจกล่าว  

 

มุมที่ 2 คือ ขนาด Balance Sheet ของ Fed หรือการทำ QT ซึ่งจะทำให้ Bond Yield อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า Bond Yield ระยะยาวจะไม่ต่ำกว่า Bond Yield ระยะสั้น และไม่เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ขึ้นอีก ซึ่งในมุมนี้ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วการทำ QT นั้นดีหรือไม่ดีต่อตลาดกันแน่ 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising