×

เปิดประตูสู่โอกาสที่ไม่รู้จบด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก จากวงเสวนา Faster Future Forum 2018

05.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ในงาน Faster Future Forum 2018 เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไฮไลต์สำคัญอยู่ในวงเสวนาหัวข้อ Unlock Blockchain: The World Disruptive Technology โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เชิญชวนวิทยากรพิเศษจากหลากหลายธุรกิจมาร่วมนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
  • บล็อกเชนคือห่วงโซ่ของบัญชีธุรกรรม’ (Ledger) อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีข้อดีคือทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่นี้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ต่างจากการเข้าถึงข้อมูลแบบเดิมที่เป็นลักษณะเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralized) และต้องอาศัยตัวกลาง
  • รูปแบบนี้ทำให้บล็อกเชนได้เปรียบเรื่องของความโปร่งใส ความปลอดภัย และความรวดเร็ว ทำให้หลายธุรกิจเลือกใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล การธนาคาร หรือแม้แต่เกษตรกรรม

หลายคนคุ้นเคยกับสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ที่เข้ามาสั่นสะเทือนวงการการลงทุนและกลายเป็นอนาคตใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin อย่าง บล็อกเชน (Blockchain) นี้เองที่ได้เป็นคำศัพท์ซึ่งปรากฏตัวท่ามกลางสปอตไลต์และได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น

 

ไม่ใช่แค่เพียงมิติด้านสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังการเลือกตั้งออนไลน์ (e-voting) แพลตฟอร์มเพลงสตรีมมิงชื่อดังอย่าง Spotify การตรวจสอบสารพิษในอาหาร ไปจนถึงการยืนยันตัวตนของผลงานศิลปะราคาแพง ขณะนี้มีผู้เล่นจากหลากหลายอุตสาหกรรมเลือกใช้บล็อกเชนเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการช่วยยกระดับธุรกิจให้เดินหน้าต่อในโลกอนาคต อย่างเช่นผู้เล่นรายหลักอย่างธนาคาร หรือธุรกิจด้านธุรกรรมการเงิน หรือผู้เล่นรายย่อยอย่างธุรกิจขนาดกลาง โดยทีมงาน THE STANDARD ได้มีโอกาสฟังสัมมนาพิเศษ Faster Future Forum 2018 ที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมานี้ ภายใต้หัวข้อ Unlock Blockchain: The World Disruptive Technology ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดร่วมกับบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทฟินเทคในเครือ โดยมีวิทยากรพิเศษจากหลากหลายธุรกิจมาร่วมนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน

 

 

โลกปรับ เราขยับตัวด้วยบล็อกเชน
ในงานบรรยายหัวข้อ Blockchain Changes the World พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการหน่วยงาน Corporate Venture Capital บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด เริ่มต้นจากการอธิบายความหมายว่า บล็อกเชนคือห่วงโซ่ของบัญชีธุรกรรม’ (Ledger) อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีข้อดีคือทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่นี้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ต่างจากการเข้าถึงข้อมูลแบบเดิมที่เป็นลักษณะเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralized) ที่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างรัฐบาลหรือธนาคาร แต่บล็อกเชนได้ทำการกระจายอำนาจ (Decentralized) การตัดสินใจผ่านบัญชีธุรกรรมที่เก็บไว้ในเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่เรียกว่าโหนด’ (Node) โดยแต่ละโหนดมีสำเนาบัญชีธุรกรรมของตัวเอง รูปแบบการเข้าถึงข้อมูลจึงเป็นในลักษณะการกระจายแบบใยแมงมุม

 

อีกหนึ่งข้อดีของบล็อกเชนคือ ขับเคลื่อนด้วยคนส่วนใหญ่ (Consensus-Driven) เพราะทุกข้อมูลที่ปรากฏในบล็อกเชนจะต้องได้รับการยืนยัน เกิดเป็นการบันทึก มีการประทับตราเวลาไว้ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ทำลาย หรือสร้างความเสียหายให้แก่ข้อมูลได้

 

รูปแบบนี้ทำให้บล็อกเชนเกิดข้อได้เปรียบสำคัญคือ เรื่องของความโปร่งใส ความปลอดภัย และความรวดเร็ว ทำให้หลายธุรกิจเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล กับการใช้ บล็อกเชนเพื่อจัดการ บันทึกข้อมูลประวัติการรักษาของคนไข้ที่มีจำนวนมาก ในธุรกิจธนาคาร ใช้บล็อกเชนเพื่อยืนยันตัวตนแบบออนไลน์กับลูกค้าเวลาทำธุรกรรม จนถึงการใช้บล็อกเชนเพื่อวัดค่ามิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนในการผลิตพลังงานได้

 

 

เครื่องมือที่ถูกต้อง แก้ปัญหาได้ถูกจุด
ในช่วงที่สอง ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสฟังบทสนทนาพิเศษกับ แบรด การ์ลิงเฮาส์ (Brad Garlinghouse) ประธานกรรมการบริหาร Ripple ผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ด้วยบล็อกเชน

 

แบรดเริ่มต้นการสนทนาด้วยการแนะนำ Ripple ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นจากสองฝั่ง ซึ่งก็คือธนาคารจากหลายประเทศทั่วโลก ให้สามารถโอนเงินระหว่างประเทศถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

 

สิ่งสำคัญที่ Ripple ทำนั้นคือการสร้างทางออกให้กับธนาคารและธุรกิจอื่น เปิดโอกาสในการทำธุรกรรมได้ด้วยต้นทุนที่น้อยลง สะดวก และรวดเร็วขึ้น

 

และเหตุที่บริการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากก็เป็นเพราะมีองค์ประกอบสำคัญคือ มีเทคโนโลยีพื้นฐานอย่างบล็อกเชนที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแล

 

ในฐานะผู้ก่อตั้ง แบรดได้ใช้ประสบการณ์กว่า 20 ปีในการเปลี่ยนความเชี่ยวชาญของตัวเองให้เป็นโอกาส ที่จะทำให้บล็อกเชนเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจ และเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกได้จริง โดยสิ่งสำคัญที่ Ripple เน้นเสมอคือการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้จริง

 

ถ้าหากลงมือทำในสิ่งหนึ่งแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าเรากำลังทำสิ่งนั้นไปทำไม

 

ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้ลูกค้าจาก Ripple นั้นถูกสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านมูลค่าของ Token ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้แบรดยังให้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างถ่องแท้หรือเชิงลึก สิ่งที่ต้องเข้าใจที่แท้จริงคือ ความสามารถในการประเมินว่าบล็อกเชนนั้นเป็นเครื่องมือที่ถูกต้องหรือเหมาะสมกับปัญหาที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่หรือไม่

 

อย่าเสียเวลาไปสงสัยกับเรื่องการเก็บข้อมูลว่าจะเป็นลักษณะกระจายหรือรวมศูนย์ คำถามสำคัญที่ต้องตอบคือ การเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนนั้นเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับบริษัทของคุณหรือเปล่า

 

 

บล็อกเชนกับโอกาสที่ไม่สิ้นสุด
ในช่วงสุดท้ายเป็นเสวนาร่วมกับวิทยากรรับเชิญ ภายใต้หัวข้อ Unlock Blockchain to Endless Possibilities โดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...), Val Jihsuan Yap ผู้ก่อตั้ง PolicyPal สตาร์ทอัพด้าน Insurtech และ David Davies ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร AgUnity ผู้พัฒนาระบบบล็อกเชนเพื่อการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา

 

โดย ดร.ภูมิ ได้แนะนำการประยุกต์ใช้บล็อกเชนกับการระบุตัวตนดิจิทัล (Digital ID) ทำให้ข้อมูลของทุกคนอยู่ในระบบ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้แม้อยู่บนเตียงนอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในปี 2019-2020

 

สำหรับ Val Jihsuan Yap ได้นำปัญหาหรือ Pain Point ที่เคยเจอจากเรื่องการเคลมประกันเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ Val สร้างธุรกิจที่มุ่งหวังให้ผู้มีกรมธรรม์ได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง ก่อตั้ง PolicyPal เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องมือตรวจสอบความปลอดภัยสำหรับการรับเงินและการจ่ายเงินได้อย่างถูกต้อง แพลตฟอร์มที่เข้ามาแก้ปัญหาสำคัญของการสร้างหลักประกันของเหรียญคริปโต และสร้างความรู้สึกโปร่งใสให้แก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

 

ในขณะที่ David คือเจ้าของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาเปลี่ยนชีวิตของชาวนาที่มีความเป็นอยู่อย่างลำบาก ด้วยการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เข้าไปแก้ไขปัญหา จากการซื้อขายในแบบเดิมผ่านสหกรณ์หรือพ่อค้าคนกลาง ที่อาจสื่อสารกันผ่านคำพูด ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใส ความเข้มงวดในการกำหนดราคา การหลอกลวง หรือเรื่องการทุจริต แอปฯ นี้จึงใช้ AgriLedger เข้ามาบันทึกข้อมูลการขายที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน มีความโปร่งใส เพิ่มความเชื่อใจระหว่างชาวนาและสหกรณ์ ในทุกขั้นตอน ทั้งการผลิต การรับซื้อ การขาย และการแบ่งปันผ่านการเข้ารหัสข้อมูล ‘Book of Truth’ ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

 

 

ในการเสวนา Faster Future Forum 2018 ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของบล็อกเชน ในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาที่ยังไม่มีเทคโนโลยีอื่นทำได้ เช่น การใช้บล็อกเชนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเทคโนโลยีอื่น เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ให้สามารถแก้ปัญหา ลดต้นทุนเพิ่มขึ้นได้

 

ความสำเร็จในงานสัมมนาครั้งนี้คือ เห็นการตื่นตัวขององค์กรในทุกภาคส่วนที่ต้องการเรียนรู้นวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลก และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันในยุคดิจิทัลที่แท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising