×

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ใกล้ครบ 1 ปีเต็ม กับภาษากายที่ดูอ่อนล้าของปูติน

10.01.2023
  • LOADING...
สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในที่สุดระยะเวลาการสู้รบในยูเครนก็ล่วงเลยเข้าสู่ปี 2023 แล้ว โดยอีกเพียง 1 เดือนครึ่งก็จะครบ 1 ปีเต็มกับการตัดสินใจบุกยูเครน หรือสิ่งที่รัสเซียเรียกว่า ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ เพื่อรักษา ‘เขตอิทธิพล’ (Sphere of Influence) ของตนในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นพื้นที่หลังบ้านประชิดตัวบ้านที่สุดของรัสเซียที่จะยอมให้ใครมายุ่งไม่ได้

 

ที่ผ่านมาเราได้เห็นการยืนหยัดของชาวยูเครนในการต้านทานกองทัพรัสเซีย ขณะที่ทางฟากฝั่งรัสเซียเอง เราก็ได้เห็นแล้วว่ามาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 5,000 รายการก็ไม่อาจหยุดยั้งหรือทำให้เศรษฐกิจรัสเซียพังทลายลงไปได้ นอกจากจะสร้างความรำคาญและยุ่งยากในการทำธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ ต่อบริษัทห้างร้านและคนรัสเซียแล้ว เทรนด์การแบนการค้าขายกับรัสเซียก็ยังถือเป็นการตัดช่องทางทำเงินของบริษัทตะวันตกต่างๆ โดยใช่เหตุไปด้วยเช่นเดียวกัน

 

แต่ก็ใช่ว่ารัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย แน่นอนว่านโยบายคว่ำบาตรเปรียบเสมือนการให้ยาพิษที่จะค่อยๆ บ่อนทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ดูด้วยตาจะเห็นว่ารัสเซียยังคงสามารถระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเข้าไปในการปฏิบัติการทางทหารได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าได้รับชมสุนทรพจน์อวยพรปีใหม่พี่น้องชาวรัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแล้ว จะรู้ได้ถึงความเหนื่อยล้าและอ่อนแรงผ่านภาษากายของปูตินเอง

 

สัญญาณจากสุนทรพจน์ปีใหม่ของปูติน

ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคมต่อเนื่องมาจนถึง 1 มกราคมของทุกปีจะมีการถ่ายทอดสุนทรพจน์ผู้นำอวยพรปีใหม่ประชาชน เป็นประเพณีตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตจนถึงรัสเซียในปัจจุบัน โดยเป็นการถ่ายทอดสดจากพระราชวังเครมลิน ถ้าไม่ใช้ห้องทำงานเป็นฉากหลังก็จะมีอาคารสำนักประธานาธิบดีหรือไม่ก็หอคอยสปาสสกายาบนกำแพงเครมลินเป็นฉากหลัง แต่ครั้งล่าสุดนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฉากหลังของผู้นำเป็นเหล่าทหารรัสเซียตัวเป็นๆ ในเครื่องแบบภาคสนามลายพราง บางนายติดเหรียญกล้าหาญ แน่นอนว่าสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนของบ้านเมืองในขณะนี้ นั่นก็คือการปกป้องไม่ให้ชาติใด (ในที่นี้เป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงชาติตะวันตก) เข้ามายุ่มย่ามแผ่นดินของรัสเซียและอาณาบริเวณที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงรัสเซีย

 

นอกจากภาพฉากหลังที่เราพอจะอนุมานความหมายดังกล่าวได้แล้ว คำพูดของปูตินเองก็เป็นไปในทำนองเดียวกันคือจะไม่ยอมให้ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงแผ่นดินและเขตอิทธิพลที่จะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงชาติรัสเซีย และรัสเซียจะไม่ยอมรามือจากเรื่องนี้ง่ายๆ พร้อมกับมีการสรรเสริญวีรบุรุษและวีรสตรีของชาติที่ต้องสูญเสียไปในภารกิจครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ ‘ยากลำบาก’ ในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน โดยสามารถสังเกตเห็นได้อีกจากทั้งน้ำเสียงที่ดูเหนื่อยล้า และมีการกระแอมออกอากาศไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง (ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสภาพร่างกายด้วยที่ปีนี้ปูตินจะมีอายุย่างเข้า 71 ปีแล้ว)

 

นอกจากนี้ปูตินยังเสนอให้มีการหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา แม้แต่ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันของตุรกียังออกมากล่าวสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว แต่สิ่งที่เราเห็นในสื่อตะวันตกบางสำนักกลับรายงานว่า รัสเซียเสนอหยุดยิงแต่กลับเสียสัตย์ยิงถล่มยูเครนต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือปูตินเสนอให้หยุดยิงแล้ว แต่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนกลับปฏิเสธและประกาศจะสู้รบต่อไป ดังนั้นการสู้รบกันจึงต้องดำเนินต่อไป ในแง่นี้อีกมุมก็เข้าใจการตัดสินใจของเซเลนสกีที่จะไม่หยุดยิงได้ว่า ยิ่งรบ ยิ่งฮึกเหิม ยิ่งได้คะแนนนิยม ส่วนฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็ได้ผลประโยชน์จากการขายอาวุธให้ยูเครนมารบสู้กับรัสเซีย (ส่งความช่วยเหลือให้ในวันนี้อย่างไรก็ต้องใช้หนี้ให้ในวันหน้า)

 

แนวโน้มของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2023 

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา หลังจากสงครามดำเนินไปได้ราวครึ่งปี ผู้คนก็เริ่มชินชากับข่าวการสู้รบ มีการผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ เพียงแต่ว่าถ้าช่วงไหนฝั่งยูเครนได้เปรียบมากหน่อยก็จะได้พื้นที่สื่อเยอะ เป็นกระแส มีการโหมโรงเชียร์ยูเครนโดยสื่อตะวันตกอย่างชัดเจน บางสำนักถึงขนาดรายงานว่าจะตีโต้กลับรัสเซียได้อย่างเด็ดขาด

 

เอาเข้าจริงๆ มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่สำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังอยู่ในบริบทที่ผลัดกันบุก ผลัดกันตั้งรับ แต่ล่าสุด ที่ข่าวคราวมีกระแสเงียบลง เป็นเพราะยูเครนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างเสียเปรียบอีกครั้ง เมื่อรัสเซียเริ่มมีแนวโน้มจะเข้ายึดเมืองสำคัญในดอนบาสอย่าง ‘บัคมุต’ ได้ โดยเมืองดังกล่าวนี้ถือเป็นชุมทางที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เป็นที่ตั้งของโรงงาน เหมือง และอาคารต่างๆ ที่สร้างไว้อย่างแข็งแรงมากมาย หากยึดเมืองบัคมุตได้สำเร็จ ก็จะเป็นการเปิดทางให้กองทัพรัสเซียโอบล้อมกองทัพยูเครนได้สามทิศทางและสามารถตีโต้กลับออกไปในทางเหนือได้ เอาเข้าจริงแล้วเมืองนี้ตั้งแต่กองทัพยูเครนตีโต้กลับครั้งใหญ่ในเดือนกันยายนช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา รัสเซียพยายามยึดเมืองนี้หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมารัสเซียสามารถยึดหมู่บ้านยาคอฟเลฟกาได้สำเร็จ อันเป็นชัยภูมิที่ดี เนื่องจากเป็นที่สูงสามารถเป็นฐานระดมยิงฝ่ายตรงข้ามที่ได้เปรียบ ซึ่งจะเปิดทางให้ยึดเมืองโซเลดาร์ที่เป็นหน้าด่านของบัคมุตได้ไม่ยาก ดังนั้นในช่วงเวลานี้แนวรบด้านนี้จึงควรจับตามองอย่างยิ่ง

 

ส่วนปัจจัยภายนอกอย่างเกมการเมืองระหว่างประเทศ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ทางฝ่ายตะวันตกก็ยังไม่มีท่าทีที่จะส่งอาวุธหนักแบบพร้อมจะปิดเกมกับรัสเซียให้กับยูเครนแต่อย่างใด เพราะเป็นสัจธรรมที่ว่าตะวันตกเองก็ไม่อยากจะยกระดับสเกลความขัดแย้งกับรัสเซียให้มากไปกว่านี้ จึงทำได้แต่ ‘เลี้ยงไข้’ ยูเครนแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับยุโรปเอง ตราบเท่าที่ยังไม่พ้นฤดูหนาว รัสเซียยังคงถือไพ่เหนือกว่าในเรื่องของการเป็นผู้ป้อนพลังงานหลักให้กับยุโรป อย่างน้อยในระยะเวลา 4-5 เดือนนี้ก่อนจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ยุโรปคงจะไม่มีนโยบายหรือการตัดสินใจอะไรที่รุนแรงต่อต้านรัสเซีย 

 

อีกทั้งลักษณะของการสู้รบเป็นการสู้รบแบบในสนามเพลาะ ที่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มขุดกันมาตั้งแต่วิกฤตไครเมียเมื่อปี 2014 ตามมาด้วยสงครามกลางเมืองในภาคตะวันออกของยูเครนระหว่างรัฐบาลเคียฟกับผู้ฝักใฝ่รัสเซีย (ถ้ายังจำกันได้) โดยการรบแบบสนามเพลาะเป็นลักษณะการสู้รบแบบสงครามโลกครั้งที่ 1 คือต่างฝ่ายต่างยึดพื้นที่ในสนามเพลาะของตน ค่อนข้างอยู่กับที่แต่มีผลัดกันรุกผลัดกันรับบ้าง ในกรณีการสู้รบในยูเครนก็มียุทธวิธีการใช้การสนับสนุนจากปืนใหญ่และจรวดในการระดมยิงพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามให้เกลี้ยงก่อนที่จะใช้กำลังภาคพื้นเข้าเคลียร์และยึดพื้นที่ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่หวือหวาพลิกแผ่นดิน 

 

จุดเปลี่ยนที่น่าจับตามองคือช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่จะมีการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ใบไม้ผลิที่หิมะและน้ำแข็งจะละลายเป็นโคลนเลนยากต่อการเคลื่อนกำลังพล ก็แล้วแต่ว่านับจากวันนี้เป็นต้นไปฝ่ายใดจะเก็บออมความได้เปรียบเอาไว้จนถึงวันนั้น คนนั้นก็จะได้เปรียบในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นกัน

 

ในแง่ของเศรษฐกิจยูเครน มีผู้สันทัดด้านเศรษฐศาสตร์ยูเครนมองว่า แม้สงครามที่ยืดเยื้อจะฉุดรั้ง GDP ของยูเครนถึง 5-15% ของ GDP ผนวกกับเงินเฟ้ออีก 20% แต่เพราะด้วยการช่วยเหลืออย่างมหาศาลของฝ่ายตะวันตก ทำให้ค่าเงินฮริฟเนียของยูเครนก็ยังสามารถคงความเสถียรไว้ได้อยู่ นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ยูเครนจะหักดิบและตัดขาดกับชาติตะวันตก แต่ถ้าเกิดมีปาฏิหาริย์ สงครามยุติลง GDP ที่มีสถานะติดลบอาจกลับมาเด้งขึ้นเป็นบวก 5% และค่าเงินฮริฟเนียกลับมาเฟ้อเล็กน้อยและแข็งค่าขึ้น หรือถ้าเป็นแบบทั้งสองอย่างคือ สงครามสิ้นสุดลงในฤดูร้อนอันใกล้นี้ GDP ยูเครนจะค่อยขยับจากติดลบกลับมาเป็น 0 อย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับการลดมูลค่าของค่าเงินฮริฟเนียลงอีกราว 20% 

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการตีโต้กลับครั้งใหญ่ของรัสเซียเช่นกัน แต่ก็มีรายงานจากสื่อยูเครนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเซเลนสกีที่มองว่า รัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันเป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน และฝ่ายยูเครนเองนี่แหละที่จะออกตัวตีโต้รัสเซียครั้งใหญ่

 

ส่วนในมุมมองของปัจเจกชนชาวรัสเซีย ผู้เขียนเองได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทรรศนะกับเพื่อนๆ รัสเซียที่มีอยู่ค่อนข้างมากและกำลังเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างหนาแน่นอีกครั้งหลังยุคโควิด มีคนที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจทำสงครามแต่ก็มีไม่มาก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามมีมากกว่า (ตามที่ได้พูดคุยด้วยตนเอง) แต่ในหมู่ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถแบ่งได้อีกว่า 1. ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรัสเซียเรื่องสงครามและเห็นใจรัฐบาลยูเครน 2. ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรัสเซียเรื่องสงครามและไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลยูเครนในฐานะเชื้อชาติพี่น้องกันไปพาคนนอกอย่างตะวันตกเข้ามา เป็นการชักศึกเข้าบ้าน

 

อย่างน้อยการได้พูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงก็สร้างความตระหนักว่าไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ แต่ยังมี ขาว ดำ เทา เทาเข้ม เทาอ่อน อีกมากมายที่เป็นความจริงอีกแง่ที่ไม่ได้อยู่ในสื่อกระแสหลัก

 

แต่สำหรับแนวโน้มความขัดแย้งในปีนี้บอกได้เพียงว่าจับตาไตรมาสแรกไว้ให้ดี เพราะไตรมาสนี้อาจจะกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อๆ ไปทั้งปีก็เป็นได้

 

ภาพ: LeStudio / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising