×

UN มีมติระงับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ตอบโต้การกระทำในยูเครน ขณะที่ไทยย้ำจุดยืนงดออกเสียง

08.04.2022
  • LOADING...
UN

วานนี้ (7 เมษายน) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) มีมติด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ให้ระงับบทบาทของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลังปรากฏรายงานข้อกล่าวหาว่า ทหารรัสเซียได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบในยูเครน ขณะที่รัฐบาลมอสโกตอบโต้ด้วยการ ประกาศถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

 

มติดังกล่าวถูกเสนอโดยสหรัฐฯ ซึ่งสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติลงมติเห็นด้วย 93 ประเทศ ไม่เห็นด้วย 24 ประเทศ และงดออกเสียง 58 ประเทศ 

 

โดยประเทศที่งดออกเสียง อาทิ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย ส่วนประเทศที่โหวตไม่เห็นด้วย นอกจากรัสเซียยังมีประเทศพันธมิตร อาทิ จีน เกาหลีเหนือ อิหร่าน เวียดนาม ซีเรีย และคาซัคสถาน 

 

เกนนาดี คุซมิน รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำ UN กล่าวภายหลังการโหวต โดยบรรยายความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่าเป็น “ขั้นตอนที่ผิดกฎหมายและมีแรงจูงใจทางการเมือง” และประกาศว่ารัสเซียตัดสินใจถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN

 

ขณะที่ เซอร์กีย์ คิสลิตสยา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำ UN โต้กลับว่า รัสเซีย “ไม่ต้องยื่นใบลาออกหลังจากที่ถูกไล่ออก”

 

ด้าน จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำ UN กล่าวว่า “ความเคลื่อนไหวที่เร่งรีบเช่นนี้ในการประชุมสมัชชาใหญ่ ซึ่งบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ เลือกข้าง จะยิ่งเพิ่มความแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิก และทำให้การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเหมือนเป็นการเพิ่มเชื้อเพลิงในกองไฟ” 

 

ที่ผ่านมานอกจากรัสเซีย ในปี 2011 ลิเบียก็เคยถูกโหวตระงับบทบาทในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN จากสาเหตุการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง ของกองกำลังรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี

 

สำหรับรัสเซียนั้นอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN เป็นปีที่ 2 จากทั้งหมด 3 ปี ซึ่งภายใต้มติดังกล่าว UNGA สามารถโหวตเพื่อยุติการระงับบทบาทของรัสเซียได้ในภายหลัง 

 

แต่จากท่าทีของรัสเซียที่ประกาศถอนตัว ทำให้แนวทางดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2018 ก่อนที่จะได้รับเลือกกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว

 

ด้าน ลินดา โทมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำ UN กล่าวว่า การโหวตระงับบทบาทของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่า บรรดาเหยื่อและผู้รอดชีวิตที่ได้รับความทุกข์ทรมานจะไม่ถูกทอดทิ้ง 

 

“เรารับรองว่าผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและรุนแรงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำรงตำแหน่งผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในสหประชาชาติ” เธอกล่าว

 

สำหรับบทบาทของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN นั้นไม่สามารถตัดสินใจที่มีผลผูกพันทางกฎหมายได้ แต่การตัดสินใจใดๆ จะถือเป็นการส่งข้อความทางการเมืองที่สำคัญ 

 

โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN สามารถอนุมัติให้มีการสอบสวนการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วได้มีการเปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาในหลายกรณี รวมถึงกรณีก่ออาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในยูเครน

 

ภาพ: Photo by Michael M. Santiago / Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising