×

6 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ Ricult ธุรกิจเพื่อสังคม ตัวแทนประเทศไทยไปชิงชัยในเวทีโลก

16.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ธุรกิจเพื่อสังคม Ricult เป็น Social Enterprise Startups ที่นำเทคโนโลยี Big Data กับ Machine Learning มาใช้ในการแก้ปัญหาการเพาะปลูก จนสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรมากถึงร้อยละ 50
  • ด้วยความโดดเด่นของแนวคิด ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้จริง และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างผลกระทบอันดีให้เกิดขึ้นกับสังคมได้ในวงกว้าง จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะของแคมเปญ Chivas The Venture ระดับประเทศไทยประจำปีนี้ ได้เป็นตัวแทนธุรกิจเพื่อสังคมของไทยไปร่วมแข่งขันบนเวทีระดับโลก

ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 4 แล้ว สำหรับโครงการดีๆ อย่าง Chivas The Venture ที่ส่งเสริมและสนับสนุนนักธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการทำเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ  โดยสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ‘Win the Right Way’ หรือประสบความสำเร็จในธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกำไรไปพร้อมกับการเติบโตและพัฒนาไปในทางที่ดีของสังคม

 

ในปีที่แล้ว ตัวแทนประเทศไทยอย่าง Siam Organic เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวนั้นได้ตำแหน่งชนะเลิศบนเวทีระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้คนไทยได้ภูมิใจที่เรามีธุรกิจเพื่อสังคมเจ๋งๆ ขนาดนั้นอยู่ (อ่านเรื่องราวของ Siam Organic ได้ที่บทความ คุยกับ ‘Siam Organic’ ผู้ยกระดับชีวิตชาวนาไทย ตัวแทนกิจการเพื่อสังคมไทยไปแข่งขันในเวทีโลก) ส่วนในปีนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับ Ricult’ โดย คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder และ CEO ของธุรกิจเพื่อสังคมดาวรุ่ง ที่เพิ่งชนะแคมเปญนี้ในระดับประเทศมาหมาดๆ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันกับธุรกิจเพื่อสังคมอีก 29 ประเทศจาก 6 ทวีปทั่วโลก ในแคมเปญ Chivas The Venture ระดับโลก

 

คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ

Co-Founder และ CEO ของ Ricult

 

1. จุดเริ่มต้นเกิดจากความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

“ผมอยากเปลี่ยนแปลงให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม ผมเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร คุณทวดทำนาอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ส่วนคุณพ่อก็ทำสวนทุเรียนอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราครับ จึงคุ้นเคยกับภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างดี ตอนเด็กๆ ผมเคยนั่งรถกระบะไปขายทุเรียนที่ตลาดนัด โชคดีว่าโตขึ้นมาผมได้มีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาทางด้านวิศวะและบริหาร ก็ได้ค้นพบว่า ที่สหรัฐอเมริกามีธุรกิจเพื่อสังคมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมค่อนข้างเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะทำอย่างนี้บ้างในเมืองไทย เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมีธุรกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะ Social Enterprise ที่สร้างรายได้ และสามารถจุนเจือตัวเองได้ด้วยก็หายาก ผมเลยรู้สึกว่าเราอยากทำให้คนไทยได้เห็นว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมเนี่ยมันอยู่ได้นะ เราสามารถทำดีได้ด้วย และได้หารายได้เข้าสู่บริษัทไปพร้อมๆ กันได้ด้วย”

 

2. ใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย

“เรามุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการแก้ปัญหาด้านการเพาะปลูก ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างของการเข้าถึงสินเชื่อ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและรายได้ รีคัลท์เป็น Agriculture Tech Start Up ที่จะปฏิรูปการทำการเกษตรให้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เคย โดยการใช้เทคโนโลยี”

3. Big Data กับ Machine Learning คือกุญแจสำคัญ

“รีคัลท์ใช้เทคโนโลยี Big Data กับ Machine Learning มาใช้ อธิบายให้เข้าใจง่ายเข้าก็คือ เรานำข้อมูลมาวิเคราะห์กันเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์คือ ตอนนี้ในโลกของเรามีข้อมูลที่เป็น Big Data อยู่เยอะมาก คล้ายๆ กับ แอปฯ เรียกรถแท็กซี่อย่าง Grab หรือ Uber ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลพิกัดหรือเส้นทาง เพื่อดูว่ารถเคลื่อนไปที่ไหนอย่างไร และผู้โดยสารอยู่ตรงไหน เพื่อจะให้คนขับแมตช์ให้บริการ หรืออย่างเวลาเล่นเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีการแนะนำว่าคุณควรจะกดเข้าไปดูอะไร คุณน่าจะชอบเพจไหน คุณน่าจะซื้อของตรงนี้ นั่นคือเขามีการทำ Big Data อยู่ข้างหลัง แล้วนำมาประมวลผล

 

“และแอปฯ​ Ricult ก็เป็นแบบเดียวกัน เรานำคอนเซปต์คล้ายๆ กันนี้มาใช้กับวงการเกษตร รวบรวมข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลดิบต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญในการเพาะปลูกการเกษตร และนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง จนสามารถบอกเกษตรกรได้ว่าควรจะปลูกอะไรที่เหมาะสมที่สุดในพื้นดินของเขา ควรลงเมล็ดวันไหน ใส่ปุ๋ยอะไร เก็บเกี่ยววันไหน แจ้งเตือนการเกิดศัตรูพืช แจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การตรวจวิเคราะห์ดิน การใส่ปุ๋ย ธาตุอาหาร และยากำจัดศัตรูพืชอย่างแม่นยำ เพื่อจะให้ได้ผลผลิตจำนวนมากและได้คุณภาพที่สุด”

 

 

4. สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรมากถึงร้อยละ 50

“จากการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในจังหวัดสระบุรี เราสามารถเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูกได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้อีกมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ กล่าวได้ว่ารีคัลท์สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและช่วยให้ครอบครัวของเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่และโอกาสที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่มีรายได้ในครอบครัวมากขึ้น สามารถส่งลูกหลานเกษตรกรเข้าโรงเรียนได้ การเข้าถึงสถานพยาบาล มีสุขภาพที่ดีขึ้น”

 

5. รายได้ของ Ricult มาจากไหนบ้าง?

“การให้บริการของรีคัลท์สามารถสร้างรายได้จาก 1) ค่าบริการในการใช้เทคโนโลยีของรีคัลท์ ซึ่งเก็บจากเกษตรกร Smart Farmer ที่ใช้แอปฯ ของรีคัลท์ หรือพาร์ตเนอร์อย่างธนาคารเพื่อการเกษตร และยังมีรายได้ทางอื่นอีกจาก 2) การขายข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเงิน โรงงานอาหารสัตว์ หรือบริษัทรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ”

 

6. ในอนาคตมีแผนจะขยายขอบเขตการทำงาน ให้บริการในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา

“ตอนนี้รีคัลท์ทำงานและให้บริการในประเทศไทยและปากีสถาน โดยในประเทศไทยนั้นระยะเริ่มต้นเรายังโฟกัสอยู่เฉพาะที่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดในจังหวัดสระบุรี และจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถให้บริการกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ รวมถึงครอบคลุมการทำเกษตรชนิดอื่นๆ ให้มากขึ้น

 

“ทั้งนี้ยังมีโครงการระยะยาวที่จะให้บริการกับเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นั่นก็เพราะสิ่งที่เราค้นพบคือ เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างยากลำบาก ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ การที่มีผลผลิตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การขาดข้อมูลเรื่องตลาดว่าจะขายให้ใคร ทำให้มีพ่อค้าคนกลางมากดราคาถึงหน้าสวน

 

“ซึ่งแทบทุกประเทศกำลังพัฒนาล้วนมีปัญหาคล้ายๆ กัน สาเหตุที่เราเริ่มต้นที่ปากีสถานและประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน ก็เพราะรีคัลท์อยากจะแสดงให้เห็นว่าโมเดลของเราสามารถใช้งานได้จริงข้ามประเทศ และถ้าทำเช่นนั้นได้สำเร็จ เราก็จะสามารถขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียนอย่าง ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซียได้ เราสามารถจะเป็น Social Enterprise Startups ที่มี Social Impact สูงได้ เพราะปัจจุบันทั่วโลกนั้นมีเกษตรกรอยู่มากกว่า 500 ล้านคนที่มีปัญหาเหมือนกันนี้อยู่”

 

อ่าน คุยกับ อุกฤษ อุณหเลขกะ แห่ง Ricult สตาร์ทอัพเพื่อเกษตรกรที่มูลนิธิบิล เกตส์ ให้ทุน 83 ล้านบาทได้ที่นี่

FYI
  • ร่วมลุ้นเป็นกำลังใจให้กับ Ricult ในการแข่งขันแคมเปญ Chivas The Venture ไปพร้อมกับนักธุรกิจเพื่อสังคม ที่น่าจับตามองของชีวาสรีกัลให้เติบโตอย่างยั่งยืน กับโอกาสครั้งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างท้าทาย โดยสามารถติดตามรายละเอียดของแคมเปญ และข่าวคราวของการแข่งขันในรอบ Final ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ได้ที่ www.theventure.com
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X