×

จาก Givenchy, McQueen สู่ Chanel, Dior และ Lanvin รำลึกถึงแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ยังคงอิทธิพลไม่เสื่อมคลาย

03.10.2017
  • LOADING...

     รากฐานและจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่ขับเคลื่อนธุรกิจแฟชั่นทุกวันนี้ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ได้รับการพูดถึงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับดีไซเนอร์ที่ริเริ่มแบรนด์มากับน้ำพักน้ำแรงและสองมือของตัวเอง จนสร้างอาณาจักรแฟชั่นให้คนนับล้านได้ฝันถึง ใช้ยึดเหนี่ยวเป็นแรงบันดาลใจ และทำมาหากินประกอบอาชีพ

     THE STANDARD ขอกล่าวถึงดีไซเนอร์ที่แม้จะจากเราไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีเขาในวันนั้น เราก็คงไม่มีวงการแฟชั่นที่แข็งแกร่งอย่างในทุกวันนี้

 

อูแบร์ เดอ จีวองชี

 

อูแบร์ เดอ จีวองชี (Hubert de Givenchy) ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ทรงอิทธิพลสุดในโลก เขาได้ก่อตั้งแบรนด์ Givenchy เมื่อปี 1952 และเป็นคนอยู่เบื้องหลังชุดดำระดับตำนานอย่าง Little Black Dress ที่นักแสดง ออเดรย์ เฮปเบิร์น ใส่ในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s ซึ่งทั้งคู่ได้เจอกันที่กองถ่ายหนังเรื่อง Sabrina และได้เป็นเพื่อนสนิทกันมาโดยตลอด จนกระทั่งออเดรย์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1993

 

ในปี 1989 แบรนด์ Givenchy ถูกซื้อไปโดยกลุ่ม LVMH ก่อนที่อูแบร์จะเกษียณจากวงการแฟชั่นในปี 1995 เพื่อที่จะไปโฟกัสด้านงานสะสมศิลปะ เช่น รูปปั้นต่างๆ ส่วนแบรนด์ที่เขาก่อตั้งมากับมือก็มีหลายดีไซเนอร์ที่ได้มาทำต่อ เช่น จอห์น กัลลิอาโน, อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน, ริคคาร์โด ทิสซี และแคลร์ เวต เคลเลอร์ ดีไซเนอร์สาวชาวอังกฤษที่ดำรงตำแหน่งอาร์ทิสต์ไดเรกเตอร์ขณะนี้

 

อาซเซดีน อไลยา

 

อาซเซดีน อไลยา ถูกยกย่องตั้งแต่คอลเล็กชันแรกภายใต้แบรนด์ของตัวเองในปี 1980 (ก่อนหน้านั้นเขาทำงานที่ Dior และ Guy Laroche) ก็คือการเป็นดีไซเนอร์ที่กำหนดทิศทางให้ตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งกฎระเบียบของวงการแฟชั่น เช่น จะไม่จัดแฟชั่นโชว์ตามตารางแฟชั่นวีกจนเมื่อรู้สึกว่าตัวเองพร้อม และเป็นดีไซเนอร์ที่ไม่ลงโฆษณาใดๆ ทั้งสิ้น

 

อิทธิพลของเขามีให้เห็นอย่างมหาศาลตอนเขาเสียชีวิต เมื่อดีไซเนอร์ ดารา และคนในวงการแฟชั่นต่างออกมาเขียนรำลึกถึงดีไซเนอร์คนนี้บนโซเชียลมีเดียอย่างท่วมท้น อาทิ เลดี้ กาก้า ซึ่งเป็นดาราคนแรกที่อาซเซดีนยอมตัดชุดให้ใส่บนพรมแดงที่งานออสการ์ในปี 2015 แต่สำหรับคนดังที่สนิทกับดีไซเนอร์ชาวตูนิเซียคนนี้มากที่สุดก็คือซูเปอร์โมเดล นาโอมิ แคมป์เบลล์ ที่เรียกอาซเซดีนว่า ‘พ่อ’ และเคยเปิดบ้านให้นาโอมิไปพักอาศัยที่ปารีสตั้งแต่ซีซันแรกที่เธอเดินแบบ เพราะในตอนนั้นนาโอมิทำกระเป๋าสตางค์หาย

 

 

Gabrielle Bonheur Coco Chanel

     เริ่มจากดีไซเนอร์ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล กาเบรียล ชาแนล (Gabrielle Chanel) ที่เกิดเมื่อปี 1883 ในหน่วยการปกครองท้องถิ่น Samur ประเทศฝรั่งเศส และเป็นเด็กกำพร้าหลังจากแม่เสียชีวิตในขณะที่เธออายุ 12 ปี แต่เธอก็สามารถผลักดันตัวเองด้วยการเริ่มทำงานเป็นช่างตัดเย็บ ก่อนจะเปิดร้านทำหมวกในปี 1909 ชื่อ Chanel Modes และต่อมาเปิดแบรนด์อย่างฟูลสเกล ที่มีผลิตภัณฑ์ทั้งแจ็กเก็ตผ้าผ้าทวีด, กระเป๋าหนังรุ่น 2.55, ชุดเดรสดำ และน้ำหอม Chanel No.5

     หลังจากกาเบรียล (อายุ 87) เสียชีวิตในปี 1971 คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งนิตยสาร Forbes คาดการณ์ว่าแบรนด์ Chanel มีมูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน

 

 

Yves Saint Laurent

     จะกี่ซีซันหรือรันเวย์ที่หัวเมืองอะไร อิทธิพลของ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) ก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสคนนี้เกิดเมื่อปี 1936 ที่เมือง Oran ในประเทศแอลจีเรีย ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ปารีส และได้เป็นดีไซเนอร์ของห้องเสื้อ Christian Dior ในปี 1957 ด้วยวัย 21 ปี ต่อมาเขาได้เปิดแบรนด์ของตัวเองในปี 1961 กับนักธุรกิจและคู่ชีวิต ปิแอร์ แบร์เจ (Pierre Bergé) และสามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์แฟชั่นด้วยรูปทรงดีไซน์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชุดสูท Le Smoking, ชุดเดรส Mondrian และคอลเล็กชัน Safari

     ปี 2002 อีฟส์ได้ประกาศวางมือจากวงการ และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในสมอง ในปี 2008 ทุกวันนี้แบรนด์อยู่ภายใต้กลุ่ม Kering และได้ดีไซเนอร์ชาวเบลเยียม แอนโทนี แว็กคาเรลโล (Anthony Vaccarello) มาดูแล

 

 

Cristóbal Balenciaga

     ถ้าต้องยกตำแหน่งให้เจ้าพ่อเสื้อผ้ากูตูร์ ตำแหน่งนี้ย่อมตกเป็นของ คริสโตบัล บาลองเซียกา (Cristobal Balenciaga) ที่เป็นคนก่อตั้งแบรนด์ Balenciaga ซึ่งทุกวันนี้อยู่ภายใต้เครือ Kering และมี เด็มนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) แห่งแบรนด์ Vetements เป็นผู้กุมบังเหียน

     คริสโตบัล เกิดในปี 1895 ที่เมือง Getaria ในประเทศสเปน คริสโตบัลได้ฝึกตัดเย็บตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่เป็นช่างเย็บ และถึงแม้เขาจะประสบความสำเร็จกับการเปิดห้องเสื้อที่สเปนตั้งแต่ปี 1919 แต่เพราะสงครามภายในประเทศช่วงปี 1936-1939 คริสโตบัลเลยต้องย้ายไปอยู่ปารีส จุดเด่นงานดีไซน์ของคริสโตบัลอยู่ที่รูปทรงซิลูเอตที่มีความ Experimental ในยุคนั้นที่ฉีกกฎเกณฑ์การสร้างสรรค์เสื้อผ้า เช่น ชุดเดรส Balloon Jacket ในปี 1953

     คริสโตบัลเสียชีวิตในปี 1972 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว และทำให้แบรนด์หยุดธุรกิจไปนาน ก่อนจะกลับมาเปิดใหม่ในปี 1986 หลังบริษัท Jacques Bogart ซื้อลิขสิทธิ์ของแบรนด์

 

 

Gianni Versace

     ครบรอบ 20 ปีพอดีสำหรับการจากไปของดีไซเนอร์ จานนี เวอร์ซาเช (Gianni Versace) อีกหนึ่งอัจฉริยะแห่งวงการแฟชั่นที่ทำให้แบรนด์ Versace ที่เขาก่อตั้งในปี 1978 กลายเป็นบรรทัดฐานของสไตล์และความเซ็กซี่ที่ได้ความนิยมถล่มถลายในยุค 90s พร้อมกับเหล่าซูเปอร์โมเดล เช่น นาโอมิ แคมป์เบลล์, ซินดี ครอว์ฟอร์ด และคลาวเดีย ชิฟเฟอร์ ที่เพิ่งมาร่วมเดินปิดให้โชว์ Versace Spring/Summer 2018 ที่ ดอนนาเทลลา เวอร์ซาเช (Donatella Versace) น้องสาวของเขาเพิ่งทำคอลเล็กชันที่เอาผลงานในข้อมูลเก่าของแบรนด์มาทำใหม่

     จานนี เกิดเมื่อปี 1946 ที่เมือง Reggio Calabria ในประเทศอิตาลีและสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์ Versace อย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่เขาโดนฆาตกรรมที่หน้าบ้านของเขาในไมอามี ช่วงปี 1997 ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 50 ปี และปีหน้าเรื่องราวการลอบสังหารของเขาจะกลายเป็นซีรีส์ชื่อ The Assassination of Gianni Versace: American Crime Story

 

 

Christian Dior

     แม้จะอยู่ที่แบรนด์ที่ตัวเองสร้างมากับมือแค่ 11 ปี แต่ชื่อ คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ก็ยังถูกจารึกให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แฟชั่น

     คริสเตียน เกิดที่หน่วยการปกครองท้องถิ่น Granville ในประเทศฝรั่งเศส กับครอบครัวพี่น้อง 4 คน หลังจากคริสเตียนเสร็จภารกิจในกรมทหารในปี 1942 เขาก็ได้เปิดแบรนด์ชื่อตัวเองในปี 1946 และปฏิวัติวงการกับคอลเล็กชันแรกที่ คาร์เมล สโนว์ บรรณาธิการนิตยสาร Harper’s Bazaar ได้เรียกว่า ‘New Look’ มีสูทชื่อ ‘Bar Suit’ รูปทรงนาฬิกาทรายและเอวคอดเป็นชิ้นเด็ด ทุกวันนี้ Christian Dior อยู่ภายใต้เครือ LVMH ที่มี มาเรีย กราเซีย คิอูรี (Maria-Grazia Chiuri) เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ผู้หญิงคนแรก สานต่อจาก ราฟ ซิมงส์ (Raf Simons) ที่ย้ายไปอยู่ Calvin Klein

คริสเตียนเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 52 ปีที่เมือง Tuscany ในประเทศอิตาลี ระหว่างไปพักผ่อนด้วยอาการหัวใจล้มเหลว

 

 

Roy Halston Frowick

     อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูในยุคนี้ แต่ถ้าในยุค 70s ช่วงเพลงดิสโก้และคลับ Studio 54 ในมหานครนิวยอร์ก ชื่อของ ฮาลสตัน (Halston) ก็เป็นเหมือนอีกหนึ่งราชาของวงการแฟชั่นกับชุดเดรสราตรีเรียบหรูที่หลายแบรนด์ยังคงได้แรงบันดาลใจจนถึงทุกวันนี้

     ฮาลสตัน เกิดเมื่อปี 1932 ที่รัฐไอโอวา ก่อนจะย้ายไปศึกษาที่ชิคาโก และเปิดธุรกิจขายหมวก พอปี 1969 ฮาลสตันก็ได้เปิดตัวไลน์เสื้อผ้าอย่างเป็นทางการ แต่ก็เสียชีวิตในปี 1990 ด้วยโรคเอดส์ แบรนด์ Halston ทุกวันนี้ก็ยังประสบปัญหาการบริหารและหาดีไซเนอร์ที่จะสานต่อได้สำเร็จ แต่ก็มีไลน์สอง Halston Heritage ที่ยังวางขายอยู่ทุกซีซัน

 

 

Thomas Burberry

     ถ้าต้องพูดถึงไอเท็มเทรนช์โค้ตแล้ว ไม่พูดถึงชื่อ โทมัส เบอร์เบอรี่ (Thomas Burberry) ก็คงไม่ได้ เพราะเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Burberry ที่เราคุ้นเคยกันดี

     โทมัส เกิดเมื่อปี 1835 ที่เขตปกครอง Surrey ในประเทศอังกฤษ เขาประกอบอาชีพเป็นคนขายผ้า ก่อนที่จะเปิด Burberry ในปี 1856 ด้วยวัยเพียง 21 ปี แถมเขายังเป็นคนคิดค้นวัสดุเนื้อผ้ากันน้ำ Gabardine ที่ใช้กันในเทรนช์โค้ตเป็นประจำ ทุกวันนี้ Burberry กลายเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจในวงการแฟชั่นที่สอดคล้องการใช้เทคโนโลยีและจัดขายแบบ See Now, Buy Now ภายใต้การดูแลของ คริสโตเฟอร์ เบลีย์ (Christopher Bailey) ประธานบริษัท

     โทมัสเสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 90 ปี ที่ย่าน Hampshire ในประเทศอังกฤษ

 

 

Lee Alexander McQueen

     เขาคือน้องสุดท้องในกลุ่มดีไซเนอร์ที่เราพูดถึง ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน (Lee Alexander McQueen) ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนต่างยกย่องและเชิดชู เพราะงานดีไซน์ที่แหกกฎระเบียบว่าอะไรควรไม่ควรในแฟชั่น

     อเล็กซานเดอร์ เกิดในปี 1969 ที่ลอนดอน และเริ่มเส้นทางสายอาชีพดีไซเนอร์กับการไปฝึกงานย่าน Savile Row ก่อนที่จะก่อตั้งแบรนด์ในปี 1992 และได้เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Givenchy ช่วงปี 1996-2001 ผลงานสร้างชื่อให้เขามีทั้งคอลเล็กชัน VOSS ที่จัดคอลเล็กชันในตู้กระจก และคอลเล็กชัน Plato’s Atlantis กับรองเท้ารุ่น Armadillo ที่คนจดจำจากมิวสิกวิดีโอ Bad Romance ของเลดี้ กาก้า แต่คอลเล็กชันนี้ก็เป็นโชว์สุดท้ายที่เขาปรากฏตัวก่อนจะสร้างข่าวช็อกโลกด้วยการฆ่าตัวตายในปี 2010 ทุกวันนี้มือขวาของเขา ซาร่าห์ เบอร์ตัน (Sarah Burton) ได้มาช่วยสานต่อแบรนด์

 

 

Jeanne Lanvin

     เป็นอีกหนึ่งดีไซเนอร์ที่เริ่มจากการดีไซน์หมวกตอนอายุ 16 สำหรับ เจนน์ ลองแวง (Jeanne Lanvin) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Lanvin หนึ่งในห้องเสื้อที่เก่าแก่ที่สุด

     เจนน์เกิดเมื่อปี 1867 ในบรรดาพี่น้อง 11 คน และเปิดร้าน Lanvin เมื่อปี 1889 ซึ่งเธอโด่งดังกับการรังสรรค์ชุดให้แม่ลูกใส่คู่กัน การใช้สีสัน และเดรสทรง Robe de style ที่นิยมใส่กันมากในยุค 20s

     หลังจากเจนน์เสียชีวิตในปี 1948 แบรนด์ Lanvin ได้เปลี่ยนเจ้าของหลายรุ่น ก่อนที่ในปี 2001 ชอว์ แลน หวัง (Shaw-Lan Wang) นักธุรกิจหญิงชาวไต้หวันได้ซื้อธุรกิจจาก L’Oréal และเพิ่งได้ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ โอลิเวอร์ ลาพิดัส (Oliver Lapidus) มาทำเสื้อผ้าให้

 

 

Elsa Schiaparelli

     อีกหนึ่งดีไซเนอร์ที่รับความนิยมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ กาเบรียล ชาแนล (และสื่อยกให้เป็นคู่อริ) เอลซา เชียปาเรลลา (Elsa Schiaparelli) ชาวอิตาเลียนที่เกิดเมื่อปี 1890 และเปิดแบรนด์ในปี 1927 ซึ่งได้ดาราฮอลลีวูดอย่าง มาร์ลิน ดีทริช และ เกรทา การ์โบ มาสวมใส่ชุดให้ จุดเด่นของงานเอลซาคือ การแต่งเติมเสื้อผ้าด้วยลวดลายแนว Surrealist ที่เธอเคยทำคอลเล็กชันกับศิลปิน ซัลวาดอร์ ดาลี ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์คือการใช้โทนสีชมพูที่ไอคอนิกมาก จนมีชื่อเล่นว่า ‘Schiaparelli Pink’ ทุกวันนี้แบรนด์มีเพียงไลน์กูตูร์แบบสั่งตัดภายใต้การดูแลของ Bertrand Guyon ครีเอทีฟไดเรกเตอร์

     เอลซาจากโลกนี้ไปขณะนอนหลับในปี 1973 ด้วยวัย 83 ปี

 

 

Pierre Balmain

     ก่อนที่ทุกวันนี้เราจะเห็นดีไซเนอร์ โอลิวิเยร์ รูสแตง (Oliver Rousteig) สร้างโลกของ Balmain ให้เต็มไปด้วยสมาชิกครอบครัวคาร์ดาเชียน คนก่อตั้งแบรนด์นี้คือ ปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) ที่เกิดเมื่อปี 1914 ในหน่วยการปกครองท้องถิ่น Saint-Jean-de-Maurienne ประเทศฝรั่งเศส และเปิดแบรนด์ Pierre Balmain ในปี 1945 ที่โดดเด่นด้วยดีไซน์ชุดราตรีเรียบหรูภายใต้สไตล์ที่เรียกกันว่า Jolie Madame ซึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ให้บัลแมงออกแบบชุดฉลองพระองค์ในปี 1960 ตอนไปเยือนสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

     ในปี 1982 บัลแมงเสียชีวิตในวัย 68 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับ ขณะที่เขากำลังดีไซน์คอลเล็กชันต่อไปอยู่ที่ปารีส

 

Credit

 

Salvatore Ferragamo

     ในยุค Golden Era ของวงการฮอลลีวูด นักแสดงในตำนาน ออเดรย์ เฮปเบิร์น, โซเฟีย ลอเรน และ มาริลิน มอนโร ต่างเชื่อใจฝีมือการทำรองเท้าของ ซัลวาทอร์เร เฟอร์รากาโม (Salvatore Ferragamo) ที่ผสมผสานรูปทรงคลาสสิกกับดีไซน์ที่มีความแปลกใหม่ในยุคนั้น เช่น รองเท้าส้นตึกสีรุ้ง และรองเท้าไร้ส้น

     ซัลวาทอร์เร เกิดเมื่อปี 1898 ที่หน่วยการปกครองท้องถิ่น Bonito ประเทศอิตาลี ก่อนจะเปิดแบรนด์ในปี 1928 ที่ฟลอเรนซ์ และทุกวันนี้ Salvatore Ferragamo มีมากกว่า 600 จุดขายทั่วโลก โดยได้ พอล แอนดริว มาเป็นดีไซเนอร์รองเท้า

     ซัลวาทอร์เร เสียชีวิตในปี 1960 ด้วยวัย 62 ปี และภรรยาของเขา วันดา เฟอร์รากาโม (Wanda Ferragamo) พร้อมลูกๆ ก็ช่วยกันสานต่อธุรกิจที่ทุกวันนี้ครอบคลุมทั้งเสื้อผ้า นาฬิกา และแอ็กเซสซอรีอีกด้วย

 

 

Oscar de la Renta

     ถ้าต้องเลือกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นลักซูรีที่มีบทบาทในสหรัฐอเมริกามานาน ชื่อของ ออสการ์ เดอ ลา เรนตา (Oscar de la Renta) ต้องอยู่ในท็อป 3 อย่างแน่นอน เพราะนี่คือแบรนด์ที่นักแสดง เซเลบริตี้ และสตรีหมายเลขหนึ่งใส่ชุดราตรีเป็นประจำ

     ออสการ์ เกิดในปี 1932 ที่เมือง Santo Domingo ในสาธารณรัฐโดมินิกัน และเปิดแบรนด์ในปี 1965 เขายังเคยทำงานให้ Balmain, Lanvin และ Balenciaga อีกด้วย

     หลังจากเสียชีวิตในปี 2014 จากโรคมะเร็ง ลอร่า คิม (Laura Kim) และ เฟอร์นานโด การ์เซีย (Fernando Garcia) ที่เคยทำงานกับออสการ์ ได้ไปก่อตั้งแบรนด์ Monse ด้วยกัน และสุดท้ายก็กลับมาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ใหม่ของแบรนด์ทั้งคู่

 

 

Franco Moschino

     ความบ้าบิ่น เสียดสีสังคม และการหยิบยกเรื่องวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ของดีไซเนอร์ เจเรมี สก็อตต์ (Jeremy Scott) ที่เขานำไปใช้กับผลงานที่ Moschino ล้วนแล้วแต่เป็นการสานต่อหลักการมาจากผู้ก่อตั้งแบรนด์ ฟรังโก มอสคิโน (Franco Moschino)

     ฟรังโก เกิดในปี 1950 ที่หน่วยการปกครองท้องถิ่น Abbiategrasso ในประเทศอิตาลี และได้ทำงานที่ Versace ก่อนจะเปิดตัวแบรนด์ของตัวเองในปี 1983 แต่โชคไม่เข้าข้าง เมื่อเขาเสียชีวิตในอีก 11 ปีต่อมาด้วยโรคเอดส์ในปี 1994

     เสน่ห์และความแซ่บของฟรังโกอยู่ที่ เขาชอบเลือกไอเท็มหรือดีไซน์ของแบรนด์ชั้นนำมาล้อ เช่น แจ็กเก็ตหนังของ Versace และแจ็กเก็ตผ้าทวีดของ Chanel ที่ทำให้เห็นว่าแฟชั่นก็เป็นเรื่องที่สนุกได้และไม่ต้องคิดมาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories