×

“ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลเลยดีไหม” ราเมศชี้อย่าบังคับประชาธิปัตย์เลือกพิธาเป็นนายกฯ ประชาธิปไตยต้องไม่ใช้สังคมมากดดันพรรคอื่น

โดย THE STANDARD TEAM
07.07.2023
  • LOADING...
ราเมศ รัตนะเชวง

วันนี้ (7 กรกฎาคม) ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ว่า กระบวนการของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น จะมีการนัดประชุมถึงการโหวตเลือกนายกฯ หลังจากผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 9 กรกฎาคม จะมีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะประชุมร่วมกับ ส.ส.อีก 25 คนตามข้อบังคับว่าจะโหวตเลือกนายกฯ อย่างไร

 

ราเมศกล่าวว่า การเลือกนายกฯ ก็เปรียบเสมือนกับการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นแล้วหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับต้องมีการเรียกประชุมร่วมกันเพื่อที่จะมีมติ ตนคิดว่าหลังจากวันที่ 9 กรกฎาคมจะเกิดความชัดเจนในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น และจะไม่มีฟรีโหวต แต่จะเป็นไปตามมติของพรรคในการกำหนดทิศทางทางการเมือง ตนถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนจะได้ข้อสรุปทางพรรคจะหารือกับฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ราเมศกล่าวว่า เรื่องการจะไปเจรจาว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือพูดคุยกันว่าจะไปจับมือเป็นฝ่ายค้านนั้น ยืนยันว่าทางพรรคยังไม่มีการพูดคุยกันว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้นต้องรอหลังจากประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กับ ส.ส.ภายในพรรคอีกครั้งตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามความเห็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ราเมศกล่าวว่า ส่วนตัวตนมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะหากมองในเรื่องของการเมืองที่มีความเป็นเอกภาพและเชื่อมั่นเสียงของรัฐสภา ถ้าหากเป็นเสียงที่เกินครึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจะไม่เกิดอุปสรรคในการทำงานผ่านระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้นหากเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย การทำงานในรัฐสภาก็จะเป็นไปได้ยาก 

 

“เพราะฉะนั้นการเมืองที่เป็นเอกภาพ เป็นการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา เพื่อประโยชน์เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนกระบวนการในรัฐสภาก็เชื่อมั่นว่าเร็วๆ นี้ที่จะออกมา และเชื่อว่าหากมีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากเสียงก้ำกึ่งกัน ไม่มีเสียง และถ้าเกิดมีกรณีการไปตัดตัว ส.ส. หรือไปกระทำการที่เขาคิดว่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า หรือไปซื้อตัว อันนี้ผมว่ามันก็จะย้อนกลับไปการเมืองที่ย้อนยุคมาก” ราเมศกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะยึดหลักการประชาธิปไตยในการสนับสนุนพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการโหวตเลือกนายกฯ ราเมศมองว่า การดำเนินกิจการทางการเมืองไม่ควรที่จะบีบบังคับให้ต้องเห็นด้วยกับผู้ที่ได้เสียงข้างมาก หากพรรคการเมืองที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย และบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย จะมาบอกว่าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคของตัวเองไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ฟังเสียงประชาชน นั่นคือคุณไม่เข้าใจประชาธิปไตยเสียเอง เพราะระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แน่นอนว่าต้องมีสองฝั่งคือฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน หวังว่าให้เป็นเช่นนั้นก็จับมือกันเป็นรัฐบาลให้หมดไม่ดีเสียกว่าหรือ แต่นี่เป็นระบบรัฐสภา คุณต้องรับฟังฝ่ายตรงข้ามด้วย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้เคารพหลักการที่ว่าอยากให้สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรคอันดับ 1 เป็นนายกฯ และควรแยกเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 ออกจากการโหวตเลือกนายกฯ นั้น ราเมศกล่าวว่า ตนมองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในสมาชิกรัฐสภาว่าจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ  

 

“ถ้าจะบอกว่าเสียงข้างมากชนะการเลือกตั้งแล้วมาบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกพิธาเป็นนายกฯ เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลเลยดีไหม ผมถึงบอกว่าหลักประชาธิปไตยก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ใช่ว่าเสียงข้างมากได้มา 14 ล้านเสียงแล้ว พรรคนี้ไม่ยกมือให้เป็นนายกฯ ก็ใช้ขบวนการสังคมประชาชนมากดดันเขาว่าไม่ยกมือให้ไม่ได้” ราเมศกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising