×

เพื่อนร่วมโรค: เมื่อหลายโรคร้ายเป็นญาติกัน

17.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ออทิซึม โรคจิตเภท และไบโพลาร์ ถือว่าเป็นโรคที่เรียกว่า Psychiatric Disorder หรือโรคที่มีอาการผิดปกติทางจิต ทำให้พฤติกรรมหรือรูปแบบในการคิดเปลี่ยนแปลงไป และผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยมีบุคลิกหรือการทำงานของร่างกายที่เปลี่ยนไปด้วย
  • โรคสามโรคที่ว่ามานี้ แตกต่างไปจากโรคอย่างอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสัน เพราะสองโรคที่ว่านี้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่ทำให้สมองเกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ (Physical Change)
  • สิ่งที่พบก็คือ ในผู้ป่วยออทิซึม โรคจิตเภท และไบโพลาร์นั้น มีการทำงานของยีนที่เหมือนกันมาก โดยเฉพาะยีนที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทในผู้ป่วยทั้งสามนี้ จะทำงานน้อยลงเหมือนๆ กัน แต่จะมียีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเนื้อเยื่อประสาท (Neuroinflammation) มากขึ้นเหมือนๆ กัน

ออทิซึม โรคจิตเภท และไบโพลาร์ มีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า – นี่เป็นคำถามที่นักประสาทวิทยาค้างคาใจมานานหลายสิบปี

 

โรคเหล่านี้ดูเหมือนมีบางอย่างร่วมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีเกิด การดำเนินโรค และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย แต่คำถามก็คือ สิ่งที่เราเห็นว่ามันมีอะไรร่วมๆ กันอยู่นี้ มันเหมือนกันไปถึงระดับไหนกันแน่

 

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่า – โรคต่างๆ เหล่านี้มีบางสิ่งสำคัญร่วมกันลึกลงไปถึงระดับโมเลกุล!

 

แน่นอน การเข้าใจอะไรแบบนี้ ย่อมจะนำทางไปสู่การรักษาโรคที่ดีขึ้นในอนาคตได้ แต่คำถามก็คือ แล้วที่บอกว่ามันมีอะไรบางอย่าง ‘ร่วมโรค’ กันนั้น – มันคืออะไรกันแน่

 

ต้องบอกกันก่อนนะครับ ว่าโรคเหล่านี้ถือว่าเป็นโรคที่เรียกว่า Psychiatric Disorder หรือโรคที่มีอาการผิดปกติทางจิต ทำให้พฤติกรรมหรือรูปแบบในการคิดเปลี่ยนแปลงไป และผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยมีบุคลิกหรือการทำงานของร่างกายที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งโรคหรืออาการที่ว่านี้มีหลากหลายมาก สามารถแบ่งออกได้อย่างซับซ้อน โดยจะมีเกณฑ์ในการแบ่ง (Classified) อาการต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็มีทั้งข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก หรือของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association) ซึ่งในที่นี้คงไม่ได้ลงไปในรายละเอียดนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม ต้องขอทำความเข้าใจกันก่อน ว่าโรคสามโรคที่ว่ามานี้ แตกต่างไปจากโรคอย่างอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันนะครับ เพราะสองโรคที่ว่านี้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่ทำให้สมองเกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ (Physical Change) คือไม่เหมือนเดิม ถ้าเป็นสองโรคนี้ แพทย์สามารถดูสมอง (ผ่านการสแกน) แล้วบอกได้เลยว่าผู้ป่วยป่วยเพราะอะไร สมองตรงไหนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพราะมันจะเห็นได้ชัดเจน

 

แต่โรคหรืออาการอย่างออทิซึม ไบโพลาร์ หรือจิตเภทนั้น เป็นโรคหรืออาการอีกแบบหนึ่ง มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ ‘ลึก’ กว่า ซึ่งก็เลยทำให้นักประสาทวิทยาพันธุกรรม (Neurogenetics) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในลอสแอนเจลิส อย่างคุณ แดน เกชวินด์ (Dan Geschwind) ต้องลงมือศึกษาค้นคว้า

 

โชคดีที่ความก้าวหน้าทางพันธุศาสตร์ของเราพุ่งทะยานมาไกลมากแล้ว ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสามารถชี้เฉพาะไปได้ถึงระดับยีนเลยว่า รูปแบบการแสดงออกของยีน (Gene Expression Patterns) แบบไหนในสมองเชื่อมโยงกลับมาถึงความผิดปกติเหล่านี้บ้าง

 

วิธีการของคุณเกชวินด์ก็คือการตรวจดู RNA จากตัวอย่างเนื้อเยื่อ 700 ตัวอย่าง

 

RNA เป็นสารพันธุกรรมที่คล้ายๆ กับ DNA นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่า DNA จะเป็นเกลียวคู่ ในขณะที่ RNA เป็นเกลียวเดี่ยว คือ ‘ถอดร่าง’ ออกมาจาก DNA นั่นแหละครับ ถ้าพูดภาษาวิชาการ (แต่แบบหยาบๆ นะครับ) ก็ต้องบอกว่า DNA มีน้ำตาลแบบ Deoxyribose ส่วน RNA มีน้ำตาลแบบ Ribose โดย DNA ทำหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลทางพันธุกรรม แต่ RNA นี่ เมื่อ ‘ถอดร่าง’ ออกมาแล้ว ก็จะนำมาแปลงรหัสข้อมูลพวกนั้นออกมาเพื่อสร้างเป็นโปรตีนต่างๆ ในร่างกายของเรา

 

ทีนี้เมื่อนำเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อ 700 ตัวอย่าง มาตรวจดู RNA แล้ว คุณเกชวินด์บอกว่า RNA จะสามารถบอกเราได้ว่าในเนื้อเยื่อเหล่านั้น ยีนไหนใน RNA ที่กำลัง ‘เปิด’ หรือ ‘ปิด’ อยู่บ้าง

 

ยีนที่เปิดก็คือยีนที่ทำให้เกิดการทำงานบางอย่าง ซึ่งก็ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่าบางทีการทำงานที่ว่า ก็คือการ ‘ยับยั้ง’ กลไกบางอย่างได้ด้วย เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ‘ทำงาน’ จึงอาจเป็นการทำงานเพื่อทำให้บางอย่างไม่ทำงานได้เหมือนกัน (โอย เขียนเองงงเอง!)

 

แต่โดยสรุปก็คือ คุณเกชวินด์เขาเอา RNA ของคนที่เป็นโรคหลายโรค เช่น ออทิซึม โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไบโพลาร์ เอามาเปรียบเทียบกันโดยใช้วิธีทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า RNA ในยีนไหนของคนที่ป่วยเป็นโรคอะไรvทำงานอย่างไร

 

สิ่งที่พบก็คือ ในผู้ป่วยออทิซึม โรคจิตเภท และไบโพลาร์นั้น มีการทำงานของยีนที่เหมือนกันมากทีเดียวครับ สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ยีนที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทในผู้ป่วยทั้งสามนี้ จะทำงานน้อยลงเหมือนๆ กัน แต่จะมียีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเนื้อเยื่อประสาท (Neuroinflammation) มากขึ้นเหมือนๆ กัน

 

แต่กระนั้นก็มีที่แตกต่างกันด้วยนะครับ คือไม่ใช่เหมือนกันไปหมดทุกสิ่งอัน คือในผู้ป่วยที่เป็นออทิซึมจะมีการทำงานของยีนบางส่วนแตกต่างไปจากผู้ป่วยโรคจิตเภทและไบโพลาร์ เพราะสมองของผู้ป่วยออทิสซึมจะมีการแสดงออกของยีนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเซลล์สมองชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Microglia มากกว่าอีกสองโรค

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว! แล้วโรคซึมเศร้าที่คนเริ่มเป็นกันเยอะขึ้นในปัจจุบันนี้ล่ะ มีการทดสอบแล้วเกี่ยวข้องอะไรกับเขาด้วยไหม เพราะโรคซึมเศร้ากับไบโพลาร์นี่ บางคนคิดว่ามันเป็นโรคที่เชื่อมโยงกันอยู่ไม่น้อย

 

เกชวินด์บอกว่า เนื้อเยื่อของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากับโรคพิษสุราเรื้อรังนั้น ไม่ได้มีอะไร ‘เกี่ยวเนื่อง’ (Overlap) กับโรคอื่นๆ สิ่งที่เขาเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือสามโรคที่ว่านี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาวิธีรักษา โดยดูว่ายาชนิดไหนทำงานกับอาการแบบไหนในผู้ป่วยได้บ้าง

 

เขาบอกว่ามีการทดสอบโดยใช้ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic Medication) ในลิงทดลอง และยาบางชนิดก็สามารถเปลี่ยนแปลงลึกลงไปในระดับพันธุกรรม ทำให้อาการที่เชื่อมโยงกับออทิสซึมและโรคจิตเภทดีขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าโรคเหล่านี้มีสาเหตุที่ซับซ้อนมาก มันเกี่ยวกับยีนก็จริง แต่ก็มีตัวกระตุ้นอื่นๆ ด้วย เช่น ประสบการณ์ในชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นการที่เกชวินด์พบว่ามันมีความเหมือนกันในระดับยีนมากขนาดนี้จึงน่าตื่นเต้น เพราะถึงจะมีสาเหตุได้หลากหลาย แต่กลับมีการ ‘แสดงออก’ (Display) ถึงรูปแบบในระดับโมเลกุลในสมองที่เหมือนกันมาก

 

การค้นพบนี้จึงเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อโรคทั้งสาม แต่ก็ต้องบอกด้วยนะครับ ว่าการค้นพบนี้ยังไม่ได้เกิดประโยชน์ขึ้นมาฉับพลันทันที เพราะว่าจะต้องมีการศึกษาต่อเนื่องต่อไปอีก โดยเฉพาะต้องใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อจากสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วมาทดสอบอีกมาก เพราะการตรวจสอบซ้ำในปี 2016 นั้น ใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยแต่ละโรคราว 30 ตัวอย่างเท่านั้น จึงอาจยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง

 

โลกยังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกมาก โดยเฉพาะโรคร้ายต่างๆ ที่ฝังตัวอยู่ในร่างกายของเรา การค้นคว้าในเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลายาวนาน ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และมีต้นทุนที่สูง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และน่าจับตามองกันต่อไปในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะกับใครที่มีญาติหรือคนที่คุณรักป่วยด้วยโรคที่ว่ามานี้

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising