×

‘Proof of Stake’ กับความกังวลเรื่องอำนาจประชาธิปไตย

21.10.2022
  • LOADING...

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Ethereum จากการเปลี่ยน Consensus ของทั้งเครือข่าย ที่เดิมทีใช้ระบบ Proof of Work แบบเดียวกับ Bitcoin โดยถ้าว่ากันภาษาชาวบ้าน ก็คือการซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มาขุดเหรียญ แต่ในขณะที่ขุดก็ทำตัวเป็นผู้คอยตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมให้กับระบบไปด้วย ซึ่งผลตอบแทนนอกเหนือจากการขุดก็คือค่าธรรมเนียมที่ถูกแบ่งให้นักขุดเหล่านี้จากการทำธุรกรรมของผู้ใช้ โดยเปลี่ยนมาเป็น Proof of Stake แทน ที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องขุดแล้ว แต่ยังต้องพึ่งพาผู้ตรวจสอบธุรกรรมเหมือนเดิม แต่แทนที่พวกเขาจะซื้อเครื่องขุด ก็แค่ซื้อเหรียญโดยตรงจากระบบ แล้วนำมา Stake ที่เป็นการ Lock เหรียญรูปแบบหนึ่งไว้กับแพลตฟอร์มที่รองรับอีกที 

 

วิธีการนี้จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซึ่งหากสังเกตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะการ์ดจอราคาขึ้นพุ่งแรง ส่วนหนึ่งก็มาจากคนพากันแห่ซื้อมาขุดเหรียญจนของขาดตลาด มันจึงกลายเป็นข้อดีที่การ์ดจออาจจะกลับมาสู่ราคาที่ควรจะเป็น แถมยังไม่กินพลังงานที่เกิดขึ้นจากการขุดตอนใช้ Proof of Work อีกด้วย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งข้อสังเกตและกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงของ Ethereum ในครั้งนี้จะส่งผลถึงความกระจายศูนย์ให้ลดลงไปอีกหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ Ethereum ก็โดนตั้งแง่หลายครั้งว่าไม่ใช่ระบบกระจายศูนย์อย่างแท้จริงมาโดยตลอด เราลองมาดูกันว่าทำไม Proof of Stake ถึงสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนบางกลุ่มที่อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงของระบบในระยะยาวได้ในบทความนี้กันครับ

 

อำนาจกระจายศูนย์ที่อาจถูกลดทอนจาก Proof of Stake

จากที่กล่าวไปข้างต้น ทั้ง 2 Consensus Algorithm ต่างมีจุดประสงค์เหมือนกัน คือ ใช้เพื่อตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมในแต่ละครั้งของผู้ใช้ แต่ประเด็นที่ถูกถกเถียงกันกลายเป็นเรื่องของอำนาจของการกระจายศูนย์ของเครือข่ายที่อาจจะถูกเปลี่ยนแปลง เพราะระบบใหม่อย่าง Proof of Stake จะกลายเป็นระบบทุนนิยมโดยสมบูรณ์ 

 

กล่าวคือ ผู้ตรวจสอบธุรกรรมเจ้าใดที่ Stake เหรียญ Ethereum ไว้มากพอ ก็จะมีอำนาจในการยืนยันธุรกรรมให้กับระบบมากกว่าผู้ตรวจสอบอื่นๆ ที่มีน้อยกว่า ถึงแม้ว่าอาจจะมีกระบวนการสุ่มผู้ตรวจสอบธุรกรรมเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการสุ่มนี้จะลบล้างอำนาจใหญ่ของผู้ที่มีเหรียญเยอะแต่อย่างใด ยิ่งเงินคุณเยอะเท่าไร อำนาจในการดูแลระบบก็จะอยู่ที่คุณมากเท่านั้น ยังไม่นับนักลงทุนสถาบันที่น่าจะเริ่มมาเล่นในสนามนี้มากขึ้นในไม่ช้า อนาคตก็ไม่น่าแปลกใจที่ระบบจะถูกควบคุมภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายของรัฐอย่างเต็มขั้น ด้วยเหตุผลที่พวกเขามีเงินเยอะ การใช้อำนาจของคนกลุ่มเดียวกันก็สามารถทำได้โดยง่ายด้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ความกระจายศูนย์ที่ถูกตั้งคำถามมายาวนานอาจจะถูกลดทอนด้วยระบบ Consensus ที่เพิ่งจะถูกเปลี่ยน แต่ก็ทำให้ผู้มีอำนาจสำคัญด้านการเงินโลกเริ่มให้ความสนใจกับระบบบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

 

ยกตัวอย่างได้จากการหารือกันของ The International Monetary Fund (IMF) และ Financial Stability Board (FSB) ที่เคยให้ความเห็นผ่านสื่อ โดยมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกันจากการมาของ Proof of Stake บนเครือข่ายของ Ethereum ครั้งนี้ ในเชิงว่าอาจจะใกล้ถึงเวลาในสนับสนุนการออกนโยบายและข้อกำหนดมาตรฐานทั่วโลก เพื่อการกำกับดูแลสินทรัพย์อย่างคริปโต ซึ่งไม่ใช่เพียงยับยั้งนวัตกรรม แต่เป็นการสร้างความไว้ใจให้กับผู้ใช้รายอื่น ซึ่ง IMF ยังให้ความเห็นในเรื่องของการประสานความร่วมมือกันทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ระบบนี้สามารถถูกใช้ได้ทั่วไป เช่นเดียวกับกิจกรรมทางการเงินแบบดั้งเดิม

 

การมาของ Smart Contract ที่เกิดขึ้นบนระบบบล็อกเชน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยในการขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่ได้ถูกพัฒนามาอย่างช้านานให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และตัวเลือกที่หลากหลายให้กับผู้ใช้มากขึ้น แถมทุกคนยังสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียม ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต ก็ได้แต่หวังว่ากฎเกณฑ์ที่กำลังจะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว จะถูกบังคับใช้และเกิดผลในทางที่ดี เพราะหากไม่ เราก็คงไม่ต่างอะไรจากโลกการเงินแบบดั้งเดิมเท่าไร แค่เปลี่ยนรูปแบบไปอยู่บนระบบอื่นเท่านั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising