×

สจล. แถลงยืนยันระบบจัดซื้อจัดจ้างยุค ‘ดร.เอ้’ โปร่งใส ตรวจสอบได้ หลัง กมธ.ป.ป.ช. จ่อสอบร่ำรวยผิดปกติ

โดย THE STANDARD TEAM
09.02.2022
  • LOADING...
ดร.เอ้

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงประเด็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรากฏตามสื่อ ของอดีตอธิการบดี ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร จ่อตรวจสอบปมมีทรัพย์สินและความร่ำรวยผิดปกติ ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี สจล. เป็นเวลา 3 ปี ตามที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้

 

โดย รศ.สุพจน์ ศรีนิล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม และรักษาแทนฝ่ายพัสดุ สจล. กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่ออกมาทำให้ทางสถาบันฯ รู้สึกไม่สบายใจ เพราะเป็นข่าวไม่มีมูลของความจริง เนื่องจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้งโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ 

 

ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน กระบวนการการจัดซื้อจัดการจะเริ่มที่ภาควิชาหรือคณะต่างๆ จะส่งโครงการขึ้นมาให้ฝ่ายบริหารเรียบเรียง ก่อนจะทำเรื่องไปให้ที่สำนักงบประมาณอนุมัติผ่านสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายบริหารจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นลำดับต่อไป

 

ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการมีโครงการเยอะ รศ.สุพจน์ อธิบายว่า ที่มีเยอะ เพราะมีโครงการที่ใช้งบตั้งแต่หลักหมื่น-แสนบาท ส่วนโครงการที่ใช้งบเกิน 100 ล้านบาทมีน้อย และส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างอาคารที่มีงบผูกพันต่อเนื่องในห้วงเวลา 2-3 ปี 

 

พร้อมยกตัวอย่าง งบประมาณในการสร้างหอพักนักศึกษาปี 2564 สำนักงบประมาณให้เงินมาจำนวนกว่า 400 ล้านบาท บวกกับเม็ดเงินสมทบจากสถาบันฯ อีก 30% ในส่วนนี้เป็นการใช้งบแบบผูกพันที่กินเวลา 2-3 ปี เมื่อครบเวลา 3 ปี ก็จะถูกตัดงบในส่วนอื่นไปบ้าง 

 

“โดยทั่วไปโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เราได้รับจะใช้งบประมาณไม่เกิน 50 ล้านบาท เราเรียกว่าโครงการก่อสร้างปีเดียว เฉลี่ยต่อปีเราจะได้งบประมาณ 600-700 ล้านบาท สำหรับครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่ทุกคณะหรือภาควิชาทำเรื่องขอมา อย่างปี 2565 สถาบันฯ ได้งบก่อสร้างอยู่ที่ 200 ล้านบาท เพราะสถานการณ์ด้านการเงินของรัฐบาลไม่ค่อยดี” รศ.สุพจน์กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.ไพฑูรย์ พิมพ์ดี รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัสดุ สจล. ระบุว่า พ.ร.บ. ปี 2560 มีระเบียบข้อมูลและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ชัดเจนว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมถึงมีวงเงินที่จำกัด และมีข้อปฎิบัติของแต่ละวงเงินที่ต่างกันออกไป ซึ่งทั้งหมดมีความถูกต้อง โปร่งใส และสามารถเข้าไปตรวจสอบในระบบของกรมบัญชีกลางได้

 

ขณะที่ประเด็นการตั้งคำถามของประชาชนเกี่ยวกับการตรวจสอบผู้เข้าร่วมประมูลเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับบุคลากรในสถาบันฯ ที่อาจเชื่อมโยงไปสู่การทุจริตนั้น

 

รศ.ดร.ไพฑูรย์บอกว่า กระบวนการของการจัดซื้อจัดจ้าง ทางสถาบันฯ จะเปิดระบบให้ประชาชนได้เห็นแผนการจัดซื้อจัดจ้างหรือข้อมูลโครงการอยู่เสมอ โดยทุกครั้งที่เข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอราคา ผู้ประกอบการจะยื่นเสนอราคาผ่านระบบ ซึ่งระบบจะกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่าต้องยื่นภายในกี่วัน และเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น 

 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พัสดุจะทำการเช็กเอกสาร ซึ่งหนึ่งในเอกสารที่ส่งมาคือ ‘หนังสือการถือหุ้นของแต่ละบริษัท’ เพื่อตรวจสอบว่ามีการถือหุ้นทับซ้อนกับคนในสถาบันฯ และให้แน่ใจว่าไม่มีการฮั้วประมูล ไม่มีผู้ได้รับส่วนได้ส่วนเสียในการประมูลโครงการแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นการเช็กข้อมูลของผู้ยื่นข้อเสนอตามกฎระเบียบของกรมบัญชีกลาง 

 

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีของ ดร.สุชัชวีร์ ถ้าผู้ยื่นประมูลไม่มีชื่อ ดร.สุชัชวีร์ และภรรยา แต่เป็นชื่อบุคคลอื่นที่อาจมีความใกล้ชิดเช่นกัน ทางสถาบันฯ จะตรวจสอบได้อย่างไรนั้น

 

รศ.ดร.ไพฑูรย์กล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท เพราะระบบเปิดโอกาสให้ทุกคนมีการแข่งขันในระบบประมูลได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้เพียงว่า สถาบันฯ ต้องตรวจสอบว่าผู้ยื่นประมูลแข่งขันมีความซ้ำซ้อนกับแต่ละบริษัทที่ยื่นเข้ามา และเช็กดูว่ามีชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแข่งขันการประมูลหรือไม่ ซึ่งระบบให้เราตรวจสอบได้ประมาณนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising