×

ไขคำตอบมูลค่าที่ซ่อนอยู่…40 ปีผ่านไป ทำไมเหมืองโพแทชไทยยังไม่เกิด

18.03.2024
  • LOADING...
โครงการเหมืองแร่โพแทช

หลังจากที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเครื่อง ‘โครงการเหมืองแร่โพแทช’ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว

 

ผ่านมาหลายปี รัฐบาลหลายสมัย โครงการนี้ยังคงเป็นหนึ่งความหวังในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแร่โพแทชของอาเซียน แก้ปัญหาวังวนปุ๋ยแพง รวมไปถึงการต่อยอดไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ภูมิภาค ก็ยังไม่ถึงฝั่ง

 

โครงการล่าช้าและยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เอกชนบางรายที่กระโดดเข้าสู่น่านน้ำนี้บ้างก็ขาดสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ บ้างก็อยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ

 

หากย้อนดูโครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกจริงๆ คงต้องย้อนไป 40 กว่าปีที่แล้ว ในวันที่ 11 มิถุนายน 2523 เมื่อครั้งคณะรัฐมนตรีให้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเชิญชวนบริษัทเอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งปี 2527 ลงนามสัญญากับเอกชน ‘ไทยอะกริโก โปแตช’ โดยกลุ่มทุน ‘อิตาเลียนไทย’

 

จวบจนปัจจุบันมีผู้ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชในไทยรวมทั้งสิ้น 3 ราย มีการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ในหลายๆ มิติต่อเนื่องก็ยังไม่สามารถดำเนินงานได้

 

รู้จักทุนใหญ่ 3 เหมือง ปี 2567 เดินหน้าไปถึงไหน

 

  1. บริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งมีกลุ่ม ‘อิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้ประทานบัตรเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ระยะเวลา 25 ปี มูลค่าลงทุน 36,000 ล้านบาท

 

ปัจจุบันได้สำรวจแล้วจำนวน 4 แปลง ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 33.67 ล้านตัน (ความก้าวหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่)

 

ล่าสุดบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติ ทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

 

  1. บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT เดิมชื่อบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ สัมปทานทั้งหมด 9,707 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 – 5 กุมภาพันธ์ 2583 ประทานบัตรมีอายุ 25 ปี มูลค่าการลงทุน 63,800 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 1.1 ล้านตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 17.33 ล้านตัน (ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างขอปรับโครงสร้างหนี้และหาผู้ร่วมทุน)

 

  1. บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ 9,005 ไร่ ประทานบัตรอายุ 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 – 6 กรกฎาคม 2583 กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 2.15 ล้านตัน มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านบาท (ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างขอปรับรูปแบบทำเหมืองขุดเจาะแนวดิ่ง)

 

อ้างอิง: กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 11 มีนาคม 2567

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

 

ข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรของไทยทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน

 

ลดพึ่งพานำเข้าปุ๋ยพ่วงต่อยอดผลิตแบตเตอรี่ EV

 

คาดการณ์ว่าหากไทยมีเหมืองแร่โพแทชจะสามารถสกัดโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งแร่โพแทชสามารถนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทสเซียมในการผลิตปุ๋ยเคมี โดยธาตุโพแทสเซียมเป็นธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืชผลทางการเกษตร

 

นอกจากช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ จากปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 8 แสนตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ได้

 

โดยแร่โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้ ผลิตเป็นแบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออน ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเธียม สามารถผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) ป้อนโรงงานแบตเตอรี่ EV ได้อีกด้วย

 

ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อประเทศและประชาชนมี 2 ส่วน

 

ภาครัฐจะได้ ‘ค่าภาคหลวงแร่’ ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน

 

ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ได้แก่

  • กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง 
  • กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 
  • กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน 
  • กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
  • กองทุนสวัสดิการชุมชน
  • กองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร 

 

รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร

 

ภาพ: Annick Vanderschelden Photography / Getty Images

 

นอกจากนี้หากดำเนินการสำเร็จ บริษัทจะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่

 

MA’ADEN Manara Minerals ทุนซาอุแง้มร่วมทุน

 

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่าหากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 รายในจังหวัดชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา ที่ได้สัมปทานไปยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการแทน

 

พิมพ์ภัทราย้ำว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดในการสนับสนุนการทำเหมืองแร่โพแทชคือการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก ปุ๋ยที่ผลิตในประเทศ เพราะไทยมีแร่โพแทชซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

 

ซึ่งจากการไปเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ย้ำว่านักลงทุนพร้อมจะขยายความร่วมมือกับรัฐบาลไทย โดย MA’ADEN Manara Minerals นักลงทุนซาอุดีอาระเบียก็กำลังสนใจมาร่วมทุนอีกด้วย

 

ย้ำให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

อย่างไรก็ตาม ว่าด้วยเรื่องของการสร้างเหมือง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งที่ผ่านมามีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ที่กังวลต่อผลกระทบทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ

 

ในส่วนนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และอุตสาหกรรมจังหวัดมีคณะกรรมการในพื้นที่ร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัท เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

 

ส่วนภาคเอกชนเองก็มีปัญหาแตกต่างกันทั้งในเชิงเทคนิคการก่อสร้างและเงินทุน ทำให้โครงการยังไม่คืบหน้ามากนัก ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg อ้างว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กำลังพิจารณาขายหุ้น 90% ในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกำลังหามองหาเงินทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์

 

กระทั่งบริษัทออกมาชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกและเจรจาผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาลงทุนบางส่วน

 

หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าเอกชนทั้ง 3 รายจะมีแผนดำเนินการต่อไปอย่างไร และจะสามารถดำเนินงานภายใน 3 ปีตามที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดสั่งการได้หรือไม่

 

ภาพ: Opla / Getty Images

 

เปิด 10 ประเทศผู้ผลิตแร่โพแทชมากที่สุดในโลก

 

THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตแร่โพแทชทั่วโลกจะสูงถึง 40 ล้านตัน ต่อปี โดย 10 ประเทศที่มีการผลิตแร่โพแทช (By Production) มากที่สุดในโลก ได้แก่

 

  1. แคนาดา: กำลังการผลิต 16 ล้านตัน

แคนาดาเป็นผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการผลิตแร่โพแทชเพิ่มขึ้นทุกปี 1.8 แสนตัน มีบริษัทโพแทชที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการในปี 2561 ระหว่าง Potash Corporation of Saskatchewan และ Agrium ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรระดับโลกที่มีมูลค่าถึง 38,000 ล้านดอลลาร์

 

  1. จีน: กำลังการผลิต 6 ล้านตัน

การผลิตแร่โพแทชของจีนยังคงทรงตัวตั้งแต่ในปี 2565 แต่สำหรับจีน โพแทชมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ซึ่งความต้องการภายในประเทศของจีนนั้นสูงกว่าปริมาณแร่โพแทชที่ผลิตเองในประเทศ ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชด้วย

 

  1. รัสเซีย: กำลังการผลิต 5 ล้านตัน

รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแร่โพแทชของโลกเช่นกัน ด้วยสัดส่วน 20% ของอุปทานแร่โพแทชทั่วโลก ก่อนเกิดสงครามกับยูเครน รัสเซียมีเหมืองแร่ 5 แห่ง และโรงงานแปรรูปสินแร่อีก 7 แห่ง

 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดโควตาการนำเข้าแร่โพแทชจากรัสเซีย ท่ามกลางการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีการจำกัดการนำเข้าแร่โพแทชจากรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออกปุ๋ยไปยังประเทศที่ถือว่าไม่เป็นพันธมิตร แต่ยังคงส่งออกไปยังจีน อินเดีย รวมทั้งบางประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ทำให้การส่งออกลดลงประมาณ 30%

 

  1. เบลารุส: กำลังการผลิต 3 ล้านตัน

การผลิตแร่โพแทชในเบลารุสลดลงเกือบร้อยละ 61 จากปี 2564 เหลือเพียง 3 ล้านตันในปี 2565 ก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ด้วยทรัพยากรเหมืองในประเทศที่มีอยู่ 6 แห่ง และโรงงานแปรรูปสินแร่ 4 แห่ง เบลารุสจึงเป็นประเทศที่มีทรัพยากรโพแทชเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

  1. เยอรมนี: กำลังการผลิต 2.8 ล้านตัน

การผลิตในเยอรมนีก็ลดลงอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านตัน แต่ด้วยกิจการเหมืองภายใน 6 แห่ง ทำให้เยอรมนียังคงแข็งแกร่ง

 

  1. อิสราเอล: กำลังการผลิต 2.5 ล้านตัน

อิสราเอลเป็นที่ตั้งของบริษัท Israel Chemicals ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ นอกเหนือจากแร่โพแทชแล้ว บริษัทยังผลิตโบรมีนถึง 1 ใน 3 ของโลก แม้เจอวิกฤตสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจทำให้หยุดชะงักไปบ้าง

 

  1. จอร์แดน: กำลังการผลิต 1.7 ล้านตัน

จอร์แดนมีบริษัท Arab Potash เป็นผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตแร่โพแทชเพียงรายเดียวในภูมิภาคอาหรับ ทำให้จอร์แดนกลายเป็นซัพพลายเออร์แร่โพแทชรายสำคัญในอินเดียและเอเชีย โดยอิสราเอลและจอร์แดนนำแร่โพแทชมาจากทะเลสาบเดดซี

 

  1. ชิลี: กำลังการผลิต 850,000 ตัน

การผลิตแร่โพแทชของชิลีทรงตัวในปีที่แล้ว โดยหนึ่งในผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ที่สุดในประเทศคือ SQM นั้นก็เป็นผู้ผลิตลิเธียมชั้นนำของโลกเช่นกัน

 

  1. สปป.ลาว: กำลังการผลิต 600,000 ตัน

สปป.ลาวมีปริมาณสำรองแร่โพแทช 75 ล้านตัน โดย Asia-Potash International Investment เป็นหนึ่งในผู้ผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแร่โพแทชของประเทศอีกด้วย

 

  1. สเปน: กำลังการผลิต 450,000 ตัน

ช่วงปี 2565 ปริมาณการผลิตแร่โพแทชของสเปนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 85,000 ตัน ส่งผลให้สเปนก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 10 ของโลก โดยมีบริษัท Geoalcali เป็นเหมืองหลักในประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising