×

นักดาราศาสตร์พบสัญญาณของออโรราบนดาวแคระน้ำตาลที่โคจรโดดเดี่ยวในเอกภพ

14.01.2024
  • LOADING...

นักดาราศาสตร์อาจพบการเกิดแสงออโรราบนดาวแคระน้ำตาล (Brown Dwarf) ที่โคจรอย่างโดดเดี่ยวในเอกภพ จากข้อมูลล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

 

บนดาวแคระน้ำตาล W1935 ที่มีขนาดและมวลใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่ใจกลาง นักดาราศาสตร์ได้พบการแผ่รังสีในย่านอินฟราเรดจากมีเทน เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นบนของดาว

 

ความพิเศษของการค้นพบครั้งนี้คือ วัตถุดังกล่าวไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ใดๆ และลอยล่องพเนจรรอบใจกลางดาราจักรของมันอย่างโดดเดี่ยว ทำให้มีอุณหภูมิที่ค่อนข้างหนาวเย็น จึงทำให้นักดาราศาสตร์สงสัยว่าทำไมถึงตรวจพบการแผ่รังสีในย่านอินฟราเรดบนดาวดวงนี้ได้

 

เพื่ออธิบายกระบวนการดังกล่าว นักดาราศาสตร์ได้ย้อนกลับมาดูสองดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ในระบบสุริยะ ทั้งดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ซึ่งมีการแผ่รังสีจากมีเทนเป็นเรื่องปกติ และทำให้มีข้อสรุปได้ว่า กระบวนการดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับแสงออโรราบนชั้นบรรยากาศ

 

การเกิดออโรราบนโลก หรือแสงเหนือ/แสงใต้ มาจากการปลดปล่อยอนุภาคมีประจุไฟฟ้าของดวงอาทิตย์สู่สนามแม่เหล็กของโลก ก่อนเบนทิศเข้าสู่ขั้วแม่เหล็กทั้งสองด้าน และปะทะเข้ากับก๊าซในชั้นบรรยากาศที่ขั้วโลก จนเกิดเป็นม่านเรืองแสงบนท้องฟ้า ในขณะที่บนดาวพฤหัสบดีจะมีอนุภาคมีประจุจากดวงจันทร์ไอโอมาเป็นส่วนร่วมด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายกระบวนการเกิดออโรราบนดาวดวงนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากดาวแคระน้ำตาลดวงนี้ไม่มีดาวฤกษ์ที่ปลดปล่อยอนุภาคมีประจุไฟฟ้าพุ่งเข้าสู่สนามแม่เหล็กของดาว แต่คาดการณ์ว่าอาจมีกระบวนการภายในดาวเคราะห์ยักษ์ที่เรายังไม่ค้นพบ หรืออาจเกิดจากพลาสมาในพื้นที่ระหว่างดาวฤกษ์กับดวงจันทร์ขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่

 

ดาว W1935 อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 40 ปีแสง และเป็นวัตถุนอกระบบสุริยะดวงแรกที่นักดาราศาสตร์อาจพบการแผ่รังสีมีเทนในแสงออโรรา โดยการตรวจพบครั้งนี้เกิดขึ้นผ่านการใช้อุปกรณ์ NIRSpec เพื่อตรวจดูสเปกตรัมจากดาวแคระน้ำตาล 12 ดวง ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในการประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกา (American Astronomical Society) ครั้งที่ 243

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, Leah Hustak (STScI) 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising