เป็นเรื่องที่ได้ยินกันมานักต่อนักว่าความเสี่ยงของการอดหลับอดนอนนั้นมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่โรคหัวใจ โรคเครียด ไปจนถึงมีอาการหดหู่ซึมเศร้า แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วเรื่องการนอนไม่พอยังส่งผลกระทบและเกี่ยวข้องกับความเห็นแก่ตัว (Selfishness) และความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์ (Empathy) อีกด้วย และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงทางความสุขระดับชาติ
ความเกี่ยวข้องของการนอนหลับกับสภาวะอารมณ์และความคิด
ก่อนจะพูดถึงในระดับสังคม สิ่งที่เราต้องโฟกัสก่อนคือระดับบุคคล หรือผลกระทบเชิงลบ / ผลเสียที่เกิดจากผู้ที่ละเลยการนอนหลับและมีปัญหานอนไม่หลับที่ส่งผลต่อตัวเอง ในฐานะผู้เสียหายรายแรก โดยหลักๆ มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน
เรื่องแรก ‘ความสุขที่ลดลง’ หลายงานวิจัยพบว่าการนอนหลับกับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตนั้นสัมพันธ์กันในสองทิศทาง หรือกล่าวคือ คนที่มีความสุขในชีวิตจะหลับดี และการที่หลับดีส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ได้ครับพี่-ดีครับผม-เหมาะสมครับท่าน! รู้จัก ‘People Pleaser’ ประเภทของคนที่เอาอกเอาใจคนอื่น แต่ฝืนใจตัวเอง
- ผลการศึกษาพบ การเข้านอนช้ากว่าปกติ 2 ชั่วโมงในวันหยุด จะรบกวนวงจรร่างกาย และส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- ไม่ใช่นิสัย แต่มันคือวิถี! วิทยาศาสตร์ชี้ คนขี้เกียจมีแนวโน้มจะเป็นคนฉลาด ประสบความสำเร็จสูง และเป็นลูกจ้างที่ดีกว่า
เรื่องที่สอง ‘การตอบโต้ทางอารมณ์แบบฉับพลัน’ การนอนไม่พอทำให้มีแนวโน้มที่จะโต้ตอบแบบหุนหันพลันแล่นหรือคิดน้อยและคิดไวกว่า (จนถึงขาดความยั้งคิดเลย) ทำให้ตอบรับกับสถานการณ์ คำพูด และการกระทำของผู้อื่นได้ไม่ดีเท่าไรนัก และมันส่งผลให้คนรอบตัวเหนื่อยล้าและตึงเครียดตาม ซึ่งส่งกลับมาเป็นพลังงานลบที่ทำให้เราทั้งรู้สึกผิดและรู้สึกแย่อย่างต่อเนื่อง อาจเกิดขึ้นได้จากการนอนไม่พอเพียงแค่หนึ่งคืนเท่านั้น และเป็นการตอบโต้ที่ทำให้เราเสียใจภายหลังได้ เช่น บอกเลิกแฟน แตกหักกับเพื่อน ด่ากลับเจ้านาย หรือยื่นใบลาออกจากงาน
โดยสาเหตุที่เราโต้ตอบอย่างฉับพลันก็เพราะสมองส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกเกิดความแปรปรวน และงานวิจัยพบว่าการนอนไม่พอทำให้สมองส่วนนี้ทำงานอย่างรวดเร็วเกินไปราวกับโอเวอร์ไดรฟ์ ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะตอบโต้สถานการณ์หนึ่งๆ อย่างเข้มข้น ทั้งสถานการณ์ในแง่บวกและแง่ลบ
เรื่องที่สาม ‘แนวโน้มในการมองโลกในแง่ร้ายสูงขึ้น’ การนอนไม่พอทำให้เราเต็มไปด้วยความคิดลบๆ ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘การย้ำคิดย้ำทำในแง่ลบ (Repetitive Negative Thinking)’ หรือเมื่อจิตใจเราติดชะงักอยู่ในสถานที่ลบๆ ภายในใจ จะเกิดการวนเวียนอยู่ในพื้นที่นี้จนวนลูป ควบคุมไม่ได้ และส่งผลต่อความรู้สึกและการกระทำเราไปด้วย ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นโรควิตกกังวลได้เช่นกันเมื่อความคิดลบเปลี่ยนไปเป็นวงจรที่หาทางออกไม่ได้
สุดท้าย ‘กังวลกับอนาคตมากขึ้น’ หากเรานอนไม่พอ จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ‘ความวิตกกังวลในหนทางภายภาคหน้า (Anticipatory Anxiety)’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีเนเจอร์ชอบวิตกกังวลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การนอนน้อยหรือขาดการนอนมากๆ จะส่งผลให้คนคนนั้นเป็นโรควิตกกังวลเรื้อรังได้
ผลกระทบในวงเล็กสู่วงกว้าง เพียงแค่นอนหลับไม่เพียงพอ
หากพูดถึงในระดับบุคคล คนที่ได้รับผลกระทบนอกจากตัวเองที่มีความเซื่องซึม คิดช้า และตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผลได้น้อยลงแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบระดับใกล้สุดคือครอบครัวและแฟน และในระดับสังคมที่ใหญ่กว่านั้นคือเพื่อน เพื่อนที่ทำงาน และลูกค้า หรือคนแปลกหน้าที่พบปะในชีวิตประจำวัน ที่อาจโดนลูกหลงจากการละเลยและความเกรี้ยวกราดอันเกิดจากการนอนไม่พอของเราได้
งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ที่นำโดย Matthew Walker หัวหน้าทีมศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การนอนหลับแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ระบุว่า การอดหลับอดนอนหรือนอนน้อยไม่เพียงแต่จะทำลายสุขภาพในระดับบุคคล แต่กลับมีผลในการลดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างลง ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งกับระดับสังคม เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์พิเศษ และสายพันธุ์ของเราคือสายพันธุ์สัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาการสื่อสาร ที่จะดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับว่าเรานอนหลับเพียงพอแค่ไหน
นอกจากนั้นงานวิจัยยังกล่าวด้วยว่า การศึกษามากมายรวมไปถึงการศึกษานี้ค้นพบว่าภาวะขาดการนอนหลับส่งผลต่อสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน รวมไปถึงพฤติกรรมการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในระดับชาติ
“ถ้าคุณนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่จะทำร้ายร่างกายและสุขภาพ แต่ยังทำร้ายความเป็นอยู่ของวงจรสังคมอีกด้วย ตั้งแต่คนใกล้ตัวจนถึงคนแปลกหน้าที่เจอในชีวิตประจำวัน” Ben Simon ผู้ร่วมเขียนวารสารวิชาการกับ Matthew Walker กล่าว
การศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับไม่พอ และ Empathy ที่ลดลง
ในบทความงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ใน PLOS Biology ผู้วิจัยได้ทำการพูดถึงสามการศึกษาที่โฟกัสเรื่องผลกระทบของการนอนหลับที่ส่งผลต่อความต้องการช่วยเหลือผู้อื่น
ในการศึกษาแรก มีอาสาสมัคร 24 รายเข้าร่วมการสแกนสมองหลังจากนอนหลับ 8 ชั่วโมง รวมไปถึงหลังจากที่ไม่ได้นอน โดยผลการสแกน MRI เผยว่าสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกันกับ Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจและความพยายามที่จะเข้าใจความคิด ความรู้สึก ความจำเป็น และความต้องการของผู้อื่น ทำงานได้น้อยลงเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอหรือไม่ได้พักผ่อน
การศึกษานี้บ่งชี้ว่าเมื่อเราคิดถึงผู้อื่น เครือข่ายสมองส่วนนี้จะทำงานและส่งผลให้เราเข้าใจหรือพยายามเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นต้องการ เช่น พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่? พวกเขากำลังเจ็บปวดอยู่ไหม? พวกเขาต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม เครือข่ายนี้จะเสียหายและใช้การไม่ได้เมื่อเกิดภาวะขาดการนอนหลับ เพราะราวกับว่าสมองส่วนนี้ล้มเหลวในการโต้ตอบเมื่อเราพยายามจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหลังจากนอนไม่พอ
อีกหนึ่งการศึกษาเป็นการติดตามคน 100 คนแบบออนไลน์เป็นระยะเวลา 3-4 คืน โดยทำการวัดว่าพวกเขาหลับยาวแค่ไหน และคนเหล่านี้ตื่นระหว่างคืนกี่ครั้ง จากนั้นทำการวัดว่าคน 100 คนนี้มีความต้องการที่จะกดเปิดประตูลิฟต์ให้ผู้อื่นหรือช่วยคนแปลกหน้าบนท้องถนนที่กำลังบาดเจ็บอยู่หรือไม่ สิ่งที่ค้นพบคือคุณภาพการนอนหลับในคืนหนึ่งของแต่ละคนเป็นตัวกำหนดว่าคนคนนั้นจะช่วยผู้อื่นหรือไม่ในเช้าวันถัดไปและวันถัดไป และคนที่หลับไม่ดีในคืนก่อนหน้าคือคนที่ถูกบันทึกว่าขาดความตั้งใจและความกระตือรือร้นในการช่วยเหลื่อผู้อื่น
และในการศึกษาสุดท้าย เป็นการใช้ฐานข้อมูลของการบริจาคเพื่อการกุศลในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2001 และ 2016 ที่เผยว่ายอดผู้บริจาคลดลงหลังจากฤดูที่เปลี่ยนผันที่ส่งผลต่อระยะเวลาของแสงอาทิตย์ที่หมดช้า-เร็วต่างกันในแต่ละฤดูกาล และยอดการบริจาคลดลง 10% ในภาพรวม แต่ไม่ใช่กับในพื้นที่ที่เวลาไม่เปลี่ยนไป
“เพียงแค่ปริมาณเล็กน้อยเท่านั้นของการนอนหลับไม่เพียงพอเพราะความแปรผันของเวลา มีผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลต่อความใจดีและความมีน้ำใจของผู้คน รวมถึงวิธีที่เราจะเชื่อมต่อกับผู้คนในสังคม เมื่อใครสักคนนอนหลับไม่พอ 1 ชั่วโมง มันเป็นเรื่องชัดเจนแล้วว่ามีผลแน่นอนต่อความเมตตาและแรงกระตุ้นที่อยากจะช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ” Matthew Walker กล่าว
การนอนไม่พอมีผลต่อชีวิตคู่
จากที่ได้กล่าวไปก่อนนี้ว่าในระดับบุคคลมีแนวโน้มที่เราจะมองโลกในแง่ลบและคิดลบถึงอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Empathy คนที่ใกล้ตัวที่สุดที่ได้รับผลกระทบแน่นอนว่าไม่พ้นคู่รักของเรา เพราะสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ความหวานชื่นในชีวิตคู่ลดลง แฟนอาจบอกเลิก งานวิวาห์ที่แพลนไว้อาจจะล่ม และคู่แต่งงานอาจถึงขั้นเตียงหักได้ ไม่เพียงแต่จะเห็นคุณค่าและทำความเข้าใจกับความรู้สึกนึกคิดของคู่รักน้อยลงแล้ว ยังรู้สึกเชื่อมโยงกับคนรักน้อยลง และทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงอีกด้วย
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ยังพบว่าการนอนไม่พอทำให้เรารับรู้และปฏิบัติกับคู่รักได้แย่กว่าหรือละเลยกว่าคู่รักที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ รวมทั้งทำให้คนสองคนรู้สึกเชื่อมต่อกันน้อยลงได้ เพราะเมื่อคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมและคำพูดที่บ่งบอกออกมา อีกคนจะสามารถสัมผัสได้ รู้สึกห่างเหิน และไม่เชื่อมโยงทางความรู้สึกตาม เกิดเป็นวงจรแห่งความบาดหมางและเหินห่าง
การนอนไม่พอยังทำให้การสื่อสารไม่ดีและอาจเกิดการตีความคำพูดผิด หงุดหงิดกับคำพูดและการกระทำของคู่รักได้ง่ายขึ้น และยังทำให้สายสัมพันธ์และความเชื่อใจน้อยลง รวมทั้งมีแนวโน้มว่าจะทะเลาะหรือตอบรับคำท้าในการทะเลาะกันง่ายขึ้นอีกด้วย
และยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกันเมื่อหลายปีที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าพฤติกรรมและการแสดงออกของคู่รักชาย-หญิงที่เกิดผลกระทบจากการนอนน้อยนั้นต่างกัน โดยผลวิจัยได้ข้อสรุปว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะหงุดหงิดฉุนเฉียวมากกว่าผู้ชาย เอาเรื่องกว่า และมีแนวโน้มว่าจะหดหู่มากกว่าเช่นกัน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เนื่องจากสมองของผู้หญิงนั้นแผ่พลังงานมากกว่าผู้ชาย (นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันว่ามันเกี่ยวข้องกับการที่ผู้หญิงมีความสามารถในการ Multitasking สูงอีกด้วย) และพลังงานที่มากกว่าทำให้ผู้หญิงจะต้องการการนอนหลับที่มากกว่า เพื่อที่จะชาร์จแบตให้เต็มและสมองใช้การได้เต็มที่
ทำให้เมื่อผู้หญิงไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการ ก็จะไม่สามารถฟื้นฟูได้เต็มหลอด ส่งผลให้การควบคุมอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ทำได้ยากขึ้นตาม ซึ่งในหมู่ผู้ชายเองก็คล้ายกัน เพียงแต่สำหรับผู้หญิงแล้วมีแนวโน้มว่าจะตอบโต้ฉับพลันเร็วกว่าและบ่อยกว่าผู้ชาย
การนอนไม่พอกับความเหงาและการเป็นคนต่อต้านสังคม
นอกจากนี้การวิจัยยังค้นพบอีกด้วยว่าในระดับสังคม การขาดการนอนหลับเพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองอยู่ตามลำพัง และส่งต่อความเหงานี้เมื่อพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ผลการศึกษาทำให้มองเห็นว่าการขาดการนอนหลับส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและต่อต้านสังคม ที่ส่งผลต่อการอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมในฐานะสัตว์สังคม และยังทำให้พบข้อสรุปว่าการเห็นอกเห็นใจน้อยลง ใจดีน้อยลง ความต้องการแยกตัวจากสังคมสูงขึ้น ทั้งหมดเป็นเหมือนการติดเชื้อและมันแพร่กระจายความเหงาไปสู่ผู้อื่น สร้างบรรยากาศให้สังคมนั้นๆ หม่นหมองตาม
คำแนะนำของผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่สถานการณ์โควิดแบ่งแยกทุกอย่างออกจากกันเช่นนี้ คือผู้คนในช่วงเวลานี้ต้องการสารหล่อลื่นบางอย่างที่ช่วยในการเข้าสังคม และทำให้คนคนหนึ่งเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเองท่ามกลางสังคม และการนอนหลับดูจะเป็นหนึ่งในทางออกและองค์ประกอบที่ดีที่จะช่วยเพิ่มความกระตือรือร้นในการปฏิสัมพันธ์ ช่วยเหลือ ใจดีและมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น
อ้างอิง: