×

ไม่ใช่นิสัย แต่มันคือวิถี! วิทยาศาสตร์ชี้ คนขี้เกียจมีแนวโน้มจะเป็นคนฉลาด ประสบความสำเร็จสูง และเป็นลูกจ้างที่ดีกว่า

12.10.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับคนขี้เกียจที่ได้ดี เชื่อหรือไม่ว่านักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งครูและพ่อแม่ต่างก็ปวดหัวกับการคะยั้นคะยอให้เขาเรียนแกรมม่าและคณิตศาสตร์ในโรงเรียน และบ่อยครั้งเขายังหลับในคาบเรียน ชอบตกปลา ยิงนก เล่นกีฬามากกว่า
  • ความขี้เกียจคือรูปแบบการแสดงออกของผู้ที่ชอบใช้สติปัญญามากกว่าร่างกาย ในการคิดและริเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด หรือง่วนอยู่กับความคิดก่อนจะลงมือทำ เป็นสิ่งที่ใช้พลังงานมหาศาล พร้อมกับเน้นย้ำว่า แม้สมองจะเป็นเพียง 2% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด แต่ใช้พลังงานจากร่างกายมากถึง 20-30%
  • ความขี้เกียจอาจสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือสร้างคนที่ประสบความสำเร็จได้ แต่ข้อพึงระวังคือ ในเวลาเดียวกัน เรายังต้องพิจารณาด้วยว่าจะโอบกอดแง่มุมดีๆ ด้านไหนของความขี้เกียจเอาไว้ สามารถใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจแบบไหนได้บ้าง และแง่มุมไหนในโซนลบของความขี้เกียจที่ควรปล่อยทิ้งไว้หรือหลีกเลี่ยงที่จะหยิบจับขึ้นมาถือไว้

โลกเรามีศัพท์มากมาย และศัพท์ต่างๆ สามารถแบ่งโซนได้ว่าอยู่โซนบวก (Positive) โซนกลางๆ (Neutral Zone) หรือโซนลบ (Negative) ขึ้นชื่อว่าความขี้เกียจ เราอาจมองว่ามันเป็นสิ่งที่แย่ และยังไงก็อยู่ในโซนลบแน่ๆ แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจล่ะ? ถ้าหากความขี้เกียจสามารถทำให้คนประสบความสำเร็จได้ หรือมันบ่งชี้ว่าแท้จริงแล้วคนคนนั้นเป็นคนฉลาดถึงขั้นอัจฉริยะ?

 

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับคนขี้เกียจที่ได้ดี เชื่อหรือไม่ว่านักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งครูและพ่อแม่ต่างก็ปวดหัวกับการคะยั้นคะยอให้เขาเรียนแกรมม่าและคณิตศาสตร์ในโรงเรียน และบ่อยครั้งเขายังหลับในคาบเรียน ชอบตกปลา ยิงนก เล่นกีฬามากกว่า

 

แถมในช่วงมหาวิทยาลัยเขายังใช้เวลาส่วนมากไปเที่ยวผับ หรือแม้ว่าเขาจะเข้าใกล้ตัวตนที่เรารู้จักด้วยการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เขาก็ยังไม่ใช่คนรีบร้อนแต่อย่างใด และใช้เวลาเป็นปีๆ ในการเขียนงานเขียนเชิงวิชาการที่เรารู้จักกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ‘วินสตัน เชอร์ชิล’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของประเทศอังกฤษ เขาได้ผลการเรียนที่ไม่ดีนัก ด้านกีฬาก็ไม่สนใจ ส่วนกิจกรรมยามว่างที่ชอบทำประจำคือการนั่งเฉยๆ บนเก้าอี้หิน

 

หรือจะเป็น ‘คาร์ล มาร์กซ์’ ผู้เป็นนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีการเมือง นักสังคมวิทยา นักหนังสือพิมพ์ และนักสังคมนิยมปฏิวัติชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียง ในอดีตเขาเคยใช้เงินแม่ผู้มีฐานะไม่ดีไปกับการปาร์ตี้เป็นเดือนๆ และเป็นคนไม่อยากทำงานอะไรเลย ก่อนที่การศึกษาค้นคว้าของเขาจะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

 

ยังไม่นับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ไอแซก นิวตัน และ ปาโบล ปิกัสโซ กับคนดังคนอื่นๆ ที่สามารถประสบความสำเร็จจนกลายเป็นที่รู้จักในสเกลระดับโลก พวกเขาคือข้อพิสูจน์ว่าแม้ความขี้เกียจจะยังอยู่ในโซนลบและไม่ใช่เรื่องดี และไม่ใช่คนขี้เกียจทุกคนจะถึงฝั่งฝันเสมอไป (หรืออาจเป็นส่วนน้อย) แต่คนขี้เกียจบางคนหาวิธีพาตัวเองไปได้ไกลอย่างเหลือเชื่อ และในบางครั้ง ความขี้เกียจกลับเป็นคุณสมบัติที่มีความเป็นต่อเหมือนกัน

 

วิทยาศาสตร์ของความขี้เกียจ

ทอดด์ แมคเอลรอย รองศาสตราจารย์จาก Greensboro College ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาความขี้เกียจอย่างจริงๆ จังๆ จากเลนส์ของวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา จนได้ข้อสรุปว่ามนุษย์มีโมเดลของการชดเชยที่แตกต่างกันไป คนที่แตกต่างกันอาจมีพลังงานในระดับที่ละม้ายคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน แต่โดยพื้นฐานมนุษย์แต่ละคนใช้พลังงานกับเรื่องๆ หนึ่งในระดับและวิธีที่แตกต่างกัน

 

คนบางคนใช้ร่างกายมากกว่า คนบางคนใช้สมองหรือสติปัญญามากกว่า หรือกล่าวได้ว่าความขี้เกียจคือรูปแบบการแสดงออกของผู้ที่ชอบใช้สติปัญญามากกว่าร่างกาย ในการคิดและริเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุดหรือง่วนอยู่กับความคิดก่อนจะลงมือทำ เป็นสิ่งที่ใช้พลังงานมหาศาล พร้อมกับเน้นย้ำว่าแม้สมองจะเป็นเพียง 2% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด แต่ใช้พลังงานจากร่างกายมากถึง 20-30%

 

ในการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 ในวารสาร Journal of Health Psychology ชี้ไปในทางเดียวกับข้อสรุปนี้ว่า ผู้คนที่ไม่ชอบใช้แรงหรือไม่ชอบการเคลื่อนไหวตัว มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนฉลาดมากกว่าคนที่ชอบใช้

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทอดด์ยังได้สร้างคำศัพท์ใหม่สำหรับความขี้เกียจขึ้นมาอีกด้วย โดยเรียกแทนว่า ‘ความต้องการแสวงหาความรู้’ โดยคนลักษณะนี้จะต้องการหนทางที่มีความเป็นโครงสร้างชัดเจนและมีเหตุมีผลในการมองโลก และบ่อยครั้งพวกเขาจะมองหากิจกรรมที่กระตุ้นจิตกระตุ้นใจ หรือฝึกใช้สมอง เช่น การระดมความคิด, ไขปริศนา หรือถกดีเบตเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ชอบความรู้หรือชอบการฝึกวิเคราะห์แยกแยะตลอดเวลา

 

 

ในการศึกษานี้ นักวิจัยจะใช้แบบสอบถามในการประเมินความต้องการ ‘แสวงหาความรู้’ นี้ โดยเป้าหมายจะมีจำนวน 60 คน และจะถูกแบ่งออกเป็นสองกรุ๊ปคือ ‘กลุ่มนักคิด/ชอบใช้สมอง’ กับ ‘กลุ่มคนที่ไม่ใช่นักคิด/ชอบใช้ร่างกาย’ โดยแยกกลุ่มเป้าหมายด้วยการพิจารณาจากคำตอบในแบบสอบถาม จากนั้นจะทำการติดตามกิจกรรมของทุกคนเป็นเวลา 7 วันด้วยกัน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของคนเหล่านี้

 

ผลการวิจัยชี้ว่า คนไอคิวสูงหรือกลุ่มนักคิด เบื่อยากและมักใช้เวลาไปกับการพินิจพิเคราะห์หรืออยู่ในห้วงความคิดได้นาน คนกลุ่มนี้ชอบท่ีจะคิดแล้วพูดหรือทำการแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อที่ตัวเองมองว่าน่าสนใจเสมอ ในขณะที่สายกิจกรรม/คนที่ชอบใช้ร่างกายจะเบื่อได้ง่ายเมื่อจำเป็นต้องนั่งเฉยๆ และสังเกตอะไรที่เป็นนามธรรมนานๆ จึงทำให้คนกลุ่มนี้มักกระตุ้นจิตใจตัวเองด้วยการทำอะไรที่ชวนกระปรี้กระเปร่า เช่น กีฬาและกิจกรรมที่ต้องใช้แรง

 

ความขี้เกียจจอมปลอม

ไมเคิล ลูวิส ผู้เขียนหนังสือขายดี Moneyball และ The Big Short เมื่อพิจารณาผลงานและกระแสตอบรับ แน่นอนว่าเขาคือหนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จและฉลาดอย่างที่ไม่ต้องสงสัย แต่ถึงอย่างนั้นเขาไม่เขินอายที่จะนิยามตัวเองว่าเป็นคนขี้เกียจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เขายกเครดิตให้ความขี้เกียจของตัวเองด้วยซ้ำที่ทำให้เขามีวันนี้

 

“ความขี้เกียจของผมก็เหมือนฟิวเจอร์คัดกรอง บางสิ่งบางอย่างมันต้องดีมากจริงๆ ก่อนที่ผมจะตัดสินใจใช้เวลาง่วนอยู่กับมัน” ไมเคิล ลูวิส กล่าว พร้อมกับนิยามว่าการรับรู้เกี่ยวกับความขี้เกียจคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความขี้เกียจจอมปลอม (False Laziness)’ ในเมื่อสุดท้ายแล้วเขาในฐานะคนขี้เกียจ สามารถยุติการ Stereotype คนขี้เกียจได้

 

กล่าวคือ ทั้งงานวิจัยกับคำศัพท์ที่ใช้เรียกว่า ‘ความต้องการแสวงหาความรู้’ กับกรณีศึกษาของ ไมเคิล ลูวิส สอดคล้องกันในเรื่องความขี้เกียจที่ตัวเองหรือคนนอกมองว่าเป็นเช่นนั้น อาจไม่ใช่อย่างที่เข้าใจซะทีเดียว แต่เป็นความขี้เกียจปลอมที่แท้จริงแล้วเกิดจากการเลือกที่รักมักที่ชังกับเล็งระยะและพิจารณาว่าจะทำดี-ไม่ทำดี และเราชอบมันจริงๆ หรือไม่

 

และหากสนใจหรือมีแพสชันกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ นั่นคือช่วงเวลาที่จะขลุกตัวที่สุดของคนประเภทนี้ แต่หากไม่หรือยังเกิดความลังเล ก็มีแนวโน้มว่าจะเริ่มต้นได้ช้าหรือปล่อยจอยกลางคันได้เช่นกัน

 

เหตุผลที่คนขี้เกียจจะประสบความสำเร็จ

มาถึงคุณลักษณะสำคัญของเหตุผลที่ทำไมการเป็นคนขี้เกียจถึงมีข้อดี หรือไม่ได้เป็นเรื่องแย่ไปซะหมด และมันทำหน้าที่สะท้อนคุณลักษณะนิสัยในแง่มุมไหนอย่างไรของตัวเราเอง

 

นักประดิษฐ์คิดค้น

คนขี้เกียจะมีพลังพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อต้องจัดแจงงาน พวกเขาจะสามารถทำได้อย่างครีเอทีฟเป็นอย่างมาก คนเหล่านี้จะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นและเข้าเรื่องให้เร็วที่สุด ลูกจ้างที่ขี้เกียจมักจะหาหนทางลัดที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างง่ายและมีประสิทธิผลมากที่สุดในอาชีพการงานของพวกเขา และไม่มีอะไรน่ารำคาญกับคนขี้เกียจมากไปกว่างานที่เดิมๆ และน่าเบื่อ

 

คนขี้เกียจมักทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเสมอในชีวิต ดังเช่นที่เมื่อมนุษย์ขี้เกียจขุดดิน พวกเขาสร้างเครื่องจักรขุดเจาะขึ้นมา เมื่อพวกเขาขี้เกียจทำความสะอาด พวกเขาสร้างเครื่องดูดฝุ่นและหุ่นยนต์ถูพื้น ใครจะรู้ว่าบางทีคนขี้เกียจอาจเป็นคนที่สร้างสิ่งประดิษฐ์แห่งศตวรรษขึ้นมาก็ได้

 

ครั้งหนึ่ง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีบริษัท Microsoft เคยกล่าวไว้ว่า “ผมมักจะเลือกคนขี้เกียจให้ทำงานยากๆ เสมอ เพราะเขาสามารถหาวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำมันได้” นี่เป็นคำพูดที่น่าจะตั้งคำถามและเป็นข้อถกเถียงกันไม่น้อย แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังเป็นคำพูดคุ้นหูที่ถูกอ้างถึงหรือปรากฏที่ไหนสักแห่งบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างซ้ำๆ ย้ำๆ นั่นก็เพราะมันมีความจริงอยู่ในนั้น

 

นักคิดหลายคน (หรือบุคคลผู้แสวงหาความรู้) มักจะลดหรือละขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และในขณะเดียวกันก็ชอบที่จะเลือกขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ฉะนั้นการจ้างคนขี้เกียจมาเป็นลูกจ้างจึงไม่ใช่เรื่องแย่ซะทีเดียว พวกเขามีกลยุทธ์บางอย่างที่จะคิดทางลัดอันชาญฉลาด, หาหนทางขจัดปัญหากวนใจ, ประหยัดเวลา และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ บางอย่างให้กับบริษัทได้

 

มีความเป็นนักลงทุน

บ่อยครั้งที่คนขี้เกียจโชว์ความลงทุนลงแรง พวกเขามีไอเดียมากมายและโปรเจกต์ที่อยากทำโดยที่ไม่ได้คิดอย่างหมกมุ่นมากไปหรือใช้ความรับผิดชอบอะไรมาก มันจึงสำคัญสำหรับคนขี้เกียจที่กระบวนการทำงานต่างๆ จะต้องไม่น่าเบื่อ และมีการการันตีผลลัพธ์ที่ปลายทางไว้แล้ว

 

คนขี้เกียจไม่เสียเวลาไปกับงานที่เดิมๆ หรือน่าเบื่อ กิจวัตรที่น่าเบื่อทำให้คนประเภทนี้อยากที่จะหลั่งน้ำตาออกมา เพราะพวกเขามีความปรารถนาที่จะคิดถึงงานในทางที่มีประสิทธิภาพกว่า และได้ผลลัพธ์ท่ีดีที่สุด อย่างรวดเร็วที่สุด

 

รู้ว่าเมื่อไรควรพัก

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้ว่าเมื่อไรที่ควรทุ่มเท เมื่อไรที่ควรหยุดพัก คนที่ทำให้ตัวเองเครียดมากๆ มีแนวโน้มว่าจะแก่เร็วกว่า และมีอาการความทรงจำบกพร่องก่อนวัยอันควร ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนยังคิดว่าการตื่นเร็วถ้าคุณเป็นคนประเภทนกฮูกราตรีแล้วออกกำลังกายอย่างเข้มข้น จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าไรนักต่อชีวิตและร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอายุ 40 ปี ฉะนั้นสิ่งที่คนขี้เกียจทำคือก็แค่พักผ่อน และขี้เกียจแบบไม่ซีเรียสกับอะไรมาก

 

 

มีการผ่อนคลายกว่า

คนขี้เกียจไม่เร่งเร้าเร่งรัดสิ่งใด และพวกเขากระโดดจากการทำสิ่งหนึ่งไปสู่การทำอีกสิ่งแทบจะตลอดเวลา พวกเขาใช้เวลาในการทำงานหนึ่งแล้วย้ายไปสู่อีกงาน และในขณะที่บางคนมีอาการแพนิก ความตั้งใจถูกเบี่ยงเบนได้ง่าย และไม่ทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่

 

คนขี้เกียจทำงานได้อย่างไร้กังวลและสงบนิ่งซะอย่างนั้น เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันว่าความเครียดไม่ดีต่อสุขภาพ คนขี้เกียจจึงมองว่ามันเป็นเรื่องดีกว่าที่จะทำให้งานจบๆ ไวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากนั้นจะได้มีเวลาพักผ่อนหรือทำอะไรที่อยากทำมากขึ้น

 

รู้เป้าหมาย

คนขี้เกียจรู้วิธีที่จะจัดลำดับความสำคัญและโฟกัสกับเป้าหมายของตนเอง ไม่ใช่กับเป้าหมายที่ผู้อื่นกำหนดให้ พวกเขาขี้เกียจเกินกว่าจะให้ความสนใจกับสิ่งสำคัญตามลำดับของผู้อื่น ฉะนั้นคนขี้เกียจจึงโฟกัสของตัวเองอย่างเดียวพอ มากไปกว่านั้น พวกเขายังใช้เวลาในการทำให้มันสำเร็จลุล่วงได้น้อยกว่า และมีเวลาพักผ่อนมากกว่าเช่นกัน

 

มักใช้เครื่องมือทุ่นแรงหรือเทคโนโลยีที่ทำให้ตัวเองขี้เกียจได้ตลอดเวลา ในยุคสมัยนี้ที่มีทั้งโปรแกรม แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายก่ายกองที่สามารถช่วยให้มนุษย์ทำงานได้สำเร็จไวกว่าที่เคย คนขี้เกียจมักจะรู้หรือหาวิธีเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ แล้วใช้มันเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว 

 

เช่น ถ้าพวกเขาต้องทำงานเอกสาร คนเหล่านี้จะไม่ส่งไปให้คนหลายคนดูทีละคน แต่ประหยัดเวลาด้วยการสร้าง Google Docs แล้วอนุญาตให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้เลยเพื่อที่จะอนุมัติหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาเดียวกัน ด้วยวิธีการเช่นนี้จะเป็นการประหยัดเวลา ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเป็นกอง และทำให้พวกเขาได้มีเวลาขี้เกียจมากขึ้น

 

ความฉลาดที่ซ่อนอยู่

ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรนักที่จะแสดงออกชัดเจนว่าเราขี้เกียจในที่ทำงาน คุณต้องหาทางที่จะไม่ทำอะไรพักใหญ่ โดยที่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตรงตามเวลา ถ้าคุณเป็นคนที่ฉลาดและขี้เกียจ คุณอาจเป็นพนักงาน/ลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพของบริษัทก็ได้นะ ใครจะรู้

 

ข้อสรุปเกี่ยวกับความขี้เกียจ

ครั้งหนึ่ง อาร์โนลด์ ลุดวิก ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันเคยวิเคราะห์ไว้ว่า มีมนุษย์มากกว่า 1 พันคนที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เขาได้ข้อสรุปว่านอกจากพรสวรรค์แล้ว คุณต้องเป็นคนที่สามารถทุ่มเท หรือภาษาบ้านๆ คือ ‘ยอมเสียเวลา’ ไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มากพอ และแน่นอน มันอาจเป็นสิ่งที่ฟังดูขัดแย้งต่อไลฟ์สไตล์ของเราในศตวรรษนี้

 

แม้แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังเคยพูดว่า “ความเบื่อหน่ายคือบ่อเกิดที่สำคัญในการหาเรื่องพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์”

 

กล่าวคือความขี้เกียจอาจสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือสร้างคนที่ประสบความสำเร็จได้ แต่ข้อพึงระวังคือ ในเวลาเดียวกัน เรายังต้องพิจารณาด้วยว่าจะโอบกอดแง่มุมดีๆ ด้านไหนของความขี้เกียจเอาไว้ สามารถใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจแบบไหนได้บ้าง และแง่มุมไหนในโซนลบของความขี้เกียจที่ควรปล่อยทิ้งไว้หรือหลีกเลี่ยงที่จะหยิบจับขึ้นมาถือไว้

 

เพราะในช่องว่างระหว่างคำว่าความขี้เกียจ ยังมีคำแทรกและการแบ่งประเภทภายในแยกย่อยอีก นั่นก็คือ ‘ความขี้เกียจปลอม’ หรือขี้เกียจเพราะฉลาด กับ ‘ความขี้เกียจจริง’ หรือการไร้วินัยและเป้าหมายชัดเจน และคงเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไรนักที่จะเข้าใจผิดจนไป Romanticize ความขี้เกียจจริงให้กลายเป็นสิ่งดีงามกว่าที่ควรจะเป็น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising