×

‘นักปรัชญาแฟชั่น’ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา แห่ง Asava

07.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • นิวยอร์กเป็นเมืองที่ให้บทเรียนในการใช้ชีวิต เป็นเมืองที่สอนให้เห็นคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างที่มันก่อร่างสร้างตัวมาเป็นเราทุกวันนี้ มันทำให้เห็นว่าการที่เรานั่งลงกับพื้น สอยขากางเกงให้ลูกค้าแล้วได้ชั่วโมงละ 4.50 เหรียญ การวิ่งไปซื้อกาแฟให้เจ้านาย การไปเก็บกระดุมจากโรงงานนั้น การไปเก็บ Sample จากโรงงานนี้ โดนคนกดขี่ต่างๆ นานา สุดท้ายแล้วมันเป็นเมล็ดพันธุ์บ่มเพาะที่ดีในการเจริญเติบโตในอาชีพการงานของตัวเอง
  • การที่เราจะวิ่งตามวัฏจักรแฟชั่น ซึ่งเร็วมากขึ้นทุกวันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นมันเป็นอาชีพที่ค่อนข้างมีความกดดันสูงนะ เหมือนดาราที่จะต้องสวยทุกวัน แบรนด์ก็เช่นเดียวกัน แบรนด์จะแก่ไม่ได้ เสื้อจะไม่สวยไม่ได้ โชว์จะไม่แอ็กทีฟไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครละจะต้องเป็นคนที่ต้องทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น ถ้าไม่ใช่ตัวเรา
  • ผู้หญิงที่สวยสำหรับพี่ต้องเป็นผู้หญิงที่ Empower ตัวเองได้ ต้องรู้จักคุณค่าของตัวเอง ต้องมองเห็นตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกว่าฉันมีคุณค่า ฉันสามารถเป็นประโยชน์กับชีวิตตัวเอง กับสังคม กับโลกใบนี้ให้ได้

 

 

“ผมขอเข้าไปดูชุดในตำนานชุดนั้นใกล้ๆ ได้ไหมครับ” ผมถาม

 

ชุดราตรีในตำนานที่ มารีญา พูนเลิศลาภ เคยใส่ขึ้นเวทีประกวดนางงามจักรวาลแขวนอยู่บนราว ส่วนอีกมุมมีชุดราตรีสไบสีดำในตำนานอีกเช่นกันที่ น้ำตาล-ชลิตา สวนเสน่ห์ ใส่ประกวดนางงามจักรวาลแขวนอยู่ พอได้เห็นชุดเหล่านี้กับตา และได้สัมผัสกับมือ ผมพบความงดงาม ความประณีตบรรจงกว่าที่เคยเห็นในรูปกับผ่านจออย่างเทียบกันไม่ได้ คริสตัลนับไม่ถ้วนที่อยู่บนผืนผ้าส่องประกายวับวา; เหมือนเก็บดาวทั้งจักรวาลมาประดับบนชุดราตรี

 

“คริสตัลนั่นปักมือล้วนๆ เลยนะครับ” พี่หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุดราตรีในตำนานบอก แม้ปีนี้เขาจะไม่ได้เป็นคนออกแบบชุดสำหรับการประกวดนางงามจักรวาล แต่พี่หมูบอกว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นมากกว่านั้นรออยู่

 

ปี 2018 ถือเป็นการครบรอบ 10 ปี ของแบรนด์ Asava ที่พี่หมูสร้างกับมือ ครบรอบ 10 ปีทั้งที พี่หมูคงมีอะไรอยากเล่าให้ฟังมากมาย บทสนทนาที่เกิดขึ้น เราไม่ได้คุยกันเรื่องเสื้อผ้า เราไม่ได้คุยกันเรื่องสไตล์ไหนอินหรือเอาต์ แต่พาคุณไปสำรวจโลกของแฟชั่นในมุมปรัชญา ที่ทำให้เห็นว่าแฟชั่นไม่ใช่เรื่องของเปลือก แต่มันคือแก่นของการเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ จนค้นพบความงามที่แท้จริง ซึ่งมาจากการตกผลึกทางประสบการณ์ของพี่หมูเอง

 

และผมขอเรียกเขาว่า ‘นักปรัชญาแฟชั่น’     

 

 

พี่หมูเริ่มหลงใหลแฟชั่นตั้งแต่เมื่อไรครับ

จำได้ว่าตัวเองอายุ 12-13 ปี ก็เริ่มเก็บเงินซื้อหนังสือแฟชั่นอย่าง ลลนา, เปรียว, Vogue แล้วครับ สมัยก่อนนิตยสารต่างประเทศหายากและแพงมากสำหรับเด็กคนหนึ่งที่จะเก็บเงินซื้อ พออายุ 14-15 ปี ก็เริ่มซื้อเสื้อผ้าดีไซเนอร์ สมัยนั้นเป็นยุคของ พี่ป๋อง- องอาจ นิรมล, ปริญญา มุสิกมาศ, Soda, Greyhound และพี่ก็เริ่มเดินสยามเซ็นเตอร์ ชาญอิสสระ

 

ตอน ม.ต้น วิชาเย็บปักถักร้อยจะต้องตัดชุดนอนเพื่อไปส่งครู คนอื่นก็ส่งเฉยๆ แต่เรารู้สึกว่า เสื้อผ้ามันจะสวยต้องอยู่บนตัวคน พี่ก็ให้เพื่อนอีกห้องหนึ่งใส่ชุดนอนของพี่ แล้วเดินแบบส่งอาจารย์แทน ทุกวันนี้ยังจำได้เลยว่าซื้อผ้าที่ไหน และผ้าลายที่พี่ใช้ในตอนนั้นยังเป็นลายที่พี่ใช้อยู่จนทุกวันนี้ อาจจะเป็นความฝังใจตั้งแต่เด็กกับผ้าลายนี้ก็ได้ ช่วงอายุ 18-19 ปี พี่ก็เริ่มบินไปซื้อของที่เมืองจีนมาปรับแต่ง มาเปลี่ยนกระดุม เปลี่ยนแบบ แล้วก็ฝากขายตามร้าน

 

ความฝันมันมีอยู่แล้ว ความชอบมีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งมันจะกลายมาเป็นอาชีพของเรา เพราะต้องบอกว่าเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว อุตสาหกรรมแฟชั่นยังไม่เกิดขึ้น มันยังดูไม่สามารถเป็นธุรกิจที่เจริญงอกงามได้ โอกาสทางการใช้ชีวิตก็ยังไม่ได้เปิดกว้างให้กับทุกคนขนาดนี้ เพราะฉะนั้นในครอบครัวนักธุรกิจก็รู้สึกว่ามันอาจจะเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เด็กทุกคนมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจได้ มองหาสิ่งที่ตัวเองชอบได้ เราก็เลยต้องเดินตามแพตเทิร์นของคนสมัยนั้น คือจบแล้วต่อ MBA แล้วกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว คนรอบตัวของพี่ก็เป็นแบบนี้หมด

 

 

จากหนุ่ม MBA เข้าสู่วงโคจรของวงการแฟชั่นได้อย่างไรครับ

พอจบบริหารธุรกิจปั๊บ ก่อนจบ พี่บินกลับมาที่เมืองไทย บอกพ่อแม่ว่าอยากเรียนวาดรูป อาจจะด้วยโชคชะตา พี่ก็เดินกลับไปที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นคณะพี่ ก็ได้เจอกับครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ พอดี ครูโตเป็นอาจารย์พิเศษ นั่งอยู่กับรองคณบดี ตัวพี่จะเข้าไปปรึกษารองคณบดีว่า พี่จะกลับมาเรียนดรออิง เพราะพี่วาดรูปไม่เป็น ไม่มีความรู้เลยว่าเมืองไทยควรจะไปเรียนที่ไหน ครูโตนั่งอยู่พอดี และก็ดันถูกชะตากับเรา ก็เลยบอกว่า “เรียนกับพี่สิ พรุ่งนี้ไปหาครูที่วังบ้านหม้อเลย” พี่ก็เรียนกับครูโตทุกวัน สิบโมงเช้าขับรถไปที่บ้านครูโต อยู่จนเย็นทุกวัน 6 อาทิตย์ จนทำพอร์ตโฟลิโออันหนึ่งขึ้นมา พอกลับไปเรียนจนจบปริญญาโทเรียบร้อยแล้ว พี่ก็ขายบ้านขายรถที่พ่อแม่ซื้อให้ แล้วหนีไปนิวยอร์ก เพื่อเอาพอร์ตโฟลิโอที่ครูโตช่วยทำบินไปสมัครเรียนแฟชั่นที่ Parsons School of Fashion แล้วก็หายตัวจากบ้านไปเลย

 

ลูกชายหายตัวไปแบบนี้พ่อแม่คุณไม่ตกใจแย่เหรอครับ

พ่อแม่ก็โทร.ตามจากเพื่อนว่าลูกหายไปไหน เพราะขายบ้านขายรถแล้วเงียบไปเลย พ่อแม่รู้อย่างเดียวว่าเรามีชีวิตอยู่จากความเคลื่อนไหวของเครดิตการ์ดของเรา ก็เลยรู้ว่าลูกหนีไปนิวยอร์ก แต่ไม่รู้ว่าอยู่ไหน เรียกว่ากบฏประมาณหนึ่งทีเดียว พี่ได้เงินก้อนหนึ่งมาจากการขายบ้านขายรถ แล้วก็ไปซุกอยู่ที่โซฟาบ้านเพื่อน บ้านรุ่นน้องที่นิวยอร์ก จนกระทั่งได้รับการตอบรับจากโรงเรียนถึงติดต่อกลับไปที่บ้าน

 

ต้องใช้ความกล้ามากขนาดไหนถึงสามารถทิ้งทุกอย่างไปทำตามความฝันแบบนั้น

ในอายุช่วงนั้นเราไม่ได้คิดอะไรเลย อาจจะเป็นความบ้าบิ่นชนิดหนึ่ง มักจะทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ได้คิดหน้าคิดหลังเลย จำได้ว่าซื้อตั๋วเครื่องบินไป ในหูฟังเพลง New York State of Mind แล้วก็ขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกระเป๋าสองใบ ไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้น และใช้ชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเมืองเลย แล้วก็ถือพอร์ตโฟลิโอวิ่งไปที่โรงเรียน สมัครเรียน ทำไปโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย คิดเพียงแต่ว่าชีวิตเรา เราอยากทำ

 

ถามว่ามันกล้าไหม ณ วันนั้นไม่รู้สึกว่าตัวเองกล้า รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ฉันต้องทำกับชีวิต เพราะว่าฉันจบจุฬาฯ แล้ว จบปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจแล้ว เพราะฉะนั้นหน้าที่ของลูกชายคนหนึ่ง เราได้ทำตามความฝันของที่บ้านหมดแล้ว ต่อไปมันเป็นหน้าที่ที่เราต้องตามหาความฝันของตัวเองแล้ว เวลาเราเหลือน้อยแล้ว เพราะอายุมันก็ 20 กว่าแล้ว  ถ้ามันไม่เริ่มวันนี้มันก็จะสายเกินไป ฉะนั้นมีอะไรทำได้เราทำหมด

ตั้งแต่เด็กอาจจะเป็นด้วยนิสัยเรามองไปข้างหน้าตลอด เพราะฉะนั้นเวลาเราล้มหรือเราเจ็บ เราก็มักจะลุกขึ้นมาปัดแผลแล้ววิ่งต่อ เพราะว่าไม่ค่อยโฟกัสที่บาดแผลตัวเอง ไม่ค่อยโฟกัสที่ความยากลำบาก

 

พอได้เรียนด้านแฟชั่นอย่างใจฝันแล้วเป็นอย่างไรครับ

มันคือทุกอย่างที่เราเคยฝัน โรงเรียน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เมืองที่เราอยู่ พี่ชอบดูละครเวที พี่ชอบไปพิพิธภัณฑ์ พี่ชอบดูงานศิลปะ พี่ชอบแฟชั่น ทุกอย่างมันอยู่ที่นิวยอร์กหมด มันคือทุกสิ่งที่เราฝัน เพราะฉะนั้นสำหรับพี่ มันคือการได้เขยิบเข้าใกล้ความฝันของเราขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง มันเหมือนตื่นขึ้นมาทุกวันแล้วเราใช้ชีวิตอยู่ในความฝัน มันมีความสุขจริงๆ ถึงจะอดมื้อกินมื้อ ทำงานหนักอะไรสารพัด เราไม่เคยรู้สึกเลย ไม่เคยรู้สึกถึงความลำบาก ไม่เคยรู้สึกถึงความยากแค้นหรืออะไรทั้งสิ้น รู้อย่างเดียวว่าชีวิตมันสนุก แล้วสิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากทำ ไม่เคยคิดหน้าคิดหลัง บางทีบ้านโดนตัดน้ำตัดไฟ บางวันเหลือเงินอยู่ในกระเป๋า 5 เหรียญ พรุ่งนี้จะอยู่ต่ออย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ทำงานหาเงินมาใช้ดูแลตัวเองได้ก็จบ มันเป็นช่วงเวลาของการผจญภัยที่ตื่นเต้นและสนุกสนานมาก

 

สองปีแรกที่เรียนต่อด้านแฟชั่นดีไซน์จนถึงปีที่สามที่ฝึกงานกับ Marc Jacobs พ่อกับแม่ก็ยังโอเคอยู่ เพราะเรียนจบปริญญาโทแล้ว ไปเรียนแฟชั่นเป็นของขวัญแล้วกัน แต่พอจะอยู่ต่อเริ่มไม่โอเค อยากอยู่ต่อเหรอ ได้ แต่ตัดบัตรเครดิตหมดเลยแล้วให้พี่อยู่เอง พี่ก็ย้ายจากอพาร์ตเมนต์เดิมที่เคยอยู่ มาอยู่อพาร์ตเมนต์ที่เขาเรียกว่าตึก Pre-War เป็นตึกเก่าๆ คับแคบขึ้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร กลับรู้สึกว่าถ้าเราอยากเผชิญชีวิตก็น่าจะต้องเผชิญด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง

 

ฟังดูเหมือนพี่หมูไม่มีความกลัวอะไรเลยในชีวิต

ไม่รู้เหมือนกันนะ ถามว่ากลัวไหม มันอาจจะมีความกลัว แต่ความต้องการมันมากกว่าความกลัว ก็เลยทำให้เราไม่คิดหน้าคิดหลัง ตั้งแต่เด็กอาจจะเป็นด้วยนิสัยเรามองไปข้างหน้าตลอด เพราะฉะนั้นเวลาเราล้มหรือเราเจ็บ เราก็มักจะลุกขึ้นมาปัดแผลแล้ววิ่งต่อ เพราะว่าไม่ค่อยโฟกัสที่บาดแผลตัวเอง ไม่ค่อยโฟกัสที่ความยากลำบาก คือตั้งแต่เด็กแล้ว พี่มีความรู้สึกว่าเรามีสิ่งที่อยากจะทำเยอะ เพราะฉะนั้นเราจะมามัวเสียเวลากับความกลัว ความลำบาก หรือสิ่งต่างๆ ที่มันจะฉุดให้เราไปไม่ถึงในสิ่งที่อยากไป มันเสียเวลา ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าอาจจะต้องคิดหน้าคิดหลังมากกว่านี้ เพราะเรามีครอบครัวที่ขยับขยายมากขึ้น เราต้องดูแลคนมากยิ่งขึ้น เราจะกล้าได้กล้าเสียเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่ใช่ตัวคนเดียวอีกต่อไป

 

จากชีวิตคุณหนูกลายมาเป็นคนที่ยืนด้วยตัวเอง สู้ด้วยตัวเอง ชีวิตช่วงนั้นสอนอะไรพี่หมูบ้าง ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตทุกวันนี้ครับ

สอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ด้วยความง่ายหรือความบังเอิญ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยความอุตสาหะ มานะ ด้วยความเพียร หรือวินัยในการใช้ชีวิต เกิดมาด้วยบาดแผล เกิดมาด้วยความผิดหวัง เกิดมาด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นนิวยอร์กเป็นเมืองที่ให้บทเรียนในการใช้ชีวิต เป็นเมืองที่สอนให้เห็นคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างที่มันก่อร่างสร้างตัวมาเป็นเราทุกวันนี้ มันทำให้เห็นว่าการที่เรานั่งลงกับพื้น สอยขากางเกงให้ลูกค้าแล้วได้ชั่วโมงละ 4.50 เหรียญ การวิ่งไปซื้อกาแฟให้เจ้านาย การไปเก็บกระดุมจากโรงงานนั้น การไปเก็บ Sample จากโรงงานนี้ โดนคนกดขี่ต่างๆ นานา สุดท้ายแล้วมันเป็นเมล็ดพันธุ์บ่มเพาะที่ดีในการเจริญเติบโตในอาชีพการงานของตัวเอง มันทำให้เราไม่ดูถูกอาชีพของเรา เพราะเราเริ่มต้นทำงานจากที่ไม่มีอะไรจะต่ำกว่าสิ่งที่เราเริ่มต้นอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะมองเห็นคุณค่าในทุกๆ อณูของกระบวนการทำงานของชีวิตเรา

 

นิวยอร์กเป็นเมืองที่ไม่ใช่เมืองของคนแพ้ เป็นเมืองสำหรับผู้ชนะเท่านั้น คนที่จะชนะเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เข้ารอบต่อไป มันสอนให้เราแข่งขันนะ นิวยอร์กเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยคนเก่งจากทั่วโลก เราเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสาม เพราะฉะนั้นเราโดนดูถูกอยู่แล้ว เพราะภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่เรา ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เรามีอาชีพการงานที่แข่งกับฝรั่งได้ มันก็สอนให้เราต้องแข่งขัน มันสอนให้เราต้องรู้จักมีจิตใจที่เข้มแข็ง ยอมรับการดูถูก จะทำอย่างไรให้คนที่เขาเคยดูถูกเรามองเห็นเรา นับถือเรา ศรัทธาเรา ชีวิตช่วงนั้นสอนให้เราแกร่งขึ้น ขยันขึ้น ทำงานมากยิ่งขึ้น แล้วก็มองเห็นคุณค่าของตัวเราเองมากยิ่งขึ้น

 

 

พอได้มาทำแบรนด์แฟชั่นของตัวเองจริงๆ มันเหมือนกับสิ่งที่คุณฝันไว้ไหมครับ

เหมือนและไม่เหมือนนะ เหมือนก็คือทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ตรงหน้ามันใกล้เคียงกับสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยหลับตา แล้วเรารู้สึกว่าอยากเป็นคนคนนี้จังเลย มันก็ใกล้เคียงมาก

 

ที่ไม่เหมือนก็คือ เมื่อก่อนเราเปิดหนังสือแล้วเราเห็นภาพ Monsieur Dior หรือว่า Yves Saint Laurent เราจะเห็นแต่ความสวยงามของมัน เห็นเพียงด้านเดียวของมัน ณ วันนี้เรามีภาพตรงนี้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน มันก็มีความตกระกำลำบาก ภาระต่างๆ มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ มีความเครียด มีหลายสิ่งหลายอย่าง จากเด็กคนนั้นที่เคยเห็นแต่ภาพสวยๆ ในหนังสือ ได้รู้แล้วว่าเบื้องหลังภาพสวยที่เรามองวันนั้นมันประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วเรารู้เลยว่าการที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แล้วมันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป ถ้าเราไม่ขวนขวาย ไม่มุมานะ ถ้าเราไม่พยายามทุ่มเททำให้สิ่งที่เรามีอยู่เจริญงอกงาม มันก็ไม่ใช่สิ่งที่สวยเหมือนที่เราคิดอีกต่อไป

 

ถามตรงๆ นะครับว่าวงการแฟชั่นมันโหดจริงไหม

พี่ว่ามันก็เป็นวงการที่อยู่ไม่ง่ายนะครับ ถ้าอยู่ให้เป็นมันก็ง่ายขึ้น แต่ถามว่ามันเป็นวงการที่มีเรื่องมีราวต่างๆ ไหม มันก็ย่อมมีเป็นธรรมดา พี่ว่าในอาชีพที่มันมีการแข่งขันสูง อาจจะมีหลายคนอยากเด่น อยากดัง หรืออาจจะอยู่ในสปอตไลต์ ทุกอาชีพที่แข่งขันกันสูงแบบนี้ก็โหดร้ายเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรได้มาง่ายอยู่แล้ว แต่สำหรับพี่ พี่โชคดีที่อาจจะเริ่มทำแบรนด์ตอนอายุค่อนข้างเยอะแล้ว กลับมาอยู่เมืองไทยตอนอายุค่อนข้างเยอะ เราก็อาจจะนิ่งขึ้น อยู่เป็นมากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ความโหดร้ายต่างๆ ที่เข้ามาไม่ทำให้เราเจ็บมากนัก หรือเราอาจจะรู้จักวิธีดีลกับความเจ็บปวด แล้วก็สมานแผลเร็วหน่อยนะ ก็อาจทำให้ชีวิตมันไม่ได้โหดร้ายมาก

 

ความโหดของวงการนี้จริงๆ มันคืออะไรครับ

ข้อแรกคือ มันเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง กดดันสูง มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง เราทำงานกับมนุษย์ มนุษย์ทุกคนอยู่กับความไม่แน่นอนอยู่แล้ว แต่เราดันบังเอิญอยู่กับความไม่แน่นอนที่มีสปอตไลต์ส่องลงมา เราถูกกล้องจุลทรรศน์ส่องเราทุกๆ อณูของสิ่งที่เราทำ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันก็จะถูกตีแผ่หมด เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะทำเสื้อสวยทุกตัว ทุกวัน ทำโชว์ดีทุกโชว์ ทุกซีซัน เพราะฉะนั้นความผิดพลาดของเรามันก็จะต้องถูกกล้องจุลทรรศน์ขยาย ถูกขุดขึ้นมา เพราะฉะนั้นเหมือนเราถูกกระบวนการพิพากษาทุกวันที่เราตื่นมา ฉะนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ข้อสอง การที่เราจะวิ่งตามวัฏจักรแฟชั่นซึ่งเร็วมากขึ้นทุกวันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นมันเป็นอาชีพที่ค่อนข้างมีความกดดันสูง เหมือนดาราที่จะต้องสวยทุกวัน แบรนด์ก็เช่นเดียวกัน จะแก่ไม่ได้ เสื้อจะไม่สวยไม่ได้ โชว์จะไม่แอ็กทีฟไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครละจะต้องเป็นคนทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นถ้าไม่ใช่ตัวเรา เราเป็นผู้ที่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนในบริษัทนี้ ให้เขามองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และวิ่งไปพร้อมกับเรา พี่ไม่สามารถทำอะไรตัวคนเดียวได้ ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น พี่ต้องขายให้กับทุกคนในองค์กรที่จะร่วมฝันไปกับพี่ แล้วก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือที่จะสร้างฝันให้เกิดขึ้น

 

เพราะฉะนั้นมันเป็นอาชีพที่วิ่งไปเท่าไรเราก็ยังเห็นเส้นชัยอยู่ข้างหน้าตลอดเวลา เหมือนคนวิ่งแล้วพอถึงช่วง 50 เมตรสุดท้ายต้องสปรินต์สุดแรงเกิด ชีวิตเราเหมือนอยู่ใน 50 เมตรสุดท้ายอยู่ตลอดเวลา แต่ข้อดีของการมีแพสชันคือ มันทำให้แรงเราไม่ตก ชื่อแบรนด์ Asava แปลว่าม้าด้วย เราก็เลยมีแรงวิ่งอยู่ตลอด

พี่ไม่ได้เกิดมาเพื่อให้เป็นที่รักของทุกคน พี่เกิดมาเพื่อทำในสิ่งที่พี่รัก และรักในสิ่งที่พี่ทำ

 

ทีนี้ขอคุยเรื่องมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สครับ ชุดของพี่หมูเนี่ยมีทั้งคนที่ชอบมากและคนที่ไม่ค่อยชอบ ทุกคนมีความเห็นและพร้อมจะแสดงออกมา ณ ตอนนั้นรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรบ้างครับ

ชีวิตพี่เติบโตมากับคนที่ชอบพี่มากและคนที่เกลียดพี่มาก พี่ไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแปลกที่คนจะชอบและไม่ชอบงานของพี่ เพราะพี่ไม่เคยทำงานเพื่อให้ใครชอบ พี่ทำงานเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของงานให้ดีที่สุดในศักยภาพที่ตัวเองมี และในแง่มุมปรัชญาความคิดของสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

 

พี่ไม่ได้เกิดมาเพื่อให้เป็นที่รักของทุกคน พี่เกิดมาเพื่อทำในสิ่งที่พี่รักและรักในสิ่งที่พี่ทำ ถ้าจะมีคนรักในสิ่งที่พี่ทำเหมือนที่พี่รัก พี่ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าเขาจะไม่รัก ไม่ชอบ หรือว่าเกลียด ก็เป็นเรื่องของใครคนนั้น เพราะว่าพี่ไม่ได้เกิดมาเพื่อหาเสียง หาคะแนนนิยม

 

แน่นอนว่าพี่เก็บคำวิจารณ์ต่างๆ มาใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคต ในการพัฒนางานของพี่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคำวิจารณ์ที่มันมีเหตุผล มีจริยธรรม มีกระบวนการคิด มีความรู้ความชำนาญในสิ่งที่เขาพูด แน่นอน พี่เก็บสิ่งเหล่านั้นมาเป็นครูสอนพี่อยู่แล้ว แต่พี่ก็จะมีกระบวนการย่อยข้อมูลเหล่านั้นในแบบของพี่เอง

 

นักวิจารณ์ต่างประเทศหลายคนพูดถึงชุดของพี่หมูตรงกันว่า มันแหวกขนบของการประกวดนางงามจักรวาล ทำให้ผมนึกถึงการใช้ชีวิตของพี่หมูตั้งแต่การหนีไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งที่ที่บ้านอยากให้เดินตามรอยที่พ่อแม่วางไว้ การใช้ชีวิตที่นิวยอร์กที่ต้องฟันฝ่าความยากลำบากต่างๆ ทั้งหมดนั้นก็เป็นการแหวกขนบทั้งนั้น

สำหรับตัวพี่เอง พี่รู้สึกว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สไม่ใช่การประกวดอก เอว สะโพก เราไม่ได้มองหาผู้หญิงที่สวย แต่เรามองหาผู้หญิงที่ฉลาดและเป็นตัวแทนของผู้หญิงทั่วโลกได้ แล้วก็เป็นทูตทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นมันน่าจะมีอะไรมากกว่าการใส่ชุดราตรีที่เน้นอก เอว สะโพก ผู้หญิงแต่ละคนมีทรวดทรงรูปร่างของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นที่จะต้องฟิตแพลตฟอร์มอันนี้

 

ทุกคนไปตรงนั้นสวยกันหมด แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ คาแรกเตอร์ ผู้หญิงที่สวยสำหรับพี่ต้องเป็นผู้หญิงที่ Empower ตัวเองได้ ต้องรู้จักคุณค่าของตัวเอง ต้องมองเห็นตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกว่าฉันมีคุณค่า ฉันสามารถเป็นประโยชน์กับชีวิตตัวเอง กับสังคม กับโลกใบนี้ให้ได้ ถ้าผู้หญิงคิดแบบนั้นไม่ได้นะ ไม่ควรที่จะไปเป็นตัวแทนของผู้หญิงทั่วโลกนะ เพราะฉะนั้นสำหรับพี่ การประกวดนางงามมันอาจจะลึกซึ้งมากกว่าการเดินทอดน่องในชุดราตรี

แฟชั่นไม่ใช่แค่เปลือก ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า แต่มันคือวิธีคิด วิธีการใช้ชีวิต คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ผนวกกันขึ้นมาเป็นตัวตนของเรา

 

ปรัชญาของแฟชั่นที่เราสามารถนำไปใช้กับชีวิตได้คืออะไร

แฟชั่นไม่ใช่แค่เปลือก ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า แต่มันคือวิธีคิด วิธีการใช้ชีวิต คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ผนวกกันขึ้นมาเป็นตัวตนของเรา แฟชั่นคือการรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ และสะท้อนความงามที่เรามีออกมา โดยที่ความงามที่แท้จริงคือการที่ตัวตนที่อยู่ข้างในกับสิ่งที่เราเผยออกมาภายนอกเป็นสิ่งเดียวกัน

 

พี่ว่าเราอยู่ในโลกที่มันถูกกลไกทางการตลาดครอบงำเราเยอะนะ เพราะฉะนั้นการเลือกฟัง เลือกดู หรือการดูแต่เลือกย่อยสลายในสิ่งที่มันเหมาะกับชีวิตเราเป็นสิ่งสำคัญ การตรวจสอบตัวเองอย่างถ่องแท้แล้วว่า สุดท้ายแล้วอะไรคือตัวตนของเรา อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข อะไรคือชีวิตของเรา อะไรคือสิ่งที่มันประกอบขึ้นมาเป็นชีวิตของเราเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราพูดถึงแฟชั่นในแง่มุมนั้นมันก็เป็นทั้งหมดของชีวิตเราเลยนะ

 

พี่ไม่อยากให้คนคิดว่าแฟชั่นมันคือเรื่องฉาบฉวย ถ้าเรามองชีวิตเราให้ฉาบฉวย ทุกอย่างมันก็ฉาบฉวย แต่ถ้าเรามองหาความละเอียดอ่อนในทุกสิ่งที่เราทำ ชีวิตเรามันก็มีความละเอียดอ่อนไปเสียทั้งหมด

 

10 ปีของแบรนด์ Asava ทำให้คุณรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้อย่างไรครับ

คอลเล็กชัน 10 ปีของ Asava ครั้งนี้ ใช้ชื่อว่า Solitude หรือความสันโดษ พี่เชื่อว่า คนที่จะคิดเป็นต้องอยู่กับตัวเองเป็น ต้องมีสติในการใช้ชีวิต ต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ ต้องมีความสันโดษประมาณหนึ่ง เพื่อที่จะปิดเสียงรอบข้าง ปิดตา แล้วก็เอาสิ่งที่เห็น สิ่งที่ฟัง มาย่อยในตัวเรา เพื่อที่จะกลั่นกรองออกมาว่าสุดท้ายแล้วเราอยากจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร

 

เวลาเราพูดเรื่องคอลเล็กชันของเรากับใคร ทุกคนก็จะต้องอ้าปากหวอหมดเลยว่า ทำเสื้อมันต้องคิดเยอะขนาดนี้เหรอ อะไรอย่างนี้ แต่เราก็เชื่อว่า เราไม่ได้เป็นคนขายเสื้อ บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ขายความคิด เป็นการขายกระบวนการคิด ขายไลฟ์สไตล์ ขายมุมมองในความงามให้กับคน เราไม่อยากจะพยายามเปลี่ยนผู้หญิงให้เป็นผู้หญิงแบบเรา แต่เราพยายามที่จะสร้างเผ่าพันธุ์ของผู้หญิงที่จะคิดแบบเรา มีกระบวนการคิดแบบเรา มองเห็นคุณค่าความงามแบบเรามากกว่า

 

มีอะไรที่อยากจะบอกกับผู้ชายที่ชื่อพลพัฒน์

ตอนเด็กๆ เคยเรียนการละคร มันมีประโยคหนึ่งจากเรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา A Streetcar Named Desire นางเอกพูดว่า “My life always depended on the kindness of the strangers” คือชีวิตฉันมักจะขึ้นอยู่กับเมตตากรุณาของคนแปลกหน้าเสมอ พี่ต้องบอกว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวพี่นั้น ที่จริงแล้วเกิดขึ้นจากความรักความเมตตาของคนแปลกหน้า ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นมิตรภาพที่สวยงาม เพราะฉะนั้นพี่จะบอกว่า พี่ไม่สามารถนั่งอยู่ตรงนี้ด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ว่าพี่มานั่งอยู่ตรงนี้ได้ด้วยแรงผลักดันจากคนอื่นมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นสิ่งที่บอกกับตัวเองคงมีน้อย แต่สิ่งที่อยากจะขอบคุณกับคนรอบข้างคงจะมีเยอะมากกว่า

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising