×

“พี่ต้องการสิ่งเดียว จดจำว่าพี่เป็นคนดี จบ” ทบทวนชีวีตกับ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

24.04.2023
  • LOADING...
หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

ผมยังคงจำได้ดีเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ณ สนามม้านางเลิ้ง ผมได้มีโอกาสไปดูแฟชั่นโชว์ครั้งแรกในชีวิตที่งาน Fashion Field Trip ในฐานะนักศึกษาจบใหม่และเด็กฝึกงานนิตยสาร 2Magazine ซึ่งจิตใจของผมช่วงนั้นถือว่าหนักหน่วงเอาการ เป็นอินโทรเวิร์ตไม่กล้าคุยกับใคร แทบไม่รู้จักใคร และพูดตามตรงอยากเรียกรถแท็กซี่กลับบ้านทุก 5 นาที เพราะเหมือนวิตกกังวลตลอดเวลาและคิดว่าวงการนี้ไม่ใช่ที่ของเรา เพราะคนอื่นก็คือจัดจ้านและกล้าแสดงออกแบบสุดๆ

 

แต่ก็โชคดีที่แม้ในหัวตัวเองจะมีหลายเสียง แต่ก็เลือกที่จะอดทนดูสักโชว์หนึ่งเพราะรู้สึกไม่มีอะไรจะเสีย ซึ่งโชว์ในครั้งนั้นก็คือโชว์ของแบรนด์ Asava กับคอลเล็กชันที่ชื่อ One Starry Night in Central Park ที่หากใครที่ติดตามวงการแฟชั่นไทยน่าจะจำได้กับหมวกหูแมวที่ฮิตกันทั้งบ้านทั้งเมือง

 

อาจฟังดูเวอร์ แต่ประมาณ 15 นาทีของโชว์นั้นเปลี่ยนชีวิตผม 

 

ผมจำได้ว่านั่งอยู่แถวสองหรือสาม และรู้สึกว่ากับเสื้อผ้า ดนตรี (ถ้าจำไม่ผิดคือรีมิกซ์เพลง Azealia Banks) และภาพโปรเจกชันบนฉาก พอมันอยู่รวมกัน วงการแฟชั่นนี่แหละอาจเป็นที่ของเรา และอาจจะให้ Sense of Purpose อะไรบางอย่างในตัวเราที่เราจะสามารถอยู่ได้แบบมีความสุขและหาความสำเร็จเหมือนผู้ชายที่มาโค้งคำนับตอนท้ายของโชว์กับแว่นตากันแดด ซึ่งผู้ชายคนนั้นคือ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

 

เกือบ 11 ปีจากโมเมนต์ในครั้งนั้น ผมก็ได้เจอพี่หมูอีกหลายครั้งนับไม่ถ้วนตามงานต่างๆ และได้เห็นเขาสามารถก้าวมาเป็นหนึ่งในเสาหลักของวงการแฟชั่นไทยอย่างแท้จริง พร้อมทำหลายบทบาทที่สามารถต่อยอดธุรกิจอาณาจักรแบรนด์ Asava ได้อย่างน่าชื่นชม บวกกับเป็นผู้ใหญ่ในวงการที่แม้ภาพลักษณ์จะดูยิ่งใหญ่ Larger Than Life และบางคนอาจรู้สึกเกรงกลัว แต่ก็เป็นคนที่จิตใจดีเสมอ เป็นกันเอง และที่สำคัญสุดสำหรับผมคือเป็นคนโฟกัสในด้านเป้าหมาย

 

มาช่วงปลายปี 2022 ผมก็เพิ่งทราบว่าในปีนี้จะครบรอบ 15 ปีของแบรนด์ Asava พอดี เลยคิดว่าควรหาโอกาสมานั่งคุยยาวๆ กับพี่หมูสักที และถ่ายทอดผ่านบทความสัมภาษณ์เขียนแบบ Old School แทนที่จะทำวิดีโอและตัดเป็นคลิปสั้นหลายๆ ตัวเพื่อลง TikTok หรือ Reels 

 

ในช่วงเวลาที่เราได้คุยกันประมาณ 1 ชั่วโมง ผมพยายามทำความรู้จักตัวตนและแนวคิดของพี่หมูในแบบ 360 องศา ไม่ว่าจะเรื่องวงการแฟชั่น ธุรกิจด้านการทำยูนิฟอร์มที่ล่าสุดเพิ่งทำให้ The Pizza Company การบริหารจัดการทีมงาน การเจอกับกระแสต่างๆ และการเป็นมนุษย์หนึ่งคนบนโลกใบนี้ที่คุณไม่จำเป็นต้องอยู่ในวงการแฟชั่นหรือชอบแฟชั่นด้วยซ้ำก็สามารถนำไปคิดต่อปรับใช้ในชีวิตได้ไม่มากก็น้อย

 

นี่คือ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา

 

 

อยากให้พี่หมูนิยาม 3 คำที่อธิบายถึงเส้นทางของแบรนด์ Asava ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

Escalate, Authentic และ Happiness

 

Escalate (การยกระดับ) เพราะพี่ก็ฝันแหละว่าอยากจะให้แบรนด์ Asava มันโต แต่ว่า ณ วันนั้น พี่ไม่ได้ฝันแบบ Systematic ที่มีระบบอย่างชัดเจน เราก็เป็นแค่เด็ก ไม่ก็ไม่เด็กละ 30 กว่า แต่ว่าก็ทำมาเหมือนมันมีความมุทะลุ มันมีความอยากทำ มันไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง ไม่ได้คิดว่าฉันจะต้องกำไรมากมาย จะต้องโด่งดัง จะต้องมีชื่อเสียงอะไร ณ วันนั้นก็คิดว่า เออ ฉันอยากทำ เรามีของ ไฟเราแรง

 

ผ่านมา 15 ปีเราก็เจอสมการของการใช้ชีวิต สมการของการทำงาน ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวแปรมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวแปรที่มันมีให้เข้ามาแก้ ให้เข้ามาผูก ให้เข้ามาโยง มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา มันก็มีสิ่งต่างๆ ที่เราจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสำหรับพี่มันเป็น 15 ปีแห่งการไต่เต้า เติบโต เรียนรู้พัฒนา 

 

คำที่สอง Authentic (การเป็นตัวของตัวเอง) ถึงมันจะเป็น 15 ปีที่ผ่านไปแล้ว แน่นอนมันมีความเปลี่ยนแปลงในตัวตนของตัวบริษัท ของตัวแบรนด์ ตัวพี่เองด้วย ปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่มันยังคงอยู่ก็คือตัวเอง ความเป็นตัวเองมันไม่เคยหายไป มันยังเป็นสิ่งที่เรารัก มันยังเป็นสิ่งที่เราอยากทำ มันยังเป็นสิ่งที่ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวพี่มันก็เป็นสิ่งที่พี่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่พี่สะสมต่างๆ 

 

แล้วคำสุดท้ายที่สำคัญกับพี่มากเลยก็คือ Happiness เพราะความสุขมันเป็นสิ่งที่สำคัญ ความสุขในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสุขของพี่คนเดียว แต่คนรอบข้างด้วย

 

คนที่นี่อยู่เป็นหลัก 10 ปีเยอะมาก เป็นสังคมผู้สูงอายุเยอะมาก ช่างเชิ่งอะไรเนี่ยก็แบบเบอร์ 001 ก็เกษียณแล้ว เบอร์ 002 กำลังจะเกษียณตามมา มันก็เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยความสุข เพราะเรามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เรารัก แล้วก็ทุกวันเราก็ได้ท้าทายตัวเองให้ทำในสิ่งที่มันยากขึ้น มีความหมายขึ้น มีคุณค่าขึ้น แล้วสิ่งที่สำคัญก็คือพี่ว่าพี่เป็นองค์กรที่สร้างความสุขให้กับคนอื่นด้วย แล้วคำว่าคนอื่นในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าลูกค้าอย่างเดียว ลูกค้าสำคัญมากเพราะว่ามันเป็นหัวใจของธุรกิจ แต่ว่าคนที่เขามองเข้ามาในองค์กร บางทีเขาไม่ได้มีโอกาสเป็นลูกค้าเรา หรือบางทีพอพี่เดินเล่นหลายคนเขาอาจจะไม่ได้เป็นลูกค้าหรือเขาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าเรา แต่เขาบอกวันหนึ่งถ้าเขามีโอกาสเขาอยากเป็นลูกค้า เพราะเขารู้สึกว่าเขามองเห็นสิ่งที่เราทำแล้วมันมีความสุข มันมีคุณค่าในตัวของมันเอง แล้วพี่ว่า 3 คำนี้มันเป็นคำที่บ่งบอก 15 ปีของเราได้ค่อนข้างครบถ้วน 

 

แล้ววงการแฟชั่นไทย 15 ปีที่แล้วกับตอนนี้ต่างกันอย่างไร

คุณจะเห็นเลยว่าดีไซเนอร์เกิดขึ้นเยอะมากในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็จะเห็นว่าเกิดมาแล้วหายไปก็เยอะ เกิดมาแล้วก็แปรสภาพไปทำอย่างอื่นก็เยอะ คนเก่าแก่ที่เรียกว่าเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรม ก็มีให้เห็นว่าถ้าไม่เปลี่ยนตัวเอง ไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงก็ลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพี่ว่ามันน่าจะเป็นกฎธรรมชาตินะ ว่าถ้าเราอยากจะก้าวไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงเราก็ต้อง Get along with the new game 

 

 

คริสเชื่อว่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่หลายคนก็มีพี่เป็นแบบอย่าง แต่พี่เองล่ะได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาบ้าง

คนทำแบรนด์แก่ขึ้นได้ แต่แบรนด์จะแก่ไม่ได้ คนทำแบรนด์ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนวงการตลอดเวลาที่เป็นตัวตั้งต้นเทรนด์ เป็นคนสร้างกระแสการใช้ชีวิตแบบใหม่ เพราะฉะนั้นเราในฐานะคนทำแบรนด์ มันต้องเปิดหูเปิดตา เปิดใจเนี่ยสำคัญที่สุด เปิดหูเปิดตาไม่สำคัญเท่ากับเปิดใจ ซึ่งทีม Asava เต็มไปด้วยเด็กๆ ที่ให้อะไรกับแบรนด์เยอะมาก 

 

มากไปกว่านั้น เราก็ต้องมองคนอื่นที่อยู่ในโลกอุตสาหกรรมเดียวกันว่าเขาทำอะไรกันอยู่ มันก็เป็นอาหารให้กับแบรนด์เหมือนกัน ว่าเราก็จำเป็นที่จะต้องกลับมาคิดใหม่ เขย่าใหม่ หาสูตรใหม่ว่าจะทำอะไร เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยู่โดยไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเปิดรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แบรนด์คุณมันจะกลายเป็นแบรนด์ที่แก่ทันที ซึ่งก็ไม่มีใครอยากจะเป็นแบรนด์ที่แก่

 

ก่อนโควิด Asava เริ่มบุกตลาดต่างประเทศด้วย ตอนนี้พอสถานการณ์หลายๆ อย่างเริ่มกลับมาปกติ พี่หมูจะกลับไปโฟกัสด้านนี้ไหม

แน่นอนครับ เราเริ่มกลับไปคุยกับสื่อเมืองนอก เอเจนซีเมืองนอก เราเริ่มกลับไปทำงานกับเอเจนต์ที่เราเคยทำงานด้วย แต่โลกมันเปลี่ยนไปเยอะครับคริส เมืองจีนเองตอนนี้ก็ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเดิม เอาจริงๆ ตอนนี้ Southeast Asia คือดีมาก APEC คือแบบมหาศาล เราก็ต้องคิดใหม่ เมื่อก่อนเราเคยให้ค่าจีนมหาศาล ซึ่งเขาก็ยังมหาศาลอยู่แหละ เพียงแต่ว่าเราจะเข้าไปจีนตอนนี้ไม่ง่ายแล้ว เพราะว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เยอะ คนก็ลงไปเล่นกันมหาศาล เราอาจจะต้องมองหาวิธีทำธุรกิจ โมเดลที่มันสดใหม่และสร้างสรรค์กว่านั้น 

 

พอคิดดูแล้ว Asava ก็ถือว่าเป็นอาณาจักรที่ทำหลายอย่างมากๆ

ตอนนี้เรามี Asava, ASV, White ASAVA, Uniform by ASAVA, MOO, Sava Dining และมี Co ต่างๆ ทั้ง Co Limited, Co Unlimited และ Co Go Round

 

 

พี่หมูบริหารจัดการแต่ละธุรกิจอย่างไร

มันจัดการตัวของมันเอง คือพี่คิดว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่าง พอมันเกิดจากสิ่งที่เราทำด้วยความออร์แกนิก ไอ้ความ Organic Itself มันจะจัดการตัวมันเองหมด แต่โชคดีที่ ณ วันที่พี่เปิดบริษัทเมื่อ 15-16 ปีที่แล้ว เราตั้งต้นมองธุรกิจเราอย่างเป็นระบบ เราเซ็ตระบบ วันที่เรามีแค่ 4 คนเราก็ทำระบบแล้ว คนก็หาว่าพี่บ้า ว่าทำไมพี่ต้องทำระบบให้มันยิ่งใหญ่มหาศาล แค่ 4 คน เดือนหนึ่งเย็บเสื้อได้แค่ 15 ตัว แต่พี่ฝันไว้ลึกๆ ว่าวันหนึ่ง ไอ้ระบบที่พี่ทำขึ้นมา ที่พี่ไปเรียนรู้จากเมืองนอก ด้วยการไปเป็นลูกจ้างอยู่ที่เมืองนอก แล้วไปเรียนรู้ระบบเขาเกือบๆ 10 ปีเนี่ย พี่ก็เอากลับมาใช้ทั้งหมด ระบบเนี่ย มันกลับมาเซิร์ฟองค์กร ณ วันนี้ 

 

แน่นอนที่สุดมันมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการทำระบบต่างๆ แต่ว่าวิธีคิดอย่างเป็นระบบมันทำให้พี่ไม่ต้องบีบตัวเองมาก หมายถึงว่าพี่ก็ยังต้องนั่งอยู่บนบอร์ดของทุกๆ ชิ้น ไม่มีงานจากทุกแบรนด์ที่พูดมา ไม่มีตัวไหนเลยที่จะไม่ผ่านพี่ เสื้อทุกวันนี้ กระดุมสักเม็ดพี่ก็เป็นคนตัดสินใจ แม้กระทั่งห้องน้ำที่ว่าเนี่ย สบู่สักก้อนพี่ก็เป็นคนเลือก เทียนพี่ก็ยังเป็นคนเลือกอยู่ ร้านอาหารเนี่ย จานชามพี่ทำเองหมด บางร้านพี่ปั้นจานชามเองด้วย ยูนิฟอร์มพี่ทำเองหมด พี่ขายงานเอง พี่เจอลูกค้าเอง พี่ทำทุกอย่างเองหมด 

 

แต่พี่หมูเคยกลัวไหมว่าธุรกิจที่ทำจะเสี่ยงโตรวดเร็วเกินไป

ถามว่าโตเร็วไหม อันนั้นมันคือศิลปะของการใช้ชีวิต ถ้าเราดูทุกประเทศ ดูทุกสังคมที่มันเติบโตเร็ว มันก็จะมีอัตลักษณ์ ความน่าเกลียดซ่อนอยู่ในความเจริญเติบโตเสมอ มันเป็นธรรมชาติ ถามว่ากลัวไหม อย่าไปกลัว เพราะมันเกิดขึ้นแน่นอน มันจะต้องมีสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันออกจากคอมฟอร์ตโซนของเรา ออกจากสิ่งที่เราไม่แฮปปี้ สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา

 

พี่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ว่าทุกอย่างมันมีราคา คุณจ่ายไปแค่ไหน ทุกวันนี้ทำงานหนัก เวลาให้กับครอบครัวน้อยลง นั่นก็คือราคาที่คุณต้องจ่าย คุณจะให้กับมันแค่ไหน แล้วก็ถ้าองค์กรมันโตต่อไป ขยายไปตรงนู้นตรงนี้ เวลาที่เราจะไปนั่งดูกระดุมทุกเม็ด วิธีเย็บทุกตัว มันก็คงไม่มี เราจะปล่อยมันได้แค่ไหน ที่เรายังรู้สึกว่าเราโอเคกับราคานั้นอยู่ เรายังแฮปปี้กับมันอยู่ อันนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ 

 

ไม่ใช่เฉพาะพี่ คริสเองก็ต้องเรียนรู้ คริสเองก็เติบโตขึ้นในหน้าที่การงาน คริสก็ต้องเรียนรู้ว่า ราคาที่เราจ่ายไปมันคุ้มกับสิ่งที่เราได้ทำหรือเปล่า ถ้าราคามันสูงจนเรารู้สึกว่ามันเจ็บปวดเหลือเกิน เราไม่ไหวแล้ว เราก็อาจจะต้องหาวิธีทำอะไรกับมันสักอย่าง พี่ว่าทุกคนมันเป็นกระบวนการของทุกคน เพียงแต่ว่าเซ็ตอัพของแต่ละคนมันต่างกัน 

 

 

หนึ่งในธุรกิจที่ถือว่ากำลังโดดเด่นสำหรับ Asava เองคือการได้ดีไซน์ยูนิฟอร์มให้บริษัทอื่นๆ อยากให้พี่หมูเล่าให้ฟังหน่อย

ตอนนี้แบงก์ทั้งหมดเราแทบจะเป็นคนดีไซน์ให้หมดแล้ว แบงก์กรุงเทพ, แบงก์ SCB, LH แบงก์ แล้วก็มีแบงก์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น สายการบินเราก็ทำ โรงพยาบาลเราก็ทำ โรงแรมก็เต็มไปหมด ห้างสรรพสินค้าเราก็ทำ ตอนนี้จะมีหน่วยงานราชการเข้ามาอีก พอร์ตก็ค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่พนักงานระดับ 20 คน ไปจนถึง 30,000 คน ผลิตชุดตั้งแต่หลัก 50 ชุด 100 ชุด จนไปถึง 100,000 ชุด

 

แต่หนึ่งในบริษัทที่เพิ่งทำให้และหลายคนอาจแปลกใจก็คือ The Pizza Company

เรารู้จัก The Pizza Company กันมานาน ซึ่งถ้าพี่ไม่ได้ไปจับงานนี้พี่จะไม่ได้เรียนรู้เลยว่าตลอด 38 ปี เขาไม่เคยเปลี่ยนอะไรเลย บ้าน Minor เขาเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่มีการทำเดลิเวอรีไปส่งถึงบ้าน ซึ่งเขาแทบไม่เคยเปลี่ยนอะไรในเชิงภาพลักษณ์ เพราะเหมือนเขาเป็นเจ้าตลาดจนไม่รู้ว่าเขาจะต้องเปลี่ยนอะไร ยูนิฟอร์มที่ใช้มาทุกวันนี้ คุณ William Heinecke Minor ก็คิดเอง โดยครั้งนี้จะเป็นการรีแบรนด์ครั้งแรกของเขา ซึ่งสนุกมาก เราเข้าไปทำงานกับทีมมาร์เก็ตติ้งของเขา เข้าไปช่วยกันดูมาร์เก็ตติ้งบรีฟเพื่อจะทำอย่างไรที่แปลออกมาแล้วให้รู้สึกว่าเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในเชิงของเสื้อผ้า 

 

โดยในปัจจุบันนี้เราคิดว่าไรเดอร์คนส่งอาหารคือสำคัญที่สุด ซึ่งตอนนี้ไรเดอร์เขียวหมดเลย ทุกเจ้าเลย มีไม่กี่เจ้าที่เป็นชมพูกับส้ม ที่เหลือเขียวหมด ถ้าคุณไปนั่งอยู่ในห้าง คนมานั่งรออาหารก็คือเขียวหมด คุณแยกไม่ออกหรอกว่าใครเป็นใคร ซึ่ง The Pizza Company ดันเป็นเขียวเสียด้วย เราก็เลยบอกว่าจะทำอย่างไร ให้เขียวคุณไม่เหมือนเจ้าอื่นที่นั่งอยู่ สมมุติคุณขับมอเตอร์ไซค์ ให้มันกระเด้งออกมาเลยว่าเขียวนี้มันไม่ใช่เขียวอื่น มันเป็นเขียว The Pizza Company 

 

พอเดินเข้ามาที่ออฟฟิศ Asava สิ่งแรกที่แตะตาคริสคือชุดราตรีสีแดงที่ นิ้ง โศภิดา ใส่ขึ้นเวที Miss Universe 2018 แขวนอยู่บนราว ย้อนกลับไปดูกระแสช่วงนั้นพี่หมูรู้สึกอย่างไรบ้าง

พี่ยังขำนะ คือที่พี่เอามาแขวนเนี่ยนะ จะเล่าให้ฟัง ตอนแรกพี่มีงานที่ต้องกลับไปจุฬาฯ เพราะปีนี้พี่ได้รับรางวัลนิสิตเก่าดีเด่น เขาก็อยากจะทำการกุศล ตอนแรกว่าจะเอาชุดนี้ไปประมูล (หัวเราะ) เพราะว่าคิดว่ามันก็เป็นชุดที่สร้างกระแสดี พี่หยิบมันขึ้นมาแล้วพี่เอามันไปประมูลไม่ลง เพราะมันเป็นชุดหนึ่งที่มีความหมายกับชีวิตพี่มากเลย แล้วพี่เอามาดูพี่ก็ยิ่ง Appreciate มัน พี่ดูงานคราฟต์ที่ซ่อนอยู่ พี่ดูอะไรไปด้วย พี่ว่ามันก็ยังสวยอยู่ พี่ก็ยังชอบอยู่ พี่เลยเปลี่ยนชุดอื่นเอาไปประมูลแทน

 

คือ ณ เวลานั้น คนให้ความสำคัญกับชุดนี้มาก แล้วก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่โชคดีมากเลยที่พี่ไม่ได้รู้สึกอะไร พี่อาจจะแก่เกินกว่าที่พี่จะโดนอะไรอย่างนี้แล้วพี่เก็บไปคิดมาก แต่วันนี้พี่มองกลับไปแล้วพี่ก็ยิ้ม เพราะว่าพี่รู้สึกว่ามันก็ขำดี

 

แฟชั่นจะมองให้มันใหญ่ก็ใหญ่ จะมองให้มันเล็กก็เล็ก มองให้มันเป็นเรื่องอารมณ์ขันก็อารมณ์ขัน แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ณ วันนั้นเราทำดีที่สุดแล้ว

 

 

แต่ชุดนี้ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงพลังของแฟชั่นที่คนยังพูดถึงทุกวันนี้

ใช่ คือยังแดงไหนอยู่ ทุกวันนี้คือนักร้องข้ามกำแพง ก็ยังแบบว่า ยังเอาพี่ไปแปะข้างน้องฝั่งหนึ่งๆ อะไรอย่างนี้ คืออย่าให้มีคำว่าแดงไหนมาเลยนะ คือว่าชุดนี้จะต้องไปโผล่ทุกที่ ทุกคนโดนแปะชุดนี้หมด

 

ทุกวันนี้ชุดนี้เป็นชุดแดงในตำนาน คือไม่ว่านางแบบนางงามคนไหนจะได้ที่ 1 ก็ต้องเอาชุดนี้ไปแปะๆๆ อะไรอย่างนี้ สนุกดี พี่ก็เชื่อว่ามันก็เป็นซับคัลเจอร์อย่างหนึ่ง เหมือนสังคมนางงามมันก็เป็นซับคัลเจอร์อย่างหนึ่ง ซึ่งอินเทนซีฟมาก เขามีกลุ่มก้อน มีสังคมที่เขาพูดคุยกันทั้งวันตลอดเวลา ซึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ และอเมริกาใต้ มันเป็นซับคัลเจอร์ที่ใหญ่มาก แล้ว 4 ปีที่เราทำ มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ซับคัลเจอร์นั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็ดีใจและก็ขำดี 

 

พี่หมูออกสื่อเยอะแยะมากมาย ทุกคนรู้จักหมด แต่พี่คิดว่าอะไรที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเรา

โอ้โฮ เยอะมาก ซึ่งในแต่ละบทบาทของพี่ มันก็มีในแต่ละสิ่งที่พี่ต้องการจะ Achieve เพราะฉะนั้นมันก็แน่นอนที่สุดที่ว่าคนอาจตีค่าไปต่างๆ นานา ก่อนที่พี่จะมาเป็นที่รู้จัก พี่ทำงานอยู่แต่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นคนก็ไม่ได้สนใจอะไรพี่มาก วันที่พี่ก้าวมาอยู่ข้างหน้ามันก็ถูกจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นผลงาน ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นอะไร เพราะฉะนั้นแต่ละคนเขาก็ไปตีความของเขาเอง เพียงแต่ว่าสิ่งที่พี่พูดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากฟัง เพราะว่าพี่จะพูดในสิ่งที่พี่คิดว่ามันมีประโยชน์ หนึ่งกับตัวตนของพี่ กับองค์กรของพี่ กับวงการของพี่ แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาอยากฟัง พี่ไม่ได้เป็นคนที่พูดอะไรเพื่อเอาใจใคร สิ่งที่พี่พูดพี่คิดว่ามันควรจะมีคุณค่าอย่างน้อยที่สุดของตัวเอง แล้วก็องค์กรหรือสังคมที่พี่อยู่ 

 

 

แล้วพี่หมูจัดการอย่างไรกับกระแสโจมตีหรือพวกปรากฏการณ์ Cancel Culture ที่หลายคนเจอ

ช่วงที่พี่โดนเยอะๆ โซเชียลมีเดียอาจจะยังไม่ได้หนักหน่วงขนาดนี้ ซึ่งมาวันนี้พี่ก็โชคดีพี่มีทีม PR น้องๆ ที่เป็นรุ่นเด็กๆ เยอะ แล้วเขาก็จะสอนพี่เยอะ ว่าพี่ทำอะไรได้ พี่ควรพูดอะไร พี่ไม่ควรพูดอะไร แต่ว่าพี่ก็ยังเป็นพี่แหละ พี่ก็ยังจะพูดในสิ่งที่พี่อยากจะพูดอยู่ดี เพียงแต่ว่าพี่ก็จะเข้าใจธรรมชาติของมันว่า พี่พูดได้แค่ไหน บางทีเราเจตนาดี แต่ว่าวิธีเราอาจจะไม่ใช่ มันอาจจะไม่ใช่เอฟเฟ็กต์ที่ดีที่กลับมาหาตัวแบรนด์ก็ได้

 

เวลาพี่พูดพี่ไม่ได้โดนด่าคนเดียวนะ มันกลายเป็นคนทั้งองค์กรโดนด่า เพราะฉะนั้นพี่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พี่ประพฤติปฏิบัติ แล้วก็สิ่งที่พี่จะพูดออกไป แต่ว่าในที่สุดแล้ว ไม่มีใครห้ามพี่ได้หรอก เพราะว่าพี่ก็อยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ว่ามาวันนี้พี่ก็อาจจะมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น เราไม่ได้หมายความว่าเราต้องพูดทุกเรื่อง ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องแสดงทัศนคติในทุกสิ่ง บางเรื่องเราเก็บไว้ในใจก็ได้ 

 

15 ปีที่ผ่านมาเราอาจได้เห็นคนไปโฟกัสที่ตัวพี่หมูอยู่เสมอพอพูดถึง Asava แต่ทีมที่อยู่เบื้องหลังสำคัญอย่างไรบ้างต่อความสำเร็จของแบรนด์

พี่ต้องบอกว่าพี่ทำหลายอย่าง พี่ไม่สามารถทำอะไรตัวคนเดียวเลย แม้แต่การตัดสินใจทุกวันนี้ก็ทำด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะสุดท้ายเราจะ Make Decision อย่างไรล่ะ ถ้าทีมไม่ไปกับเรา เราทำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนมันต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ต้องแชร์ Value เดียวกัน ต้องมองเห็นสิ่งที่เราทำร่วมกัน เพราะฉะนั้น พี่ว่าหลังจากหลายๆ ปี พอเขาเริ่มเห็นว่าองค์กรมันมีมุมมองที่ชัดเจน มีตัวตนที่ชัดเจน มีวิธีอยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน ไม่อยากใช้คำว่ากฎระเบียบนะ แต่ว่าอยากจะใช้ว่าการอยู่รวมกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน เป็นครอบครัวเนี่ย เขาเริ่มเห็นธรรมนูญครอบครัว ธรรมนูญบริษัท พี่ว่าทุกคนก็อาจจะมองเห็นว่าเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ได้ อยู่กับเราได้จนเกษียณ หรือว่าเขาฝากผีฝากไข้กับเราได้ และสุดท้ายคนเหล่านี้เป็นคนที่รักบริษัท บางทีรักมากกว่าพี่ด้วยซ้ำ บาทหนึ่งก็ไม่ให้กระเด็น เศษผ้าก็ไม่ให้ปลิว 

 

คือสุดท้ายมันกลายเป็นว่า คนเหล่านี้ต่างหากที่มันทำให้บริษัทเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นเนี่ย คนมา Asava บางทีนะ ต้องบอกเลยตั้งแต่ยามก็อยู่เป็น 10 ปี ซึ่งคนชมแต่ยามเลยแหละพอมาที่ออฟฟิศ แบบว่าแบบยามดูแลดีมากเลย โบกรงโบกรถ โบกไปจนถึงถนนใหญ่ พี่ว่าสิ่งต่างๆ รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้มันสำคัญหมด

 

 

แล้วทีมของพี่สอนอะไร หมู Asava?

เขาสอนอะไรพี่บ้างเหรอ เขาสอนให้พี่มีความผิดรับผิดชอบ สอนให้พี่มองชีวิตแบบไม่ได้มองตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางตลอดเวลา ไม่ได้มองความต้องการว่าฉันอยากทำนั่น ฉันอยากทำนี่ บริษัทต้องเป็นกำไรอย่างนั้น ต้องกำไรอย่างนี้ หรือตัวเลขหรืออะไร เขาสอนให้พี่รู้จักว่า เวลาเราทำงานที่มันมีคุณค่า แล้วเราอยู่กับคนที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Process เหล่านี้ เราต้องเอาตัวเองออกมาแล้วก็มองภาพใหญ่ว่าทำอย่างไรก็ได้แล้วแต่ ทำให้มันเป็นสังคมที่น่าอยู่ สังคมเล็กๆ ที่น่าอยู่ 

 

คำถามสุดท้าย วันที่เราไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว พี่หมูอยากให้คนจดจำเราอย่างไรบ้าง

 

อาจฟังดูตลก แต่พี่ต้องการสิ่งเดียวเลย คือจดจำว่าพี่เป็นคนดี จบ (หัวเราะ) เพราะว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างมันไม่มีความหมายเลยคริส ไม่ใช่มันมีความหมายแบบตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่วันหนึ่งในเมื่อเราจากไปแล้ว ทุกอย่างมันกลายเป็นแอ็บสแตรกต์ไปหมด ทุกคนรอบๆ ตัวพี่ไม่มานั่งคิดหรอกว่า หมู Asava ทำอะไรไว้บ้าง เขาคิดมากกว่าเราเป็นคนแบบไหนกับเขา 

 

สำหรับพี่ ความเป็นมนุษย์มันมีความหมายที่สุด คือความสัมพันธ์ ไม่ว่าคุณจะสร้างสิ่งที่มันแบบ อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณไม่ได้มีความหมายกับคน ไม่ได้มีคุณค่ากับคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ใกล้ชิดผูกพันกับคุณ ถ้าเขาไม่ได้ระลึกถึงคุณในเชิงของ Positive Energy หรือ Good Energy พี่ว่าอันนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด 

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising