×

ไข่แมวหายไป… ผู้มีอำนาจกลัวอะไร

19.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • ไข่แมว อาจไม่ใช่เพจแรกที่ปลิวหายไปในบรรยากาศบ้านเมืองยามนี้ แต่ปรากฏการณ์สำคัญนี้ได้สะท้อนความอึดอัดของประชาชน และความกระวนกระวายใจ ที่ห่วงว่าพื้นที่ระบายทางการเมืองจะหายไป
  • แน่นอนว่า ‘การล้อเลียน’ มีมายาวนาน การเขียนการ์ตูนล้อมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่เส้นของแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน หากแต่เจตนารมณ์เป็นไปเพื่ออารมณ์ขันแห่งยุคสมัย
  • ผศ.ดร.จันจิรา มองว่า เพจเหล่านี้มักจุดประกายบางเรื่องที่ส่งผลต่อภาพใหญ่และจุดอ่อนของผู้ปกครอง ขณะที่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับไข่แมว แต่พลวัตรของสังคมที่น่ากลัวในอนาคตคือการที่ประชาชนจับตาและล่าแม่มดกันในโซเชียล

‘ไข่แมว’ เพจการ์ตูนเสียดสีสังคมและการเมืองกลับมาดังเป็นพลุแตกเพียงชั่วข้ามคืนอีกครั้ง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ ‘เพจปลิว’ ท่ามกลางคำถามว่า ปลิวไปไหน ปลิวเพราะอะไร แล้วแอดมินเพจยังอยู่สุขสบายดีหรือไม่? บางกระแสบอกว่าไม่สามารถติดต่อแอดมินเพจได้ ทุกคนยังรอคอยความกระจ่างต่อเรื่องนี้อยู่

 

เมื่อความสงสัยลุกลามเป็นระลอกคลื่น อาณาจักรโซเชียลอันกว้างใหญ่ไพศาลและปริมณฑลของ ‘การแสดงความคิดเห็น’ เป็นไปอย่างยากยิ่งที่จะควบคุม ปรากฏการณ์ของไข่แมวจึงกลายเป็นเรื่องน่าขบคิดว่า ลำพังการวาดการ์ตูนที่เป็นภาพสะท้อนสังคม ล้อการเมือง กลายเป็นภาวะ ‘ท้าทาย’ อำนาจของผู้ปกครอง ในบรรยากาศที่พื้นที่ทางความคิดได้หดแคบลง

 

 

 

ไข่แมวหาย อึดอัด กระวนกระวาย กลัวพื้นที่ทางการเมืองหาย

ประชาไทเคยตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ในหัวข้อ ‘เปิดใจ ‘ไข่แมว’ เพจการ์ตูนแซวการเมืองน้องใหม่ ในยุค คสช.’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 มีเนื้อหาที่ถามถึงอนาคตเกี่ยวกับเพจนี้ว่า กลัวเพจต้องถูกปิดหรือโดนรีพอร์ตให้ปิดเพจไหม? ครั้งนั้นแอดมินได้ตอบคำถามกับประชาไทว่า

 

“ทำใจไว้ล่วงหน้าแล้วครับว่าอาจจะโดนปิด ส่วนเรื่องโดนรีพอร์ตก็โดนแล้วครับ จริงๆ ก็คงโดนมาอยู่เรื่อยๆ บางทีมันก็ไม่แจ้งเตือนสักเท่าไร แต่พอโดนทีหนึ่งก็แจ้งมาเลยว่าต้องลบรูปนี้ คือเฟซบุ๊กเขาลบไปแล้วแหละ แค่มาบอกว่าเขาลบรูปนี้แล้ว โดยที่เราไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์อะไรเลย”

 

ถ้าอ่านคำตอบข้างต้นจะเห็นว่า หากวันหนึ่ง ‘ไข่แมว’ ต้องมีอันล้มหายตายจากไป เจ้าของเพจ หรือแอดมิน ได้ทำใจไว้ล่วงหน้าแต่ต้นแล้ว เพราะถูกรีพอร์ตมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

 

คำถามก็คือ เมื่อเกิดปรากฏการณ์ไข่แมวปลิวหายไปจริงตามที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อหลายสำนัก เหตุใดเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่คนดูเหมือนร้อนอกร้อนใจ และตั้งคำถามถึงภาวะบางอย่างในทางการเมืองไปพร้อมๆ กันด้วย

 

Photo: GM LIVE

 

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัยเรื่องการใช้อารมณ์ขันในประท้วงและสันติวิธี อธิบายภาพสะท้อนเหล่านี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนมีความอึดอัดทางการเมือง เพราะหากติดตามอ่านคอมเมนต์ในหลายๆ เพจ แม้แต่เพจข่าว ก็จะเห็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นการระบาย และไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ว่ากลายเป็นเรื่องเห็นพ้องต้องกันในหลายประเด็น

 

“ดิฉันคิดว่ากรณีเพจไข่แมวหายไป ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุมาจากอะไร แต่ภาพสะท้อนที่ชัดเจนก็คือ เรื่องความอึดอัดและพื้นที่ระบายทางการเมือง เพราะบางคนไม่รู้ว่าจะไปหาพื้นที่แบบนี้ที่ไหน อุณหภูมิทางการเมืองจึงร้อนขึ้น กลายเป็นความกระวนกระวายใจ เพราะพื้นที่สื่อหลักถูกควบคุมเรื่องการนำเสนอ กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความหลากหลาย เมื่อไปแตะหรือวิจารณ์รัฐมากๆ อาจจะถูกมาตรการต่างๆ ของรัฐดำเนินการ นี่เป็นพฤติกรรมของประชาชนที่สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนมากที่สุดว่าพื้นที่ทางการเมืองได้หดแคบลง จนต้องโหยหาและคาดหวังจากเพจอย่างไข่แมว”

 

Photo: piex crazy 8bit

 

ล้อการเมือง เรื่องปกติของประชาธิปไตย ≠ เผด็จการ

หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่มองว่าอาจทำให้ ‘ไข่แมว’ หายไปคือ การล้อเลียนผู้มีอำนาจในปัจจุบัน กระทั่งผู้เล่นในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ได้ร่วมกันติดแฮชแท็ก #ทวงคืนไข่แมว และ #ไข่แมว

 

ล่าสุด พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยกับวอยซ์ ออนไลน์ว่า คสช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และกระแสพาดพิงถึงการใช้อำนาจปิดเพจเป็นเพียงการคาดเดาและไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากแอดมินเพจจนถึงเวลานี้

 

 

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อสันนิษฐานถึงเรื่องการล้อเลียนผู้มีอำนาจ จนอาจนำไปสู่เหตุผลการหายไปของเพจไม่ใช่เพิ่งจะเคยเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาจำนวน 8 คน ในความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการทำเพจในเฟซบุ๊กชื่อ เรารัก พล.อ.ประยุทธ์

 

“โดยปกติแล้วการล้อผู้นำหรือล้อการเมืองถือว่าเป็นเรื่องปกติของการเมือง และไม่ใช่เพิ่งจะมาเริ่มมีในยุคปัจจุบัน มันมีมาแล้วตั้งแต่อดีต เช่น กรณีล้อการเมืองในงานฟุตบอลธรรมศาสตร์-จุฬาฯ หรือในงานฟุตบอลจตุรมิตร หรือที่ล้อผ่านทีวี เช่น รายการรัฐบาลหุ่น, สภาโจ๊ก ฯลฯ และไม่ใช่แค่การเมืองไทยที่มีการล้อผู้นำประเทศ ในระดับการเมืองโลกก็มีเช่นเดียว ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก หรือมีปัญหาใดๆ ในสังคมที่มันปกติ” นพเก้า คงสุวรรณ หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี อธิบายปรากฏการณ์ลักษณะนี้ให้ THE STANDARD ฟัง

 

“แต่เนื่องจากสังคมไทยในช่วงนี้อยู่ในภาวะผิดปกติ ประเทศถูกทำรัฐประหาร ผู้นำประเทศก็ไม่ได้มาจากเสียงประชาชน จึงค่อนข้างมีความกลัว และเปราะบางมากกับการวิจารณ์ และการล้อเลียน”

 

 

สอดคล้องกับ พล.ท. พงศกร รอดชมภู อดีตนายทหารที่เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มองว่า หากการล้อการเมืองต้องถูกจับตา มอนิเตอร์จากฝ่ายผู้ปกครอง ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเผด็จการย่อมกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ การควบคุมประชาชนจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ความรู้สึกของประชาชนยังเชื่อว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ต้องเปิดพื้นที่ ซึ่งแท้จริงแล้วเราอยู่ในบรรยากาศที่ถูกปิดกั้น

 

“การล้อเลียนเสียดสีทำให้กลายเป็นเรื่องชี้ให้เห็นจุดอ่อนของผู้ปกครอง เขาเลยไม่ชอบใจ เพราะเขาต้องการสร้างให้กลัว ไม่ใช่ให้เป็นตัวตลก เพราะเมื่อตลกก็จะไม่มีทั้งรักและทั้งกลัว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปพูดให้มาก ในสังคมแบบเผด็จการเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาควบคุมกันเป็นปกติอยู่แล้ว”

 

 

การ์ตูนล้อการเมือง ‘เส้น’ ที่ไม่มีมาตรฐาน แล้วแต่ยุคสมัย

เพจไข่แมวสื่อสารผ่านการเขียนภาพการ์ตูน ซึ่งมีลักษณะล้อเลียนและประชดประชัน ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมืองอย่างเดียว แต่ได้ขยายภาพรวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจปากท้อง และการคอร์รัปชัน

 

ที่ผ่านมาการเขียนการ์ตูนล้อเลียน หรือการ์ตูนล้อการเมือง เป็นของอยู่คู่กับสังคมไทยและสังคมโลกมาช้านานแล้ว นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดังอย่าง นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ มองประเด็นนี้ว่า การทำงานในฐานะ ‘นักเขียนการ์ตูน’ ที่ใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารกับผู้คน ดูจะเป็นการทำงานที่ยากมากขึ้น การเขียนงานต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ในการที่จะรู้ว่า ‘เส้น’ ของสิ่งที่จะนำเสนออยู่ตรงไหน

 

“ผมมองว่า ไข่แมว เขาลึกซึ้ง สะท้อนปัญหาได้แบบมีสติปัญญา เป็นเรื่องลับสมองประชาชน การเขียนการ์ตูนมันไม่มีกฎเกณฑ์ แต่เราเองก็ต้องระมัดระวังพอควร แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลัวนะ แต่เราต้องรู้ว่าเส้นมันอยู่ตรงไหน เพราะเส้นที่ว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยมันก็ไม่เหมือนกัน มันไม่ได้มีมาตรฐานตายตัว มันแล้วแต่ยุคสมัย

 

“สิ่งที่ผมคิดว่าอยากให้คนที่เห็นภาพมองก็คือ ได้เข้าใจเจตนารมณ์ของผู้เขียน เราเพียงต้องการสะท้อนภาพ และให้เห็นบรรยากาศบ้านเมืองผ่อนคลายบ้าง จะได้ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป แต่สิ่งที่รับไม่ได้ก็คืองานเขียนที่หยาบคาย ไม่สุภาพ หรือเป็นการตัดต่อที่ไปทำให้คนอื่นต้องได้รับผลกระทบเสียหาย”

 

 

เพจล้อ เพจโซเชียล ตัวอันตราย จุดประกายให้ลุกลาม

ข้อหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ความพยายามที่จะควบคุมเพจเหล่านี้ ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ แสดงให้เห็นว่า พลังของโซเชียลมีเดีย และโลกออนไลน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล ได้ทำให้ ‘แผล’ หรือ ‘บางเรื่อง’ กลายเป็นความน่าสนใจขึ้นมา แบบที่ผู้ปกครองคาดไม่ถึงหรือไม่ทันได้ตั้งรับ

 

“พื้นที่ตลก พื้นที่ล้อเลียนที่อยู่ในสื่อนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคม ความบันเทิงที่มีให้ผู้คนทั่วไปได้เสพนั้นมีคำถามที่น่าสนใจตามมาก็คือว่า มันจะพาคนที่เสพไปไหน? ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ เพจเหล่านี้เป็นเสมือนตัวจุดประกายให้เห็นประเด็นต่างๆ ที่อาจมองข้ามไปในหลายครั้ง” ผศ.ดร.จันจิรา อธิบาย

 

 

ขณะเดียวกันเพจลักษณะนี้สามารถนำเสนอสารได้อย่างแนบเนียน และไม่แหลมมาก ทำให้คนจากค่ายสีต่างๆ เห็นตรงกัน ซึ่งสิ่งที่ประชาชนเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง หรือเรื่องคอร์รัปชัน กลายเป็นอันตรายต่อรัฐบาล จึงนำมาสู่ความรู้สึกในการหวาดกลัวประชาชน

 

“ดิฉันคิดว่าความน่ากลัวมากกว่าการที่รัฐไปไล่ปิดหรือคุมโซเชียลก็คือ ประชาชนด้วยกันเอง การล่าแม่มดมีมานาน แต่สังคมไทยไม่ได้โจ่งแจ้ง ยกเว้นเฉพาะบางเรื่อง ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ประชาชนกลายเป็นผู้สอดส่องจับตาโซเชียลด้วยกันเอง ซึ่งตรงนี้น่ากลัว เพราะประชาชนเราไม่มีทางรู้หรือควบคุมได้ว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่”

 

 

ภายใต้ข้อสันนิษฐาน ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ทำให้ ‘ไข่แมว’ หายไป หรือแม้แต่ ‘ไข่แมว’ อาจจะถอดใจหายไปเอง คำถามถึงอนาคตของแอดมินเพจ ผ่านบทเรียนของ นพเก้า คงสุวรรณ ก็น่าสนใจไม่น้อย

 

“ได้ข่าวว่าหายไปทั้งเพจและแอดมิน ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน หายไปไหน อย่างไร ก็รู้สึกเป็นห่วงในสวัสดิภาพของเขาอยู่เหมือนกัน (ฮ่าๆ)”

 

“ส่วนตัวคิดว่า คอนเทนต์ดีมากๆ มีแค่ภาพ ไม่มีแคปชัน ก็สามารถสื่อสารให้ผู้คนตีความได้ต่างๆ นานา ถือว่าเป็นความแนบเนียน เป็น ‘สีสันการเมือง’ ที่ทำให้อย่างน้อยคนไทยและนานาชาติรู้สึกว่ามีเสรีภาพอยู่หน่อยๆ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเสรีภาพที่คนไทยควรจะมีมันต้องมากกว่านี้ก็ตามที”

 

อ้างอิง:

FYI
  • เว็บไซต์ผู้จัดการได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจหลังเพจ ‘ไข่แมว’ ปลิว พบมียอดไลก์และติดตามสูงสุดในบรรดา ‘เพจต้าน’ คือยอดไลก์ 4.52 แสนแอ็กเคานต์ และติดตาม 4.58 แสนแอ็กเคานต์
  • ขณะที่ ‘เพจหนุน’ อันดับ 1 คือ ‘นายกฯ เป็นคนตลก’ ไลก์ 1.19 ล้านแอ็กเคานต์ ติดตาม 1.21 ล้านแอ็กเคานต์ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2561)
  • เพจการเมืองที่ ‘หาย’ ในช่วงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์
  1. เรารัก พล.อ.ประยุทธ์
  2. ประชาธิปัตย์ ชื่อเดียว ล่มจมได้ทั้งประเทศ
  3. UDD Thailand
  4. Red Intelligence
  5. Red Democracy
  6. หยุดดัดจริตประเทศไทย
  7. กูต้องได้ 10 ล้านจากทักษิณ
  8. มานีมีแชร์ (หยุดเคลื่อนไหว ตั้งแต่ปี 2016)
  9. โหดสัส
  10. ไข่แมว
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising