×

คุณใหม่ เจนเซน “ความยากของการเล่าประวัติศาสตร์คือ ทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขามองไม่เห็นอีกต่อไปแล้ว”

23.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time Index

02:46 ชีวิตของเด็กหญิงผู้เติบโตใกล้ทะเลในซานดิเอโก

04:57 ก้าวข้ามความกลัวจนสามารถสนุกกับสิ่งที่กลัว

07:41 เรื่องที่จะทำให้โดนดุ

11:11 เพื่อนที่หัวเราะในเรื่องเดียวกันได้

14:46 เสน่ห์ของอดีตคือการเป็นกุญแจสู่อนาคต

16:43 ประสบการณ์ที่ได้จากโลกของแฟชั่น

19:21 ชีวิตข้าราชการประจำสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

21:43 ความสนใจใคร่รู้นำไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ

29:43 สิ่งที่ไม่เคยหยุดทำ แม้จะไม่อยากทำเพียงใดก็ตาม

33:01 ความบันเทิงบนท้องถนนในย่านเมืองเก่า

36:12 ความบันเทิงบนหน้าจอและหน้ากระดาษ

38:48 หากย้อนเวลากลับไปได้ อยากเลือกกลับไปมีชีวิตอยู่ในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยา

41:51 เป็นคุณใหม่ยากไหม

คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน เป็นแขกผู้มีเกียรติที่พวกเราทีมงาน THE STANDARD และ THE STANDARD Podcast ปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ร่วมงานในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการดีๆ ที่เธอกำลังดูแลและผลักดัน นั่นคือโครงการวังหน้านั่นเอง โดยปัจจุบันเธอทำงานในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ทำงานช่วยราชการที่สำนักสถาปัตยกรรม

 

คุณใหม่ นั้นนับว่าเป็นแขกรับเชิญในฝันของรายการ We Need To Talk ก็ว่าได้ กล่าวคือเป็นผู้มีความชำนาญในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และยังเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่กระนั้นที่ผ่านมาเราก็ได้รับรู้เรื่องราวของเธอไม่มากนัก เนื่องจากคุณใหม่ไม่ค่อยออกสื่อ ครั้งนี้เราจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ คุณใหม่ กรุณาตอบรับคำเชื้อเชิญและมานั่งพูดคุยในรายการอย่างเป็นกันเอง

 

อีกเรื่องที่ทำให้เราตื่นเต้นยินดีคือการที่ได้รู้ว่า คุณใหม่ เป็นแฟนตัวยงของการฟังพอดแคสต์ด้วย

 


 

คุณใหม่ เจนเซน ในรายการ We Need To Talk ที่ The Standard Podcast

 

02:46

ชีวิตของเด็กหญิงผู้เติบโตใกล้ทะเลในซานดิเอโก

ที่จริงใหม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนิวยอร์กมากกว่าเป็นคนซานดิเอโก เพราะอยู่ที่นั่นมาตลอดช่วงวัย 20 ไม่แน่ใจว่าความจำสั้นหรือความจำไม่ค่อยดี (ยิ้มขำตัวเอง) แต่ภาพของชีวิตสมัยอยู่ซานดิเอโกไม่แจ่มชัดเท่าภาพของชีวิตในนิวยอร์ก สิ่งที่พอจะจำได้คือห้วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ เช่น ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้ทะเล ภาพหนึ่งที่จำได้คือตอนไปใช้เวลาที่ชายหาดแล้วนึกได้ว่าลืมของสักอย่างเลยวิ่งกลับไปเอาที่บ้าน คือมันใกล้นิดเดียว ไปกลับสัก 20 นาทีเท่านั้น

 

อีกภาพที่จำได้คือตอนเดินไปตามทางรถไฟบนหน้าผาที่มองออกไปเห็นทะเล แล้วก็ตอนใหม่กับเพื่อนสนิทวิ่งเล่นกันบนชายหาดแล้วกระโดดลงน้ำ นี่คือวันธรรมดาด้วยนะคะ ไม่ใช่วันหยุด อาจจะเป็นวันพฤหัสบดีตอนบ่าย 3 โมง อะไรอย่างนี้

 

ในวัยเยาว์ เราไม่รู้สึกหรอกว่าวันเวลาอันแสนธรรมดาเหล่านั้นมันพิเศษอะไร ตอนเด็กๆ เราอยากได้ความตื่นเต้น ความซับซ้อนของชีวิต เราอยากเดินทาง อยากพบปะผู้คนใหม่ๆ อยากประสบความสำเร็จ แต่มาถึงตอนนี้เมื่อมองย้อนกลับไป ใหม่รู้สึกว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีงามมากเลยนะ ความเรียบง่ายของการได้เอกเขนกอยู่บนหาดทราย และไม่ต้องกังวลว่าจะทำงานส่งทันเดดไลน์หรือเปล่า ไม่ต้องวิตกว่าการจราจรติดขัดจะทำให้ไปถึงที่หมายทันเวลาไหม ช่วงเวลาริมทะเลตอนนั้นมันช่างสบายใจ ผ่อนคลาย เรียบง่ายอย่างแท้จริง

 

04:57

ก้าวข้ามความกลัวจนสามารถสนุกกับสิ่งที่กลัว

คุณพ่อของใหม่เป็นสุดยอด surfer เป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่นตัวยง เป็นคุณพ่อห้าวๆ แกร่งๆ ที่เชื่อว่าหากอยากเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างแข็งแรงต้องกล้าที่จะโยนลูกลงน้ำ หนึ่งในความทรงจำที่แจ่มชัดของใหม่คือคำพูดว่า “You can’t be scared of everything your whole life.” พ่อบอกว่าจะมัวกลัวทุกอย่างไปทั้งชีวิตไม่ได้หรอกนะ แล้วพ่อก็จะจับใหม่เล่นเซิร์ฟบอร์ด แม้ว่าเราจะไม่อยากเล่นก็ตาม

 

จนมาถึงทุกวันนี้ ใหม่ทำมาหมดแล้ว สกายไดฟ์ แฮงไกลเดอร์ หรือวิ่งฮาล์ฟมาราธอน แต่ละอย่างก็กลัวจะแย่ แต่ก็ยังทำ และใหม่เชื่อว่ามันเป็นเพราะประสบการณ์สมัยยังเด็กที่โดนบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำนี่แหละ surfing มันน่ากลัวนะคะ หลายครั้งเราจะโดนคลื่นดูดให้จมลงไป แต่สิ่งที่เราควรทำคือมองขึ้นไปบนผิวน้ำ นิ่ง รอ และสงบสติอารมณ์เอาไว้ เพราะสิ่งที่เลวร้ายและอันตรายที่สุดคือการควบคุมสติไม่อยู่

 

ครั้งหนึ่งที่ฮาวาย ตอนนั้นไม่เด็กแล้วด้วยนะคะ อายุ 15 แล้ว ใหม่จำได้ว่าเห็นคลื่นยักษ์กำลังใกล้เข้ามาและเรากลัวมาก ตอนนั้นความคิดที่อยู่ในหัวคือ “This is not happening. I like my life! I don’t want my life to end now!” ไม่นะ เรารักชีวิต เรายังไม่อยากตาย (หัวเราะ) ใหม่ก็เลยพยายามจะว่ายหนี แต่ปรากฏว่าพ่อดึงเอาไว้แล้วบอกว่า “Don’t be a wimp!” อย่าขี้ขลาดไปหน่อยเลย ลุยสิลูก

นั่นคือตอนที่ใหม่เริ่มเรียนรู้ว่าความกลัวนี่แหละตัวร้าย หลายครั้งที่พัง หลายครั้งที่ชีวิตเราไม่ก้าวไปไหนก็เพราะความกลัวนี่เอง ไม่ใช่อะไรอย่างอื่นเลย

ใหม่ดีใจที่ได้เอาชนะความกลัวของตัวเองในวันนั้น อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าผ่านมันมาแล้ว (ยิ้ม) ชอบนะ สนุกดี สนุกทั้งที่กลัวนี่แหละ

 

คุณใหม่ เจนเซน ในรายการ We Need To Talk ที่ The Standard Podcast

 

07:41

เรื่องที่จะทำให้โดนดุ

ใหม่ซนนะ ไม่ใช่เด็กเรียบร้อย เดี๋ยวนี้ก็ยังแอบร้าย (หัวเราะ) ไม่หรอกค่ะ เราเป็นเด็กดีนั่นแหละ แต่จะเสียตรงที่ว่าพูดอะไรตรงเกินไป ไม่ทันได้กลั่นกรองก็หลุดออกมาจากปากเสียแล้ว เช่น วันก่อนมีคนเข้ามาทักว่า จำได้ไหมคะ เราเพิ่งเจอกันไม่นานนี้ แทนที่จะบอกเขาว่า อ๋อ ค่ะ จำได้ค่ะ ใหม่บอก จำไม่ได้ค่ะ ขอโทษนะคะ (หัวเราะ) ใหม่เป็นคนคิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ไม่เสแสร้ง ตั้งแต่เด็กแล้ว จำได้ว่าที่บ้านจะพูดกันว่าเราน่าจะจดทุกอย่างที่ใหม่เคยพูดเอาไว้รวมเล่มนะ (หัวเราะ) แล้วใหม่ก็จะชอบพูดเล่นกับใครไปเรื่อย แซวเขาไปเรื่อยน่ะค่ะ จนมาถึงวันนี้โตขึ้นแล้ว รู้จักสำรวม รู้ว่าอะไรควรไม่ควรมากขึ้น ใหม่ก็ยังมีปัญหาเพราะนิสัยแบบนี้อยู่ในบางที (หัวเราะ)

 

เพราะฉะนั้นเรื่องที่โดนคุณพ่อคุณแม่อบรมมาตลอดคือต้องรู้จักระวังคำพูดของตัวเอง บางอย่างที่เราพูดออกไปสนุกๆ แล้วลืมไปภายใน 5 นาที คนอื่นอาจเก็บไปคิดหรือกังวลได้เป็นวันๆ และนั่นอาจมีผลไปถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อตนเองได้ ทุกวันนี้ใหม่ดีขึ้นมากแล้วค่ะ (ยิ้ม) แต่ยังชอบแซวคนอยู่นะ อันนี้ไม่หายเสียที

 

จะว่าไปนิสัยส่วนใหญ่ของใหม่แทบไม่เปลี่ยนเลยนะ เด็กๆ เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่บางอย่างก็เปลี่ยน คนเราต้องมีวิวัฒนาการกันบ้าง (หัวเราะ) ถ้าวันนี้ไปเจอเพื่อนใหม่สมัยเรียน เขาคงเล่าว่าสมัยก่อนใหม่เป็นคนขี้เล่น ไม่ค่อยจะมานั่งเครียดกับอะไร จะเรื่องไหนก็มองด้วยอารมณ์ขันได้หมด ทุกวันนี้เราก็ยังเป็นอย่างนั้น ซึ่งหลายครั้งน่าจะทำคนสับสน เพราะเขาจะชอบคิดว่าเราจริงจัง ทั้งที่เรากำลังตลกหน้าตาย (ยิ้ม) ใหม่เป็นคนตลก ตอนเรียนการละครจะได้รับบทตลกตลอดเลย แต่เพื่อนใหม่จะรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้เฉพาะกับคนที่เราสนิทด้วยเท่านั้น กับคนที่ไม่คุ้นเคยเราจะขี้อายมากกว่า แม้ว่าทุกวันนี้จะเขินน้อยลงมากแล้ว เพราะต้องอยู่ต่อหน้าผู้คนบ่อยๆ แต่โดยส่วนใหญ่ใหม่ก็จะเป็นคนเงียบๆ หรือค่อนข้างสงวนท่าทีอยู่ดี

 

11:11

เพื่อนที่หัวเราะในเรื่องเดียวกันได้

เพื่อนสนิทที่เรียนมหาวิทยาลัยที่ปารีสและนิวยอร์กมาด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ยังสนิทกันอยู่ค่ะ เราสองคนสามารถพูดคุยกันได้ตรงๆ อย่างเปิดอกในทุกเรื่อง ใหม่ว่ามิตรภาพที่แท้จริงควรเป็นอย่างนี้ ที่สนิทกันแต่แรกน่าจะเป็นเพราะเรานิสัยคล้ายกันคือตลก บ๊องๆ และไม่เหมือนชาวบ้าน เราเคยเรียกตัวเองว่า The Goof Troupe เวลาถูกใจเพื่อนคนไหนเราจะบอกเขาว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ Goof Troupe นะ” แล้วเคยมีคนบอกว่า “ไม่ดีกว่า” อันนี้ใหม่จะเคืองนะคะ (ยิ้ม) แก๊งเราไม่ดีตรงไหน ทำไมไม่อยากเข้าร่วม

 

อารมณ์ขันที่สอดคล้องกันนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับความเป็นเพื่อนนะ เราสองคนชอบ Daddy Jokes เหมือนกัน พวกมุกเล่นคำ มุกที่เหมือนจะไม่ขำ-แต่ขำ หรือมุกที่ขำตรงที่มันไม่ขำนี่แหละ (ยิ้มภูมิใจ) ใหม่มีเก็บไว้เป็นคอลเล็กชันเลย เวลาไปออกงานที่ไหนก็เอาไว้ปล่อยมุกสร้างความประทับใจ ตัวอย่างเช่น “What do you call a wave that a tiny surfer rides?” เฉลย “A microwave” อันนี้ชอบมาก ใช้ไปสัก 5 ครั้งแล้ว (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่ทุกคนจะตลกกับมุกแบบนี้ นึกออกไหมคะ ในขณะที่เพื่อนเราขำแทบตาย บางคนจะมองหน้าเหมือนเราเป็นตัวประหลาด ทั้งที่เราก็คิดว่าเราปกตินะ

 

เพื่อนสนิทที่รู้ใจกันจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่หาง่ายเลย ใหม่ว่าไม่ต่างจากหาแฟน เผลอๆ ยากกว่าด้วยซ้ำ

 

คุณใหม่ เจนเซน ในรายการ We Need To Talk ที่ The Standard Podcast

 

14:46

เสน่ห์ของอดีตคือการเป็นกุญแจสู่อนาคต

มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ และทำให้โลกในปัจจุบันเป็นอย่างทุกวันนี้ ใหม่จึงสนใจประวัติศาสตร์และชอบศึกษาอะไรก็ตามที่เป็นรากเหง้าของทุกสิ่ง ความเป็นมาของทุกอย่างมันเริ่มต้นตรงไหน เปลี่ยนแปลงพัฒนามาอย่างไร และส่งอิทธิพลไปถึงอะไรบ้าง อย่างเรื่องของศิลปะและวรรณกรรม มันก็เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคนคนหนึ่งนั่นเอง ใหม่ชอบติดตามดูว่าศิลปะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองหรือโลกทั้งใบเปลี่ยน

 

ยกตัวอย่างสมัยอยุธยา พอชาวโปรตุเกสเริ่มเข้ามา อาหารและขนมของเราก็เปลี่ยน ทองหยิบทองหยอดนี่เราได้มาจากโปรตุเกสเลย ที่จริงใหม่เรียนรู้เรื่องนี้จากนิตยสารบางกอกแอร์เวย์สนะ เอ๊ะ นี่ไปโฆษณาให้เขาหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ใหม่เชื่อจริงๆ ค่ะว่าถ้าเราอยากมองไปข้างหน้าและอยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น เราควรต้องมองย้อนกลับไปถึงที่มาของตัวเองอย่างเข้าใจด้วย เพราะกุญแจสำคัญของหลายอย่างก็อยู่ในอดีตและประวัติศาสตร์ของเรานี่เอง

 

16:43

ประสบการณ์ที่ได้จากโลกของแฟชั่น

แฟชั่นคือศิลปะและความสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกัน ที่จริงตอนไปฝึกงานที่ Yohji Yamamoto กับ Hermès ใหม่กำลังสนใจงานภัณฑารักษ์ (Costume Curator) ที่ The Met (The Metropolitan Museum of Art of New York) และนั่นคือจุดที่ทำให้ใหม่มาลงเอยที่งานอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรม (Heritage Preservation) อย่างทุกวันนี้ เพราะหัวหน้าของใหม่ตอนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารและประชาสัมพันธ์ (Press Officer) ของสถาบันเครื่องแต่งกาย หรือ The Costume Institute ท่านมีประสบการณ์และความรู้เยอะมาก และท่านมักส่งใหม่มาดูงานที่ The Met เสมอ เราเลยสนใจและเริ่มคิดว่าอยากทำเป็นอาชีพ เพราะสิ่งที่เราเรียนมา พูดตรงๆ คือยังมองไม่เห็นว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้ในเวลานั้น เลยคิดว่างั้นลองดู อายุเรายังน้อย ที่จริงการลองทำงานเพื่อเก็บประสบการณ์ให้หลากหลายเป็นสิ่งที่ควรทำด้วยซ้ำเพื่อให้รู้ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ ก่อนที่จะลงหลักปักฐานกับงานที่เราเลือกจริงๆ แล้วอยู่กับมันยาวๆ ตอนนั้นเลยคิดแค่ว่าอยากเข้าไปอยู่ในวงการของงานสร้างสรรค์ ได้พบปะร่วมงานกับคนสายครีเอทีฟมากๆ หน่อย เพราะยังไม่ค่อยอยากเจอกฎเกณฑ์หรือข้อจำกัด เลยเลือกไปฝึกงานในวงการแฟชั่นเพื่อลองทำอะไรใหม่ๆ ลองทำอะไรแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นเคยดูก่อน ถ้าชอบก็ดี ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เรายังกลับมาทำงานในสาขาที่เรียนมาได้

 

งานแฟชั่นอาจดูเหมือนอยู่คนละโลกกับสิ่งที่ใหม่ทำในวันนี้ก็จริง แต่มันก็มีอะไรบางอย่างคล้ายกันอยู่ อย่างงานที่สถาบันเครื่องแต่งกายของ The Met ก็คืองานแฟชั่นดีๆ นี่เอง แต่เพิ่มเรื่องราวความเป็นมาเข้าไปว่าแต่ละยุคสมัยเครื่องแต่งกายพัฒนามาอย่างไร มันสะท้อนอะไรไปถึงความคิดของผู้คนสมัยนั้น และมันเล่าเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมขณะนั้นบ้าง เพราะแฟชั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั่นเอง

 

คุณใหม่ เจนเซน ในรายการ We Need To Talk ที่ The Standard Podcast

 

19:21

ชีวิตข้าราชการประจำกรมศิลปากร

งานที่ใหม่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ค่อนข้างต่างจากความรับผิดชอบมาตรฐานตามตำแหน่งตัวงานจริงๆ มากทีเดียว โดยปกติแล้วเราจะเน้นการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญมาก โดยเฉพาะบ้านเราที่มีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ ความชื้น หรือความเป็นเมืองที่ขยับขยายเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดล้วนมีผลต่อสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เราอยากอนุรักษ์เอาไว้ให้ดำรงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่นอกจากนั้น ใหม่ยังสนใจเป็นพิเศษในเรื่องที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ นั่นคือจะทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่อยู่ในสิ่งเหล่านี้ ใหม่จึงเน้นเป็นพิเศษในเรื่องประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ตัวอาคารเหล่านี้ไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้าง แต่มันมีความเชื่อและประเพณีที่อยู่เบื้องหลัง และทั้งหมดนี้ก็เป็นที่มาของโครงการ ‘วังหน้า’ ที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้

 

21:43

ความสนใจใคร่รู้นำไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ

คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าวังหน้าคืออะไร ใหม่เองเมื่อก่อนก็ไม่รู้ (หัวเราะ) เรารู้ว่าวังหน้าคืออะไร แต่ไม่เคยรู้ถึงรายละเอียดและความสำคัญของมันอย่างแท้จริง แล้วตอนนี้ก็เหมือนใหม่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไปแล้ว แต่นั่นเป็นเพราะเราสนใจและศึกษาค้นคว้า

 

คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าตรงที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบันนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้ามาก่อน ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ วังหน้ามีที่มาจากแนวคิดเรื่องอุปราชาของอินเดีย และคำว่า ‘วังหน้า’ ก็บอกถึงตำแหน่งหน้าที่และลักษณะที่ตั้งในตัวอยู่แล้ว นั่นคือเป็นวังที่อยู่ด้านหน้าของวังหลวง ดังนั้นวังหน้าก็เป็นเหมือนผู้พิทักษ์พระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง เพราะเวลาเกิดศึกสงคราม วังหน้าจะออกรบก่อน เพราะฉะนั้นวังหน้าก็จะประกอบด้วยกำลังทหารที่นำทัพโดยพระญาติ โดยมากเป็นพระอนุชา พระเชษฐา พระปิตุลา หรือพระมาตุลา กล่าวคือผู้อยู่ในฐานะที่สามารถสืบพระราชบัลลังก์

 

แรกเริ่มสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร พระราชอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังหน้าขึ้น และวังหน้าก็ได้กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทมากในยุครัตนโกสินทร์

 

ใหม่อยากทำให้ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ เราไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ดำรงอยู่แค่ในตำราหรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ทุกวันนี้ผู้คนใช้เครื่องมือใหม่ๆ มากมายในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ และเด็กสมัยนี้ก็ไม่ได้อ่านหนังสือกันตลอดเวลา ประวัติศาสตร์จึงไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ จุดที่ใหม่ครุ่นคิดกับมันมากที่สุดคือเรื่องของการเข้าถึง ความรู้สึกเชื่อมโยง ไปจนเรื่องของการสืบสาน

 

กรมศิลปากรมีข้อมูล ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญมากมาย เราจะทำอย่างไรจึงจะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกไปสู่ผู้คนได้ในแบบที่ทุกคนจะเข้าใจ โดยอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือมากมายที่มีให้ใช้ในสมัยนี้ ก็มาคิดว่าอยากใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ช่องทางใหม่ๆ อย่างพอดแคสต์นี่ก็ใช่ ใหม่เองทุกวันนี้ก็ฟังพอดแคสต์มากกว่าดูทีวี แพลตฟอร์มใหม่ๆ มีบทบาทและอิทธิพลกับผู้คนมาก เช่น มีคนเยอะมากที่เรียนทำอาหารบนยูทูบ

 

ความยากของโจทย์นี้คือทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขามองไม่เห็นแล้ว

 

เป้าหมายของใหม่คืออยากทำโครงการนี้ให้สำเร็จในแบบที่เราจะรู้สึกภูมิใจกับมัน ใหม่อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในแบบที่ใหม่ได้เห็นและสัมผัส นั่นคือมันเป็นเรื่องสนุก ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกมากเลยนะ ใหม่อยากให้คนเริ่มเห็นความน่าสนใจของประวัติศาสตร์และเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น

 

ใหม่ตั้งหน้าตั้งตารอผลตอบรับจากโปรเจกต์นี้นะคะ เพราะเสียงสะท้อนของประชาชนจะช่วยให้รู้ว่าเราต้องพาโครงการนี้ไปทางไหน และใหม่ควรจะทำอะไรต่อไปดี

 

คุณใหม่ เจนเซน ในรายการ We Need To Talk ที่ The Standard Podcast

 

29:43

สิ่งที่ไม่เคยหยุดทำ แม้จะไม่อยากทำเพียงใดก็ตาม

ใหม่น่าจะแอ็กทีฟกับเรื่องกีฬามาตั้งแต่เด็กกว่านี้ ไหนๆ ก็เป็นชาวซานดิเอโกทั้งที แต่ไม่เลย กว่าจะมาเล่นกีฬาจริงจังก็ช่วงอายุ 20 แล้ว ที่เริ่มไม่ใช่เพราะอยากลดน้ำหนักหรืออะไรอย่างนั้น แต่เพราะรู้สึกว่าสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จึงอยากออกกำลังกายเพื่อให้รู้สึกดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง คิดได้ดังนั้นใหม่ก็ไปลงสมัครไตรกีฬาเลยค่ะ (หัวเราะ) นี่แหละปัญหาของใหม่ ไม่คิดอะไรเยอะ ถ้าอยากทำก็ทำทันที ที่จริงตอนนั้นลงสมัครไปสองอย่าง อีกอย่างหนึ่งคือวิ่ง 15K ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยวิ่งมากที่สุดคือน้อยกว่า 5 กิโลเมตรด้วยซ้ำ แต่ด้วยความเป็นคนทะเยอทะยาน ใหม่คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้นถ้าเรามุ่งมั่นมากพอ แล้วในที่สุดก็ผ่านมันมาได้ และใหม่ชอบความรู้สึกหลังจากนั้นมากๆ ไม่ใช่เพราะผลลัพธ์ของมัน แต่ความพยายามระหว่างทางต่างหาก

ในการจะไปให้ถึงเป้าหมาย เราต้องฝ่าฟันหลายด่านเพื่อเอาชนะตัวเอง กีฬาสอนเราว่าไม่มีเป้าหมายไหนไปถึงง่ายๆ และถ้าวันนี้เราเลิกล้ม ในวันข้างหน้าเราก็จะกลายเป็นคนที่เลิกล้มเรื่อยไป

ใหม่ว่าความคิดแบบนี้เองที่ทำให้ใหม่แข่งไตรกีฬาจนจบได้ เพราะใหม่ไม่ยอมเลิกล้ม และพอเราผ่านมันมาได้ก็จะเริ่มติดใจ ตอนนี้วิ่งฮาล์ฟมาราธอนมาประมาณ 5 ครั้งแล้วมังคะ ใหม่ไม่ใช่นักวิ่งด้วยนะ เราว่ายน้ำมากกว่าวิ่งเยอะเลย และเคยวิ่งช้ามาก แต่ตอนนี้เร็วขึ้นแล้ว นี่ไง กีฬามันดีตรงที่ทำให้เราได้พยายาม และพอพยายามแล้วสำเร็จ เราจะรู้สึกดีกับตัวเอง นอกจากนั้นยังทำให้เราได้เจอเพื่อนนักกีฬาดีๆ มากมายอีกด้วย

 

อีกอย่างคือตั้งแต่มาเล่นกีฬาแล้วนิสัยเปลี่ยน จากที่เคยออกไปเที่ยวดึกดื่นเหมือนสมัยยังอายุ 20 กว่า มาตอนนี้เข้านอน 4 หรือ 5 ทุ่ม ตื่นตี 5 ทุกเช้าแล้วว่ายน้ำ ไม่ก็วิ่ง ช่วงวันธรรมดาจะวิ่งราว 5 กิโลเมตรสัก 2-3 ครั้ง แต่สุดสัปดาห์จะวิ่งให้ได้อย่างน้อย 10 ไปจนถึง 21 กิโลเมตร ทำอย่างนี้ประจำ ไม่เคยหยุด ต่อให้ไม่อยากทำแค่ไหนก็ไม่หยุด ใหม่ชอบกีฬาตรงที่มันทำให้เรามีไลฟ์สไตล์ที่ดี ได้เจอเพื่อนดีๆ และได้มุมมองที่ดีเกี่ยวกับชีวิต

 

33:01

ความบันเทิงบนท้องถนนในย่านเมืองเก่า

ใหม่ชอบเดินทาง เมื่อไรมีเวลาต้องออกเดินทาง โดยเฉพาะในบ้านเรา ตอนอยู่เมืองนอกได้กลับมาทุกปี ปีละ 1-2 เดือนก็จริง แต่ใหม่ยังอยากรู้จักเมืองไทยมากกว่านี้ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถ้ามีโอกาสใหม่จะชวนเพื่อนไปเดินชมกรุงเก่า หรือ Historical Walk เดี๋ยวนี้เขามีทัวร์ชุมชนตลาดน้อยใช่ไหม ใหม่นี่เดินมาก่อนเขาฮิตกันนะคะ (หัวเราะ) ครั้งหนึ่งไปเดินแถวสวนสมเด็จย่า พบบ้านจีนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สวยงามมากจนต้องไปเคาะประตูเพื่อขอเข้าไปชม แล้วเราก็นั่งคุยกัน นี่คือวิธีเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนอย่างแท้จริง และนอกจากนั้นโดยส่วนตัวยังได้เรียนรู้ว่าสมาชิกคนหนึ่งของบ้าน ซึ่งตอนนี้เสียไปแล้ว เคยเป็นพี่เลี้ยงใหม่ตอนเด็กๆ เหมือนโชคชะตาพาให้ไปเคาะประตูบ้านเขา เราจึงได้พบกันอีกครั้งในเวลาหลายปีต่อมา

 

วัดก็ชอบไปดูนะคะ ทางฝั่งธนฯ มีวัดสมัยกรุงศรีอยุธยาที่น่าสนใจเยอะมาก ประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาอยู่บนจิตรกรรมฝาผนังวัดนี่แหละ นอกจากนั้นความเป็นข้าราชการกรมศิลปากรยังเปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึงสถานที่หรือสิ่งต่างๆ ที่โดยปกติแล้วจะเข้าถึงยาก นี่นับเป็นความโชคดี ใหม่ได้ข้อความที่ประทับใจบนอินสตาแกรมบอกว่า เป็นเพราะเรา เขาถึงได้ชมอะไรที่ปกติคงไม่มีทางได้เห็นกันง่ายๆ พวกนี้แหละค่ะคือความบันเทิงของใหม่ กรุงเทพฯ สนุกกว่าที่คิดนะคะ ไม่ต้องไปไหนไกลเลย มีอะไรให้เราค้นหาอีกมากมายที่นี่

 

36:12

ความบันเทิงบนหน้าจอและหน้ากระดาษ

เราไม่ค่อยได้ติดตามเทรนด์อะไรเป็นพิเศษ ยกเว้นเทรนด์เรื่องอาหาร (ยิ้ม) พอกลับมาอยู่เมืองไทยก็ไม่ค่อยได้ดูทีวี จึงคิดว่าเราน่าจะรู้เรื่องราวในกระแสน้อยมาก แต่ก็ดูบ้าง เช่น ซีรีส์ Game of Thrones นี่ใหม่ชอบมาก ติดตามเหนียวแน่น ตามไปดูกระทั่งวิดีโอบนยูทูบที่เขาวิเคราะห์ตอนล่าสุด หรือทำนายว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในซีซันต่อไป ฉบับหนังสือก็ได้อ่านบ้าง ที่ติดตามขนาดนี้น่าจะเป็นมาตั้งแต่สมัยได้เรียนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเมือง (Political Strategy)

 

ส่วนเรื่องหนังสือ ส่วนใหญ่เวลาที่ได้อ่านจะเป็นก่อนนอน ซึ่งก็เหนื่อยและง่วง จึงอ่านพวกเรื่องสั้นเสียมาก เพราะไม่ต้องทุ่มเทเวลาให้ยาวเกินไป แป๊บเดียวก็จบ ใหม่ชอบ The Shell Collector ของแอนโทนี โดเออร์ นักเขียนเจ้าของนิยายรางวัลพูลิตเซอร์ชื่อ All The Light We Cannot See เป็นนักเขียนที่ตัวหนังสือสวยงามมากจริงๆ

 

อีกเล่มที่เพิ่งได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้เองคือ East of Eden ของจอห์น สไตน์เบค ที่พูดถึงความดีและความเลวในตัวมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันและขัดแย้งกันอยู่ภายใน และเราไม่ผิดอะไรที่มีความเลวร้ายแบบนั้นอยู่ในตัว มันเป็นธรรมชาติ

 

38:48

หากย้อนเวลากลับไปได้ อยากเลือกกลับไปมีชีวิตอยู่ในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยา

เรามีข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตในสมัยสุโขทัยน้อยมาก ถ้าให้เลือก ใหม่คงเลือกเหมือนหลายคน นั่นคือสมัยอยุธยา โดยเฉพาะราชวงศ์ปราสาททอง เพราะนั่นคือยุคที่เปิดการค้าขายกับต่างประเทศมากมาย เป็นสมัยที่รุ่งเรืองมาก บันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อยุธยาสมัยนั้นบอกว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ทอง เลยอยากลองไปเห็นกับตาตัวเองสักที

 

41:51

เป็นคุณใหม่ยากไหม

ไม่นะคะ ใหม่ว่าชีวิตของเราจะยากหรือไม่มันก็อยู่ที่วิธีการมองโลกของเรานั่นแหละ ยกตัวอย่างใหม่เองที่ใช้ชีวิตในอเมริกามา 30 ปี พอกลับมาเมืองไทย แน่นอนว่าเราต้องปรับตัว เพราะทุกอย่างต่างไปจากที่เราคุ้นเคยมาก โดยเฉพาะเมื่อความสนใจของทุกคนพุ่งตรงมาที่คนขี้อายอย่างเรา ทุกวันนี้บางทีก็รู้สึกฝืนเวลาต้องออกไปพบปะผู้คนมากมาย ทั้งที่ข้างในอาจรู้สึกตึงเครียด แต่เรายังต้องยิ้มอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามันจะยากก็ยากตรงที่ต้องปรับตัว เราต้องคอยบอกตัวเองว่าไม่แปลกหรอกที่จะประหม่าหรือเคอะเขินบ้าง แต่ลองพยายามดูแล้วกัน ลองผลักตัวเองออกจากความเคยชินโดยการพูดคุยกับผู้คนมากขึ้น หรือทำในสิ่งที่ไม่ถนัด

 

มันเป็นความยากที่ไม่แย่จนเกินไปนัก ความเปลี่ยนแปลงก็น่าตื่นเต้นดี ความท้าทายก็น่าสนุกดี เพราะฉะนั้นคำตอบต่อคำถาม “เป็นใหม่ยากไหม” ก็คือ ยากเหมือนกัน แต่มันก็ดี

 

แต่ที่สุดแล้วใหม่ก็ยังเป็นตัวของตัวเอง และการเป็นตัวของตัวเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากสำหรับเราเลย

 

คุณใหม่ เจนเซน ในรายการ We Need To Talk ที่ The Standard Podcast

 

ติดตาม We Need To Talk Podcast ได้ทางหน้าเว็บไซต์ที่ TheStandard.Co/Podcast หรือถ้าคุณฟังพอดแคสต์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วย iOS หรือ Android ไม่ว่าจะใช้แอปฯ อะไรฟังอยู่ ใช้แอปฯ นั้นๆ เสิร์ชได้เลยว่า we need to talk หรือเสิร์ช THE STANDARD ก่อน แล้วดูลิสต์รายการพอดแคสต์ทั้งหมดในเครือ เมื่อเจอแล้วก็ Follow หรือ Subscribe เอาไว้ได้เลย

 



Credits

 

The Host สาวิตรี สุทธิชานนท์

The Guest คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข, อธิษฐาน กาญจนะพงศ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ภูมิชาย บุญสินสุข

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising