ประชุมเยอะ อ่านหนังสือหนัก จนรู้สึกว่า ‘สมองล้า’ ภาวะนี้ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกที่คิดไปเอง แต่สมองของเรามันมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงได้จริงๆ นะ
ภาวะสมองล้า เกิดขึ้นจากอะไร แค่ไหนที่เรียกว่าสมองทำงานหนัก แล้วถ้ายังฝืนใช้งานยิงยาวแบบต่อเนื่องจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง Top to Toe เอพิโสดนี้ ดร.ข้าว จะพาทุกคนไปทำความรู้จักที่มาที่ไปของภาวะสมองล้าให้มากขึ้น พร้อมกับทริกในการดูแลกลไกการทำงานของสมองที่ทำตามได้จริง
สมองล้า คืออะไร
ภาวะสมองล้า (Cognitive Fatigue) คือการที่เราใช้สมองหนักเกินไปจนทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีบางอย่างและขัดขวางการทำงานของสมอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการจดจำ คล้ายๆ กับสมองไม่พร้อมใช้งาน ซึ่งภาวะสมองล้านี้นับว่าอันตรายมาก เพราะถ้าเราใช้สมองหนักมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพสมองด้วย
มีหน่วยงานวิจัยของฝรั่งเศสที่ทำการศึกษาภาวะสมองล้าว่ามีผลต่อกลไกการทำงานของสมองอย่างไรบ้าง วิธีการคือเขานำคน 40 คนมาแบ่งกลุ่มเพื่อทำงานตามโจทย์ที่ยากง่ายในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป พร้อมกับมีอุปกรณ์ที่คอยมอนิเตอร์การทำงานของสมองไปพร้อมกันด้วย เพื่อดูว่ามีสารเคมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของคนเหล่านี้บ้าง
กลุ่มที่ 1 ให้ทำงานที่ค่อนข้างยากอยู่หน้าจอต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยมีเวลาพักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 ให้ทำงานหน้าจอ 6 ชั่วโมงต่อเนื่องเหมือนกัน แต่เป็นงานง่ายๆ เบาสมอง ไม่ต้องคิดอะไรมาก
กลุ่มที่ 3 ให้ทำงานที่ค่อนข้างยากอยู่หน้าจอ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
กลุ่มที่ 4 ให้ทำงานง่ายๆ อยู่หน้าจอ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
หลังจากการทดลองเสร็จสิ้น นักวิจัยพบว่ามีเพียงกลุ่มที่ 1 เท่านั้นที่รู้สึกเหนื่อยมากจนหมดแรงทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อ ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือรู้สึกว่าร่างกายยังพอมีแรงจะไปทำกิจกรรมอื่นๆ ไหว นอกจากนี้ยังมีการยื่นข้อเสนอทางการเงินเพื่อให้แต่ละกลุ่มตัดสินใจ โดยมีสองทางเลือกคือ รับเงินจำนวนหนึ่งทันทีหลังจบการทดลอง หรือรับเงินมากกว่าข้อเสนอแรก 10 เท่า แต่ต้องรอรับในวันถัดไปแทน
ซึ่งผลทดสอบด้านการตัดสินใจพบว่ากลุ่ม 2, 3 และ 4 เลือกรับเงินที่มากกว่า แม้จะต้องรอจนถึงวันถัดไป แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือมีเพียงกลุ่มที่ 1 เท่านั้นที่เลือกจะรับเงินวันนั้นเลย แม้จำนวนเงินจะน้อยกว่ามาก จากการทดลองนี้นักวิจัยจึงให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสมองของคนกลุ่มที่ 1 ทำงานหนักมากเกินไปจนกระทบกับการตัดสินใจบางอย่างที่ต้องใช้กลยุทธ์
และจากการใช้อุปกรณ์มอนิเตอร์สารเคมีในสมองก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือเจอว่าคนกลุ่มที่ 1 มีสารเคมีที่ชื่อว่า ‘กลูตาเมต’ ไปสะสมอยู่บริเวณสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ควบคุมการเรียนรู้ และควบคุมความทรงจำเยอะมากๆ ซึ่งเชื่อว่ากลูตาเมตนั้นส่งผลทำให้สมองล้าจนกระทบกระเทือนฟังก์ชันด้านการตัดสินใจ
รู้จัก ‘กลูตาเมต’ สารเคมีที่ส่งผลต่อภาวะสมองล้า
กลูตาเมต คือกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่พบมากที่สุดในร่างกาย เป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เหมือนไฟเขียว เมื่อสมองจะสั่งการอะไรก็ตาม กลูตาเมตจะเปิดทางให้สัญญาณประสาทวิ่งผ่านจากจุด A ไปยังจุด B ได้ แต่ถ้าหากในสมองของเรามีกลูตาเมตมากเกินความจำเป็น ส่วนเกินเหล่านั้นจะกลายเป็นสารพิษทันที เพราะถ้าสมองถูกกระตุ้นให้ทำงานตลอดเวลาโดยไม่หยุดพักก็จะนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าแน่นอน
แต่รู้หรือไม่ว่าสมองอันชาญฉลาดของเรามีความสามารถในการควบคุมกลูตาเมตให้อยู่ในปริมาณที่พอดีได้ด้วย ซึ่งกลไกของมันก็คือเซลล์สมองจะคอยสังเกตการณ์ตัวเอง หากมีกลูตาเมตเยอะเกินไปมันจะพยายามขับออกผ่านทางเส้นเลือด อีกทั้งเส้นเลือดที่วิ่งเข้าสู่สมองจะมีกลไกเหมือนกำแพงเมือง คือมันจะคัดกรองไม่ให้สารที่ไม่จำเป็นเล็ดลอดเข้ามาได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลูตาเมต
ถ้าหากกลไกดังกล่าวนี้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ สมองจะเปลี่ยนกลูตาเมตส่วนเกินให้เป็นสารสื่อประสาทอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ‘กาบา’ ซึ่งทำงานตรงข้ามกับกลูตาเมตโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นเหมือนกับไฟแดงที่คอยกั้นไม่ให้สัญญาณประสาทวิ่งผ่าน ถ้าหากมีกาบาเยอะ เราจะรู้สึกรีแล็กซ์ ผ่อนคลาย เพราะสมองจะทำงานน้อยลงนั่นเอง
โดยปกติแล้ว สมองของเราจะมีการปรับสมดุลระหว่างปริมาณของกลูตาเมตและกาบาให้พอดีๆ แต่ถ้าหากเราใช้สมองหนักเกินไปก็จะทำให้สมดุลทำงานได้ไม่ดี กลูตาเมตจะสะสมหนักมากจนทำให้ไม่สามารถจัดการกลูตาเมตส่วนเกินให้กลายเป็นกาบาได้ และเมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เรากลายเป็นโรคเกี่ยวกับสมองได้ในที่สุด
เทคนิคแฮ็กสารเคมีในสมอง ลดกลูตาเมต เพิ่มกาบา
เมื่อเข้าใจหลักการทำงานของสารเคมีในสมองแล้วว่าการมีกลูตาเมตเยอะเกินไปไม่ส่งผลดี เรามีวิธีการที่ดีและง่ายมาฝาก ดังนี้
- เมื่อรู้สึกเหนื่อยเกินไปจากการใช้สมองมายาวนาน ให้หยุดตัวเองทันที แล้วเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจ
- การนอนหลับ เพราะระหว่างที่เรานอน ร่างกายจะมีกลไกที่ทำให้สมองจัดการกับสารเคมี และกำจัดกลูตาเมตออกไปได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต: MSG) เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับกลูตาเมตมากเกินความจำเป็น
- เพิ่มกาบาด้วยการกินอาหาร เช่น ซีฟู้ด ขิง วิตามินซี วิตามินบี 6 ซึ่งมักจะเจอในเนื้อสัตว์ ถั่วลิสง ข้าวโอ๊ต กล้วย
- เลือกประเภทการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มกาบาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โยคะ
Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label
Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์
Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง
Proofreader ชนเนตร ลอยครุฑ
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์