×

Earworm ทำไมถึงเอาเพลงบางเพลงออกจากหัวไม่ได้

27.01.2023
  • LOADING...

“ช่วยเอาเพลงนี้ออกไปจากหัวฉันที!”



ทรงอย่างแบด, เลือดกรุ๊ปบี, คิดซิ คิดซิ คาปูชิโน ฯลฯ และยิ่งเฉพาะคนยุคนี้ที่ชอบเล่น TikTok กันสุดๆ เชื่อว่าอาการเพลงติดหูเพราะฟังซ้ำไปซ้ำมาบ่อยเกินไปจะต้องเกิดขึ้นกับคุณบ่อยแน่ๆ

 

อาการหลอนหูที่ทำให้เราเผลอฮัมเพลงตามไปทั้งวัน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร คนแต่งเพลงเขาจงใจหรือเปล่า แล้วมีวิธีไหนที่จะกำจัดสิ่งนี้ออกไปจากหัวได้บ้าง ดร.ข้าว จะมาเล่าให้ฟัง

 

Earworm ทำไมถึงเอาเพลงบางเพลงออกจากหัวไม่ได้

Earworm คือชื่อเรียกภาษาอังกฤษโดยทั่วไปของอาการที่เพลงติดอยู่ในหูแบบเอาออกไปไม่ได้สักที ถ้าถอดความหมายแบบตรงตัวเป็นภาษาไทยก็คือหนอนที่ไชอยู่ในรูหู ฟังดูแล้วอาจจะน่าขนลุก แต่ก็เปรียบเทียบได้คล้ายๆ กับอาการที่เกิดขึ้นเช่นกัน

 

นอกจากนี้ Earworm ยังมีชื่อทางการแพทย์ด้วย เรียกว่า Musical Imaginary Repetition หรือ Involuntary Musical Imagery เป็นลักษณะของการที่เราไม่สามารถดึงเพลงนี้ออกจากความคิดในสมองได้ ถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจจะนึกถึง แต่เราก็เผลอฮัมเพลงโดยไม่รู้ตัว จนบางทีก็รำคาญตัวเองจนพานให้หงุดหงิดเอาได้ง่ายๆ ก็มี เพราะมันอาจรบกวนสมาธิการโฟกัสเวลาทำอะไรสักอย่าง  

 

ซึ่งแม้อาการนี้จะสร้างความรำคาญให้เจ้าตัวแค่ไหน แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็อาจเป็นสิ่งที่เจ้าของเพลงจงใจก็ได้ เพราะคนที่แต่งเพลงเหล่านี้ขึ้นมา หรือนักการตลาดที่จงใจบรีฟและเลือกเพลงนั้นๆ มาใช้เพื่อสร้างการจดจำ เขาก็จะรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ ถ้าสามารถทำให้เพลงเหล่านี้ติดเข้าไปในหัวของผู้บริโภคได้ เพราะมันก็จะทำให้คนนึกถึงแบรนด์เหล่านั้นได้เช่นกัน

 

งานวิจัยเกี่ยวกับ Earworm 

มีหลายงานวิจัยมากๆ ที่พยายามทดสอบเจ้าอาการ Earworm นี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทดสอบโดยการเปิดเพลงให้ผู้ทดลองฟังไปเรื่อยๆ ผ่านเวลาไปสักพักก็จะปิดเพลงแล้วบอกให้ผู้ทดลองจินตนาการถึงเนื้อเพลงนั้นต่อด้วยตัวเอง โดยระหว่างนั้นจะมีการสวมอุปกรณ์เพื่อดูว่าส่วนไหนของคลื่นสมองที่กำลังทำงานอยู่ ซึ่งผลการวิจัยก็พบว่า ทั้งตอนที่กำลังเปิดเพลงอยู่ หรือแม้แต่ตอนปิดเพลงไปแล้วและให้นึกเนื้อเพลงในใจโดยที่ไม่ต้องร้องออกมา ไม่ว่าตอนไหนก็จะมีส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า  Auditory Cortex ทำงานอยู่ตลอด 

 

Auditory Cortex เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการประมวลข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเสียง รวมไปถึงความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเสียงด้วย และแม้ว่าสุดท้ายแล้วผลการวิจัยจะไม่อาจระบุคำอธิบายได้แน่ชัดว่า Earworm เกิดขึ้นได้อย่าง แต่ที่เหล่าแพทย์และนักวิทย์รู้ก็คือมนุษย์เรามีความสามารถพิเศษด้านความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเสียงเพลง คือถึงแม้เราอาจจะเป็นคนความจำแย่ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการนำข้อมูลยากๆ มาร้อยเรียงเป็นเพลง มันกลับทำให้จำง่ายและติดหู แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีก็ตาม เช่นเดียวกับการร้องเพลง ABC หรือเทคนิคจดจำบทเรียนเป็นเพลงในโรงเรียนกวดวิชา เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมี Fun Facts จากงานวิจัยที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ดังนี้ 

  • เพลงที่มักจะทำให้เราหลอนหูมักเป็นแนวเพลงที่มีจังหวะเร็ว ทำนองจำง่าย เนื้อเพลงจะใช้คำง่ายๆ และร้องซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบ ซึ่งมีส่วนทำให้สมองจัดการข้อมูลเพื่อจดจำได้ง่ายขึ้น 
  • เพลงที่มักจะติดหูผู้คนได้ไวมักจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กัน คือการออกแบบเมโลดี้ช่วงแรกๆ ให้เป็นโน้ตที่ค่อนข้างสูง ช่วงถัดมาจะเป็นโน้ตต่ำลง พอเข้าใกล้ท่อนฮุกก็จะโน้ตสูงขึ้นอีกทีหนึ่ง และวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนจบเพลง ตัวอย่างเช่น Bad Romance – เลดี้กาก้า, Moves Like Jagger – Maroon 5 หรือ Koisuru Fortune Cookie (คุกกี้เสี่ยงทาย) – BNK48
  • คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งเพศชายและเพศหญิง ล้วนเคยมีประสบการณ์เพลงหลอนหูแบบนี้กันทั้งนั้น และอาการนี้จะอยู่นานกว่าในเพศหญิง 

 

อยากเอาเพลงออกไปจากหัว ต้องทำอย่างไร

แล้วถ้าเผลอเราตกเป็นเหยื่อของเพลงเหล่านั้นไปแล้ว จะมีวิธีการสลัดเพลงเหล่านั้นจากสมองได้อย่างไร เราขอรวบรวมเทคนิคมาให้ 5 ข้อ ที่แม้จะฟังดูตลกไปบ้าง แต่จริงๆ แล้วทุกข้อผ่านการวิจัยมาแล้วว่าได้ผลจริง!

  • ถ้าอยากจะสลัดเพลงใดๆ ออกจากหัว ให้พยายามฟังเพลงนั้นให้จบ อย่าฟังแต่ท่อนฮุกอย่างเดียว วิธีการนี้ช่วยให้คนหายจากอาการ Earworm ได้ 90% 
  • เลือกเปิดเพลงอื่นให้สมองฟังบ้าง โดยเฉพาะเพลงที่คุ้นเคยมาทั้งชีวิต แต่ก็ไม่เคยจะหลอนหูสักที เช่น เพลง Happy Birthday 
  • หาทางให้สมองของเราไปโฟกัสกับกิจกรรมอื่นที่ต้องใช้สมาธิ เช่น เล่นเกม ดูทีวี หรือพูดคุยกับเพื่อนในเรื่องต้องใช้สมาธิในการโต้ตอบ 
  • การเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยแก้อาการ Earworm ได้ โดยนักวิจัยมีคำอธิบายว่า ขากรรไกรของเราจะถูกใช้งานเวลาที่กำลังนึกเนื้อเพลงหรือร้องเพลง ฉะนั้นถ้าเราใช้ขากรรไกรกับกิจกรรมอื่นแทน มันก็จะไม่มีเวลาพอให้เราได้ไปจิตนาการเนื้อเพลงได้อีก
  • ถ้ามันหลอนหูก็ปล่อยให้หลอนไป เพราะมันก็จะติดอยู่ในหัวเราแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ แค่รำคาญนิดหน่อย แต่เดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง เอ็นจอยกับมันไปเถอะ!

 


 

Credits


The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising