×

ไขความลับความฝันด้วยวิทยาศาสตร์

18.06.2022
  • LOADING...

จำได้ไหมเมื่อคืนนี้คุณฝันว่าอะไร ฝันดี ฝันร้าย หรือไม่ฝันเลย?

 

เลยกลายมาเป็นคำถามตั้งต้นในเอพิโสดนี้ว่า ทำไมคนเราต้องฝัน เราฝันเพื่ออะไร หรือมันเป็นความเครียดสะสมที่ค้างอยู่ในสมองหรือเปล่า ดร.ข้าว จะพาไปเปิดประตูแห่งความฝัน แล้วอธิบายเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ให้ทุกคนได้รู้กัน

 

Top to Toe พอดแคสต์สุขภาพที่ใช้วิทยาศาสตร์ไขปัญหาตั้งแต่หัวจรดเท้า ดำเนินรายการโดย ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

 

หลังจากนอนหลับแล้ว เราเริ่มฝันตั้งแต่ตอนไหน

บางคนอาจจะเคยคิดว่าร่างกายจะต้องนอนหลับลึกก่อน แล้วจึงจะฝันได้แบบม้วนเดียวจบ แต่จริงๆ แล้วความฝันจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ตามลำดับขั้นการนอนหลับของเรา ดังนี้

 

Stage 1 หลับตื้น เป็นช่วงที่กำลังเคลิ้มๆ สะลึมสะลือ ร่างกายของเราจะเริ่มผ่อนคลาย หายใจช้าลง อุณหภูมิร่างกายต่ำลง

Stage 2 หลับลึก เป็นช่วงที่ร่างกายผ่อนคลายและได้รับการพักผ่อนมากที่สุด 

Stage 3 หลับฝัน มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า REM Sleep (Rapid Eye Movement Sleep) จะเป็นช่วงที่ดวงตาของเรากลอกไปมาอย่างรวดเร็ว และสมองจะทำงานอย่างแข็งขันไม่ต่างจากตอนตื่นนอน แต่เพราะว่าหลับอยู่ ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ สมองจึงทำงานผ่านความฝันแทนนั่นเอง

 

ในหนึ่งคืน ลำดับขั้นการนอนหลับทั้ง 3 Stage จะวนเวียนไปเรื่อยๆ เป็นรอบ รอบละประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยช่วงเวลาของการหลับฝันจะเกิดขึ้นเพียงสั้นๆ ในรอบแรกๆ แต่เมื่อชั่วโมงการนอนมากขึ้น การหลับฝันก็จะยาวขึ้นไปเรื่อยๆ ตามวงรอบของมัน เราจึงสามารถฝันได้ยาวและต่อเนื่องที่สุดในช่วงเวลาที่ใกล้ตื่นนอน และเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราสามารถจดจำความฝันได้

 

ความฝันมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ในขณะที่เราหลับฝันจะมีพื้นที่ในสมอง 2 จุดที่ทำงานแข็งขันเป็นพิเศษ นั่นก็คือ Hippocampus เป็นแผนกที่ดูแลเรื่องความทรงจำ โดยจะเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้เป็นความทรงจำระยะยาว อีกส่วนคือ Amygdala เป็นแผนกที่ดูแลเรื่องอารมณ์ ทั้งสุข เศร้า กลัว เสียใจ ฯลฯ

 

เมื่อสมองสองส่วนนี้ทำงานร่วมกันขณะหลับฝัน แปลว่าความฝันของเราจะต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความทรงจำเป็นแน่ แล้วประโยชน์ของมันคืออะไรบ้าง มาดูกัน



1. เราฝันเพื่อจำ ในช่วงที่ตื่นและคิดอะไรตลอดเวลา บางทีสมองไม่สามารถประมวลผลทุกอย่างได้หมดในช่วงเวลาอันสั้น พอถึงช่วงที่นอนหลับ สมองก็จะใช้เวลานั้นในการบันทึก ประมวลผล ตอกย้ำเป็นภาพซ้ำๆ ในหัว และทำให้เราจดจำบางเรื่องได้แม่นยำขึ้น 

 

2. เราฝันเพื่อช่วยแก้ปัญหา เพราะแต่ละวันมีปัญหาประเดประดังเข้ามามากมายจนคิดไม่ตก แก้ไม่ทัน และในช่วงการนอนหลับที่ร่างกายผ่อนคลายเต็มที่ สมองไม่ได้ผ่อนคลายด้วย ปัญหาอะไรที่คั่งค้างอยู่จึงถูกนำไปคิดต่อในความฝันนั่นเอง

 

3. เราฝันเพื่อซ้อมเผชิญเหตุการณ์เลวร้าย กรณีนี้จะเกิดขึ้นในตอนที่ฝันร้าย เพื่อเป็นการฝึกว่าถ้าเจอเหตุสุดวิสัย เราจะแก้ปัญหาอย่างไรในชีวิตจริง ซึ่งประเด็นนี้เคยมีการสำรวจมาแล้วทั่วโลกพบว่า แพตเทิร์นของฝันร้ายที่เจอบ่อยที่สุดคือฝันเห็นงู ฟันหลุด จมน้ำ เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ

 

4. เราฝันเพื่อจำลองการเข้าสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และสืบพันธุ์เพื่อสร้างทายาทต่อไปแบบรุ่นสู่รุ่น ทักษะการเข้าสังคมในสถานการณ์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น และเรามักจะได้ลองทำมันในความฝันกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดต ออกไปซื้อของ เที่ยวเล่นกับเพื่อน หรือประชุมกับเจ้านาย

 

ความฝันกับคุณภาพการนอน

ไม่ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย ความฝันเหล่านั้นก็ไม่ได้กระทบกับคุณภาพการนอนในแง่ใดทั้งสิ้น เพราะการนอนอย่างมีคุณภาพสามารถวัดผลได้ในตอนที่ตื่น คือรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกาแฟเป็นตัวช่วย

 

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าการนอนหลับที่มีคุณภาพจะต้องประกอบด้วย การนอนหลับลึกและหลับฝันให้สัดส่วนที่เท่าๆ กันภายในหนึ่งคืน

 

แต่ ‘ถ้าไม่ฝันเลย’ นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าร่างกายอาจขาดการพักผ่อนมาเป็นเวลายาวนาน จนสมองเลือกที่จะตัดวงจรความฝันออกไป และโฟกัสไปที่การหลับลึกอย่างเดียว เพื่อให้ร่างกายได้ชาร์จแบตอย่างเต็มที่

 

ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามาก็น่าจะทำให้ทุกคนได้เข้าใจถึงกระบวนการของความฝันกันไปแล้ว และแน่นอนว่าการจะกำหนดจิตตัวเองให้ฝันดีทุกคืนโดยไม่ฝันร้ายเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินจะจัดการ เพราะแค่มีวินัยในการนอนหลับ เข้านอนและตื่นเป็นเวลา มีชั่วโมงการพักผ่อนที่เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เรานอนหลับฝันดีได้มากขึ้นแล้ว

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader นัฐฐา สอนกลิ่น

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising